มาตรฐานการครองชีพ (Standard of Living) ที่เปลี่ยนแปลง ผัดกะเพราริมทางในวันนี้ที่ไม่อร่อยเหมือนเก่า

แม่น้ำที่ไหลไปไม่มีวันย้อนกลับมาเป็นสายเดิมได้อีก สิ่งเล็กน้อยที่เคยทำให้เรามีความสุขกลับไม่สามารถสร้างความพึงพอใจได้เช่นเดิม

            ผมเขียนบทความเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำและการปรับตัวต่อความพึงพอใจอยู่บ้าง ทำให้ผมรู้ว่าความพึงพอใจมันไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งที่เราได้รับมาวันนี้ เราจะอยากได้เพิ่มมากขึ้น แต่ผมไม่เคยตั้งคำถามเลยว่า อาหารที่อร่อยและสร้างความสุขให้กับเราในทุกครั้งที่เรากิน จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่เมื่อมาตรฐานการครองชีพของเราสูงขึ้น จนกระทั่งผมได้อ่านหนังสือ THE HAPPIEST PERSON IN THE ROOM อยู่เย็นเป็นสูตร ที่เขียนโดย ศาสตราจารย์ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี

            ศาสตราจารย์ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ได้ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ส่วนตัวในหนังสือ โดยอาจารย์เล่าว่า "เมื่อประมาณสิบปีของผม ทางบริษัท Suntory ชวนผมไปบรรยายงานวิจัยเรื่องความสุขที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น และหนึ่งในแรงจูงใจจากเขาในตอนนั้นคือการซื้อตั๋วเครื่องบินชั้นธุรกิจให้ผมบินจากลอนดอนไปโอซาก้า ตัวผมในตอนนั้นเคยนั่ง ชั้นธุรกิจเพียงแค่ครั้งเดียว ซึ่งเป็นการบินระยะสั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง จึงดีใจมากกับโอกาสที่จะได้นั่งชั้นธุรกิจไกล ๆ เป็นครั้งแรก และการบินไปญี่ปุ่นครั้งนั้นก็ไม่ทำให้ผม ผิดหวังเลย มันเป็นประสบการณ์ที่ยังจำได้จนทุกวันนี้"

            "อย่างไรก็ตาม การนั่งเครื่องบินชั้นธุรกิจไปญี่ปุ่นเมื่อเกือบสิบปีที่แล้วกลับมีผลข้างเคียงเชิงลบต่อความสุขในอนาคตอย่างที่ผมไม่ได้คาดคิดมาก่อน เพราะตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ทุกครั้งที่ต้องเดินทางกลับมาเยี่ยมครอบครัว ที่ไทย ด้วยเหตุที่ผมไม่มีรายได้พอที่จะบินชั้นธุรกิจได้ตลอดไม่ได้นั่งมันบ่อย ๆ ทำให้ประสบการณ์การนั่งเครื่องบิน ชั้นประหยัดไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

            "จากเดิมที่ไม่เคยรู้สึกอะไรมาก่อน ผมกลับรู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมที่นั่งของชั้นประหยัด ถึงเล็กอย่างนี้ ทำไมอาหารที่เสิร์ฟถึงไม่ค่อยถูกปากเท่าไหร่ทำไมผมถึงไม่สามารถนอนหลับอย่างที่เคยทำได้ในอดีต นั่นเพราะประสบการณ์จากการบินชั้นธุรกิจ ได้ทำลายประสบการณ์ของการนั่งชั้นประหยัดในอนาคตของผมไปอย่างสิ้นเชิง"

            การยกระดับมาตรฐานการครองชีพ (Standard of Living) เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา เพราะเราต้องการให้ชีวิตดีขึ้น แต่สิ่งที่พบก็คือ เมื่อมาตรฐานการครองชีพของเราสูงขึ้น ความพึงพอใจที่เราเคยมีต่อสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตกลับลดลง นี่คือผลกระทบจากการปรับตัว (Hedonic Adaptation) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่สำคัญ

