การลดภาระทางการเงินจากการซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็นยังช่วยให้เรามีความสามารถในการมีอิสระในการตัดสินใจในชีวิตมากขึ้น
ทุกวันนี้หนี้กลายเป็นเรื่องทั่วไปที่คนมักไม่ใส่ใจ ใคร ๆ ก็เป็นหนี้กันทั้งนั้น บัตรเครดิตคือสิ่งพื้นฐานที่มนุษย์เงินเดือนมีกันตั้งแต่เริ่มทำงาน ค่านิยมนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดจากทุนนิยม ส่งผลหนี้ทั่วโลกพุ่งขึ้น ในปี 2023 หนี้ทั่วโลกได้พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ 307 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นหนี้ของรัฐบาล ธุรกิจ และครัวเรือนที่สะสมมากขึ้นจากปีที่ผ่านๆ มา โดยมีปัจจัยหลักจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
ทำให้ระดับหนี้โดยรวมเพิ่มขึ้นในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส การเพิ่มขึ้นของหนี้ทั่วโลกนี้ยังทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP ของโลกอยู่ที่ประมาณ 336% ซึ่งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ กล่าวคือ หนี้สูงขึ้นตามการเจริญเติบโตของค่านิยมแบบทุนนิยม (World Economic Forum, 2023; Institute of International Finance, 2023)
การที่หนี้ทั่วโลกสูงขึ้นมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก เนื่องจากประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางต้องลดงบประมาณในด้านสาธารณสุข การศึกษา และการคุ้มครองทางสังคม เพื่อให้สามารถชำระหนี้ได้ ตัวอย่างเช่น ในปี 2022 ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางจ่ายเงินถึง 443.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในการบริการหนี้สาธารณะ (World Bank, 2023)
สถานการณ์หนี้บริโภคของประเทศไทย
สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในประเทศไทยก็อยู่ในระดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในปี 2023 หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ประมาณ 90% ของ GDP หนี้ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อที่อยู่อาศัย การที่หนี้ครัวเรือนสูงส่งผลให้ครัวเรือนต้องเผชิญกับภาระการชำระหนี้ที่สูงขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและการออม (ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2023)
การที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทยมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากการใช้จ่ายของครัวเรือนเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การที่ครัวเรือนมีหนี้สูงทำให้มีการใช้จ่ายที่น้อยลง ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว อาจจะกล่าวได้ว่าหนี้ครัวเรือนที่สูงจนทำให้ไม่สามารถใช้จ่ายได้เป็นกับดักที่ทำให้เกิดการชะงักงันของระบอบทุนนิยม
การที่ครัวเรือนมีหนี้สูงทำให้มีการใช้จ่ายที่น้อยลง ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว |
อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของหนี้บริโภคมีผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยทำให้ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยต้องเผชิญกับภาระการชำระหนี้ที่สูงขึ้น ลดโอกาสในการออมและการลงทุน และส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรทางการเงิน การลดหนี้และการเสริมสร้างระบบการเงินที่ยั่งยืนจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสร้างความเสถียรภาพทางสังคม
การหันกลับมาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย: ทางออกของการลดหนี้และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
การหันกลับมาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายจึงเป็นทางออกหนึ่งในการลดหนี้และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ เนื่องจากแนวคิดนี้มุ่งเน้นการลดการบริโภคที่ไม่จำเป็นและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถส่งผลดีทั้งต่อบุคคลและสังคมโดยรวม โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้
1) ลดภาระหนี้และการบริโภค การลดการบริโภคที่ไม่จำเป็นช่วยลดภาระหนี้สินในครัวเรือน โดยการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เราจะมุ่งเน้นการซื้อสิ่งของที่จำเป็นจริง ๆ และลดการสะสมสิ่งของที่ไม่จำเป็น ทำให้มีเงินเหลือมากขึ้นสำหรับการชำระหนี้และการออม (Kasser, 2016) การเลือกสิ่งของเพื่อทิ้งโดยมีวัตถุประสงค์ทำให้ที่อยู่อาศัยโล่งเป็นแนวทางหนึ่งในการเริ่มต้นลดภาระหนี้จากการบริโภคที่ไม่จำเป็น
2) เพิ่มความมั่นคงทางการเงิน การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงิน เนื่องจากการลดการบริโภคทำให้มีเงินเหลือมากขึ้นสำหรับการลงทุนและการออม ซึ่งสามารถเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว (OECD, 2021) เมื่อมีเงินเหลือมากขึ้นก็จะทำให้ความกังวลและเครียดลดลง อีกทั้งยังทำให้เราลงทุนอย่างเหมาะสมดียิ่งขึ้น
3) ลดความเครียดและเพิ่มสุขภาพจิต การมีชีวิตที่เรียบง่ายและมีระเบียบช่วยลดความเครียดและเพิ่มสุขภาพจิตที่ดีขึ้น การที่บ้านเป็นระเบียบและไม่มีสิ่งของเกะกะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่สงบและเหมาะสมกับการพักผ่อน (Saxbe & Repetti, 2010) การจัดบ้านให้โล่งนอกจะทำให้เรามีสุขภาพจิตที่ดีมากขึ้นแล้ว ยังลดการตกแต่งที่ไม่จำเป็น ทำให้เราลดค่าใช้จ่ายและมีสุขภาพจิตที่ดีมากยิ่งขึ้น
