ให้กำลังใจนักเรียนที่เผชิญกับความล้มเหลวอย่างไร ให้เกิดผลดีมากที่สุด

"ความล้มเหลวไม่ใช่ความพ่ายแพ้ มันเพียงแค่อุปสรรคที่ทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น แข็งแกร่งมากขึ้น"

            ทุกคนล้วนกลัวความผิดพลาดและความล้มเหลวด้วยกันทั้งนั้น เราพยายามวางแผนทำทุกอย่างเพื่อความรอบคอบเพราะเราไม่อยากผิดพลาด เหตุผลหนึ่งที่เราหวาดกลัวมากขนาดนั้นก็เพราะว่า วัฒนธรรมโดยส่วนใหญ่รอบ ๆ ตัวเราไม่ยอมรับความล้มเหลว เพราะยากที่จะมีใครตระหนักว่า "ความล้มเหลวคือกระบวนการสำคัญของกาเรียนรู้"

            ยกตัวอย่างเช่น "เกรดเฉลี่ยของนักเรียน" ลองพิจารณาดูนะครับเรายึดติดกับเกรดเฉลี่ยค่อนข้างมาก เพราะมันจะส่งผลตั้งแต่เด็กไปจนโต กล่าวคือ เกรดเฉลี่ยจะถูกบันทึกใส่สมุดพกและในท้ายที่สุดจะถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการคำนวนเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย

            ไม่เพียงแค่นั้นแม้แต่การสอบตก การไม่ส่งงาน/การบ้าน ส่งช้า หรือทำผิดก็อาจจะเป็นหายนะในกรณีที่ผู้สอนให้ความสำคัญกับการผิดถูกมากจนเกินไป ยกตัวอย่างเช่น ครูสอนคณิตศาสตร์สั่งการบ้านเลขสิบข้อ จากนั้นนำข้อที่ถูกมาเป็นคะแนนเก็บเป็นสัดส่วนที่เยอะ ส่งผลให้นักเรียนมีแนวโน้มที่จะได้เกรดเฉลี่ยต่ำหากทำการบ้านผิด

            หากนักเรียนไม่อยากได้คะแนนต่ำ (เพราะกลัวล้มเหลว) ก็จะใช้วิธีการลอกการบ้าน แทนที่จะฝึกหัดทำด้วยตัวเอง แต่ถ้าหากครูสามารถออกแบบสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัย ไม่ว่านักเรียนจะทำผิดแค่ไหนก็ตาม ครูจะหาวิธีการให้นักเรียนได้เรียนรู้จากความผิดพลาดให้มากที่สุด เพื่อเสริมสร้างความรู้ทางคณิตศาสตร์ให้กับนักเรียนมากขึ้น ลองคิดดูสิครับว่าจะดีแค่ไหน

ครูควรจะหาวิธีให้นักเรียนได้เรียนรู้จากความผิดพลาดให้มากที่สุด เพื่อเสริมสร้างความรู้ขให้มากขึ้น

            ในหนังสือ Mindset: The New Psychology of Success ผู้เขียน คารอล ดเว็ค (Carol Dweck) นำเสนอเรื่องราวของ อลิซาเบธ เธอเป็นเด็กสาววัยเก้าขวบที่แข่งยิมนาสติกครั้งแรก เธอมีรูปร่างผอมสูง ร่ายกายมีความยืดหยุ่น และกระฉับกระเฉง กล่าวคือ เธอเหมาะสมอย่างมากในการเล่นยิมนาสติก และเธอก็ชอบกีฬานี้มากด้วย 

            การแข่งขันรายการแรกคือยิมนาสติกประเภทฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์ อลิซาเบธแข่งเป็นคนแรก ถึงแม้จะทำได้ดี แต่คะแนนที่เธอคิดว่าสูงมากก็ดูจะไม่เป็นอย่างนั้น หลังจากผู้เข้าแข่งขัน 3 - 4 คนแรกแข่งจบ ในที่สุดเธอก็แพ้ อลิซาเบธทำผลงานได้ดีในรายการอื่นเช่นกัน แต่ก็ยังไม่ดีพอที่จะชนะ สุดท้ายเธอก็ไม่ได้รางวัลอะไรเลยและรู้สึกเจ็บใจจากความพ่ายแพ้ชนิดที่เรียกได้ว่า "ยับเยิน"

