แนวทางการจัดการศึกษาตลอดชีวิตตามหลักจิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology)

หากในช่วงเริ่มต้นครอบครัวสร้างรากฐานที่มั่นคงให้แก่ลูก ในขั้นพัฒนาการต่อ ๆ ไปก็จะมั่นคงตามไปด้วย

            ผมเขียนบทความเกี่ยวกับทฤษฎีทางจิตวิทยาเกี่ยวกับจิตวิเคราะห์ จิตสังคม และเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์มาพอสมควร แต่ยังไม่เคยพูดถึงภาพใหญ่ของพัฒนาการมนุษย์เลย ในบทความนี้ผมจึงอยากจะนำเสนอ จิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของจิตวิทยาที่ศึกษาการเจริญเติบโตและพัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนถึงวัยชรา ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา

            อันดับแรกเลยผมอยากเริ่มต้นที่ความหมายและลักษณะของพัฒนาการของมนุษย์ก่อนจะเข้าแต่ละช่วงวัย จากนั้นจึงจะแนะนำแนวทางการจัดการศึกษาตลอดชีวิตแบบสั้น ๆ อย่างไรก็ตามด้วยความที่ผมเขียนเกี่ยวกับเรื่องของอารมณ์มาพอสมควร ในแต่ละช่วงวัยผมจึงจะเน้นพัฒนาการทางด้านอารมณ์และสังคมในวัยเด็กเป็นพิเศษ เพราะพัฒนาการทางด้านอารมณ์และสังคมยังมีความสำคัญในยุคสมัยนี้อย่างมาก 

            เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกส่งผลให้สิ่งแวดล้อมรอบตัวของเด็กในยุคนี้เปลี่ยนแปลง ดังนั้นการทำความเข้าใจเด็กในยุคปัจจุบันและอนาคตจะใช้บรรทัดฐานในอดีตไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แนวทางการจัดการศึกษาตลอดชีวิตจึงควรจึงควรเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และสอดคล้องกับช่วงวัยตามหลักจิตวิทยาพัฒนาการ

            ในหนังสือโรงเรียนพ่อแม่ ผู้เขียนนายแพทย์ประเสร็จ ผลิตผลการพิมพ์ได้อธิบายเกี่ยวกับหลักการทางด้านจิตวิทยสพัฒนาการ โดยแบ่งออกเป็นสามหลักการที่สำคัญ อันดับแรกเรียกว่า อีพิเจเนซิส (Epigenesis) หมายถึงรากฐานที่มั่น หากในช่วงเริ่มต้นครอบครัวสร้างรากฐานที่มั่นคงให้แก่ลูก ในขั้นพัฒนาการต่อ ๆ ไปก็จะมั่นคงตามไปด้วย ถัดมาเรียกว่า คริติคอลพีเรียด (Critical Period) หมายถึงเวลาวิกฤต เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ 

            ยกตัวอย่างเช่น ลูกในควบปีแรกจะพัฒนาความไว้วางใจแม่ และวางใจโลก หากครอบครัวไม่ใส่ใจเท่าที่ควร เมื่อโตขึ้นเขาจะหวนกลับมาทำใหม่ไม่ได้อีกแล้ว หรือในช่วงอายุ 4 - 7 ขวบเวลาวิกฤตคือการพัฒนาสมองที่รวดเร็ว หากเขาเล่นไม่มากพอ หรือได้เรียนรู้ไม่มากพอ การพัฒนาทางด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก และความสามารถในการเรียนรู้ก็จะพัฒนาได้ไม่เต็มที่

            สุดท้ายคือฟังก์ชัน (Function) หรือเรียกว่าหน้าที่ ในแต่ละช่วงวัยของพัฒนาการ เด็กจะมีหน้าที่ที่จะต้องทำ เช่น ทารก 12 อายุเดือนมีหน้าที่ไว้ใจแม่ เด็ก 2 - 3 ขวบมีหน้าที่สร้างสายสัมพันธ์และตัวตน หรือเด็ก 4 - 7 ขวบ มีหน้าที่เล่นเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อนิ้วมือและสมองส่วนสั่งการ (Executive Function) ทั้ง 3 หลักการนี้เป็นส่วนสำคัญในทุกช่วงวัยที่เราต้องพิจารณา หากเราสามารถตอบสนองเด็กหรือนักเรียนได้ตามพัฒนาการ เขาก็จะเติบโตอย่างมีคุณภาพต่อไป

