หากเรามีเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรมต่อกันและกัน จะส่งผลให้เราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีความสุขและทำให้พวกเราทำงานอย่างมีความหมายมากยิ่งขึ้นด้วย
สภาพแวดล้อมในที่ทำงานเป็นสิ่งที่ผู้คนกลับมาพูดถึงมากยิ่งขึ้น หลายคนให้คุณค่าสูงกว่าเงินเดือนหรือสวัสดิการอื่น ๆ เสียด้วยซ้ำ เราจะเห็นได้จากการที่ผู้คนมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น การมีสภาพแวดล้อมที่ดีจึงเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนปรารถนา อีกทั้งมีการศึกษามากมายที่พบว่าการที่พวกเรามีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีย่อมทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและมีความสุขมากขึ้น
และหากพูดถึงสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นไม่ได้เลยที่จะไม่พูดถึงความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) เพราะสภาพแวดล้อมที่เรารู้ว่าสามารถแสดงออกความคิดเห็น แบ่งปันไอเดีย หรือข้อกังวลโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำหนิหรือเย้ยหยัน แนวคิดนี้ได้รับการศึกษาและยอมรับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นบวกในทีมงาน (Edmondson, 1999; Duhigg, 2016)
ผมอยากจะใช้คำว่าความปลอดภัยทางจิตใจ มากกว่าคำว่า สาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยทางจิตใจ เพราะเราสามารถสร้างความปลอดภัยทางจิตใจให้เกิดขึ้นได้ทุกบริบท ไม่ใช่เพียงสถานที่ทำงานเท่านั้น แต่การสื่อสาร ครอบครัว ความสัมพันธ์ก็สามารถมึความปลอดภัยทางจิตใจได้เช่นเดียวกัน
ในระหว่างที่ผมกำลังอ่านหนังสือทำเต็มที่ แต่ไม่ซีเรียส ที่เขียนโดยพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ซึ่งท่านได้กล่าวถึงหลักธรรมะของศาสนาพุทธที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างบรรยากาศที่ดีในสถานที่ทำงานได้ ผมมีความเห็นว่าหลักธรรมนี้สอดคล้องกับความปลอดภัยทางจิตใจ ด้วยเหตุนี้ผมจึงศึกษาเพิ่มและค้นพบความสอดคล้องตามสมมติฐานที่ผมคิดเอาไว้
หลักธรรมดังกล่าวชื่อว่า “สาราณียธรรม” เป็นหลักธรรมะที่สอนเกี่ยวกับการสร้างความสามัคคีและความสัมพันธ์ที่ดีในบริบทต่าง ๆ ในการทำงานของผมที่โรงเรียน จำเป็นจะต้องประสานงานและอาศัยการทำงานร่วมกันของอาจารย์ทุกท่าน หลายครั้งที่การมีความสามัคคีและมีสัมพันธภาพที่ดีช่วยให้การทำงานทุกส่วนของผมผ่านไปได้ด้วยดีและมีความสุขมากขึ้น
ผมจึงอยากนำเสนอให้ทุกท่านเห็นความสอดคล้องและการสนับสนุนหารอย่างลงตัวนี้ เพื่อให้ทุกท่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชุมชน การทำงาน หรือในทุก ๆ ความสัมพันธ์ให้เกิดความเมตตาต่อกันและกัน สาราณียธรรม เป็นหลักธรรมที่ ประกอบด้วย 6 ข้อหลัก (ไพศาล วิสาโล, 2015) ได้แก่
การมีความสามัคคีและมีสัมพันธภาพที่ดีช่วยให้การทำงานทุกส่วนผ่านไปได้ด้วยดีและมีความสุขมากขึ้น |
1) เมตตากายกรรม คือการแสดงความเมตตาด้วยการกระทำ มีน้ำใจช่วยเหลือเพื่อน ร่วมงานหรือหมู่คณะ เคารพนับถือกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง การเป็นผู้ให้มีประโยชน์หลากหลายประการที่ได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยหลายชิ้น ตัวอย่างเช่น การศึกษาของ Dunn, Aknin, และ Norton (2008) พบว่าการใช้เงินเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นทำให้ผู้ให้รู้สึกมีความสุขมากขึ้นกว่าการใช้เงินเพื่อตัวเอง นอกจากนี้ Cacioppo และ Patrick (2008) ได้แสดงให้เห็นว่าการให้และการช่วยเหลือผู้อื่นช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและลดความเหงา
อีกทั้ง การวิจัยของ Stephanie Brown et al. (2003) ยังพบว่าการเป็นผู้ให้และการช่วยเหลือผู้อื่นสามารถลดความเครียดและเพิ่มอายุขัยได้ ในขณะเดียวกัน การศึกษาของ Grant และ Gino (2010) แสดงให้เห็นว่าการเป็นผู้ให้สามารถเสริมสร้างความมั่นใจและพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำได้
2) เมตตาวจีกรรม คือการแสดงความเมตตาด้วยวาจา การพูดด้วยคำสุภาพ แนะนำ ตักเตือนหรือบอกกล่าวด้วยความหวังดี Adam Grant และ Francesca Gino (2010) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับผลของการให้คำชมเชยในสถานที่ทำงาน โดยพบว่าคำชมเชยไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของแต่ละบุคคล แต่ยังส่งเสริมวัฒนธรรมของการร่วมมือและนวัตกรรมในองค์กรด้วย พวกเขาพบว่า พนักงานที่ได้รับคำชมเชยจะมีแนวโน้มที่จะขอคำแนะนำเพิ่มเติม มีความตั้งใจในการทำงานมากขึ้น และมีส่วนร่วมในการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่สนับสนุนและเป็นกันเองมากขึ้น
3) เมตตามโนกรรม คือการแสดงความเมตตาด้วยใจ การตั้งจิตปรารถนาดีต่อกันมองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส่ต่อกัน อีกทั้งการแสดงความปรารถนาดีและการช่วยเหลือผู้อื่นสามารถเพิ่มความพึงพอใจในชีวิตของตนเอง การทำดีและเห็นผู้อื่นมีความสุขจากการช่วยเหลือของเราทำให้เรารู้สึกมีความหมายและมีคุณค่า (Dunn, Aknin, & Norton, 2008)
4) สาธารณโภคิตา คือการแบ่งปันทรัพยากรและผลประโยชน์อย่างยุติธรรม การแบ่งปันกัน ไม่เก็บเอาไว้ใช้ผู้เดียว การแบ่งปันนี้ไม่ได้หมายถึงแบ่งปันเงินทองหรือ ข้าวของเท่านั้น การแบ่งปันข้อมูลหรือความรู้ก็เป็นสาธารณโภคีอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นการแบ่งปันทรัพยากรช่วยเสริมสร้างความร่วมมือในกลุ่มและชุมชน การทำงานร่วมกันและการแบ่งปันทำให้ผู้คนรู้สึกว่าพวกเขามีส่วนร่วมและมีคุณค่าในกลุ่มนั้น (Putnam, 2000)
5) ศีลสามัญญตา คือการรักษาศีลด้วยกันและสนับสนุนกันในการทำความดี การประพฤติที่ถูกต้อง ดีงาม การทำตามระเบียบกฎเกณฑ์อย่างพร้อมเพรียงไม่เบียดเบียนผู้อื่นหรือทำตัวให้น่ารังเกียจ
6) ทิฏฐิสามัญญตา คือการมีความเห็นที่สอดคล้องกันในการดำรงชีวิต ความเห็นพ้องไปในแนวเดียวกัน ไม่ได้แปลว่าเห็นเหมือนกันทุกเรื่อง แต่เป็นความเห็นที่ไปในทิศทางเดียวกัน หรือมีจุดหมายร่วมกัน เช่นเห็นว่าการทำงานนั้นควรมุ่งประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ไม่ควรถือเอาประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่
เมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม ทั้ง 3 องค์ประกอบ เป็นการแสดงความเมตตาผ่านการกระทำ คำพูด และความคิด ช่วยสร้างบรรยากาศที่เป็นบวกและสนับสนุนต่อกันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความปลอดภัยทางจิตใจ ส่งผลให้พนักงานรู้สึกว่าพวกเขาได้รับการดูแลและสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่กลัวถูกตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ
ผู้อ่านจะเห็นได้จากการศึกษาทั้งหมดก่อนหน้านี้เป็นการยืนยันให้เห็นว่า หากเรามีเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรมต่อกันและกัน จะส่งผลให้เราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีความสุขและทำให้พวกเราทำงานอย่างมีความหมายมากยิ่งขึ้นด้วย
สาธารณโภคิตา เป็นองค์ประกอบที่เป็นตัวแทนของการแบ่งปันทรัพยากรและผลประโยชน์อย่างยุติธรรมสร้างความรู้สึกเป็นทีมและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ซึ่งช่วยส่งเสริมความปลอดภัยทางจิตใจโดยลดความรู้สึกของการแข่งกันและเพิ่มความรู้สึกของการร่วมมือ การแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายมีแต่จะสร้างผลกระทบที่เลวร้ายกับทั้งตัวเราและคู่แข่ง