4) เสริมสร้างความยั่งยืนทางสังคม การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและการลดการบริโภคช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลดขยะ ซึ่งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทางสังคม การที่คนในสังคมหันมาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายจะช่วยเสริมสร้างสังคมที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Elgin, 1993)
การนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันสามารถช่วยสร้างความสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายและการเผชิญกับกระแสโลกทุนนิยมได้อย่างยั่งยืน นอกจากนนั้นการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายเป็นแนวคิดที่ผู้คนสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ มารี คอนโด (Marie Kondo) ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดระเบียบสิ่งของและผู้เขียนหนังสือ The Life-Changing Magic of Tidying Up ได้นำเสนอวิธีการจัดระเบียบสิ่งของที่เรียกว่า "KonMari Method" ซึ่งเน้นการเก็บเฉพาะสิ่งของที่นำความสุขมาให้และการทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็น
แนวคิดของ KonMari Method นั้นมีหลักการที่ง่ายแต่ลึกซึ้ง มารี คอนโดเชื่อว่าการเก็บเฉพาะสิ่งของที่ทำให้เรารู้สึกดีและทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็นจะช่วยให้เรามีชีวิตที่เรียบง่ายและมีความสุขมากขึ้น การจัดระเบียบสิ่งของตามหมวดหมู่ เช่น เสื้อผ้า หนังสือ เอกสาร ของใช้จิปาถะ และของที่มีคุณค่าทางอารมณ์ ช่วยให้การจัดระเบียบมีประสิทธิภาพมากขึ้น
กล่าวคือทำให้จิตใจและสิ่งแวดล้อมของเรามีระเบียบมากขึ้น อีกทั้งการหาที่เก็บที่เหมาะสมสำหรับสิ่งของแต่ละประเภทและการจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบช่วยลดความวุ่นวายและเพิ่มพื้นที่ใช้สอยในบ้าน จะเห็นว่าการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายตามแนวทางของมารี คอนโดมีผลประโยชน์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสุขภาพจิตที่ดีขึ้น การลดความเครียด และการเพิ่มความพึงพอใจในชีวิต เมื่อเราลดการบริโภคสิ่งของที่ไม่จำเป็นและจัดระเบียบสิ่งของในชีวิตประจำวัน
เราจะมีเวลามากขึ้นในการทำสิ่งที่มีความหมายและนำความสุขมาให้ เช่น การใช้เวลาคุณภาพกับครอบครัว การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และการสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่า นอกจากนี้ การลดภาระทางการเงินจากการซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็นยังช่วยให้เรามีความสามารถในการมีอิสระในการตัดสินใจในชีวิตมากขึ้น การจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการมีชีวิตที่เรียบง่ายช่วยให้เรามีการวางแผนทางการเงินที่ดีกว่าและสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า
การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายท่ามกลางกระแสโลกทุนนิยมอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นและการมุ่งเน้นที่การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพนั้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสุขภาพจิต ความพึงพอใจในชีวิต หรือการลดภาระทางการเงิน การนำแนวคิดของมารี คอนโดไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันสามารถช่วยให้เรามีชีวิตที่เรียบง่ายและมีความสุขมากขึ้น
ท่ามกลางสิ่งกระตุ้นมากมายมหาศาลที่พยายามบีบบังคับให้เราทุกข์อย่างเจ็บปวดใจ
อ้างอิง
ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2023). รายงานสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย. https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/reports/financial-stability-snapshot/financial-stability-snapshot-q3-2023.html
Elgin, D. (1993). Voluntary Simplicity: Toward a Way of Life That is Outwardly Simple, Inwardly Rich. HarperCollins.
Institute of International Finance. (2023). Global Debt Monitor. https://www.iif.com/portals/0/Files/content/Global%20Debt%20Monitor_Feb2024_vf.pdf
Kasser, T. (2016). Materialistic values and goals. Annual Review of Psychology, 67, 489-514.
Kondo, M. (2014). The Life-Changing Magic of Tidying Up: The Japanese Art of Decluttering and Organizing. Ten Speed Press.
OECD. (2021). Income Inequality. https://www.oecd-ilibrary.org/docserver/8e321b13-en.pdf?expires=1721618757&id=id&accname=guest&checksum=568F938018B26F7FB64A5F9F8CB8FF89
Saxbe, D. E., & Repetti, R. L. (2010). No Place Like Home: Home Tours Correlate With Daily Patterns of Mood and Cortisol. Personality and Social Psychology Bulletin, 36(1), 71-81.
World Bank. (2023). International Debt Report 2023. https://blogs.worldbank.org/en/opendata/the-data-behind-the-international-debt-report-2023
World Economic Forum. (2023). Global debt is at $307 trillion. Why does it matter? https://www.weforum.org/agenda/2023/12/what-is-global-debt-why-high/
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น