เทคนิคการสอนให้เด็กหรือนักเรียนเชื่อฟังมากขึ้น

สื่อสารในรูปแบบ สั้นกระชับ ชัดเจน และเอาจริง

            มีครูคนหนึ่งในโรงเรียนที่ผมสอนเข้ามาปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับนักเรียนเมื่อพวกเขาไม่ฟังหรือพูดคุยเล่นกันระหว่างเรียน ครูคนนี้เป็นคนมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการสอนของตนเอง ซึ่งผมได้แนะนำวิธีการทั้งการพูด การสอน หรือแม้แต่การปล่อยวางให้กับครูคนนี้ไป แต่เมื่อเวลาผ่านไปผมกลับมาคิดถึงความตั้งใจของเขา จึงได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อครูท่านนั้นและนำมาเสนอต่อผู้อ่านทุกท่านในวันนี้

            เป็นที่น่าประหลาดใจว่าเทคนิคการสอนให้เด็กหรือนักเรียนเชื่อฟังมากขึ้นไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร และเป็นกระบวนการที่ผมใช้อยู่ทุกวันกับเด็กพิเศษที่มีภาวะออทิสซึมสเปกตรัม (Autism Spectrum Disorder) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่มีความ ผิดปกติของสมอง ทำให้เด็กแสดงความบกพร่องออกมา 3 ด้าน ได้แก่ ความบกพร่องด้านปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความบกพร่องในการสื่อสาร และการแสดงออกทางพฤติกรรมที่ผิดปกติ

            วิธีการทำให้นักเรียนออทิซึมฯ เชื่อฟัง โดยพื้นฐานคือการเน้นน้ำเสียงที่จริงจัง เช่น เมื่อนักเรียนทุบโต๊ะเรียน ให้บอกกับเขาโดยทันทีว่า "ทำไม่ได้ครับ" ด้วยน้ำเสียงที่เอาจริง ไม่ได้ดุ ที่สำคัญคือต้อง สั้นกระชับ ชัดเจน และเอาจริง

            นอกจากนั้นเรายังสามารถวางข้อตกลงเพิ่มเติมได้ เช่น ไม่ทุบโต๊ะเรียน 1 คาบ หากเขาทำได้ก็ต้องให้คมชมที่ความพยายาม "พยายามตั้งใจเรียนได้ดีมาก" หรือสามารถให้ของรางวัลได้ สำหรับนักเรียนที่มีภาวะออทิซึมฯ อาจจะต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของภาวะฯ ด้วย

            สิ่งนี้ผู้อ่านหลายคนอาจจะเป็นสามัญสำนึกทั่วไป แต่ที่จริงแล้วพวกเราส่วนใหญ่มักจะทำพลาดตรงที่ ใช้การสั่งและอธิบายด้วยเหตุผลยืดยาวตามอัธยาศัย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อลูกหรือนักเรียนส่งเสียงดังขึ้นมา พ่อแม่หรือครูบางคนอาจจะสอนให้เขารู้จักเกรงใจ  เปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น หรือยกยอเด็กคนอื่นว่าเก่งกว่าที่สามารถควบคุมตัวเองได้

หากอยากให้ลูกหรือนักเรียนเชื่อฟังให้สื่อสารด้วยน้ำเสียงที่เอาจริง สั้นกระชับ และชัดเจน 

            แต่ในความจริงแล้วเด็กเล็กจะยังไม่รู้จักคำว่าเกรงใจ เด็กเล็กไม่เข้าใจว่าน้องคนนั้นเก่งยังไง แล้วเราเองแย่ยังไง เด็กเล็กจะยังไม่เข้าใจเหตุผลว่า โกรธได้ ขัดใจได้ แต่ห้ามตีใคร ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับอารมณ์ที่ถูกขัดใจ ซึ่งไม่ใช่เวลาที่จะใช้เหตุผล โดยเฉพาะกับเด็กที่มีภาวะออทิซึมฯ ที่มีแนวโน้มของพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าเด็กทั่วไป 

            อีกทั้งยังมีการศึกษาที่พบว่านักเรียนที่มีภาวะออทิซึมสเปกตรัมมีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมที่เป็นปัญหาบ่อยครั้งและอย่างต่อเนื่อง เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า การเข้าสังคม พฤติกรรมไม่ปฏิบัติตามกฎ ก้าวร้าว ทำร้ายตนเอง หรือทำลายข้าวของ 

