ความหลงตัวเอง (Narcissistic) ในยุคโซเชียลมีเดีย: ทำไมเราถึงติดกับดักนี้และจะจัดการอย่างไร

คนหลังตัวเอง คือ คนที่รู้สึกมากเกินจริงว่าตัวเองสำคัญ โหยหาความเป็นที่สนใจและความชื่นชมอย่างหนัก

            ผมเขียนบทความเกี่ยวกับผลกระทบของโซเชียลมีเดียมาพอสมควร ก่อนที่จะเริ่มบทความนี้ผมจึงอยากขอทำความเข้าใจกับผู่อ่านก่อนว่า โซเชียลมีเดียคือเครื่องมือที่ทรงพลังและมีข้อดีอย่างมาก เพียงแต่การบริหารเพื่อผลกำไรให้มากที่สุดอเบื้องหลังต่างหากที่เข้ามาแทรกแซงข้อดีจนกลายเป็นผลกระทบเชิงลบที่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนไปในทางที่ไม่ดีได้

            ผมจะขอแทน Youtube, Facebook, Instagram หรือ X ว่าเป็น “แพลตฟอร์ม” ดังนั้นขอให้ผู้อ่านเข้าใจว่าคำนี้จะใช้แทนโซเชียลมีเดียทั้งหมด นอกจากบทความนี้จะพูดถึงผลกระทบเชิงลบทางด้านจิตใจ และการแสดงออกทางพฤติกรรมแล้ว ยังเน้นความสำคัญไปที่พฤติกรรมหลงตัวเอง หรือโรคหลงตัวเองร่วมกับงานวิจัยทางจิตวิทยา

            บทความที่แล้วผมเขียนเกี่ยวกับผลกระทบของโซเชียลมีเดีย โดยอธิบายว่าโซเชียลมีเดียสามารถทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียด วิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน การเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นผ่านโพสต์และภาพที่ดูสมบูรณ์แบบอาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจในตนเอง และมีผลกระทบต่อสุขภาพจิต

            โดยเฉพาะการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น และการรับรู้ที่บิดเบือนเป็นผลกระทบเชิงลบที่ส่งผลต่อความหลงตัวเองของบุคคลอย่างน่าเหลือเชื่อ ก่อนที่ผมจะเข้าเรื่องความหลงตัวเองในยุคโซเชียลมีเดีย ผมขออธิบายเกี่ยวกับความรู้สึกเชิงลบที่ส่งผลให้เกิดการเปรียบเทียบ และการรับรู้ที่บิดเบือนเสียก่อน

            1) การเปรียบเทียบ การเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นเป็นพฤติกรรมที่พบได้บ่อยบนโซเชียลมีเดีย ผู้ใช้มักจะเห็นภาพและโพสต์ที่แสดงถึงความสำเร็จและความสุขของผู้อื่น ทำให้เกิดความรู้สึกด้อยค่าและไม่พอใจในตนเอง (Chou & Edge, 2012) ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้ที่เห็นเพื่อนโพสต์ภาพท่องเที่ยวต่างประเทศหรือได้รับรางวัลในที่ทำงาน อาจรู้สึกว่าตนเองไม่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน

            2) การรับรู้ที่บิดเบือน โซเชียลมีเดียส่งเสริมภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์แบบและไม่สมจริงของชีวิต โดยเฉพาะแปรแกรมแก้ไขหรือที่เรียกกันว่า "Filter" ทำให้ผู้ใช้มีการรับรู้ที่บิดเบือนเกี่ยวกับความเป็นจริง (Perloff, 2014) ตัวอย่างเช่น การเห็นภาพที่ดูดีของคนอื่นอาจทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าตนเองไม่ดีพอ ทั้ง ๆ ที่ภาพนั้นอาจผ่านการตกแต่งหรือคัดเลือกมุมที่ดีที่สุดมาแล้ว

การพยายามอยู่เหนือผู้อื่นและการหลงตัวเอง

            การแสดงตัวตนในโลกออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างและรักษาภาพลักษณ์ทางสังคม ผู้คนมักจะพยายามแสดงภาพลักษณ์ที่ดีที่สุดของตนเองผ่านโพสต์ รูปภาพ และเรื่องราวที่แชร์ให้ผู้อื่นได้เห็น การกระทำเช่นนี้ไม่เพียงแต่เป็นการพยายามสร้างความประทับใจแก่ผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีการหนึ่งในการเพิ่มความภาคภูมิใจในตนเองและสร้างความรู้สึกเหนือกว่าผู้อื่น

คนมักจะพยายามแสดงภาพลักษณ์ที่ดีที่สุดของตนเองผ่านโพสต์ รูปภาพ และเรื่องราวที่แชร์ให้ผู้อื่นได้เห็น

            อย่างไรก็ตาม การพยายามอยู่เหนือผู้อื่นบนโซเชียลมีเดียบ่อยครั้งนำไปสู่พฤติกรรมหลงตัวเอง ซึ่งเป็นการแสวงหาความสนใจและการยอมรับจากผู้อื่นอย่างไม่สิ้นสุด การได้รับการยอมรับผ่านการกดไลค์หรือคอมเมนต์กลายเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้รู้สึกดีต่อตนเองชั่วคราว แต่ในระยะยาวกลับสร้างความกดดันและความรู้สึกไม่มั่นคง ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับการวิจัยดังนี้

