การให้อภัยตนเองและผู้อื่น เป็นส่วนหนึ่งของกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset)

หากจะพูดให้เข้าใจง่ายที่สุดเลยก็คือ “มันคือการที่เรามีมุมมองเชิงบวกต่อทั้งตัวเองและผู้อื่น”

            ผมมีบทเพลงที่ชื่นชอบมาก ๆ ชื่อว่า Colorblind ที่ขับร้องโดยวง Overtone เป็นบทเพลงประกอบ ภาพยนต์ชื่อ Invictus ชีวประวัติช่วงหนึ่งของ เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) อดีตประธานาธิบดีผู้เปลี่ยนความขัดแย้งระหว่างคนผิวสีและคนขาวในประเทศแอฟริกาใต้ และเป็นตัวแทนของเสรีภาพ ความเท่าเทียมที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของมนุษยชาติ 

            แมนเดลาถูกจองจำอยู่ในคุกเป็นเวลา 27 ปี หากผมเป็นแมนเดลารับรองผมต้องโกรธแค้น เจ็บปวดกับสิ่งที่ผมได้รับ แต่แมนเดลากลับทำตรงกันข้าม ก่อนที่เขาจะเข้าคุกเข้าเลือกวิธีต่อสู้ด้วยความโกรธแค้น แต่หลังจากที่เขาออกจากคุกวิถีทางทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไป แต่เราจะชนะสงครามนี้ด้วยคามรักจากหัวใจ เขาไม่ได้เลือกหนทาง "แก้แค้น" ทว่ากลับเลือกการ "ให้อภัย"

            สิ่งนี้เป็นกระบวนการสร้างความปรองดองที่ได้รับการกล่าวขวัญจากทั่วโลก และตัวผู้นำสร้างความปรองดองก็ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เพราะเป็นการสร้างความปรองดองของประเทศแอฟริกาใต้ หลายคนเรียกกระบวนการนี้ว่า "แมนเดลาโมเดล" ในช่วงเวลาแห่งความสิ้นหวัง แมนเดลาสามารถบรรลุผลสำเร็จโดยที่ตนเองปราศจากความสิ้นหวังได้

เขาไม่ได้เลือกหนทาง "แก้แค้น" ทว่ากลับเลือกการ "ให้อภัย"

            แล้วการให้อภัยจะมีความสอดคล้องกับกรอบความคิดแบบเติบโตได้อย่างไร จริง ๆ แล้วมันมีความสอดคล้องกันอย่างมากเชียวล่ะ เพราะกรอบความคิดแบบเติบโตคือความเชื่อหรือทัศนคติว่าสติปัญญา และความสามารถเป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาได้ รวมไปถึงความเชื่อที่ว่าความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาและการแก้ไขปัญหา

            ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านรู้จักกรอบความคิดแบบเติบโตดีพอสมควร เพราะเป็นตัวแปรที่ได้รับความนิยมและเป็นที่พูดถึง แต่จริง ๆ แล้วกรอบความคิดแบบเติบโตไม่ได้ยึดเพียงแค่มุมมองที่เรามองตัวเองเท่านั้น แต่เป็นมุมมองที่เรามองทั้งตัวเองและผู้อื่น กล่าวคือ เราเชื่อว่าความสามารถและสติปัญญาของเราและผู้อื่นสามารถพัฒนาได้นั้นเอง

            หากจะพูดให้เข้าใจง่ายที่สุดเลยก็คือ “มันคือการที่เรามีมุมมองเชิงบวกต่อทั้งตัวเองและผู้อื่น” ดังนั้นเราจะมองว่าความผิดพลาด ความล้มเหลว หรือพฤติกรรมอะไรก็ตามที่ไม่พึงประสงค์สามารถเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาในเชิงบวกได้ ดังนั้นเราจึงสามารถให้อภัยได้ง่ายกว่าคนที่จ้องจะจับผิดและตัดสินผู้อื่น ซึ่งเป็นลักษณะของผู้ที่มีกรอบความคิดแบบตายตัว

