ความคิดคือสิ่งที่ทรงพลัง แต่สิ่งที่ทรงพลังมากกว่าคือ "การลงมือทำ"

เมื่อเราสร้างคำพูดให้กำลังใจที่ฟังดูเชื่อถือ บรรลุถึงได้ มีการกระทำหนุนหลัง และเกื้อหนุนประสบการณ์ทางอารมณ์ของเรา สิ่งดี ๆ ก็จะเกิดขึ้น

            ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าความคิดคือสิ่งที่ทรงพลัง ตลอดระยะประวัติศาสตร์มนุษยชาติ โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากการคิดแห่งการปฏิวัติ การพลิกหมุนเปลี่ยนกลับปัจจุบันที่ขยับไปอย่างเชื่องช้า แต่โลกนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงไปไหนเลยหากมนุษย์​เรามัวแต่ใช้เพียงแค่ความคิดโดยปราศจากการลงมือทำ

            ไม่เพียงแค่การลงมือทำจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโลกเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงชีวิตปัจเจกบุคคลทั่วไปก็เกิดจากการลงมือทำเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น การลงมือออกกำลังกายหรือควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก การอ่านหนังสือและลงมือเขียนเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ การตั้งใจทำงานปฏิบัติตามหน้าที่เพื่อพัฒนาความสามารถและความรับผิดชอบ

            กล่าวคือการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตประจำวันให้ดีขึ้น เกิดจากการลงมือทำ ลงมือแก้ไขปัญหา ลงมือพัฒนาตัวเองทั่งสิ้น แต่เป็นเรื่องที่น่าเศร้า หนังสือสอนให้คิดบวกส่วนใหญ่ไม่ค่อยใส่ใจพลังของการลงมือทำ วิธีการของหนังสือเหล่านั้นให้ความสำคัญอยู่แค่ความคิด "คิดดี" "คิดบวก" "ฝันและมีความหวัง"

            ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราอยากจะมีกำลังใจมากขึ้น การพูดปลุกกำลังใจตัวเองสามารถช่วยให้เรามีกำลังใจมากขึ้น แต่หากไม่ลงมือทำ กำลังใจที่เกิดขึ้นก็จะสลายหายไปในท้ายที่สุดอยู่ดี ยิ่งไปกว่านั้นหลายคนเมื่อเผชิญกับความผิดหวัง ก็มักจะเกิดความคิดเชิงลบขึ้นมาแม้ในเวลานั้นจะกำลังพยายามจะคิดในเชิงบวกก็ตาม ยกตัวอย่าวเช่น เราอาจพูดว่า "ฉันรักร่างกายของฉัน" อยู่เสมอ ๆ แต่กลับคอยวิจารณ์ตัวเองทุกซอกทุกมุม

            แน่นอนอย่างที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น ความคิดทรงพลัง แต่การที่เราพยายามจะบอกกับตัวเองว่า "ฉันรักร่างกายของตนเอง" โดยไม่ลงมือทำอะไรเลย สุดท้ายมันจะกลายเป็นความว่างเปล่า

การพูดปลุกกำลังใจตัวเองสามารถช่วยได้ แต่หากไม่ลงมือทำกำลังใจก็จะสลายหายไปในท้ายที่สุด

            ขั้นตอนนี้จึงสำคัญอย่างยิ่ง ผมอยากให้ผู้อ่านทุกท่านพยายามระบุวิธีที่เราจะลงมือทำตามคำพูดสักหนึ่งถึงสองวิธีทุก ๆ วัน เราจะทำอย่างไรเพื่อพิสูจน์ว่าคำพูดขอเราเป็นจริงกันล่ะ แรก ๆ มันอาจจะรู้สึกฝืนใจ พิลึกไป หรือยากไปสักหน่อย แต่เมื่อคิดและทำไปซ้ำ ๆ มันจะง่ายขึ้นเอง และสุดท้ายมันจะกลายเป็นนิสัยที่มีผลิตผลงอกงาม หรือที่เขาเรียกกันว่า "Productive"

            ในหนังสือ Toxic Positivity: Keeping It Real in a World Obsessed with Being Happy ผู้เขียน วิตนีย์ กู๊ดแมน (Whitney Goodman) นักจิตบำบัดชื่อดังได้แนะนำว่าวิธีตรวจสอบความแน่ใจว่าเรา ไม่ได้ใช้คำพูดปลุกกำลังใจตัวเองเพื่อปกปิดความรู้สึกเป็นทุกข์อื่นใด โดยให้เราถามกับตัวเองว่า "จุดประสงค์ของคำพูดนี้คืออะไร" เช่น  "คำพูดนี้มาปิดกั้นไม่ให้ฉันเรียบเรียงความรู้สึกอื่น ๆ หรือเปล่า" "คำพูดนี้ช่วยให้ฉันได้เรียบเรียงอารมณ์ของฉันหรือเปล่า" หรือ "ฉันรู้สึกว่าคำพูดนี้สนับสนุนหรือปฏิเสธความจริง"

            สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ การให้กำลังใจตัวเองในแบบเชิงบวกเกินความเป็นจริง มักเกิดเวลาที่เราเห็นว่ามีสิ่งที่ไม่ดีขึ้นในชีวิต คำพูดพวกนี้ถูกยกมาใช้ปกปิดเรื่องอื่น ๆ  ที่มักจะใหญ่และสร้างความทุกข์ใจมากกว่า เช่น เมื่อสูญเสียคนใกล้ตัว กำลังโศกเศร้ากับความผิดหวัง หรือกำลังเผชิญกับความล้มเหลส การพูดซ้ำ ๆ ว่า "ฉันรักชีวิตของฉันจังเลย" "ชีวิตฉันดีมากเลย" "แค่นี้ชีวิตฉันก็ดีกว่าคนอื่นแล้ว" ทุกวัน ไม่ได้กำจัดความโศกเศร้านั้นออกไป 

            วิตนีย์ กู๊ดแมน แนะนำว่าถ้าเรากำลังเผชิญกับเรื่องที่ยากลำบากจริง ๆ จะดีที่สุดถ้ามีคำพูดอันเหมาะสมที่ช่วยให้เราเคลื่อนผ่านอารมณ์ดังกล่าวไปได้ เธอกล่าวว่า "ถ้าฉันกำลังโศกเศร้าเพราะสูญเสียผู้เป็นที่รัก ฉันอาจพูดกับตัวเองว่า "นี่เป็นเรื่องที่ยากลำบาก และฉันจะผ่านพ้นมันไปได้" หรือ "ฉันกำลังโศกเศร้า และฉันจะฟื้นคืนกลับมาได้" วิธีที่เธอแนะนำสามารถช่วยยืนยันอารมณ์ที่แท้จริงของเราที่กำลังรู้สึกในขณะนั้นได้ และช่วยเสริมพลังเข้าไป

            ทั้งผมและกู๊ดแมนเน้นย้ำถึงความทรงพลังของความคิดที่ไปพร้อมกับการลงมือทำ เพราะเมื่อเราสร้างคำพูดให้กำลังใจตัวเองแบบที่สอดคล้องกับคุณค่าของเรา ที่ฟังดูเชื่อถือได้ บรรลุถึงได้ มีการกระทำหนุนหลัง และเกื้อหนุนประสบการณ์ทางอารมณ์ของเรา สิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้น กู๊ดแมนกล่าวว่า "คำพูดที่เหมาะสมจะพาเราออกจากความเกลียดชังบางสิ่งไปสู่การมองเห็นความเป็นไปได้ที่เป็นกลาง สู่จิตใจที่เป็นกลาง สู่ที่ซึ่งคำพูดปลุกกำลังใจตัวเองเหล่านั้นให้ความรู้สึกว่าเป็นไปได้" และที่สำคัญก็คือคำพูดหรือความคิดนั้นจะต้องถูกขับออกมาเป็นพฤติกรรม

            อย่ากังวลเมื่อเกิดความคิดไม่ดีขึ้นมา เราไม่สามารถคิดทุกอย่างดี ๆ ได้เสมอ พวกเราเป็นมนุษย์ปกติทั่วไป มีแต่คนป่วยเท่านั้นแหละครับที่เชื่อว่าตนเองคิดแต่สิ่งที่ดีเท่านั้น เราไม่มีทางรู้สึกดีเยี่ยมกับร่างกาย อารมณ์ สิ่งรอบตัวของเรา หรือเรื่องอะไรในชีวิตของเราได้ตลอดเวลา ดังนั้นเป้าหมายคือการยอมรับ เตรียมพื้นที่ปลอดภัยให้ตัวเองได้ตระหนักและปลดปล่อยความเป็นจริงทางความคิดเหล่านั้นออกมา 

            สุดท้ายเมื่อเราตระหนักถึงความเป็นจริงแห่งความสมดุล ความมืดความสว่าง ความทุกข์และความสุข น้ำตาและเสียงหัวเราะ เราก็จะสามารถสร้างคำพูดปลุกกำลังใจตัวเองได้อย่างเหมาะสม "ถึงแม้ตอนนี้ฉันจะเศร้า แต่ฉันจะทำบางอย่างที่จะทำให้ตัวเองยิ้มได้" มันจะค่อย ๆ กลายเป็นความคิดที่เป็นธรรมชาติของเรา ซึ่งควรจะตามมาด้วยการลงมือทำ

เพราะอย่าลืมว่าแม้ความคิดคือสิ่งที่ทรงพลัง แต่สิ่งที่ทรงพลังมากกว่าคือการลงมือทำ

อ้างอิง

Goodman, W. (2022). Toxic Positivity: Keeping It Real in a World Obsessed with Being Happy. NY:  TarcherPerigee.

ความคิดเห็น