ฟื้นจากบาดแผลทางจิตใจ ตามแบบบรรพบุรุษของเราในอดีต

ความสามารถในการเยียวยาและการฟื้นตัวที่มีอยู่ตลอดนั้นจึงเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและมั่นคง

            ทุกวันนี้พวกเราจำนวนมากรู้จักกับคำว่า "บาดแผลทางจิตใจ" มากขึ้นกว่าในอดีต เช่นเดียวกับคำว่า "สุขภาพจิต" เนื่องมาจากในปัจจุบันมีสาเหตุมากมายที่ทำให้เราหลายคนเกิดความทุกข์หรือความไม่สบายใจง่ายดายมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ บนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน หรือเทคโนโลยีอย่างโซเชียลมีเดีย ที่สร้างความรู้สึกอิจฉา การเปรียบเทียบ และการแข่งขันอย่างไร้จุดหมาย

            ปัจจัยที่ผมยกตัวอย่างมา เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กน้อยของความเปลี่ยนแปลง ทั้งหมดนี้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต หรือสร้างบาดแผลทางจิตใจของเรา โชคยังดีที่ในปัจจุบันนี้มีวิธีการเยียวยาหลายรูปแบบที่จะทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างมีรอยยิ้ม ซึ่งผมได้นำเสนอวิธีการเยียวยาไปแล้วมากมาย ซึ่งทุกท่านสามารถค้นหาดูจาก สารบัญ

            แต่ในบทความนี้ผมอยากนำเสนอกระบวนการเยียวบาดแผลทางจิตใจที่บรรพบุรุษของเราใช้กันในอดีต ใช่ครับ ในอดีตบรรพบุรุษของเราต่างก็เคยเผชิญกับบาดแผลทางจิตใจด้วยกันทั้งนั้น แม้จะไม่มีตัวกระตุ้นที่มากมายเท่ากับในปัจจุบัน แต่สิ่งที่เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยก็คือ ความอันตรายหรือความไม่ปลอดภัยในอดีตของเราเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่สร้างความตึงเครียดไปจนถึงปัญหาทางสุขภาพจิตเฉกเช่นเดียวกับในปัจจุบันเลยครับ

            แล้วเขาทำได้อย่างไร คำตอบก็คือ จริง ๆ แล้วพวกเขาแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะพวกเขาดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยเครืองมือที่สามารถเยียวยาได้อยู่แล้ว แม้แต่พวกเราก็เช่นเดียวกัน เครื่องมือนั้นสามารถเดินได้ พูดได้ ฟังได้ ตอบโต้ได้ ร้องไห้ได้เช่นเดียวกับเรา เครืองมือนั้นก็คือ "ความสัมพันธ์"

            ถ้าในชีวิตของเรามีเพื่อนฝูง ครอบครัว และคนอื่น ๆ ที่เข้มแข็งก็นับได้ว่าเรามีสภาพแวดล้อมที่ช่วยในการเยียวยาโดยธรรมชาติ เราเยียวยาได้ดีที่สุดเมื่ออยู่กับกลุ่มคน การสร้างเครือข่าย อย่างเช่นหมู่บ้าน หรืออะไรก็ตามที่เราอยากจะเรียก ทำให้เราได้มีโอกาสกลับไปสำรวจบาดแผลทางจิตใจในปริมาณพอเหมาะและควบคุมได้ในท้ายที่สุด

เราเยียวยาได้ดีที่สุดเมื่ออยู่กับกลุ่มคน

            เมื่อเราเกิดบาดแผลทางจิตใจ เราสามารถกลับมามีสภาพจิตใจที่ปกติอีกครั้งได้ เราจะอ่อนไหวน้อยลง เปราะบางน้อยลง กล่าวคือ ฟื้นตัวได้ในท้ายที่สุด ไม่เพียงแค่นั้นเส้นทางจากการมีบาดแผลทางจิตใจ สู่ความเป็นปกติ สู่การฟื้นตัวจะช่วยสร้างความเข้มแข็งและมุมมองที่มีความเฉพาะตัว การเดินบนเส้นทางสายดังกล่าว สามารถสร้างปัญญาขึ้นมาได้ หรือที่เราเรียกว่า "ปัญญาหลังมีบาดแผลทางจิตใจ"

