โลกใบนี้จะสะท้อนการกระทำกลับมาสู่เรา ในแบบที่เราเป็น

ขณะที่เราปฏิสัมพันธ์กับโลกในแบบของตัวเอง โลกก็จะตอบสนองกลับตามสิ่งที่มากระทบกับมัน

            ผมเป็นหนึ่งในคนที่เชื่อในกฎแห่งกรรม แม้ผมจะมองว่าการกระทำอะไรก็ตามของเราไม่มีทางแสดงกลับมาอย่างตรงไปตรงมา แต่สิ่งที่ผมเชื่ออย่างแรงกล้าเลยก็คือ การกระทำอะไรก็ตามที่เราทำกับผู้อื่น ย่อมแสดงผลกลับมาอย่างแน่นอนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับเวลา อาจจะเร็วหรือช้า หรืออาจจะแสดงออกมาในรูปแบบที่เราไม่สามารถสัมผัสได้

            ยกตัวอย่างเช่น พ่อที่มักจะใช้กำลังกับคนในครอบครัว แม้คนในครอบครัวจะไม่ใช้กำลังตอบโต้ หรือมีใครก็ตามมาทำร้ายเหมือนในรูปแบบเดียวกับที่พ่อคนนี้ทำ แต่คนในครอบครัวก็คงจะหวาดกลัวหรือรังเกียจ ซึ่งจะมอบความเจ็บปวดกลับมาสู่ตัวพ่อไม่วันใดก็วันหนึ่ง

            นั้นจึงเป็นที่มาของชื่อบทความว่า "โลกใบนี้จะสะท้อนการกระทำกลับมาสู่เรา ในแบบที่เราเป็น" กล่าวคือ ขณะที่เราปฏิสัมพันธ์กับโลกในแบบของตัวเอง โลกก็จะตอบสนองกลับตามสิ่งที่มากระทบกับมัน เช่น อารมณ์ฉุนเฉียวร้อนรนซึ่งส่งความงุ่นง่านหงุดหงิดออกไปสู่โลกจะได้รับผลสะท้อนกลับมาสู่ตัวเขาในท้ายที่สุดอย่างแน่นอน

            คนที่อารมณ์ไม่มั่นคงจะเข้าใจว่าตัวเองกำลังประพฤติตัวเหมาะสมและมีเหตุผลดีแล้ว ทว่าสิ่งที่เขากำลังทำกลับเหวี่ยงเขากลับไปยังวังวนของการถูกเกลียดและไม่เป็นที่ยอมรับ เกิดเป็นวงจรแห่งความหงุดหงิดร้ำไป เพียงมีเรื่องให้หวาดระแวงหรือขัดใจมากเกินไปสักหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ก็มากพอแล้วที่จะทำให้คนเหล่านี้มองผู้อื่นในแง่ร้ายเสียจนมีสภาวะจิตใจที่แตกต่างจากคนที่มีบุคลิกยิ้มแย้มเป็นมิตรอย่างลิบลับ

คนที่อารมณ์ไม่มั่นคงกับคนอื่น จะถูกเหวี่ยงกลับไปยังวังวนของการถูกเกลียดและไม่เป็นที่ยอมรับจากผู้อื่น

ความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ในโครงสร้างสมองได้พอกพูนกลายเป็นชีวิตและเรื่องราวที่ผิดแผกอย่างมหาศาล

            บุคลิกภาพยังพยากรณ์อนาคตของเราได้ด้วย ผู้ที่มีจิตสำนึกมักจะมีการงานมั่นคงและพึงพอใจในชีวิตมากกว่าค่าเฉลี่ย ผู้ที่มีลักษณะเปิดเผยชอบเข้าสังคมมีแนวโน้มที่จะนอกใจและเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ เนื่องจาก คนที่เปิดเผยชอบเข้าสังคมมีความชื่นชอบการมีปฏิสัมพันธ์อย่างมาก ส่งผลให้พวกเขามีโอกาสที่จะพบเจอกับเพศตรงข้ามและถูกอกถูกใจกันได้มากกว่า นอกจากนั้นพวกเขายังเดินทางบ่อยจึงทำให้ประสบกับอุบัติเหตุที่มากกว่าด้วยนั้นเอง

            ผู้ที่มีนิสัยไม่ค่อยเป็นมิตรมักจะตะกายบันไดองค์กรสู่ตำแหน่งที่มีรายได้สูงสุดเก่งกว่าคนอื่น และผู้ที่ไม่ค่อยมีจิตสำนึกมมักจะมีโอกาสสูงกว่าที่จะติดคุกและมีอัตราเสี่ยงเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 30 ไม่ว่าจะตรวจวัดในปีใดก็ตาม

            นอกจากนี้ ถึงแม้เพศหญิงและชายจะมีส่วนที่เหมือนกันมากกว่าส่วนที่ต่างกัน แต่ความแตกต่างทางเพศก็ยังเป็นสิ่งที่มีอยู่บ้าง ผลการศึกษาที่น่าเชื่อถือชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะมีบุคลิกภาพไม่เป็นมิตรสูงกว่าผู้หญิง ในขณะที่ผู้หญิงจะมีความมั่นคงทางอารมณ์สูงกว่าผู้ชาย

