ปัญหาของความเครียดไม่ได้มาจากปัจเจกบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่แทบจะทั้งหมดเป็นที่มาจากสภาพแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม
โลกของเราก้าวหน้ามากขึ้นแบบก้าวกระโดดด้วยเทคโนโลยีมากมาย ส่งผลให้กระบวนการทำงานมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีในการสื่อสารอย่าง แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้สื่อสาร ทำงาน และหาความบันเทิงก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามภายใต้ความสะดวกสบายและความก้าวหน้าก็มีความดำมืดซ่อนอยู่ ผลกระทบเชิงลบของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย คือสิ่งที่หาอ่านได้ง่ายในอินเทอร์เน็ต และยังมีง่ายวิจัยที่สนับสนุนผลกระทบเชิงลบอีกมากมาย
ผมไม่ได้หมายความว่าตัวของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจะเลวร้ายอย่างเดียว จริง ๆ แล้วมันมีข้อดีเยอะมากเป็นเท่าทวี แต่เมื่อแพลตฟอร์มอย่าง X, Facebook หรือ Youtube อยู่ภายใต้การบริหารเพื่อผลกำไรให้มากที่สุด จึงทำให้เกิดกลยุทธ์การดึงดูดความสนใจ หรือการกระตุ้นให้ผู้คนสนใจโฆษณาให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ผ่านการวิเคราะห์พฤติกรรมของมนุษย์อย่างละเอียด
ในหนังสือ Stolen Focus: Why You Can't Pay Attention ผู้เขียน โยฮันน์ ฮาริ (Johann Hari) อธิบายถึง แนวคิด Cruel Optimism ที่บัญญัติโดยนักประวัติศาสตร์ลอเรน เบอร์แลนต์ (Lauren Berlant) "ความปรารถนาอันโหดร้ายเกิดขึ้นตอนที่เราพูดถึงปัญหาใหญ่ที่มีมูลเหตุฝังลึกในวัฒนธรรม เช่น โรคอ้วน โรคซึมเศร้า หรือการติดสารเสพติด แล้วบอกว่าทางออกระดับปัจเจกเรียบง่ายให้คนทำตามโดยใช้ภาษาเปี่ยมหวัง ชวนให้คิดบวก"
ยกตัวอย่างการคิดบวกแบบชวนอวกเช่น ความเครียดไม่ใช่อะไรที่ใครยัดเยียดให้เรา แต่เป็นสิ่งที่เรายัดเยียดให้ตัวเอง ความเครียดเป็นความรู้สึก ความเครียด คือชุดความคิด ขอเพียงเราเรียนรู้วิธีคิดที่ต่างไป ความเครียดก็จะสลายไป เราอาจแค่ต้องฝึกวิธีทำสมาธิ เพราะความเครียดของเราเกิดจากการที่คุณเจริญสติไม่เป็น
ตัวอย่างนี้พบเห็นได้จากนักพูดหรือโค้ชทั่วไป ในหนังสือ Stolen Focus โรนัลด์ เพอร์เซอร์ (Ronald Purser) ศาสตราจารย์ด้านการจัดการของมหาวิทยาลัยรัฐซานฟรานซิสโกชี้ว่าในโลกจริงนั้น นักวิทยาศาสตร์จากบัณฑิตวิทยาลัยการธุรกิจแห่งสแตนฟอร์ดได้ระบุสาเหตุอันดับต้น ๆ ของความเครียดในสหรัฐฯไว้แล้วในงานศึกษาชิ้นสำคัญ
มูลเหตุที่ว่าคือ "การขาดประกันสุขภาพ ความกลัวถูกปลดจากงานไม่ว่างเว้น การขาดอำนาจดุลพินิจและอำนาจเหนือตัวเองในกระบวนการตัดสินใจ ชั่วโมงทำงานยาวนาน ความยุติธรรม ด้านการบริหารองค์กรอยู่ในระดับต่ำ และความคาดหวังเกินจริง" ถ้าคุณไม่มีประกันสุขภาพ เป็นโรคเบาหวาน และไม่มีเงินซื้ออินซูลินย่อมต้องเกิดความเครียดขึ้นอย่างแน่นอน
โยฮันน์ ฮาริ ได้นำเสนอตัวอย่างของปัญหาความเครียดในองค์กร เช่น เจ้านายบังคับให้คุณทำงาน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือถ้าคุณได้แต่มองเพื่อนร่วมงานถูกปลดไปทีละคน แล้วคุณก็ต้องคอยประหวั่นตลอดว่ารายต่อไปอาจเป็นตัวเอง ความเครียดของคุณก็ไม่ใช่ "สิ่งที่เรายัดเยียดให้ตัวเอง" มันเป็นสิ่งที่คุณถูกยัดเยียดต่างหาก
ผมยกข้อมูลเหล่านี้เพื่อให้ผู้อ่านเห็นถึงปัญหาของความเครียดที่ไม่ได้มาจากปัจเจกบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่แทบจะทั้งหมดเป็นปัจจัยที่มาจากสภาพแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม หรืออาจจกล่าวได้ว่าเป็นสภาพแวดล้อมที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ด้วยตัวคนเดียว หรือเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นมาอย่างยาวนานได้ด้วยตัวคนเดียว
ปัญหานี้ยากที่จะแก้ แต่หลายคนกลับพยายามบอกกับเราว่าให้เราจัดการที่ตัวเอง ให้เราควบคุมตนเอง พัฒนาตนเองบ้างแต่แล้วไม่นานความจริงก็ปรากฏว่าเหี้ยมโหด เพราะทางออกที่คุณพูดมามันจำกัดจำเขี่ยมาก ด้วยการอำพราง มูลเหตุที่อยู่ลึกลงไป จนทำให้คนส่วนใหญ่ล้มเหลวในการจัดการความเครียด ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นถึงความปรารถนาอันโหดร้ายซึ่งทำให้ผู้ใช้ติดอยู่ในวงจรที่ไม่ดี
ผลกระทบที่เป็นอันตรายของโซเชียลมีเดีย
