เราสามารถใช้การสื่อสารของเราเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้
ในบทความที่แล้วผมเขียนบทความเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้สาราณียธรรมเพื่อสร้างความปลอดภัยทางจิตใจในสถานที่ทำงาน ในระหว่างที่เขียนผมก็เกิดความคิดบางอย่างว่า หลักความปลอดภัยทางจิตใจสามารถนำมาใช้ได้ในทุกบริบทรวมทั้งห้องเรียน และในฐานะที่ผมเป็นครูก็ทำให้ผมคิดว่าตนเองควรจะเขียนบทความนี้เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับครูอาจารย์ทุกท่าน
ยิ่งทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่มีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้นหากเทียบกับในอดีต การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต หรือปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัว ทำให้พวกเขาเป็นวิธีที่จะช่วยอย่างดี ในบทความนี้ผมจะขอให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อม เพราะการมีสภาพแวดล้อมที่ดีเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนปรารถนา อีกทั้งมีการศึกษามากมายที่พบว่าการที่พวกเรามีสภาพแวดล้อมในการเรียนที่ดี จะทำให้นักเรียนใช้ชีวิตในโรงเรียนอย่างมีคุณภาพและมีความสุขมากขึ้น
อย่างที่ผมได้อธิบายไว้ในบทความที่แล้ว เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) แต่ในบทความนี้ผมจะขออธิบายตามบริบทของห้องเรียน โดยผมให้ความหมายสภาพแวดล้อมในห้องเรียนที่มีความสภาพแวดล้อมทางจิตใจ ว่าเป็นสภาพแวดล้อมที่นักเรียนหรือนักศึกษารู้สึกปลอดภัยที่จะแสดงความคิดเห็น แบ่งปันไอเดีย ข้อกังวล และสามารถทำผิดพลาดโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกวิจารณ์หรือโดนทำร้ายจิตใจ
ในหนังสือ The Hidden Lives of Learners ที่เขียนโดย เกรแฮม นัททอลล์ (Graham Nuthall) ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมและความรู้สึกของนักเรียนในห้องเรียน โดยเน้นที่การเก็บข้อมูลเชิงลึกจากการสังเกตการณ์ การบันทึกเสียง และการสัมภาษณ์นักเรียน ซึ่งทำให้เห็นภาพรวมของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนอย่างละเอียด
งานวิจัยของนัททอลล์พบว่าสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทางจิตใจเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้นักเรียนรู้สึกมั่นใจที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ สามารถแสดงความคิดเห็น ทำความผิดพลาด และเรียนรู้จากข้อผิดพลาดนั้นได้โดยไม่ต้องกลัวการวิจารณ์หรือการลงโทษ
นัททอลล์ยังชี้ให้เห็นว่านักเรียนที่รู้สึกปลอดภัยทางจิตใจจะมีการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่ดีกว่า เนื่องจากพวกเขามีโอกาสที่จะทดลองและสำรวจความรู้ใหม่ ๆ โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการถูกทำร้ายจิตใจ การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยนี้ต้องอาศัยการสนับสนุนและการให้กำลังใจจากครูและเพื่อนร่วมชั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยเรื่อง Autonomy, Belongingness, and Engagement in School as Contributors to Adolescent Well-Being โดย Van Ryzin, Gravely และ Roseth (2009) ที่ได้ศึกษาถึงบทบาทของการสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่สนับสนุนความเป็นอิสระ (Autonomy) ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (Belongingness) และการมีส่วนร่วม (Engagement) ต่อความเป็นอยู่ที่ดีของวัยรุ่น
นักเรียนที่รู้สึกปลอดภัยทางจิตใจจะมีการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่ดีกว่า เนื่องจากไม่ต้องกังวลว่าจะถูกทำร้ายจิตใจ |
งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าการสร้างสภาพแวดล้อมที่นักเรียนรู้สึกว่าตนเองมีค่าและมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ จะช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยทางจิตใจในห้องเรียนและโรงเรียนโดยรวม ประเด็นสำคัญในงานวิจัยมีดังนี้
1) ความเป็นอิสระ (Autonomy) นักเรียนที่รู้สึกว่าตนเองมีอิสระในการตัดสินใจและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในโรงเรียน มีแนวโน้มที่จะมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น และมีความรับผิดชอบในการเรียนรู้ของตนเอง การให้นักเรียนมีอิสระในการเลือกวิธีการเรียนรู้หรือกิจกรรมที่สนใจ จะช่วยให้พวกเขามีส่วนร่วมและมีความรู้สึกผูกพันกับโรงเรียนมากขึ้น
2) ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (Belongingness) ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหรือสังคมในโรงเรียนมีผลอย่างมากต่อความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน การที่นักเรียนรู้สึกว่าตนเองได้รับการยอมรับและเป็นที่รักในกลุ่มเพื่อนและครู จะช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยทางจิตใจและลดความเครียดในสภาพแวดล้อมการเรียนรู้