            ในอดีต เราอาจพอใจกับการรับประทานอาหารข้างทางที่เรียบง่าย เช่น ข้าวผัดกะเพรา แต่เมื่อมีโอกาสได้ลิ้มลองอาหารในร้านหรู ความพอใจนั้นกลับลดลง ข้าวผัดกะเพราริมทางที่เคยอร่อยก็ไม่ดีพอสำหรับเราอีกต่อไป ชีวิตของเรามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เหมือนแม่น้ำที่ไหลไปไม่มีวันย้อนกลับมาเป็นสายเดิมได้อีก สิ่งเล็กน้อยที่เคยทำให้เรามีความสุขกลับไม่สามารถสร้างความพึงพอใจได้เช่นเดิม

การปรับตัวทางเฮโดนิค (Hedonic Adaptation)

        การปรับตัวเป็นกระบวนการที่มนุษย์ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นหรือแย่ลง หลังจากช่วงเวลาหนึ่งความรู้สึกพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจจะกลับสู่ระดับเดิม การปรับตัวนี้ทำให้เราไม่สามารถรักษาความพึงพอใจในระดับสูงสุด (ที่เคยมี) ได้ตลอดเวลา เนื่องจากเราจะคุ้นเคยกับสิ่งที่ดีขึ้นและความสุขจากสิ่งเดิมลดลง

เมื่อมาตรฐานการครองชีพของเราสูงขึ้น ความพึงพอใจที่เราเคยมีต่อสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตกลับลดลง

            ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือ เมื่อเราเพิ่มรายได้และสามารถใช้ชีวิตที่หรูหราขึ้น มาตรฐานของความสุขและความพึงพอใจของเราก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย สิ่งที่เคยทำให้เรามีความสุขกลายเป็นสิ่งที่ธรรมดาและไม่น่าตื่นเต้นอีกต่อไป เมื่อเรามีรถหรูหรือบ้านหลังใหญ่ เราย่อมคุ้นเคยกับความสะดวกสบายเหล่านั้นและต้องการสิ่งที่ดีกว่าเสมอ

            สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่การจะสามารถก้าวให้ทันความสามารถในการปรับตัวเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และความพยายามนั้นก็ทำให้เราสูญเสียความสุขระหว่างทางไปมากมาย ดังนั้นการมีความสุขหรือพึงพอใจกับสิ่งที่เรียบง่ายอาจเป็นหนทางที่จะทำให้เรามีชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

            หัวใจคือการอยู่กับปัจจุบัน เพราะมันช่วยให้เราตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่เรามีในตอนนี้ และไม่หลงไปกับความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุด การใช้ชีวิตในปัจจุบันและการรักษาความเรียบง่ายเป็นวิธีที่ดีในการรักษาความพอใจและความสุขในชีวิต

            เลียว ตอลสตอย (Leo Tolstoy) เป็นบุคคลที่มีชีวิตที่สะท้อนถึงความเรียบง่ายและการอยู่กับปัจจุบันอย่างลึกซึ้ง เขาเขียนหนังสือชื่อดังเช่น "War and Peace" ซึ่งพูดถึงผลกระทบของสงครามต่อมนุษย์และความสำคัญของความเมตตาและความเข้าใจระหว่างบุคคล และ "The Death of Ivan Ilyich" ที่ทำให้ผู้คนตระหนักถึงความว่างเปล่าของชีวิตที่มัวแต่แสวงหาความสำเร็จทางวัตถุและความสุขทางสังคม เขาเรียนรู้ว่าความรักและความจริงใจต่อผู้อื่นเป็นสิ่งที่มีความหมายที่สุดในชีวิต

            ในท้ายที่สุด ตอลสตอยกลับไปใช้ชีวิตในฟาร์มแถวชนบท เขาเลิกใช้ชีวิตที่หรูหราและหันมาสนใจการทำงานในฟาร์ม การใช้ชีวิตอย่างพอเพียง และการทำงานด้วยมือของตนเอง ตอลสตอยก่อตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กยากจนในชนบท เพื่อให้เด็กเหล่านั้นได้รับการศึกษาและมีโอกาสในชีวิต เขาเชื่อว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม เขาใช้ทรัพย์สินของเขาในการช่วยเหลือผู้ยากไร้และทำงานการกุศลอย่างต่อเนื่อง

ข้อแนะนำในการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายและมีความสุขมา

