ผลกระทบของการใช้บริการ "ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง" (Buy Now, Pay Later: BNPL) ต่อสุขภาพจิต

การไม่สามารถชำระเงินตามกำหนดเวลาอาจทำให้ผู้บริโภคต้องเผชิญกับการถูกติดตามหนี้ และเป็นหนี้สินที่สะสมยาวนาน ทำให้เกิดความเครียดและความกังวลอย่างต่อเนื่อง

            สิ่งที่ผมมักพบเห็นในแอปพลิเคชันต่าง ๆ ในการจ่ายเงินหรือแหล่งช้อปปิ้งออนไลน์ต่าง ๆ ก็คือการบริการ "ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง" (Buy Now, Pay Later - BNPL) ทำให้ผมสนใจเรื่องนี้และพยายามไปศึกษาเพิ่มเติมจนพบว่าบริการดังกล่าวเป็นเรื่องปกติที่ใช้กันในยุคดิจิทัล เพราะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าทันทีและชำระเงินในภายหลัง บริการนี้สะดวกและเพิ่มความสามารถในการซื้อสินค้าของผู้บริโภค 

            แต่สิ่งที่ทุกคนไม่รู้ก็คือการบริการซื้อก่อน จ่ายทีหลัง มีผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพจิตอย่างมาก และมีงานศึกษาวิจัยทางจิตวิทยามาสนับสนุน ผมจึงอยากนำเสนอบทความนี้เพื่อให้ผู้อ่านเห็นผลกระทบเชิงลบที่มีต่อสุขภาพจิตของการบริการดังกล่าว รวมไปถึงข้อแนะนำในการจัดการความสะดวกสบายที่มาพร้อมกับความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การเกิดหนี้สะสมและปัญหาสุขภาพจิตนี้

ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น

            ในปัจจุบันหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยมีระดับสูงถึง 90.6% ของ GDP และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 91.4% ภายในสิ้นปี 2024 โดยยอดหนี้ทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 16.9 ล้านล้านบาท สถานการณ์นี้ทำให้ครัวเรือนมีความสามารถในการใช้จ่ายและออมน้อยลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) และเพิ่มภาระทางการเงินในการสนับสนุนมาตรการบรรเทาหนี้ของรัฐบาล 

            การไม่สามารถชำระเงินตามกำหนดอาจนำไปสู่ค่าปรับและดอกเบี้ยที่สูง ซึ่งเป็นปัจจัยที่เพิ่มภาระหนี้ในครัวเรือน ผลกระทบเชิงลบนี้สอดคล้องกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในประเทศไทยที่มีระดับสูงและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) การใช้ BNPL โดยไม่มีการวางแผนการเงินอย่างรอบคอบ อาจทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในวงจรหนี้ที่ยากจะหลุดพ้น ส่งผลให้เกิดความเครียดและปัญหาสุขภาพจิตตามมาโดยรวม (Money and Mental Health Policy Institute, 2021; Citizens Advice, 2021)

ผลกระทบต่อสุขภาพจิต

            คำว่าสุขภาพจิตมีความหมายค่อนข้างกว้าง ซึ่งจากงานวิจัยได้ยกตัวอย่างผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจด้านการเงินเอาไว้ เช่น อาการหุนหันพลันแล่น การสูญเสียความจำ และความยากลำบากในการจัดการ อาจพบว่าการจัดการการเงินและการชำระเงินเป็นเรื่องยากลำบาก ทำให้มีโอกาสสูงที่จะไม่สามารถชำระเงินตรงเวลาและเกิดหนี้สะสม การขาดการควบคุมการใช้จ่ายนี้สามารถส่งผลให้ปัญหาสุขภาพจิตที่มีอยู่แย่ลง (Citizens Advice, 2021)

            การใช้ BNPL สามารถกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการซื้อแบบทันที (Impulse buying) และการซื้อแบบบังคับ (Compulsive buying) ซึ่งเป็นผลเสียต่อสุขภาพจิต เนื่องจากทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นและเกินความสามารถในการจ่ายของตนเอง โดยเฉพาะการซื้อแบบทันทีสามารถนำไปสู่การเสพติดการใช้จ่ายและปัญหาทางการเงินที่ไม่คาดคิด (Raj et al., 2024)

การใช้ BNPL กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการซื้อแบบทันทีและการซื้อแบบบังคับ ซึ่งเป็นผลเสียต่อสุขภาพจิต