            ผมจะยกตัวอย่างอีกสถานการณ์หนึ่ง มีเด็กขอขนมหวาน แทบทุกคนอาจจะปฏิเสธ แต่เราจะพูดว่าอะไรดีล่ะ "ขนมหวานทำให้ฟันผุ" หรือ "ฟันผุทำให้ต้องไปหาหมอฟัน" ทั้งที่จริง ๆ แล้วเราควรจะสื่อสารให้ สั้นกระชับ ชัดเจน และเอาจริง ตามที่กล่าวมาข้างต้น เช่น "ไม่ได้ครับ" ด้วยความเมตตาและใช้น้ำเสียงที่จริงจัง หรือเราอาจจะใช้วิธีวางข้อตกลง ให้ได้วันละกี่ชิ้นเท่านั้นก็ได้เช่นกัน

            มีหลายกรณีที่พ่อแม่หรือครูพยายามบังคับให้เด็กข้ามพัฒนาการของตนเอง เช่น การท่องสูตรคูณ หรือการคัดไทยตั้งแต่ยังเด็ก นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้อธิบายไว้ในหนังสือ "43 ไม้ตายลบลายเจ้าตัวยุ่ง" ว่า ยิ่งเรียนหนังสือมากจะยิ่งเรียนรู้น้อย ทั้งที่เราควรจะให้เด็ก ๆ ได้เล่นอย่างอิสระเพื่อเรียนรู้ เพราะยิ่งเล่นมากวิ่งมากจะยิ่งฉลาดและรู้กว้างรู้ไกล การเรียนเขียนอ่านเมื่อเล็กเกินไปทำให้แขนงประสาทในสมองโตเท่าที่โตได้ แผ่กิ่งก้านสาขาได้เท่าที่รู้ 

            การเล่นการวิ่งทำให้แขนงประสาทเจริญพัฒนาและแผ่ขยายกิ่งก้านสาขามากมายมาแตะกันและกันเป็นเครือข่ายวงจรประสาทที่ลื่นไหลและเปิดกว้างทำให้ชีวิตในภายภาคหน้าสามารถพลิกแพลงแก้ไขปัญหาได้ไม่รู้จบ เด็กมีหน้าที่หาความสนุกด้วยอะไรสนุก เด็กทุกคนรักสนุกและพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อความสนุก เช่นเดียวกับรสนิยมการรับประทาน เด็กทุกคนชอบกินขนมและจะหาขนมกินเป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง

            สุดท้ายผมแนะนำว่าไม่จำเป็นต่องเคร่งครัดเกินไป เด็กและนักเรียนของเรากำลังอยู่ในช่วงที่เรียนรู้ ลองผิด ลองถูก อะไรที่ให้ได้ในปริมาณที่พอเหมาะก็ให้ได้ อนุญาตได้ อะไรที่ให้แล้วจะเกิดผลเสียทันทีก็ควรจะสื่อสารสั้นกระชับ ชัดเจน และเอาจริง เราสามารถใช้ข้อตกลงซึ่งเป็นการวางเงื่อนไขการกระทำมาช่วยสร้างความสามารถกำกับพฤติกรรมอย่างเหมาะสมได้ ขนมหวานกินได้ แต่ให้ในปริมาณที่พอเหมาะ 

เราต้องไม่ลืมว่าการใช้เหตุผลยืดยาวตามอัธยาศัยไม่มีประโยชน์ เราต้องไม่เอาบรรทัดฐานของตัวเองไปตัดสินลูกหรือนักเรียนของเรา แต่ให้ใช้ความเข้าใจตามพัฒนาการ เข้าใจตามภาวะหรืออาการของเด็กคนนั้นให้มากที่สุด

อ้างอิง 

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. (2565). 43 ไม้ตายลบลายเจ้าตัวยุ่ง. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: Amarin Kids.

Lindor, E., Sivaratnam, C., May, T., Stefanac, N., Howells, K., & Rinehart, N. (2019). Problem behavior in autism spectrum disorder: Considering core symptom severity and accompanying sleep disturbance. Frontiers in Psychiatry, 10, 487. https://doi.org/10.3389/fpsyt.2019.00487

ความคิดเห็น