เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เป็นโอกาสอันดีที่เราจะสอนแทนการตัดสินเขา

เราสามารถใช้โอกาสนี้ในการสอนเขา เพื่อทำให้เขาเลือกแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ออกมาแทน

            คำว่าพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เป็นคำที่ผมค่อนข้างคุ้นเคยเพราะเป็นครู และโดยเฉพาะการเป็นครูการศึกษาพิเศษที่สอนนักเรียนที่มีภาวะออทิสติกสเปกตรัม ก็ยิ่งพบเห็นพฤติกรรมดังกล่าวมากเป็นพิเศษ ซึ่งผมอยากจะบอกกับผู้อ่านทุกท่านว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาอย่างมากที่เด็กจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบ้างออกมา เพียงแต่เราจะรับมืออย่างไรก็เท่านั้น 

            หนึ่งในวิธีที่ผมอยากจะแนะนำมากที่สุดก็คือ "การสอน" แทนการ "ตัดสิน" โดยผู้อ่านสามารถนำบทความนี้ไปประยุกต์ใช้ได้กับเด็กหรือนักเรียนในทุกช่วงอายุ แต่ก่อนอื่นผมอาจจะต้องนิยามคำว่า "พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์" เสียก่อน  พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ หมายถึง การกระทำที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัว ซึ่งเป็นการแสดงออกในทิศทางที่เราไม่ต้องการ

            เด็กทุกคนย่อมประพฤติตัวไม่เหมาะสมเป็นบางครั้ง ไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไร เพราะมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า เด็กทั่วไปจะประพฤติตัวไม่เหมาะสมทุกสามนาที แล้วนั่นเป็นโอกาสสำคัญที่สามารถใช้สอนพวกเขาได้ แทนที่จะตัดสินนิสัยของพวกเขา

            ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่ไม่พอใจเวลาที่ลูกไม่ยอมแบ่งปันสิ่งของกับเพื่อน หากพ่อแม่ใช้ช่วงเวลานี้ไปตัดสินว่า "หนูเป็นเด็กไม่ดีเลย เด็กที่ดีควรจะแบ่งของร่วมกับเพื่อน" แม้ว่าจะมีท่อนหลังจะเป็นการสอนว่าเด็กที่จะต้องแบ่งของกับเพื่อน แต่มันก็ทำให้เด็กรับรู้ไปแล้วว่าพ่อแม่ได้ตัดสินเขาไปแล้ว

            ในทางกลับกันหากสอนให้เขาได้เรียนรู้แทนการตัดสิน เช่น "หนูควรจะแบ่งของกับเพื่อนนะ หนูจะได้มีเพื่อนมากขึ้น และได้ฝึกทักษะการเล่นกับเพื่อนด้วย" แม้ว่าเขาจะไม่เข้าใจคำว่า "ทักษะการเล่นก็ตาม" แต่การสอนแบบนี้มันก็ทำให้เขาได้ตระหนักว่าตนเองควรจะแบ่งปันของเล่นกับเพื่อนเพื่อฝึกฝนอะไรบางอย่าง และพ่อแม่อยากให้ฉันทำแบบนั้น

เมื่อเด็กแสดงประพฤติตัวไม่เหมาะสม เป็นโอกาสสำคัญที่เราจะสามารถสอนเขาได้

            ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องผิดหวัง หรือหงุดหงิดเมื่อลูกหรือนักเรียนทำในสิ่งที่ผิดพลาดหรือแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ออกมา เราสามารถใช้โอกาสนี้ในการสอนเขา ท้าทายเขา เพื่อทำให้เขาเลือกแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ออกมาแทนในอนาคต

            ในหนังสือ Mindset: The New Psychology of Success ผู้เขียน คารอล ดเว็ค (Carol Dweck) เล่าว่า "ฉันอยากให้คุณพบกับเด็กอนุบาลคนหนึ่งที่ฉันจะไม่มีวันลืม เด็กคนนั้นเล่าเหตุการณ์ตอนที่พ่อแม่ส่งสารที่แตกต่างกันให้กับเขา เรื่องของเรื่องคือเขาเรียนเรื่องตัวเลขที่โรงเรียนและเขียนเลขผิดไปเล็กน้อย ต่อไปนี้คือปฏิกิริยาของพวกพ่อแม่เขา"