            ในท้ายที่สุดตอลสตอยเลิกใช้ชีวิตที่หรูหราและหันมาสนใจการทำงานในฟาร์ม การใช้ชีวิตอย่างพอเพียง และการทำงานด้วยมือของตนเอง ชีวิตของเขาสอดคล้องกับข้อแนะนำในการดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตามผมไม่ได้บอกให้ทุกคนเลิกใช้ชีวิตในเมืองแล้วไปใช้ชีวิตที่ฟาร์มแทน เพราะพวกเราทุกคนมีการใช้ชีวิตเรียบง่ายที่แตกต่างกัน ซึ่งจากแนวคิดและงานวิจัยหลายชิ้นในด้านจิตวิทยาและการศึกษาความสุข สามารถกลั่นกรองเป็นข้อเสนอแนะได้ดังนี้

            1) การฝึกความกตัญญู (Gratitude) งานวิจัยโดย Emmons และ McCullough (2003) พบว่าการฝึกความกตัญญูมีผลดีต่อสุขภาพจิตและความพึงพอใจในชีวิตของคน การฝึกความกตัญญูสามารถทำได้โดยการเขียนบันทึกความรู้สึกขอบคุณในสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น ขอบคุณครอบครัว เพื่อนฝูง หรือแม้กระทั่งสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้เรามีความสุขในแต่ละวัน 

            การฝึกความกตัญญูอย่างต่อเนื่องช่วยเพิ่มความสามารถในการมองเห็นความดีในชีวิต ลดความเครียด และเพิ่มความสุขโดยรวมของคน การฝึกความกตัญญูยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างบุคคล ทำให้เรามีทัศนคติที่ดีต่อผู้อื่น และทำให้เรามีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

            2) การดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย (Simplicity) งานวิจัยหนึ่งพบว่าการลดการบริโภคและการจัดระเบียบสิ่งของในชีวิตประจำวันสามารถช่วยให้บุคคลมีความสุขและพึงพอใจมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพวกเขามุ่งเน้นที่การใช้ทรัพยากรในการสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่ามากกว่าการสะสมสิ่งของ (Kasser, 2016)

            การลดการบริโภคสิ่งของที่ไม่จำเป็นและการลดความซับซ้อนในชีวิตช่วยให้เรามีเวลามากขึ้นในการทำสิ่งที่มีความหมายและมีความสุข การศึกษาพบว่าคนที่เลือกใช้ชีวิตแบบ Minimalist (ใช้ชีวิตแบบน้อยแต่มาก) มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น มีความเครียดน้อยลง และมีความพึงพอใจในชีวิตมากขึ้น การดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายยังช่วยลดภาระทางการเงินและเพิ่มความสามารถในการมีอิสระในการตัดสินใจในชีวิต

            3) การตั้งเป้าหมายที่มีความหมาย (Meaningful Goals) งานวิจัยใน Positive Psychology โดย Seligman (2002) และคณะพบว่าการมีเป้าหมายที่มีความหมายและการใช้ชีวิตตามค่านิยมที่สำคัญช่วยเพิ่มความพึงพอใจในชีวิตและความสุขระยะยาว การตั้งเป้าหมายที่มีความหมายหมายถึงการกำหนดเป้าหมายที่มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อตนเองและผู้อื่น 

            การมีเป้าหมายที่ชัดเจนและมีความหมายทำให้เรามีแรงบันดาลใจในการทำงานและการใช้ชีวิต การตั้งเป้าหมายที่มีความหมายยังช่วยให้เรามีทิศทางในชีวิตและรู้สึกว่าชีวิตมีความหมายและมีคุณค่า การศึกษาพบว่าคนที่มีเป้าหมายที่มีความหมายมีความสุขและความพึงพอใจในชีวิตมากขึ้น และมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น

            ผู้อ่านอาจจะงงงวยว่าการตั้งเป้าหมายที่มีความหมายจะช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบันได้ไง แต่จริง ๆ แล้วการตั้งเป้าหมายทำให้เราเห็นทิศทางการเดินของตนเองที่ชัดเจนมากขึ้น ไม่ใช้ชีวิตโดยเดินไปข้างหน้าอย่างว่างเปล่า อีกทั้งการสำเร็จตามเป้าหมายทำให้เรามีความสุขในจุดที่เรากำลังยืนอยู่ในปัจจุบันมากขึ้นอีกด้วย

