สุขภาพจิตของเด็กยุคใหม่: ความเครียดและความกดดันที่เกิดจากสังคมและสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

ในฟินแลนด์เด็กนักเรียนในระดับประถมศึกษาจะมีชั่วโมงเรียนประมาณ 4-5 ชั่วโมงต่อวัน และได้รับการสนับสนุนให้พักผ่อนเป็นเวลา 15 นาทีหลังจากเรียนทุก ๆ 45 นาที 

            ผมเป็นครูในโรงเรียนจึงทำให้พบเห็นเด็กมากมายตั้งแต่นักเรียนประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 ไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 สิ่งที่กระตุกความสนใจจนทำให้เขียนบทความนี้ก็คือ ความเปราะบางที่พบได้ง่ายมากขึ้น ในเด็กยุคนี้ ผมไม่ได้คิดไปเองเพราะมีการศึกษาที่พบว่า เด็กรุ่นใหม่ หรือ Gen Z มีสุขภาพจิตที่แย่กว่าคนรุ่นก่อนหน้า ข้อมูลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าภาวะซึมเศร้าและความเครียดในกลุ่มเยาวชนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในทศวรรษที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น ระหว่างปี 2010 ถึง 2022 อัตราการซึมเศร้าในกลุ่มเยาวชนอายุ 18-24 ปี เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 12% ซึ่งสูงกว่าอัตราของผู้ใหญ่อายุ 25-64 ปี ที่อยู่ที่ 8% ในปี 2022 (Summers-Gabr, Gutkowski, & Kassens, 2024)

            ผมได้ทำการศึกษาและค้นพบว่ามีปัจจัยมากมายที่ส่งผลให้สุขภาพจิตของเด็กในยุคนี้แย่ลงกว่าเด็กในยุคก่อน เช่น สังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ความกดดันทางการศึกษา การเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองและสภาพแวดล้อม ทำให้ปัจจัยเหล่านี้กลายเป็นสาเหตุหลักที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กไทย ผมจึงอยากเขียนบทความนี้เพื่อนำเสนอข้อมูลดังกว่าที่มีงานวิจัยสนับสนุน เพื่อให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์ปัจจุบันและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพจิตของเด็กยุคใหม่

ความเครียดและความกดดันทางด้านการศึกษา

            โรงเรียนของผมเต็มไปด้วยเด็กที่เก่งในหลากหลายด้าน แต่ก็เช่นเดียวกันน้อยคนมากที่จะพอใจในตนเอง เด็กหลายคนเผชิญกับความดันทั้งด้านเรียนและด้านกิจกรรม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ระบบการศึกษาที่เน้นการสอบแข่งขันอย่างเข้มงวดทำให้เด็กต้องเผชิญกับความเครียดอย่างมาก ค่านิยมการเข้ามหาวิทยาลัยที่ได้ความความนิยมในสังคม หรือแม้แต่การประสบความสำเร็จในรูปแบบที่แตกต่างจากคนอื่น

            งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าว่าเด็กไทยต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเรียนและเตรียมตัวสอบ ทำให้พวกเขามีเวลาน้อยลงในการพักผ่อนและทำกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาสุขภาพจิตอย่างสมดุล (Burnet Institute et al., 2022; SEAMEO, 2022) การศึกษาจากศูนย์พัฒนาการศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) ยังพบว่าเด็กไทยมักประสบกับภาวะความเครียดและความวิตกกังวลในระดับสูงจากการสอบวัดผล ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาทางอารมณ์และการเรียนรู้ในระยะยาว (SEAMEO, 2022) 

            ไม่ใช่แค่สุขภาพจิตที่แย่ลงเพราะการแข่งขันทางการศึกษา แต่ยังมีผลกระทบระยะยาวต่อการพัฒนาบุคลิกภาพและความสามารถในการปรับตัวในสังคมที่เป็นปัญหาเช่นเดียวกัน หลายประเทศในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น ที่มีระบบการศึกษาที่คล้ายคลึงกัน แต่ผลลัพธ์ทางสุขภาพจิตของดิ่งในทิศทางเดียวกัน ในขณะที่ฟินแลนด์ ระบบการศึกษาเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณของชั่วโมงเรียน เด็กนักเรียนในระดับประถมศึกษาจะมีชั่วโมงเรียนประมาณ 4-5 ชั่วโมงต่อวัน และได้รับการสนับสนุนให้พักผ่อนเป็นเวลา 15 นาทีหลังจากเรียนทุก ๆ 45 นาที 