            แม่: ว่าไงจ๊ะ ลูกเศร้าเรื่องอะไร

            ลูก: ผมเขียนตัวเลขให้คุณครู แต้ข้ามเลขแปดไป ผมเลยเศร้าฮะ

            แม่: เหรือจ๊ะ แต่มีสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ลูกสบายใจขึ้น

            ลูก: อะไรเหรอฮะ

            แม่: ถ้าลูกบอกว่าลูกพยายามสุดความสามารถแล้ว ครูจะไม่โกรธลูกหรอก [หันไปหาพ่อ] เราก็ไม่โกรธลูก จริงไหมคะ

            พ่อ: โกรธสิ ลูกควรรีบเข้าไปสำนึกผิดในห้องซะ

            แม้ว่าแม่จะสอนลูกในทางที่ดี แต่จากการศึกษาของดเว็ค เธอพบว่า เด็กจะใส่ใจกับสารในเชิงตัดสินมากกว่า และมันส่งผลให้เขาลดคุณค่าในตัวเองลง รวมไปถึงการไม่ยอมวางแผนดี ๆ เพื่อแก้ไขความผิดพลาดอีกด้วย 

            เราสามารถใช้โอกาสนี้ในการสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ สิ่งนี้รวมไปถึงเด็กน้อยที่ต้องการบางสิ่งบางอย่างจึงกรีดร้องขึ้นมา  พ่อแม่หลายคนกลับคิดว่า "ลูกเราเป็นเด็กดื้อ" ทั้ง ๆ ที่เราสามารถสอนเขาแทนที่จะตัดสินเขาได้

            แมรี่ แมน และ แครอล จอร์จ ได้ศึกษาเด็ก ๆ ที่เติบโตมากับการใช้ความรุนแรง เด็กเหล่านี้ถูกพ่อแม่ตัดสินและลงโทษเพียงเพราะร้องไห้หรือสร้างความรำคาญ พ่อแม่ที่ใช้ความรุนแรงมักไม่เข้าใจว่าการที่เด็กร้องไห้คือสัญญาณเตือนว่าพวกเขาต้องการบางสิ่งบางอย่าง หรือไม่เข้าใจว่าทารกไม่สามารถหยุดร้องตามคำสั่งได้ พวกเขาตัดสินว่า "ลูกดื้อ" หรือ "ไม่เชื่อฟัง" หรือ "นิสัยไม่ดี" เพราะร้องไห้

            แมนและจอร์จเฝ้าสังเกตเด็ก ๆ ในวัย 1 - 3 ขวบ ที่โตมากับความรุนแรงขณะที่เด็กเหล่านั้นอยู่ในศูนย์ดูแลเด็ก โดยดูว่าพวกเขามีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อเด็กคนอื่น ๆ ร้องไห้ ปรากฎว่าเด็กที่เติบโตมากับความรุนแรงมักจะแสดงอารมณ์โมโหใส่ บางคนถึงขั้นทำร้ายเด็กที่ร้องให้ เนื่องจากเด็กเหล่านี้เติบโตมาพร้อมกับสารที่ว่า เด็กที่ร้องไห้จะต้องถูกตัดสินโดยการลงโทษ

            สิ่งนี้ตรงกันข้ามกับเด็กที่ไม่ได้เติบโตมาพร้อมกับความรุนแรง พวกเขาจะแสดงความเห็นอกเห็นใจ หลายคนเดินเข้าไปหาเด็กที่ร้องไห้เพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น และพร้อมจะช่วยเหลือเด็กเหล่านั้น 

            ดังนั้นหากเราอยากให้ลูกหรือนักเรียนแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม เราสามารถใช้วิธีการสอนแทนวิธีการตัดสินและลงโทษ เพราะในหลายกรณีการที่เราลงโทษโดยเฉพาะการตีเป็นการตัดสินใจว่า พวกเขาเป็นเด็กไม่ดีจึงโดนลงโทษ ในทางกลับกันหากเราใช้วิธีการสอนแทน "หนูคิดว่าหากอยากได้ของเล่น จะต้องทำอย่างไร" 

ก็จะทำให้เขาเรียนรู้และเลือกแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมในครั้งต่อไปแทน

อ้างอิง

Dweck, C. (2007). Mindset: The New Psychology of Success. NY: Ballantine Books.

ความคิดเห็น