            นานนับพัน ๆ ปีมาแล้ว มนุษย์อาศัยกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่ภายในกลุ่มมีคนหลายรุ่น สมัยนั้นยังไม่มีคลินิกรักษาสุขภาพจิต แต่คนเรามีบาดแผลทางใจมากมายกันอยู่แล้ว ในหนังสือ What Happened to You? ผู้เขียน นายแพทย์บรูซ เพอร์รี่ (Bruce Perry, M.D., Ph.D) ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่าบุรุษของเราจำนวนมากเคยประสบปัญหาหลังมีบาดแผลทางจิตใจ ทั้งความวิตกกังวล อาการซึมเศร้า ความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ 

            นอกจากนั้นเขายังตั้งข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมว่า พวกเขาที่เจ็บปวดทางด้านจิตใจต่างเยียวยาซึ่งกันและกันโดยธรรมชาติ เขาอธิบายว่า "สปีชีส์ของเราคงอยู่รอดมาไม่ได้ ถ้าบรรพบุรุษที่มีบาดแผลทางจิตใจส่วนใหญ่สูญเสียความสามารถในการปรับตัวที่ดีไป" เสาหลักของการเยียวยาแบบโบราณก็คือ

            1) ความเชื่อมโยงกับพวกพ้องและธรรมชาติ

            2) การควบคุมจังหวะร่างกายด้วยการเต็มรำ ตีกลอง และบทเพลง

            3) ชุดของความเชื่อ คุณค่า และเรื่องราวที่ให้ความหมายแก่บาดแผลทางจิตใจ ถึงแม้เบาดแผลเหล่านั้นจะคาดเดาไม่ได้ 

            4) การใช้สารหลอนประสาทตามธรรมชาติ หรือสารที่ได้จากพืชเป็นครั้งคราว เพื่อช่วยในการเยียวยา ตามคำนแนะนำของผู้รักษาหรือผู้อาวุโส

            จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในทุกวันนี้เวชปฏิบัติที่ดีที่สุดในการรักษาบาดแผลทางจิตใจ ก็คือแบบฉบับเบื้องต้นของสี่เสาหลักนี้เอง แต่น่าเสียดายที่มีวิธีการสมัยใหม่เพียงไม่กี่วิธีที่นำเสาหลักทั้งหมดมาใช้ร่วมกันอย่างเต็มที่ เพราะแบบจำลองทางการแพทย์มุ่งเน้นไปที่การรักษาด้วยยาทางจิตเวช (สอดคล้องกับ ข้อ 4) และวิธีบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (สอดคล้องกับ ข้อ 3) มากเกินไป โดยด้อยค่าพลังของความสัมพันธ์ (สอดคล้องกับข้อ 1) และการใช้จังหวะ เช่น ดนตรี การเต้นรำ การเคลื่อนไหวตามจังหวะอื่น ๆ (สอดคล้องกับ ข้อ 2) ลงไปอย่างมาก

            ครั้งหนึ่งนายแพทย์เพอร์รี่เคยรักษาเด็กหญิงอายุสี่ขวบคนหนึ่ง ชื่อว่าอัลลี เธอเห็นแม่ตายด้วยน้ำมือของพ่อเธอเอง และหลังจากนั้นพ่อก็ฆ่าตัวตายตามไป อัลลีอาศัยอยู่ในชุมชนที่ผูกพันแน่นแฟ้นกันดี และหลังจากสูญเสียพ่อแม่จนทำให้เกิดบาดแผลทางจิตใจ เธอก็ได้ย้ายไปอยู่กับป้าของเธอ ภายในชุมชนแห่งนั้น นับคร่าว ๆ แล้วมีลูกพี่ลูกน้อง ป้า ลุง และปู่ ย่า ตา ยายอยู่กันสามสิบคน 

            พวกเขาพบปะกันอยู่เสมอในงานวันเกิด วันหยุดเทศกาล หรือเหตุการณ์สำคัญของครอบครัว อัลลีมีส่วนร่วมกับโบสถ์อย่างกระตือรือร้น เธอเล่นกีฬา และเข้าโรงเรียนประถมที่ให้ความช่วยเหลือดีมาก เพราะมีครูที่ "ตระหนักเรื่องบาดแผลทางจิตใจ" ส่วนงานหลักของนักบำบัดหรือหมอทั้งหลายก็คือการให้ความรู้เรื่องบาดแผลทางใจแก่ผู้ใหญ่ในชีวิตของเธอ รวมถึงครูของเธอเท่านั้นเอง