ศีลสามัญญตา เป็นองค์ประกอบที่แทนการปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง และสนับสนุนกันในการทำความดี สร้างบรรยากาศที่มีความยุติธรรมและความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความปอดภัยทางจิตใจ ทำให้พนักงานรู้สึกมั่นใจในความเป็นธรรมและความปลอดภัยทางจิตใจในการทำงาน แต่ละคนอาจจะมีความถูกต้องที่แตกต่างกันบางเรื่องสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทางจิตใจจะช่วยให้เราเอาความถูกต้องของแต่ละคนมาแสดงให้เห็นตรงหน้าโดยไม่ต้องกลัวการตำหนิหรือดูถูกดูแคลน
ทิฏฐิสามัญญตา เป็นองค์ประกอบที่แสดงถึงการมีความเห็นที่สอดคล้องกันในการดำรงชีวิต และช่วยสร้างความสามัคคีและการสื่อสารที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความปลอดภัยทางจิตใจทำให้พนักงานรู้สึกว่าพวกเขาอยู่ในที่ที่มีค่านิยมและเป้าหมายร่วมกัน
ผู้อ่านคจะเห็นถึงความสอดคล้องกันระหว่างหลักธรรม “สาราณียธรรม” กับแนวคิดเรื่องความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety)โดยเน้นการแสดงความเมตตาและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้พนักงานสามารถแสดงออกความคิดเห็น แบ่งปันไอเดีย หรือข้อกังวลโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำหนิหรือเย้ยหยัน
การนำหลักธรรมะนี้มาใช้ในสถานที่ทำงานไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างบรรยากาศที่เป็นบวกและสนับสนุน แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสุขในการทำงาน เนื่องจากความเมตตาจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันและกัน ส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมเชิงบวกขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำงาน ครอบครัว หรือแม้กระทั่งห้องเรียนก็ตาม การที่ครูมีความเมตตาต่อนักเรียนหรือเพื่อนมีความเมตตาต่อกันและกันย่อมสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทางจิตใจ
และทำให้การทำงานหรือการเรียนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข
อ้างอิง
ไพศาล วิสาโล. (2015). ทำเต็มที่ แต่ไม่ซีเรียส. นนทบุรี: สำนักพิมพ์ปราณ.
Brown, S. L., Nesse, R. M., Vinokur, A. D., & Smith, D. M. (2003). Providing social support may be more beneficial than receiving it: Results from a prospective study of mortality. Psychological Science, 14(4), 320-327.
Brown, B. (2018). Dare to Lead: Brave Work. Tough Conversations. Whole Hearts. Random House.
Cacioppo, J. T., & Patrick, W. (2008). Loneliness: Human Nature and the Need for Social Connection. W.W. Norton & Company.
Duhigg, C. (2016). What Google Learned From Its Quest to Build the Perfect Team. The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2016/02/28/magazine/what-google-learned-from-its-quest-to-build-the-perfect-team.html
Dunn, E. W., Aknin, L. B., & Norton, M. I. (2008). Spending money on others promotes happiness. Science, 319(5870), 1687-1688.
Edmondson, A. C. (1999). Psychological safety and learning behavior in work teams. Administrative Science Quarterly, 44(2), 350-383. https://doi.org/10.2307/2666999
Grant, A. M., & Gino, F. (2010). A little thanks goes a long way: Explaining why gratitude expressions motivate prosocial behavior. Journal of Personality and Social Psychology, 98(6), 946-955.
Putnam, R. D. (2000). Bowling Alone: The Collapse and Revival of American Community. Simon & Schuster.
Zaki, J. (2021). The value of empathy in the workplace. McKinsey & Company. Retrieved from https://www.mckinsey.com
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น