            ต่อไปผมจะขอเข้าพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย โดยจะสอดแทรกแนวทางจัดการเรียนรู้สั้น ๆ ในช่วงท้ายของแต่ละช่วงวัยพัฒนาการ (Development) หมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องและครอบคลุมหลายด้าน เช่น ด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา โดยมีลักษณะของพัฒนาการดังนี้ 

            1) การเปลี่ยนแปลงตามอายุ พัฒนาการเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตามช่วงวัยต่าง ๆ

            2) การเจริญเติบโตและการพัฒนา คือการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ

            3) ความต่อเนื่องและความเป็นช่วง พัฒนาการเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องแต่มีการแบ่งเป็นช่วงวัยที่ชัดเจน

            4) ความเป็นปัจเจกบุคคล การพัฒนาของแต่ละคนมีความแตกต่างกันแม้จะอยู่ในช่วงวัยเดียวกัน อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน รวมไปถึงประสบการณ์ในอดีตด้วยเช่นกัน

จิตวิทยาพัฒนาการ ศึกษาการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนถึงวัยชรา

พัฒนาการแต่ละด้านของผู้เรียนในแต่ละช่วงวัย

1) วัยทารก (แรกเกิด - 2 ปี)

            พัฒนาการทางร่างกาย ทารกจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งน้ำหนักและส่วนสูง มีพัฒนาการเคลื่อนไหวพื้นฐาน เช่น การคลาน และการเดิน

            พัฒนาการทางสติปัญญา ทารกจะมีการสำรวจโลกผ่านประสาทสัมผัส การเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบ การเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว (ตามทฤษฎีของ Jean Piaget เรียกว่า Sensorimotor Stage) นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาความเข้าใจในความคงทนของวัตถุ (Object Permanence)

            พัฒนาการทางอารมณ์และสังคม ทารกจะเริ่มสร้างความผูกพันกับผู้ดูแล การแสดงออกทางอารมณ์พื้นฐาน เช่น ความสุข ความเศร้า ความโกรธ

แนวทางการจัดการศึกษาในวัยทารก

            1) สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและอบอุ่น และให้ความสำคัญกับการตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ของเด็กเพื่อให้เด็กเกิดความไว้วางใจและความผูกพันธ์ 2) กระตุ้นการเรียนรู้ผ่านการเล่นและการสำรวจให้มาก โดยครอบครัวจะต้องอยู่ใกล้ ๆ และให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอ และ 3) หลีกเลี่ยงการใช้หน้าจอ อันเป็นเหตุของภาวะออทิสติกเทียม และเน้นการเล่นกับลูกให้มากขึ้นพร้อมกับการอ่านนิทานที่มีภาพประกอบ

2) วัยเด็กตอนต้น (2 - 6 ปี)

            พัฒนาการทางร่างกาย เด็กจะมีการพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การวิ่ง การกระโดด และมีพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น การจับดินสอ การวาดรูป

            พัฒนาการทางสติปัญญา เด็กจะมีการพัฒนาทักษะการใช้ภาษา การเล่นแบบสร้างสรรค์ การคิดเชิงสัญลักษณ์ (ตามทฤษฎีของ Jean Piaget  เรียกว่า Pre-operational Stage) และพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาและการเล่นแบบสร้างสรรค์

            พัฒนาการทางอารมณ์และสังคม เด็จะมีการเรียนรู้การแสดงออกทางอารมณ์ การสร้างมิตรภาพและการเรียนรู้บทบาททางสังคม และการควบคุมตนเองเพื่อแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม

แนวทางการจัดการศึกษาที่เหมาะสมวัยเด็กตอนต้น

            1) จัดกิจกรรมที่กระตุ้นการใช้ภาษาและการคิดเชิงสัญลักษณ์ เน้นการสื่อสาร การอ่านหนังสือนิทานให้มากขึ้น 2) ส่งเสริมการเล่นแบบสร้างสรรค์และการเล่นบทบาทสมมติ เพื่อเรียนรู้กระบวนการทางสังคม และ 3) สนับสนุนการเรียนรู้การแสดงออกทางอารมณ์และการควบคุมตนเอง รวมไปถึงการจัดการกับอารมณ์ของตนเองเบื้องต้น

3) วัยเด็กตอนปลาย (6 - 12 ปี)

            พัฒนาการทางร่างกาย การเจริญเติบโตของร่างกายอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวที่ละเอียดขึ้น

