ความไม่เท่าเทียมของชีวิตแต่ละคน ส่งผลต่อวิธีคิดและการตัดสินใจที่แตกต่างกัน

"คนบางคนเกิดมาในเศรษฐกิจเฟื่องฟูที่ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ ในขณะที่คนอื่น ๆ เกิดมาพบกับสงครามและความอดอยาก"

            ด้วยความที่ผมมีความรู้ทางด้านจิตวิทยาจึงพอจะรู้ว่ามนุษย์ทุกคนมีความทัศนคติและการตัดสินใจที่แตกต่างกัน เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์ชีวิต การเลี้ยงดู และยีนพันธุกรรมที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมากและเป็นหัวใจหลักของบทความนี้ก็คือ วิธีคิดของคนเราจะแตกต่างกันไปตามสถานะสังคมและเศรษฐกิจ

            วิธีคิดสำหรับผมหมายถึงมุมมองในการมองโลกของแต่ละคน ซึ่งส่งผลต่อทัศนคติและการตัดสินใจ โดยแต่ละคนจะมีสิ่งนี้แตกต่างกันอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น คนชั้นกลางบางคนที่ดูถูกคนชั้นล่างว่า "ทำงานได้เงินเดือนน้อยยังเมาเหล้าอีก" โดยไม่ได้ตระหนักถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลให้คนชนชั้นล่างหลายคนตัดสินใจแบบนั้น 

            ในหนังสือ The Psychology of Money: Timeless lessons on wealth, greed, and happiness ผู้เขียน มอร์แกน เฮาเซิล (Morgan Housel) ได้ยกบทความในหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) ที่เล่าเรื่องสภาพการทำงานในบริษัทฟอกซ์คอน (Foxconn) ผู้ผลิตอุปกรณ์อิลเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่สัญชาติไต้หวัน สภาพการทำงานนั้นมักจะเลวร้าย ทำให้ผู้อ่านรู้สึกหัวเสีย แต่การตอบสนองที่น่าสนใจในเรื่องเล่านี้มาจากหลานชายของคนงานชาวจีนคนหนึ่ง 

            โดยเขาแสดงความคิดเห็นว่า "ป้าของผมทำงานในสิ่งที่ชาวอเมริกันเรียกว่า 'โรงงานรก' อยู่สองสามปี มันเป็นงานที่หนักมาก ทำหลายชั่วโมง ค่าจ้างน้อย สภาพการทำงานย่ำแย่ คุณรู้ไหมว่าป้าของผมทำงานอะไรก่อนที่เธอจะทำงานอยู่ในโรงงานพวกนี้ 'เธอเป็นโสเภณี' ตามความเห็นของผม ความคิดเรื่องการทำงานในโรงงานนรกเมื่อเทียบกับชีวิตแบบเก่าของเธอนั้นถือเป็นความก้าวหน้า"

            "ผมรู้ว่าป้าของผมยอมถูกเอาเปรียบสองสามดอลลาร์โดยหัวหน้านายทุนผู้ชั่วร้ายแทนที่จะยอมโดนผู้ชายจำนวนหนึ่งเอาเปรียบเพื่อแลกกับเงินเพียงไม่กี่เพนนี นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมหงุดหงิดกับหลาย ๆ ความคิดแบบชาวอเมริกัน พวกเราไม่ได้มีโอกาสเหมือนชาวตะวันตก โครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่เรามีนั้นแตกต่างกัน ประเทศของเรานั้นไม่เหมือนกัน"

วิธีคิดของคนเราจะแตกต่างกันไปตามสถานะสังคมและเศรษฐกิจ

            เมื่อผมได้ความคิดเห็นของเด็กคนนี้ มันทำให้ผมรู้สึกสับสน และไม่รู้จะแสดงความคิดเห็นอย่างไรดี ใจหนึ่งผมอยากจะแย้งความเห็นนี้ อีกใจหนึ่งผมก็เข้าใจอย่างสุดซึ้ง เพราะมันเป็นไปได้ยากที่ประสบการณ์ชีวิตของผมและเด็กคนนี้ที่แตกต่างกันจะทำให้พวกเราทั้งสองคนคิดเห็นเหมือนกัน

            ทุก ๆ การตัดสินใจเรื่องเงินของผู้คนนั้นถูกกำหนดโดยการรับข้อมูลที่พวกเขามีในช่วงเวลานั้น ๆ ผนวกเข้ากับรูปแบบความคิดอันเป็นเอกลักษณ์ของพวกเขาแต่ละคนเกี่ยวกับโลกใบนี้ เด็กคนนี้อาจจะเข้าใจผิดก็ได้ เขาอาจจะมีข้อมูลไม่ครบถ้วน เขาอาจเป็นคนไม่เก่งคณิตศาสตร์ เขาอาจถูกชักจูงโดยตลาดที่เน่าเฟะ เขาอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ หรือเขาอาจจะประเมินผลการกระทำของตัวเองไปผิดทาง ทั้งหมดล้วนเป็นไปได้ทั้งสิ้น