3) การมีส่วนร่วม (Engagement) การมีส่วนร่วมของนักเรียนในกิจกรรมการเรียนรู้และกิจกรรมอื่น ๆ ในโรงเรียน มีความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะการเรียนรู้และความสามารถทางสังคม นักเรียนที่มีส่วนร่วมในการเรียนรู้จะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและมีบทบาทในชุมชนโรงเรียน ซึ่งช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยทางจิตใจ
การวิจัยพบว่าเมื่อโรงเรียนสร้างสภาพแวดล้อมที่นักเรียนรู้สึกว่าตนเองมีอิสระ มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง และมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ จะช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยทางจิตใจ นักเรียนจะรู้สึกมั่นใจในการแสดงออกและสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกวิจารณ์หรือถูกทำร้ายจิตใจ นอกจากนี้ ความปลอดภัยทางจิตใจนี้ยังมีผลต่อการพัฒนาทักษะการเรียนรู้และความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียนในระยะยาวอีกด้วย
การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในห้องเรียน
หากครูหรืออาจารย์ต้องการจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทางจิตใจในห้องเรียน ผมมีแนวทางปฏิบัติดังนี้
การใช้ภาษาที่สนับสนุนและไม่วิจารณ์อย่างรุนแรง การใช้คำพูดที่สนับสนุนและไม่วิจารณ์อย่างรุนแรงจะช่วยสร้างบรรยากาศที่นักเรียนรู้สึกปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นและทำผิดพลาดโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกวิจารณ์ ตัวอย่างเมื่อมีนักเรียนทำผิดพลาด ครูควรตอบกลับด้วยความเข้าใจ เช่น “การพยายามของนักเรียนดีมาก เรามาดูกันว่าทำไมถึงเกิดข้อผิดพลาดนี้และเราจะเรียนรู้อะไรจากมันได้บ้าง”
ผู้อ่านจะเห็นว่าวิธีการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารมีความสำคัญและสามารถใช้เพื่อสนับสนุนกับนักเรียน โดยเราสามารถใช้ภาษาเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ ครูควรใช้คำพูดที่สร้างความมั่นใจให้นักเรียน เช่น “คุณทำได้ดีมาก แค่ลองอีกครั้งหนึ่ง” หรือ “สิ่งที่คุณแสดงออกมาน่าสนใจมาก”
การให้คำชมอย่างสร้างสรรค์ คำชมเชยที่เจาะจงจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ เช่น “ผมชื่นชมที่คุณตั้งใจและพยายามทำงานนี้อย่างเต็มที่” และการสนับสนุนการแสดงความคิดเห็น ส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็น เช่น “ความคิดเห็นของคุณมีค่าและน่าสนใจ คุณอยากจะแชร์กับเพื่อน ๆ ไหม
การจัดการความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ เป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความปลอดภัยทางจิตใจ โดยการสอนนักเรียนให้จัดการความขัดแย้งด้วยการสื่อสารที่เปิดเผยและสร้างสรรค์ ตัวอย่างเมื่อนักเรียนมีความขัดแย้งกัน ครูควรเป็นผู้ไกล่เกลี่ยและให้คำแนะนำในการพูดคุยและหาทางออกที่ทุกคนพึงพอใจ เช่น “เราอยากให้ทุกคนได้พูดออกมาและรับฟังกันเพื่อหาทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด”
จะเห็นว่าการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทางจิตใจในห้องเรียนมีประโยชน์อย่างมาก และสามารถทำได้อย่างง่ายดาย เมื่อได้อ่านบทความทุกท่นจะเข้าใจว่าจุดสำคัญอยู่ครูหรืออาจารย์ ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่สร้างความปลอดภัย หรือไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์เทคโนโลยีที่สนับสนุนการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ
เพียงแค่ครูหรืออาจารย์เท่านั้นก็สามารถสร้างห้องเรียนที่ปลอดภัยได้ โดยเริ่มจากการปรับวิธีการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการตักเตือนอย่างสร้างสรรค์ การชมเชยไปที่ความพยายามมิไม่ใช่ชมเชยที่ความสำเร็จ การเสริมสร้างความมั่นใจ และการจัดการความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ ทั้งหมดจะช่วยให้เราสร้างห้องเรียนอย่างมีคุณภาพไม่ว่าเด็กของเราจะอยู่ในระดับการศึกษาไหนก็ตาม สุดท้ายเราจะต้องไม่ลืมว่า ความมั่นใจ ความสบายใจ ความสุขของนักเรียนยิ่งมีมากขึ้นเขาจะรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจ
และเมื่อไหร่ก็ตามที่เขารู้สึกแบบนั้น เขาก็จะเติบโตไปเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติได้อย่างมีคุณภาพ
อ้างอิง
Deci, E. L., & Ryan, R. M. (2000). The “what” and “why” of goal pursuits: Human needs and the self-determination of behavior. Psychological Inquiry, 11(4), 227-268.
Deutsch, M. (1994). Constructive Conflict Resolution: Principles, Training, and Research. Journal of Social Issues, 50(1), 13-32.
Dweck, C. S. (2006). Mindset: The New Psychology of Success. Random House.
Nuthall, G. (2007). The hidden lives of learners. NZCER Press.
Van Ryzin, G., Gravely, A., & Roseth, C. (2009). Autonomy, belongingness, and engagement in school as contributors to adolescent well-being. Journal of Youth and Adolescence, 38(1), 1-12.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น