            4) การฝึกการใช้ชีวิตในปัจจุบัน (Mindfulness) การวิจัยในด้าน Mindfulness โดย Kabat-Zinn (1994) พบว่าการฝึกมีสมาธิช่วยลดความเครียดและเพิ่มความพึงพอใจในชีวิต การฝึกการมีสมาธิหมายถึงการฝึกจิตให้มีสติและตระหนักรู้ในปัจจุบัน อีกทั้งยังช่วยให้เรามีความสามารถในการอยู่กับปัจจุบันและไม่หลงไหลไปกับความคิดและความรู้สึกที่ไม่พึงประสงค์และมีความสุขจากสิ่งเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน และช่วยให้เรามีความสามารถในการจัดการกับความเครียดและปัญหาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างบุคคลและทำให้เรามีทัศนคติที่ดีต่อชีวิต

            5) การช่วยเหลือผู้อื่น (Altruism) งานวิจัยโดย Post (2005) และคณะ พบว่าการทำบุญหรือการช่วยเหลือผู้อื่นทำให้คนรู้สึกมีความสุขและพึงพอใจในชีวิตมากขึ้น การช่วยเหลือผู้อื่นหมายถึงการทำสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน การทำบุญและการทำงานการกุศลช่วยให้เรารู้สึกมีคุณค่าและมีความหมาย 

            การช่วยเหลือผู้อื่นยังเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในสังคมและทำให้เรามีความสุขจากการเห็นคนอื่นมีความสุข นอกจากนั้นยังมีการศึกษาที่พบว่าคนที่ทำบุญและช่วยเหลือผู้อื่นมีความสุขและความพึงพอใจในชีวิตมากขึ้น และมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นอีกด้วย

            เราสามารถใช้ข้อแนะนำทั้งหมดมาเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้เราใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย และมีความสุขกับปัจจจุบันมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นคนที่น่าคบหามากขึ้นอีกด้วย แม้ว่าการปรับตัวจะเป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่ทำให้เราคุ้นเคยกับสิ่งที่ดีขึ้นและความสุขจากสิ่งเหล่านั้นลดลง เมื่อเรามีมากขึ้น ความคาดหวังและมาตรฐานของเราก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้สิ่งที่เคยทำให้เรามีความสุขกลายเป็นสิ่งที่ธรรมดาในสายตาเรา 

            แต่การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย อยู่กับปัจจุบัน ฝึกฝนความกตัญญู การขอบคุณ สมาธิ และการช่วยเหลือผู้อื่น จะช่วยให้เรารักษาความพอใจและความสุขในชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ เรื่องราวของเลียว ตอลสตอยเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและการให้ความสำคัญกับความรัก ความเมตตา และความเข้าใจระหว่างมนุษย์

กุญแจของการมีชีวิตที่ดีจึงไม่ใช่ปัจจัยภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่มันคือการประสานกันระหว่างปัจจัยภายในและภายในอย่างลงตัว

อ้างอิง

ณัฐวุฒิ เผ่าทวี. (2566). THE HAPPIEST PERSON IN THE ROOM: อยู่เย็นเป็นสูตร. กรุงเทพฯ: แซลมอนบุ๊คส์.

Brown, K. W., & Ryan, R. M. (2003). The benefits of being present: Mindfulness and its role in psychological well-being. Journal of Personality and Social Psychology, 84(4), 822-848. https://doi.org/10.1037/0022-3514.84.4.822

Emmons, R. A., & McCullough, M. E. (2003). Counting blessings versus burdens: An experimental investigation of gratitude and subjective well-being in daily life. Journal of Personality and Social Psychology, 84(2), 377-389. https://doi.org/10.1037/0022-3514.84.2.377

Kabat-Zinn, J. (1994). Wherever you go, there you are: Mindfulness meditation in everyday life. Hyperion.

Kasser, T. (2016). Materialistic values and goals. Annual Review of Psychology, 67(1), 489-514.

Post, S. G. (2005). Altruism, happiness, and health: It’s good to be good. International Journal of Behavioral Medicine, 12(2), 66-77. https://doi.org/10.1207/s15327558ijbm1202_4

Seligman, M. E. P. (2002). Authentic happiness: Using the new positive psychology to realize your potential for lasting fulfillment. Free Press.

ความคิดเห็น