            หากเราเป็นคุณพ่อของอลิซาเบธเราจะตอบสนองต่อผลลัพธ์นี้อย่างไร เราจะเลือกใช้การปลอบโยน หรือจะกล่าวโทษผู้เข้าแข่งขันคนอื่นว่าปล้นรางวัลเธอดีครับ แต่สิ่งที่พ่อของเธอพูดก็คือ "พ่อรู้ว่าลูกรู้สึกอย่างไร ลูกคงผิดหวังมากเพราะตั้งความหวังไว้สูงและทำเต็มที่แล้วแต่กลับไม่ชนะ แต่ลูกรู้มั้ย ลูกยังไม่เหมาะกับรางวัลนี้หรอก เด็กผู้หญิงหลายคนเล่นยิมยาสติกมานานกว่าและฝึกหนักกว่าลูกเยอะ ถ้านี่เป็นสิ่งที่ลูกอยากทำจริง ๆ ต่อจากนี้ลูกก็ต้องฝึกฝนอย่างจริงจัง"

            ผมคิดว่าอลิซาเบธก็อาจจะไม่พอใจหรือน้อยใจในช่วงแรกที่ได้ฟังคำพูดนี้ แต่มันก็ทำให้เธอจดจำและเก็บเอาไปเป็นแรงผลักดัน เพราะเธอบอกกับพ่อว่าไม่ได้อยากเล่นเพื่อความสนุก แต่อยากจะคว้าชัยชนะ เธอจึงฝึกฝนและปรับปรุงท่าต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ โดยเฉพาะท่าที่เธอทำได้แย่ที่สุด ในการแข่งขันครั้งถัดไปมีผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 80 คน อลิซาเบธคว้ารางวัลได้มากถึงห้ารายการและเป็นผู้ชนะในการแข่งขันครั้งนี้

            พ่อของเธอไม่เพียงแค่พูดความจริงกับเลิซาเบธเท่านั้น แต่ยังสอนวิธีเรียนรู้จากความล้มเหลวและวิธีลงมือทำสิ่งที่จำเป็นต่อความสำเร็จในอนาคต เขาเห็นใจเธออย่างสุดซึ้งที่เธอผิดหวัง แต่เขาไม่ได้มอบคำปลอบใจทั่ว ๆ ไปที่พวกเรามักทำกัน เพราะมันเป็นข้อเท็จจริงที่ว่าเธอไม่มีความสามารถหรือฝึกฝนไม่มากพอเธอจึงพ่ายแพ้ การบอกว่าเธอทำได้ดีมากแล้วจึงไม่เกิดผลที่ดีมากพอให้เธอเติบโตและพยายามในครั้งต่อไป

            ผมอยากปิดท้ายบทความนี้ด้วยบทสนทนาหนึ่งในหนังสือ Mindset เล่มเดิมเป็นบทสนทนาระหว่างฟิลิปและพ่อของเขา ฟิลิปเป็นเด็กชายอายุ 14 ปีที่กำลังทำโครงงานชิ้นหนึ่งกับพ่อและเผลอทำตะปูหล่นกระจายทั่วพื้น เขามองหน้าพ่ออย่างรู้สึกผิดและพูดว่า

            ฟิลิป: ผมนี่ซุ่มซ่ามจริง ๆ เลย

            พ่อ: นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราควรพูดตอนที่ทำตะปูหล่นหรอกนะ

            ฟิลิป: แล้วถ้าเป็นพ่อ พ่อจะพูดอะไรเหรอฮะ

            พ่อ: พ่อจะบอกว่า "ผมทำตะปูหล่น แต่เดี๋ยวผมจะเก็บมันเอง"

            ฟิลิป: แค่นี้เหรอฮะ

            พ่อ: แค่นี้แหละ

            เราสามารถให้กำลังใจนักเรียนที่เผชิญหน้ากับความล้มเหลวว่า "ความล้มเหลวไม่ใช่ความพ่ายแพ้ มันเพียงแค่อุปสรรคที่ทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น แข็งแกร่งมากขึ้น ผิดไม่เป็นอะไร เราสามารถซ่อมแซมมันได้ พัฒนาได้จากการฝึกฝนโดยการทำผิดให้มากขึ้น" ไม่มีใครเกิดมาเก่ง มีแต่คนที่พยายามและยอมรับความล้มเหลวได้จึงจะเก่ง 

เหมือนกับพ่อของฟิลิปที่สอนให้ลูกเก็บตะปูขึ้นมาแทนที่จะบอกว่าตัวเองเป็นคนซุ่มซ่าม

อ้างอิง

Dweck, C. (2007). Mindset: The New Psychology of Success. NY: Ballantine Books.

ความคิดเห็น