            ในช่วงสัปดาห์แรก ๆ จิตแพทย์เจอกับเธอประมาณสามครั้งต่อสัปดาห์ หลังจากเหตุการณ์ได้ผ่านไปครบหนึ่งปี ก็เปลี่ยนการพบเจอเป็นเดือนละครั้งเท่านั้น จนกระทั่งผ่านเหตุการณ์ไปแล้วหกเดือนก็ไม่จำเป็นต้องเจออีกเลย ยกเว้นเหล่าผู้ดูแลต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมเท่านั้น 

            นายแพทย์เพอร์รี่ ได้ยินมาว่าอัลลี ได้รับเลือกให้เป็นประธานชั้นเรียนที่โรงเรียนมัธยมต้น เธอกระตือรือร้นในการเล่นกีฬาและเข้าโบสถ์อย่างสม่ำเสมอ แถมเธอยังเรียนเก่งมากอีกด้วย เธอและป้ารายงานว่าไม่มีอาการอะไรหนักหนาแล้ว แน่นอนว่ายังมีความเศร้าอยู่บ้างเป็นครั้งคราว แต่โดยรวมแล้วอัลลีเป็นเด็กผู้หญิงที่มองโลกในแง่ดี มีความสุข มีความผูกพัน 

            แม้รอยแผลเป็นของเธอยังคงอยู่ แต่เธอก็ผ่านร้อนผ่านหนาวมาได้ด้วยดี และเธอก็เป็นผู้มีปัญญา เธอพัฒนาปัญญาหลังเกิดบาดแผลทางจิตใจมาได้ เธอผ่านมันมาได้ด้วยคุณภาพของความสัมพันธ์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก มนุษย์เรามีระดับการฟื้นตัวที่ขยับขึ้นลงอยู่เสมอ มันไม่มั่นคงถาวร และไม่ใช่สิ่งที่มีมาแต่กำเนิด

            ถ้าอัลลีไม่พบเจอกับครอบครัวที่ปลอดภัย มั่นคง และคอยใส่ใจดูแล ไม่มีครูที่เข้าใจ ไม่ได้มีศรัทธาแรงกล้าทางศาสนา ความสามารถที่จะฟื้นตัวกลับมาของเธอก็น่าจะหมดลงไปอย่างรวดเร็ว ด้วยบาดแผลที่เจ็บปวดในอดีต ความสามารถในการเยียวยาและการฟื้นตัวที่มีอยู่ตลอดนั้นจึงเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและมั่นคง

            ด้วยความเข้มแข็งของความสัมพันธ์ที่เธอได้รับ ทำให้เธอใช้มันทำความเข้าใจ เรื่องราวในอดีตอันเจ็บปวด และนำมันมาวางไว้ในบริบทความเชื่อของเธอ แม้แต่ผู้ที่ดูเหมือนว่าจะสามารถฟื้นตัวได้มากที่สุด ก็สามารถหมดแรงได้หากเขาขาดความสัมพันธ์ และมีความเครียด ความทุกข์ และบาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน 

            ดังนั้นการมีความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้เต็มไปด้วยความเครียดและความทุกข์อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการมีกิจกรรมทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าโบสถ์ร้องเพลง  หรือสวดมนต์ที่วัด ก็สามารถเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยเยียวยาบาดแผลทางจิตใจได้ สิ่งนี้สอดคล้องกับวิถีทางของบรรพบุรุษของเราในอดีตอย่างที่ผมได้กล่าวเอาไว้ข้างต้น

            อัลลีสามารถเอาชนะความเจ็บปวดในอดีตของเธอได้ แม้ว่าเธอจะเห็นแม่ตายด้วยน้ำมือของพ่อเธอเอง และตัวพ่อที่ได้ตายจากไปด้วยการฆ่าตัวตายก็ตาม ชีวิตของพวกเราคงยากที่จะเจอเรื่องเลวร้ายขนาดนี้ อย่างไรก็ตามตลอดชีวิตของเราก็ยังเต็มไปด้วยความทุกข์ เพียงแต่เราควรจะหาช่วงเวลาของความสัมพันธ์ที่ดี

เพื่อช่วยเยียวยาตัวเอง ให้มีปัญญาหลังเกิดบาดแผลทางจิตใจ

อ้างอิง

Perry, B., & Winfrey, O. (2021). What Happened to You?: Conversations on Trauma, Resilience, and Healing. NY: Flatiron Books: An Oprah Book.

ความคิดเห็น