            ผลลัพธ์เหล่านี้เป็นการเหมารวม (Stereotype) เป็นเพียงข้อมูลทางสถิติเท่านั้น แน่นอนไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตามพวกเราไม่ได้แตกต่างกันตั้งแต่เกิด เพียงแต่พวกเราเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่พร้อมจะ "เซทค่าตัวตนโดยอัตโนมัติ" ให้กับเรา เช่น โลกที่ชายเป็นใหญ่มาก่อนทำให้เกิดการเซทค่าตัวตนให้กับผู้หญิงระวังตัวมากขึ้นในการพูดแสดงความคิดเห็น หรือการแสดงออกทางกายภาพ

            ในขณะเดียวกันเพศชายจะมีการระวังตัวที่น้อยกว่าในการแสดงออกทั้งวาจาและพฤติกรรม ทำให้เพศชายสามารถแสดงสัญชาตญาณเบื้องต้นที่ดูเห็นแก่ตัวและไม่น่าคบหาออกมาได้มากกว่า ในทางกลับกันผู้หญิงจะต้องระวังตัว ทำให้พัฒนากระบวนการยับยั้งชั่งใจที่เหนือกว่า ทำให้พวกเธอสามารถควบคุมตัวเองได้มากกว่าเช่นเดียวกัน

            ในหรัฐอเมริกามีความคิดแบบเหมารวมปรากฎอยู่บ่อยครั้ง เช่น เด็กผู้หญิงเรียนคณิตศาสตร์ไม่เก่งเท่าเด็กผู้ชาย นักเรียนสีผิวไม่เก่งเท่านักเรียนผิวขาว หรือ นักเรียนผิวขาวเล่นกีฬาไม่เก่งเท่านักเรียนผิวสี ซึ่งจากการศึกษาชิ้นหนึ่งของ เจสัน ออสบอร์น (Jason Osborne) เขาได้แบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเขาให้นักเรียนชาย-หญิง ทำข้อสอบคณิตศาสตร์โดยบอกว่า "เป็นการเล่นเกม" และกลุ่มที่สองบอกว่า "เป็นการทดสอบ" 

            ผลการศึกษานี้พบว่า กลุ่มแรกที่คิดว่าเป็นเกมทำคะแนนนักเรียนชาย-หญิงทำคะแนนได้ 8-9 คะแนนซึ่งแทบไม่แตกต่างกัน ในขณะที่กลุ่มสองที่คิดว่าเป็นการทดสอบ คะแนนของกลุ่มนักเรียนหญิงลดลงอย่างมากจนเหลือ 6 คะแนน เพราะอคติหรือการเหมารวมนี้มันฝังในหัวของนักเรียนหญิง จึงเป็นเหตุให้พวกเธอกดดันตัวเองจนทำให้ทำพลาด

            สิ่งที่ผมอยากบอกก็คือ ความคิดและการกระทำของเรามันแปรเปลี่ยนสภาพแวดล้อม และสะท้อนกลับมาสู่ตัวเราเอง จะเรียกว่าผลแห่งกรรมก็ได้ แม้จะไม่ได้มาในรูปแบบชาติหน้าหรือมาในรูปแบบของความยุติธรรมตรงไปตรงมา แต่มันจะสะท้อนกลับมาไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น หัวหน้าที่ชอบตะคอกใส่ลูกน้อง ก็จะไม่มีใครชื่นชอบและสนับสนุน หรือคนที่ชอบพูดโกหก ก็จะไม่มีใครเชื่อถือและไว้วางใจ 

            คนที่ก่อความผิดกับผู้อื่น ก็ต้องอยู่อย่างกังวลใจว่าตนเองจะโดนเอาคืน หรืออย่างน้อยก็ยืนอยู่บนความเสี่ยงในทางกลับกันหากเราเป็นมิตร และคอยช่วยเหลือผู้อื่น เราก็จะเป็นคนที่น่าคบหามีผู้คนต่างนับถือ ชื่นชม อยากขอความช่วยเหลือ และพร้อมที่จะช่วยเหลือเราในเวลาที่จำเป็น กล่าวคือการที่เราปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความจริงใจ ช่วยเหลือในยามที่ผู้อื่นลำบาก ยิ้มแย้มมีอารมณ์ขันเชิงบวก

 ก็จะทำให้โลกนี้สะท้อนกลับมาเป็นความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพรอบตัวของเรานั้นเอง

อ้างอิง

Osborne, J. (2007). Linking Stereotype Threat and Anxiety. Educational Psychology 27(1):135-154.

Storr, W. (2020). The Science of Storytelling: Why Stories Make Us Human and How to Tell Them Better. NY: Harry N. Abrams. 

ความคิดเห็น