            พัฒนาการทางสติปัญญา การพัฒนาทักษะการคิดอย่างมีเหตุผล (concrete operational stage ตามทฤษฎีของ Piaget) การเรียนรู้ทักษะทางวิชาการและการคิดเชิงตรรกะที่ซับซ้อนขึ้น

            พัฒนาการทางอารมณ์และสังคม การพัฒนาความสามารถในการควบคุมอารมณ์ การสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน เริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น กลัวความล้มเหลว ถูกปฏิเสธ เข้าใจความรู้สึกหรือความคิดของผู้อื่นมากขึ้น เริ่มประหมา กังวลเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตัวเอง ระเบิดอารมณ์โกรธน้อยลง และอดทนเมื่อหงุดหงิดได้ดีขึ้น กล่าวคือมีความสามารถในการควบคุมตนเองได้มากขึ้น 

            ในช่วงประถมปลาย หรือช่วงอายุ 9 - 12 ปี เด็กจะอยากเป็นที่หนึ่ง หรืออยากเป็นผู้นำ เริ่มมีความผูกพันกับผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พ่อแม่ เช่น ครู หรือเริ่มมีฮีโร่ที่ไม่ใช่พ่อแม่ พยายามเอาใจหรือทำตัวให้เป็นที่รักของคนคนนั้น เพื่อนจึงมีอิทธิพลค่อนข้างมากกับเด็กในวัยนี้ นอกจากนั้นในวัยนี้จิตใจยังอ่อนไหว อารมณ์ขึ้นลงได้ง่าย อ่อนไหวต่อคำตำหนิ และจัดการกับความล้มเหลวได้ยาก

แนวทางการจัดการศึกษาวัยเด็กตอนปลาย

            1) จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการคิดเชิงตรรกะและการแก้ปัญหา โดยลดความเป็นนามธรรมลง 2) สนับสนุนการเรียนรู้ทักษะทางวิชาการและการทำงานเป็นกลุ่มเพื่อให้เกิดทักษะการทำงานเป็นทีมอย่างมีคุณภาพ ในวัยนี้เป็นช่วงที่เหมาะสมในการสอดแทรกกิจกรรมกลุ่มเพื่อเสริมสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 และ 3) ส่งเสริมการพัฒนาความนับถือตนเองและการยอมรับในกลุ่มเพื่อน เข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล

4) วัยรุ่น (12 - 18 ปี)

            พัฒนาการทางร่างกาย การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่เกิดจากการเจริญเติบโต การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

            พัฒนาการทางสติปัญญา การพัฒนาทักษะการคิดเชิงนามธรรม (Formal Operational Stage ตามทฤษฎีของเพียเจต์) การพัฒนาอัตลักษณ์และความเป็นตัวของตัวเอง การพัฒนาทักษะการวิเคราะห์และการตัดสินใจ

            พัฒนาการทางอารมณ์และสังคม การสร้างความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนมากขึ้นและการเรียนรู้บทบาททางสังคม การค้นหาตัวตนและการยอมรับในกลุ่มเพื่อน อยากมีคุณค่า อยากมีความสำคัญ อยากได้รับการยอมรับ มีความพูกพันกับพ่อแม่น้อยลง ให้ความสำคัญกับเพื่อนหรือคนที่ตนเองรักมากขึ้น จิตใจยังอ่อนไหว อารมณ์ขึ้นลงได้ง่าย อ่อนไหวต่อคำตำหนิ และจัดการกับความล้มเหลวได้ยากแบบทวีคูณ ซึ่งจะลดลงไปในช่วงวัยผู้ใหญ่

แนวทางการจัดการศึกษาวัยรุ่น

            1) จัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการคิดเชิงนามธรรมและการวิเคราะห์ ให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นตามอัตลักษณ์ของตนเอง และเข้าใจความแตกต่างทั้งทางกายภาพและความคิด 2) สนับสนุนการพัฒนาทักษะทางสังคมและการสร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ รู้จักการจัดการอารมณ์อย่างมีประสิทธิภาพ และ 3) ให้คำแนะนำและสนับสนุนการค้นหาตัวตนและการตัดสินใจในชีวิตโดยเฉพาะเรื่องอาชีพในอนาคต

5) วัยผู้ใหญ่ตอนต้น (18 - 40 ปี)

            พัฒนาการทางร่างกาย ร่างกายถึงจุดสูงสุดของความแข็งแรงและสุขภาพ

            พัฒนาการทางสติปัญญา การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน การเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับอาชีพและชีวิตส่วนตัว

            พัฒนาการทางอารมณ์และสังคม มีการสร้างครอบครัวและการสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน การสร้างอาชีพและความมั่นคงในชีวิต

แนวทางการจัดการศึกษาในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น

            1) จัดการศึกษาและการฝึกอบรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของลักษณะอาชีพที่แตกต่างกัน 2) สนับสนุนการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา สนับสนุนให้เรียนรู้ความผิดพลาด เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหญ่ที่ดีกว่าเดิมหรือสร้างการเปลี่ยนแปลง และ 3) ส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์และการสร้างครอบครัวที่มีความหมาย 

6) วัยผู้ใหญ่ตอนกลาง (40 - 65 ปี)

            พัฒนาการทางร่างกาย การลดลงของมวลกล้ามเนื้อ ความแข็งแรง และความยืดหยุ่นของร่างกาย การเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับสายตาและการได้ยิน ความหนาแน่นของกระดูกลดลง

            พัฒนาการทางสติปัญญา การเรียนรู้และการจดจำเริ่มลดลง และความสามารถในการประมวลผลข้อมูลช้าลง

            พัฒนาการทางอารมณ์และสังคม ในช่วงนี้บุคคลอาจมีความเครียดจากการทำงาน การดูแลครอบครัว และการเปลี่ยนแปลงของชีวิตส่วนตัว นอกจากนั้นยังมีบทบาทสำคัญในครอบครัวและชุมชน การเริ่มวางแผนเพื่อการเกษียณ

แนวทางการจัดการศึกษาในวัยผู้ใหญ่ตอนกลาง

            1) การเข้าร่วมคอร์สออนไลน์หรือการศึกษาแบบเปิด (MOOCs) เพื่อพัฒนาทักษะหรือความรู้ใหม่ ๆ 2) การเข้าร่วมกลุ่มเรียนรู้ในชุมชน เช่น สโมสรหนังสือ หรือกลุ่มศึกษาวิชาการต่าง ๆ และ 3) การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล เพื่อสามารถใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

7) วัยผู้ใหญ่ตอนปลาย (65 ปีขึ้นไป)

            พัฒนาการทางร่างกาย การเสื่อมสภาพของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ความสามารถในการเคลื่อนไหวลดลง การเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้น

            พัฒนาการทางสติปัญญา ความสามารถในการเรียนรู้และการจดจำลดลง และมีความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อม

            พัฒนาการทางอารมณ์และสังคม การเผชิญกับความเหงาหรือความสูญเสีย การปรับตัวกับชีวิตหลังเกษียณ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงบทบาทในครอบครัว

แนวทางการจัดการศึกษาในวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย

            1) การเข้าร่วมโปรแกรมการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ เช่น คอร์สการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่มหาวิทยาลัยเปิดสอน 2) การใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้ เช่น คอร์สออนไลน์ การใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อการศึกษา และ 3) การเรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น งานศิลปะ งานฝีมือ หรือการทำสวน

            จิตวิทยาพัฒนาการช่วยให้เราเข้าใจการเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ในแต่ละช่วงวัย ในบทความนี้ผมอาจจะอธิบายในภาพใหญ่ของพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยสั้น ๆ ให้เห็นภาพรวมถึงความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ  โดยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต หากมีโอกาสจะเขียนเกี่ยวกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกทีหนึ่ง

            การที่เราเข้าใจพัฒนาการของมนุษย์ไปตามช่วงวัย จะทำให้เราสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงจากทั้งตัวเอง และคนรอบข้างได้ดียิ่งขึ้น และช่วยให้ครู ผู้เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ตนเองสามารถจัดการศึกษาที่เหมาะสมได้ เพราะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาตามศักยภาพของแต่ละบุคคล การศึกษาในอนาคตจะให้ความสำคัญกับการตอบสนองความต้องการ

และสนับสนุนพัฒนาการของเด็กและเยาวชน รวมไปถึงบุคคคลในช่วงวัยอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อ้างอิง

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. (2564). โรงเรียนพ่อแม่. กรุงเทพฯ: Amarin Kids.

สุรางค์ โค้วตระกูล.  2559.  จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Santrock, J. W. (2018). Child development (15th ed.). McGraw-Hill Education.

Shaffer, D. R., & Kipp, K. (2013). Developmental psychology: Childhood and adolescence (9th ed.). Cengage Learning.

Vygotsky, L. S. (1978). Mind in society: The development of higher psychological processes (M. Cole, V. John-Steiner, S. Scribner, & E. Souberman, Eds. and Trans.). Harvard University Press. (Original work published 1934)

ความคิดเห็น