            สิ่งนี้่เป็นตัวช่วยส่งเสริมสมาธิและความพร้อมในการเรียนรู้ต่อไป โดยระบบนี้มุ่งเน้นให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างสนุกสนานและไม่เครียด พร้อมกับมีเวลาทำกิจกรรมที่หลากหลายทั้งในและนอกห้องเรียน ด้วยเหตุนี้แม้จะเป็นประเทศที่หนาวเย็นแต่เด็กนักเรียนในฟินแลนด์กลับพบว่ามีความสุขอย่างมากแต่ต่างกับเด็กนักเรียนหลายประเทศในเอเชีย ดังนั้นเวลาเรียนอาจจะไม่ใช้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอไป การลดการเน้นการสอบวัดผล และการสนับสนุนทางจิตใจในโรงเรียน อาจเป็นตัวช่วยสำคัญให้สุขภาพจิตของเด็กในยุคนี้ดียิ่งขึ้น 

สื่อสังคมออนไลน์และผลกระทบต่อสุขภาพจิต

            หลายบทความของผมพูดถึงผลกระทบเชิงลบของสื่อสังคมออนไลน์ รวมไปถึงมีงานวิจัยมากมายที่สนับสนุน แต่ทุกวันนี้ในชีวิตประจำวันของเด็กไทย มีการใช้เวลามากในโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และมีการศึกษาที่พบว่าการใช้สื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียมากขึ้นเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล โดยเฉพาะเมื่อเด็ก ๆ ต้องเผชิญกับการเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นและการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (Cyberbullying) (UNICEF Thailand, 2022; Burnet Institute et al., 2022) 

            สอดคล้องกับวารสาร Youth and Adolescence ที่พบว่าการใช้โซเชียลมีเดียที่มากเกินไปมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของอัตราภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น ซึ่งเป็นผลมาจากการเปรียบเทียบทางสังคมและการถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ (Smith et al., 2022)

การใช้โซเชียลมีเดียที่มากเกินไปมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของอัตราภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่น

            นอกจากนี้งานวิจัยของ UNICEF ยังพบว่าเด็กไทยจำนวนมากไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอจากครอบครัวและโรงเรียนในการรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (UNICEF Thailand, 2022) สถิติจากรายงานยังแสดงให้เห็นว่าประมาณ 35% ของเด็กไทยที่ใช้โซเชียลมีเดียประสบกับปัญหาการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้น (Jones & Lee, 2021)

            ดังนั้นทั้งการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ และการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น เป็นผลเลวร้ายอย่างมากและส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตโดยตรง เพื่อจัดการกับผลกระทบเหล่านี้ การให้ความรู้และการสนับสนุนจากครอบครัวและโรงเรียนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมให้เด็กสามารถรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Nguyen & Pham, 2023)

การสนับสนุนทางจิตใจที่ขาดหายไป

            นอกจากหัวข้อที่แล้วจะพบว่าเด็กไทยจำนวนมากไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอจากครอบครัวและโรงเรียนในการรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ งานวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) (2022) ยังพบว่ามีการขาดแคลนบริการทางสุขภาพจิตที่เข้าถึงได้ง่ายและครอบคลุมในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ซึ่งทำให้เด็กที่ประสบปัญหาสุขภาพจิตไม่สามารถได้รับการดูแลที่เหมาะสม 

            การสนับสนุนทางจิตใจจากครอบครัวและชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คุณครู หรืออื่น ๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้กับเด็ก การสื่อสารที่เปิดกว้าง การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และการเข้าถึงบริการสนับสนุนจากชุมชนสามารถลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตในเด็กได้ เราจะต้องตระหนักว่าความสัมพันธ์ที่ดีคือปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อความสุขไม่ว่าจะยุคอายุใดหรือยุคสมัยใดก็ตาม 

            อีกทั้งปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรทางการเงินและการขาดการฝึกอบรมให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาในการดูแลสุขภาพจิตของเด็ก ยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข การพัฒนานโยบายที่มุ่งเน้นการกระจายบริการสุขภาพจิตในพื้นที่ชนบทและการฝึกอบรมครูอย่างต่อเนื่องจะช่วยเพิ่มการสนับสนุนทางจิตใจให้กับเด็กไทยในปัจจุบัน (World Health Organization, 2022; Nguyen & Pham, 2023)

ความไม่แน่นอนและความไม่มั่นคงทางด้านการเมือง

            สถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน ยกตัวอย่างเช่น การยุคพรรคการเมืองอนาคตใหม่ และก้าวไกลก็เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่สะท้อนถึงความไม่แน่นอน และส่งผลถึงมุมมองของเด็กไทยที่มองว่าประเทศไทยไม่มีความยุติธรรม ทั้งหมดนี้ทำให้เด็กไทยรู้สึกวิตกกังวลและความไม่มั่นคงในชีวิต

            งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal of Child Psychology and Psychiatry แสดงให้เห็นว่าความไม่แน่นอนทางสังคมและการเมืองสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลในเด็กได้ โดยเฉพาะเมื่อพวกเขารู้สึกว่าตนเองไม่มีอำนาจหรือการควบคุมต่อสถานการณ์รอบตัว (Jones & Harris, 2023)

            สอดคล้องกับผลการศึกษาเพิ่มเติมจากประเทศในแอฟริกาเหนือแสดงให้เห็นว่าความไม่มั่นคงทางการเมืองในระยะยาวสามารถส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางจิตใจและอารมณ์ของเด็ก ทำให้เกิดความหวาดกลัวและความรู้สึกไม่ปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง (Nguyen & Pham, 2023) การเสริมสร้างเสถียรภาพทางจิตใจผ่านการให้คำปรึกษาและการสร้างความยืดหยุ่นในเด็ก รวมถึงการสนับสนุนจากครอบครัวและชุมชน จะเป็นแนวทางที่สำคัญในการลดผลกระทบเหล่านี้และเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีในระยะยาว

            ความกดดันทางการศึกษา สื่อสังคมออนไลน์ การขาดการสนับสนุนทางจิตใจ และความไม่แน่นอนทางการเมือง เป็น 4 ปัจจัยที่ผมยกมานำเสนอพร้อมกับงานวิจัยอ้างอิงจำนวนหนึ่งเท่านั้น จริง ๆ แล้วยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต อัตราการซึมเศร้า ความเครียด ความกดดัน หรือแม้แต่อัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มมากขึ้น

            หน้าที่ของพวกเราไม่ว่าจะอยู่ในภาคส่วนใดต่างมีหน้าที่ต้องตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้ และพยายามสนับสนุนในสิ่งที่ตนเองสามารถทำได้ เพื่อจัดการหรือเยียวยาสุขภาพจิตที่แย่ลงของเด็กยุคนี้ ไม่ว่าเราจะอยู่ในบทบาทพ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติ เพื่อนบ้าน ครู หรืออาจารย์ตาม ยิ่งสังคมในอนาคตจะยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน ไม่มีใครรู้สุขภาพจิตของเด็กยุคใหม่จะแย่ลงไปกว่านี้มากน้อยแค่ไหน เราสามารถร่วมมือกันเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณภาพ 

ทุกวันนี้มีโมเดลมากมายที่สามารถนำมาใช้สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ หวังว่าบทความจะเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความเข้าใจให้กับทุกท่านในเรื่องสุขภาพจิตของเด็กยุคใหม่

อ้างอิง

Burnet Institute, UNICEF Thailand, & Ministry of Public Health. (2022). Strengthening mental health and psychosocial support systems and services for children and adolescents in East Asia and Pacific Region: Thailand country report 2022. UNICEF. https://www.unicef.org/thailand/reports/strengthening-mental-health

Jones, A., & Harris, M. (2023). The impact of social and political uncertainty on child and adolescent mental health. Journal of Child Psychology and Psychiatry, 64(2), 123-134.

Jones, A., & Lee, C. (2021). The relationship between social media use and mental health in adolescents. Journal of Adolescent Health, 68(2), 207-214.

Kim, H., & Park, S. (2021). Educational stress and mental health among high school students in South Korea. Asian Journal of Psychiatry, 30(5), 45-50.

Nguyen, T., & Pham, L. (2023). The impact of social media on mental health: A study of Southeast Asian adolescents. Journal of Educational Psychology, 45(2), 134-148.

SEAMEO. (2022). The state of education in Southeast Asia: A focus on mental health and well-being. Southeast Asian Ministers of Education Organization.

Smith, J., Brown, K., & Lee, C. (2022). Social media use and its association with mental health among adolescents: A longitudinal study. Journal of Youth and Adolescence, 51(3), 456-472.

Summers-Gabr, N., Gutkowski, V., & Kassens, A. L. (2024). Gen Z’s mental health, economic distress and technology. St. Louis Fed. Retrieved August 12, 2024, from https://www.stlouisfed.org

UNICEF Thailand. (2022). Alarming poor mental health trend among children and adolescents in Thailand requires urgent investment in services. UNICEF Thailand. https://www.unicef.org/thailand/press-releases/alarming-poor-mental-health-trend

World Health Organization. (2022). Mental health atlas 2022. WHO. https://www.who.int/publications/i/item/9789241565228

ความคิดเห็น