ไม่ใช่แค่ปัญหาทางสุขภาพจิตเพียงอย่างเดียวแต่อัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียมักจะแสดงเนื้อหาที่สอดคล้องกับความเชื่อของผู้ใช้ ทำให้เกิดการแบ่งแยกทางการเมืองและความขัดแย้งในสังคม ข้อมูลและข่าวสารที่บิดเบือนสามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้ความเข้าใจผิดเกิดขึ้นได้ง่าย นอกจากนั้นโซเชียลมีเดียยังเป็นช่องทางที่ง่ายต่อการแพร่กระจายข่าวลือและข้อมูลเท็จ ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องสามารถส่งผลกระทบต่อความเชื่อและการตัดสินใจของผู้คน ซึ่งอาจนำไปสู่การกระทำที่ผิดพลาดและผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์
เราสามารถศึกษาปัญหาของโซเชียลมีเดียได้จากสารคดีโด่งดังอย่าง The Social Dilemma ใน Netflix อีกทั้งในสารคดีนี้ยังนำเสนอเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียที่ถูกออกแบบมาให้ผู้ใช้ติดการแจ้งเตือน การกดไลค์ และการแนะนำเนื้อหาถูกออกแบบมาเพื่อสร้างวงจรป้อนกลับที่ทำให้ผู้ใช้รู้สึกดีและติดแพลตฟอร์ม การทำงานของอัลกอริทึมเหล่านี้ทำให้ผู้ใช้ใช้เวลาอยู่บนโซเชียลมีเดียมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและชีวิตประจำวัน
Cruel Optimism ความปรารถนาอันโหดร้าย
ในสารคดียังนำเสนอถึงความยากในการที่มนุษย์จะสามารถควบคุมตนเองท่ามกลางสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ เนื่องจากแพลตฟอร์มถูกออกแบบมาให้เสพติด การพยายามควบคุมตัวเองในสภาพแวดล้อมที่ถูกสร้างมาให้ยากต่อการต้านทาน อาจทำให้เกิดความเครียดและความรู้สึกผิดหากไม่สามารถทำได้ แม้ผู้เชี่ยวชาญโลกสวยมากมายจะบอกให้ใช้ตัวช่วยต่าง ๆ ในการควบคุมตัวเองก็ตาม
อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น ลอเรน เบอร์แลนต์ (Lauren Berlant) ผู้คิดค้นคำว่า Cruel Optimism ที่ผมขออญาตแปลเป็นภาษาไทยว่า "ความปรารถนาอันโหดร้าย" มีความหมายว่า ความหวังหรือความปรารถนาที่ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ดี แต่จริง ๆ แล้วอาจทำให้เราติดอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ดีหรือไม่สามารถก้าวข้ามไปหาความสุขที่แท้จริงได้ ตัวอย่างเช่น การยึดติดกับความฝันในการทำงานที่ไม่เหมาะสม หรือการพยายามรักษาความสัมพันธ์ที่ไม่ดี
การมองเห็นความปรารถนาอันโหดร้ายบางอย่างอาจทำให้เราติดอยู่ในวงจรของความทุกข์ การมีความหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือไม่สามารถบรรลุได้ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งภายในตัวเราและทำให้เราไม่สามารถหาความสุขที่แท้จริงได้ ซึ่งอย่างที่ผมเขียนบอกอยู่เสมอว่า ความสุขคือสิ่งที่เกิดขึ้นจากภายใน มิใช่ภายนอกที่มักจะค่อย ๆ สลายหายไป
ดังนั้นการปล่อยวางความหวังที่ไม่สมเหตุสมผล การตระหนักถึงความปรารถนาอันโหดร้าย (Cruel Optimism) จะช่วยให้เราเห็นถึงความจริงที่ว่า บางครั้งการปล่อยวางความหวังหรือความปรารถนาที่ไม่สามารถบรรลุได้ อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในการหาความสุขและความสงบสุขในชีวิต การยอมรับความจริงและพยายามหาทางเลือกใหม่ ๆ เป็นวิธีที่ดีกว่าในการจัดการกับผลกระทบจากโซเชียลมีเดีย
แม้ว่าเราจะถูกสิ่งกระตุ้นรบกวน แต่หากเราตระหนักในข้อเท็จจริงที่ว่าโซเชียลมีเดียกำลังพยายามกระตุ้นให้เราสนใจโฆษณา หรือเห็นโฆษณามากขึ้น อีกทั้งยังทำให้เรามีสุขภาพจิตที่เสียหาย ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง ไปจนถึงข้อมูลเท็จมากมาย เราจะมีสติมากขึ้น มีการใช้วิจารณญาณที่มากขึ้น ซึ่งหากเราฝึกฝนให้มากขึ้น เราก็จะได้รับผลกระทบจากมันน้อยลง (ย้ำว่าน้อยลงมิใช่หมดไป) กล่าวคือ การตระหนักถึงผลกระทบของโซเชียลมีเดีย และความปรารถนาอันโหดร้าย
สามารถช่วยให้เราเข้าใจถึงความสำคัญของการปล่อยวางความหวังที่ไม่สมเหตุสมผล
อ้างอิง
Berlant, L. (2011). Cruel optimism. Duke University Press.
Haidt, J., & Twenge, J. M. (2020). Social media use and mental health: A review. Current Opinion in Psychology, 31, 108-112. https://doi.org/10.1016/j.copsyc.2019.06.002
Orlowski, J. (Director). (2020). The social dilemma [Film]. Netflix.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น