            นอกจากนั้นการไม่สามารถชำระเงินตามกำหนดเวลาอาจทำให้ผู้บริโภคต้องเผชิญกับการถูกติดตามหนี้ และเป็นหนี้สินที่สะสมยาวนาน ทำให้เกิดความเครียดและความกังวลอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงขึ้น เช่น ภาวะซึมเศร้าหรือการคิดฆ่าตัวตาย การถูกติดตามหนี้และความกังวลเกี่ยวกับสถานะการเงินสามารถเพิ่มความเครียดและส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตในระยะยาวได้ (Money and Mental Health Policy Institute, 2021)

แนวทางเพื่อจัดการบริการ BNPL

            เพื่อป้องกันผลกระทบทางลบต่อสุขภาพจิตจากการใช้บริการ BNPL เราสามารถปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้ได้

            1) วางแผนการเงินอย่างรอบคอบ ก่อนที่จะใช้บริการ BNPL เราควรคำนวณรายได้และค่าใช้จ่ายของตนเองอย่างละเอียด เพื่อตรวจสอบว่าเราสามารถชำระเงินคืนได้ตามกำหนด ตัวอย่างสมมติว่าคุณต้องการซื้อโทรศัพท์มือถือราคา 15,000 บาท โดยใช้บริการ BNPL แทนการชำระเงินเต็มจำนวน เราควรตรวจสอบว่าในแต่ละเดือนเรามีรายได้เท่าไรและมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่น ๆ เท่าไร แล้วจึงตัดสินใจว่าเราสามารถแบ่งชำระเงิน 3 งวดเดือนละ 5,000 บาทได้หรือไม่

            2) จำกัดการใช้จ่าย คือการซื้อเฉพาะสินค้าที่จำเป็นและอยู่ในงบประมาณที่คุณสามารถชำระคืนได้ อย่าละเลยการคำนวณค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่นหากเราต้องการซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นล่าสุด แต่ไม่สามารถชำระเงินได้ในทันที เราควรพิจารณาว่าสินค้านั้นจำเป็นหรือไม่ หากไม่จำเป็น เราควรรอจนกว่ามีเงินเพียงพอที่จะชำระเต็มจำนวน หรือเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาต่ำกว่าและอยู่ในงบประมาณที่กำหนด

            3) ติดตามการชำระเงิน จดบันทึกการชำระเงินทั้งหมดเพื่อไม่ให้พลาดการชำระเงินตามกำหนด ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดค่าปรับและดอกเบี้ย เช่นเราสามารถใช้แอปพลิเคชันจัดการการเงินส่วนบุคคลต่าง ๆ หรือใช้ปฏิทินเพื่อบันทึกวันที่ที่ต้องชำระเงิน BNPL ในแต่ละเดือน ซึ่งการตั้งเตือนในโทรศัพท์มือถือจะช่วยให้เราไม่ลืมวันชำระเงิน

            4) ขอคำปรึกษาทางการเงิน หากเรามีปัญหาทางการเงิน เราควรขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทางการเงินเพื่อวางแผนและแก้ไขปัญหา เช่น หากเราพบว่าไม่สามารถชำระเงิน BNPL ได้ตามกำหนด ควรติดต่อที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อขอคำแนะนำในการจัดการหนี้สิน บางครั้งการรีไฟแนนซ์หนี้สินหรือการปรับโครงสร้างหนี้อาจเป็นทางออกที่ดีมากกว่าการปล่อยปัญหาทางการเงินไว้

            ผมไม่ปฏิเสธว่าการใช้บริการ BNPL มีข้อดีและมีประโยชน์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เช่นกันว่าการให้บริการดังกล่าวมีข้อเสียอย่างมหัน หากไม่ระมัดระวังในการใช้ อาจนำไปสู่ปัญหาทางการเงินและสุขภาพจิตที่รุนแรงได้ เราจึงควรวางแผน จัดการ และติดตามการใช้จ่ายของตนเองให้มีประสิทธิภาพ

หรืออาจจะกล่าวได้ว่า เราควรใช้บริการนี้อย่างมีสติและรอบคอบเสมอ

อ้างอิง

Money and Mental Health Policy Institute. (2021). Buy Now Pay Later and mental health - what’s the cost? Retrieved from Money and Mental Health

Raj, V. A., Jasrotia, S. S., & Rai, S. S. (2024). Intensifying materialism through buy-now pay-later (BNPL): examining the dark sides. International Journal of Bank Marketing, 42(1), 94-112.

Citizens Advice. (2021). BNPL: Debt and mental health. Retrieved from Citizens Advice

ความคิดเห็น