ผู้นำที่อยู่คนละยุคคนละสมัยต่างมีค่านิยมที่สอดคล้องกัน กล่าวคือพวกเขาให้ความสำคัญกับการประสานร่วมมือเพื่อพัฒนา ฟื้นฟู หรือแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์
ผมเชื่อว่าทุกท่านน่าจะมีความคิดเห็นตรงกันว่าลักษณะของงานในปัจจุบันมีความยากและซับซ้อนมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยเริ่มมีลูกเล่น มีการใส่เทคนิคที่ยากมากขึ้น การอบรมเริ่มมีความแปลกใหม่มีเนื้อหาที่ยากมากขึ้น และเช่นเดียวกับผลงานศิลปะที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้การจะทำอะไรสำคัญจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน ช่วยกันระดมสมองเพื่อสร้างสรรค์วิธีการทำงานและการแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ
ทักษะการทำงานร่วมกัน (Collaboration Skills) จึงกลายเป็นหนึ่งในทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ทำให้บุคคลประสบความสำเร็จทั้งในชีวิตส่วนตัวและการทำงาน ซึ่งในปัจจุบันมีหลายองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกัน หนึ่งในนั้นคือบริษัท Microsoft นำโดย สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ผู้เป็น CEO เขาเป็นผู้นำที่โดดเด่นในการนำทักษะการทำงานร่วมกันมาปรับใช้ในองค์กร ซึ่งส่งผลให้องค์กรเกิดความเปลี่ยนแปลง ยืดหยุ่นและประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อ สัตยา นาเดลลา เข้ารับตำแหน่ง CEO ของ Microsoft ในปี ค.ศ. 2014 บริษัทกำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งในด้านนวัตกรรมและการเติบโตทางธุรกิจ นาเดลลา ในระหว่างนั้นเขาสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นการเรียนรู้และการทำงานร่วมกัน เขาส่งเสริมการสื่อสารที่เปิดกว้าง การสนับสนุนการเรียนรู้จากความล้มเหลว และการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้ในการทำงาน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ช่วยให้ Microsoft กลับมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้ง
ทักษะการทำงานร่วมกัน
ทักษะการทำงานร่วมกัน (Collaboration Skills) หมายถึง ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน โดยประกอบด้วยการสื่อสารที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ การฟังอย่างตั้งใจ การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง การสนับสนุนและความไว้วางใจ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจร่วมกัน และการปรับตัวและความยืดหยุ่น ทักษะเหล่านี้มีความสำคัญในทุกองค์กรเพราะช่วยเพิ่มประสิทธิผลและสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี ส่งเสริมให้ทีมสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดความขัดแย้งภายในทีม (Nulab, 2023; Coursera, 2024) โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การสื่อสารที่ชัดเจนและเปิดกว้างเป็นพื้นฐานของการทำงานร่วมกันที่ดี การสื่อสารที่ดีช่วยให้สมาชิกทีมเข้าใจเป้าหมายและวิธีการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2) การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง การยอมรับความคิดเห็นและมุมมองที่แตกต่างช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหาที่ครอบคลุม การทำงานร่วมกันที่ดีต้องการการฟังและเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ใช่มองแต่ว่าความคิดของตนเองดีหรือถูกต้องที่สุด
3) การสนับสนุนและความไว้วางใจ การสร้างความไว้วางใจระหว่างสมาชิกทีมทำให้ทุกคนรู้สึกมั่นใจและพร้อมที่จะร่วมมือกัน การสนับสนุนและการให้กำลังใจซึ่งกันและกันช่วยให้ทีมทำงานได้อย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ
การสร้างความไว้วางใจระหว่างสมาชิกทีมทำให้ทุกคนรู้สึกมั่นใจและพร้อมที่จะร่วมมือกัน |
4) การแก้ปัญหาและการตัดสินใจร่วมกัน การทำงานร่วมกันต้องการการร่วมมือในการแก้ไขปัญหาและการตัดสินใจ สมาชิกทีมต้องสามารถทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาและบรรลุเป้าหมายร่วมกัน
5) การปรับตัวและความยืดหยุ่น การทำงานในยุคที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงต้องการความสามารถในการปรับตัวและความยืดหยุ่น ทีมที่ดีต้องสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความท้าทายใหม่ ๆ
ทักษะการทำงานร่วมกันสามารถช่วยให้เราสามารถเผชิญกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรื่องราวของ สัตยา นาเดลลา เป็นตัวอย่างที่ดีของการนำทักษะการทำงานร่วมกันมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงองค์กร การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง การสนับสนุนและความไว้วางใจ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจร่วมกัน และการปรับตัวและความยืดหยุ่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การทำงานร่วมกันประสบความสำเร็จ
ทักษะการทำงานร่วมกันของผู้นำในอดีตและปัจจุบัน
ในหนังสือ Team of Rivals: The Political Genius of Abraham Lincoln ที่เขียนโดย ดอริส เคิร์นส์ กู๊ดวิน (Doris Kearns Goodwin) ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถอันยอดเยี่ยมของ อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln)ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะการสร้างทีมที่แข็งแกร่งจากคู่แข่งทางการเมืองของเขาเอง
หนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่นของทักษะการทำงานร่วมกันของลินคอล์นคือการแต่งตั้งคู่แข่งทางการเมืองที่มีชื่อเสียงเข้ามาในคณะรัฐมนตรีของเขา ลินคอล์นมีความสามารถในการรวมคนที่มีความเห็นและความเชื่อที่แตกต่างกันเข้ามาทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ครั้งหนึ่งเขาได้แต่งตั้งวิลเลียม เอช. ซีวาร์ด (William H. Seward) ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองที่แข็งแกร่งของลินคอล์นในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี ค.ศ. 1860 แม้ว่าเขาจะแพ้ลินคอล์นพร้อมกับคำดูถูก เหยียดหยามต่าง ๆ นา ๆ แต่ลินคอล์นก็ยังแต่งตั้งซีวาร์ดเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากเห็นถึงความสามารถและประสบการณ์ของเขา สุดท้ายทั้งสองคนทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้ซีวาร์ดกลายเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาที่สำคัญที่สุดของลินคอล์น
นอกจากซีวาร์ดแล้วยังมีอีกหลายท่านที่ขัดแย้งกับลินคอล์น หนึ่งในนั้นคือเอ็ดวิน เอ็ม. สแตนตัน (Edwin M. Stanton) ลินคอล์นแต่งตั้งสแตนตันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม แม้ว่าสแตนตันจะเคยวิพากษ์วิจารณ์ลินคอล์นอย่างรุนแรงในอดีต แต่ลินคอล์นเห็นถึงความสามารถของสแตนตันในการจัดการและดำเนินงานด้านการสงคราม พวกเขาทั้งสองทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการดำเนินสงครามกลางเมืองอเมริกา สแตนตันจึงกลายเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนที่แข็งแกร่งที่สุดของลินคอล์น
จะเห็นว่าลินคอล์นสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างสมาชิกคณะรัฐมนตรีที่มีความเห็นและความเชื่อที่แตกต่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เขามักจะฟังความคิดเห็นของทุกคนและพยายามหาข้อสรุปที่ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม สิ่งนี้คือความพิเศษของลินคอล์น เขาใช้วิธีการที่เป็นกลางและเป็นธรรมในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างสมาชิกคณะรัฐมนตรี ทำให้ทีมของเขาสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
วิธีการของ สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ผู้เป็น CEO ของ บริษัท Microsoft มีหลายแง่มุมที่สอดคล้องกับการทำงานร่วมกันของ อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) โดยเฉพาะในด้านของการสร้างทีมที่มีความหลากหลายและการใช้ประโยชน์จากความคิดเห็นที่แตกต่างกันเพื่อสร้างความสำเร็จ
เมื่อ สัตยา นาเดลลา ขึ้นดำรงตำแหน่ง CEO ของ Microsoft ในปี 2014 เขาได้สร้างวัฒนธรรมที่เปิดกว้างและมีการยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลาย นอกจากนี้เขายังสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างทีมที่มีความเชี่ยวชาญและพื้นหลังที่แตกต่างกัน
เขาฟื้นฟูวัฒนธรรมของ Microsoft โดยการส่งเสริมให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้จากความล้มเหลว อีกทั้งเขายังสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมและการฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายในองค์กรเข้ามาแทนที่การแข่งขันภายใน ไม่เพียงแค่นั้นเขายังเน้นให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นได้อย่างเปิดเผย รวมไปถึงส่งเสริมการฟังความคิดเห็นของพนักงานและลูกค้าเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการของ Microsoft ให้ดียิ่งขึ้น
เช่นเดียวกับลินคอล์นที่แต่งตั้งคู่แข่งทางการเมืองของเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้ประโยชน์จากความสามารถและความเชี่ยวชาญที่หลากหลายของพวกเขา อีกทั้งลินคอล์นยังให้ความสำคัญกับการฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายและพยายามหาข้อสรุปที่ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เขาใช้วิธีการที่เป็นกลาง เป็นธรรม วางใจเป็นกลางในการแก้ไขความขัดแย้ง ทำให้ทีมสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทุกท่านจะว่าทั่งสองผู้นำที่อยู่คนละยุคคนละสมัยต่างมีค่านิยมที่สอดคล้องกัน กล่าวคือพวกเขาให้ความสำคัญกับการประสานร่วมมือเพื่อพัฒนา ฟื้นฟู หรือแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนั้นยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขามีร่วมกันคือความใจเย็นและใจกว้างมากพอที่จะประสานความเห็นที่แตกต่างกัน ผมมีความเชื่อว่าหากผู้นำทั้งสองท่านขาดทักษะการทำงานร่วมกันไป
โลกของเราคงจะแตกต่างจากปัจจุบันอย่างชัดเจน
อ้างอิง
Coursera. (2024). Collaboration in the workplace: Benefits and strategies. Retrieved from https://www.coursera.org
Goodwin, D. K. (2005). Team of Rivals: The Political Genius of Abraham Lincoln. Simon & Schuster.
Katzenbach, J. R., & Smith, D. K. (1993). The Wisdom of Teams: Creating the High-Performance Organization. Harvard Business Review Press.
Lencioni, P. (2002). The Five Dysfunctions of a Team: A Leadership Fable. Jossey-Bass.
Nadella, S. (2017). Hit Refresh: The Quest to Rediscover Microsoft's Soul and Imagine a Better Future for Everyone. Harper Business.
Nulab. (2023). Build bridges, not silos: The importance of collaboration in the workplace. Retrieved from https://nulab.com
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น