            ดังนั้นการให้อภัยตนเองและผู้อื่น เป็นส่วนหนึ่งของกรอบความคิดแบบเติบโต เนลสัน แมนเดลา จึงเป็นตัวอย่างที่ดีงามสำหรับบทความนี้ เพราะทางเลือกแห่งการให้อภัยที่แมนเดลาเลือกเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างให้กับประเทศชาติของเขา และเป็นแรงบัลดาลใจให้กับผู้คนมากมายบนโลกใบนี้ เขาคือผู้ที่มีกรอบความคิดเชิงบวกทั้งมุมมองที่มีต่อตัวเองและผู้อื่นอย่างแท้จริง

            เมื่อเราเรียนรู้จักการให้อภัย มันจะเหมือนกับการที่เราปลดภาระอันหนักอึ้งที่เรียกว่าความโกรธ มันจะทำให้เราโล่งสบายและปลดปล่อยความคิดเชิงลบออกไปจากหัว ซึ่งจะทำให้เรามีที่ว่างมากพอสำหรับสิ่งที่เป็นเชิงบวกในชีวิต หรือความคิดที่จะนำเราไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

            แน่นอนสำหรับบางเรื่องเราก็ไม่สามารถให้อภัยได้ เพียงแต่ว่าพวกเราหลายคนมักจะโกรธแค้นต่อความรู้สึกเชิงลบเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ได้รับในแต่ละวัน มากกว่าความเจ็บปวดอันเลวร้ายใหญ่โตที่ได้รับเพียงแค่ครั้งสองครั้ง ยกตัวอย่างเช่น คำพูดหยอกล้อที่มากเกินพอดีของเพื่อนฝูง หรือคำตำหนิของเพื่อนร่วมงาน รวมไปถึงข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) เชิงลบจากหัวหน้างาน

            ผู้ที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตจะมองพฤติกรรมเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและการเติบโต รวมไปถึงการไม่คิดเล็กคิดน้อยต่อคำพูดหยอกล้อที่ได้รับ แม้ว่าในบางกรณีอาจจะเป็นการหยอกล้อที่รุนแรงเกินพอดี แต่ผู้ที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตก็จะมีมุมมองเชิงบวกและให้อภัยได้ง่ายกว่าผู้มีกรอบความคิดแบบตายตัว ที่มักจะคิดว่าสิ่งที่ผู้อื่นทำไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามเขาทำด้วยเจตนาไม่ดีหรือเจตนาในเชิงลบ เช่นเดียวกับมุมมองเชิงลบในหัวเขา (ผู้ที่มีกรอบความคิดแบบตายตัว) นั้นเอง

            คนที่มีมุมมองเชิงบวกจะมองทั้งตัวเองและผู้อื่นเป็นบวกและสามารถให้อภัยผู้อื่นได้ง่ายกว่า ในทางกลับกันคนที่มีมุมมองเชิงลบก็มองทั้งตัวเองและผู้อื่นในเชิงลบ และเช่นเดียวกันเขาจะให้อภัยผู้อื่นได้ยากกว่า อย่างไรก็ตามผมไม่ได้บอกว่าเราจะต้องมองทุกสิ่งทุกอย่างในแง่บวกเสมอไป เราสามารถมีมุมเชิงบวกไปพร้อมกับการมองโลกตามความเป็นจริงก็ได้ โดยที่เราจะต้องไม่ลืมว่า เราจะต้องพัฒนาตัวเอง เรียนรู้เกี่ยวกับโลกใบนี้ และมองโลกในแบบที่มันเป็น 

ทุกสิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และหลายครั้งโลกนี้สามารถดีขึ้นหรือแย่ลงได้จากเพียงแค่ความคิดของเราเอง

ความคิดเห็น