            อย่างไรก็ตามเรื่องราวนี้ทำให้ผสมสลดใจ และมันคงเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเราหลายคนที่จะเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังจิตใจของเด็กคนนี้และคนอีกมากมายที่กำลังเผชิญกับวิบากกรรมแห่งความยากจน เหมือนกับที่เฮาเซิลชวนให้เราคิดและจินตนาการว่าเพราะอะไรคนจำนวนมากซื้อลอตเตอรี่ทั้ง ๆ ที่มันมีโอกาสน้อยมากที่จะถูกรางวัล

            เฮาเซิลอธิบายว่า "พวกเราใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยเงินเดือนชนเดือนและการเก็บออมนั้นก็ดูเหมือนจะไกลเกินเอื้อม โอกาสที่จะได้รับค่าจ้างสูงขึ้นของพวกเราก็อยู่ไกลเกินจะไขว่คว้า พวกเราไม่มีปัญญาที่จะมีวันหยุดพักผ่อนที่ดี ไม่สามารถซื้อรถใหม่ ประกันสุขภาพ หรือบ้านที่ตั้งอยู่ในย่านที่ปลอดภัย เราไม่สามารถส่งลูกไปเรียนมหาวิทยาลัยได้โดยที่ไม่ก่อหนี้ก้อนโต"

            "สิ่งของส่วนใหญ่ที่พวกคุณมีในตอนนี้หรือมีโอกาสที่จะคว้ามันมาได้ พวกเราไม่มี การซื้อตั๋วลอตเตอรี่มันเป็นช่วงเวลาเดียวในชีวิตที่พวกเราจะสามารถมีความฝันในการได้สิ่งของดี ๆ ที่จับต้องได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณมีอยู่แล้วและมองไม่เห็นคุณค่าของมัน พวกเราจ่ายเงินเพื่อซื้อความฝันและคุณก็อาจไม่เข้าใจมันmเพราะคุณกำลังใช้ชีวิตอยู่บนความฝัน นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เราซื้อลอตเตอรี่มากกว่าคุณ"

            ข้อความนี้เป็นบริบทของประเทศในตะวันตกที่เจริญแล้ว ซึ่งมีค่อนข้างมีความเหลื่อมล้ำสูง แต่มันก็สามารถสะท้อนถึงสังคมในประเทศไทยได้ เพราะมันทำให้เราเห็นวิธีคิดที่แตกต่างกัน ผมมักจะได้ฟังความเห็นที่ว่า "คนรวยซื้อหุ้น คนจนซื้อหวย" คนที่ไม่ซื้อหวยอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมเราจะต้องนำเงินที่เรามีไปหวังพึ่งกับโอกาสอันน้อยนิดที่จะสำเร็จ เนื่องจากการซื้อหวยมันเป็นอะไรที่มากกว่าการใช้เหตุผล มันเป็นเรื่องความฝันและความหวังโดยเฉพาะกับคนที่ยากจนจริง ๆ 

            มอร์แกน เฮาเซิล ยังได้เขียนข้อความหนึ่งที่ผมอยากจะมอบให้ผู้อ่านทุกท่าน เขาเขียนหลังจากที่ลูกชายของเขาลืมตาดูโลก ส่วนหนึ่งในจดหมายมีใจความว่า "คนบางคนเกิดมาในครอบครัวที่ส่งเสริมด้านการศึกษา ในขณะที่คนอื่น ๆ เกิดมาในครอบครัวที่ต่อต้าน คนบางคนเกิดมาในเศรษฐกิจเฟื่องฟูที่ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ ในขณะที่คนอื่น ๆ เกิดมาพบกับสงครามและความอดอยาก"

            "พ่ออยากให้ลูกประสบความสำเร็จ และพ่ออยากให้ลูกได้มันมา แต่ลูกจงตระหนักไว้ให้ดีว่าทุกความสำเร็จไม่ได้เกิดจากการทำงานหนักและทุกความยากจนไม่ได้เกิดความเกียจคร้าน ขอให้ลูกนึกถึงสิ่งนี้อยู่เสมอในเวลาที่ตัดสินผู้คน รวมถึงตัดสินตัวของลูกเองด้วย" 

            ข้อความของเขาสะท้อนให้พวกเราได้เห็นถึงการไม่ติดสินผู้อื่น ย้อนกลับไปที่บทความหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์เกี่ยวกับบริษัทฟอกซ์คอน เราไม่สามารถตัดสินเด็กคนนี้กับป้าของเขาได้เลย เพราะเราเกิดในโลกที่แตกต่างกันซึ่งทำให้วิธีคิดของพวกเราแต่ละคนแตกต่างกันออกไปด้วย

ความไม่เท่าเทียมของชีวิตมันโหดร้ายสำหรับคนบางคนเสมอ 

อ้างอิง

Housel, M. (2020). The Psychology of Money: Timeless lessons on wealth, greed, and happiness. Hampshire (UK): Harriman House.

ความคิดเห็น