            1) การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีบนโซเชียลมีเดีย เมื่อรู้สึกด้อยกว่าคนอื่น ผู้คนมักจะใช้ความพยายามในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีบนโซเชียลมีเดียเพื่อเพิ่มความภาคภูมิใจในตัวเอง (Toma & Hancock, 2013) เราจะเห็นว่าทุกวันนี้ผู้คนมุ่งที่โพสต์แต่เรื่องดี ๆ ของตนเอง ดังนั้นเราจะไปติดกับดักนี้โดยมองว่าชีวิตคนอื่นมีแต่ด้านดี จำไว้ว่าทุกชีวิตมีทั้งดีและไม่ดี มีทุกข์และสุขด้วยกันทั้งนั้น ตัวอย่างเช่น การโพสต์ภาพที่ดูดีหรือการบอกเล่าเรื่องราวความสำเร็จส่วนตัวเพื่อรับคำชื่นชมจากผู้อื่น

            2) แนวโน้มการหลงตัวเอง การใช้โซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่องและการได้รับการยอมรับจากการกดไลค์หรือคอมเมนต์สามารถส่งเสริมพฤติกรรมหลงตัวเอง (Buffardi & Campbell, 2008) งานวิจัยพบว่าผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่มุ่งหวังให้ได้รับความสนใจและการยอมรับจากผู้อื่นมีแนวโน้มที่จะมีลักษณะหลงตัวเองมากขึ้น (McCain & Campbell, 2016) ในหลายกรณีอาจไม่หลงตัวเอง และมีแนวโน้มที่จะรู้สึกดีกับตนเองน้อยลงไปจนถึงซึมเศร้าได้เลย

            ผมอยากให้ผู้อ่านเข้าใจคำว่า "ความหลงตัวเอง" มากขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับโรคหลงตัวเอง โดยมีความหมายว่า สภาพทางจิตที่คน รู้สึกมากเกินจริงว่าตัวเองสำคัญ โหยหาความเป็นที่สนใจและความชื่นชมอย่างหนัก มีปัญหาความสัมพันธ์ และขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ลักษณะของความหลงตัวเองที่พบเห็นได้ทั่วไปมีดังนี้ 

            1) สร้างภาพลักษณ์ที่ไม่สอดรับกับความเป็นจริงและทำให้ตัวเองดูสำคัญ  

            2) เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง พูดถึงแต่ตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองพิเศษและไม่เหมือนใคร

            3) วิพากษ์วิจารณ์และตัดสินคนอื่นอย่างรวดเร็ว แต่ก็อ่อนไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

            4) ยกยอความสามารถของตนเองตลอดเวลา รู้สึกว่าตัวเองควรได้ทุกสิ่งที่ดีที่สุด และเรียกร้องการยอมรับตลอดเวลา นอกจากนั้นยังให้คุณค่ากับอำนาจและชื่อเสียงมากเป็นพิเศษอีกด้วย

            ไม่ใช่แค่ความหลงตัวเองจะเป็นการคิดถึงตัวเองในเชิงบวกเสมอไป คนหลงตัวเองอีกประเภทหนึ่ง มีแนวโน้มคิดว่าตัวเองเป็นพวกล้มเหลวด้วยเช่นกัน แต่จะแสดงออกตรงกันข้ามกับบุคคลทั่วไปที่คิดว่าตัวเองล้มเหลว ในทางกลับกันพวกเขาจะคิดว่าความล้มเหลวของพวกเขาเป็นผลพวงดยตรงมาจากการที่โลกปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรมและถ้าไม่ใช่เพราะเรื่องนั้น ความเก่งกาจของพวกเขาย่อมทำให้พวกเขาแตกต่างจากคนส่วนใหญ่อย่างแน่นอน 

            ด้วยเหตุนี้คนเหล่านี้พวกเขาจึงมักขี้อิจฉาและสงสัยว่าความสำเร็จของคนอื่นได้มาจากวิธีการที่ไม่ตรงไปตรงมา แทนที่จะมาจากความเก่งหรือความสามารถที่แท้จริงเหมือนกับกรณีของตัวเอง ภาพลักษณ์ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงของคนหลงตัวเองมักจะเกิดจากการที่คนเหล่านี้ไม่อาจยอมรับข้อจำกัดของตัวเองได้ 

            พวกเขาจึงกล้ารับงานที่ตัวเองมีคุณสมบัติไม่ถึง แล้วมักจะประหลาดใจอย่างจริงจังที่หลังเมื่อพบว่างานเหล่านี้ยากโหดหิน พวกเขามักเข้าไปมีส่วนร่วมในวงสนทนาหัวข้อต่าง ๆ ที่พวกเขาแทบไม่รู้เรื่อง อีกทั้งมีหลายกรณีที่พยายามจะพูดในสิ่งที่ตนเองคิดว่าอยู่เหนือคนอื่น และมักไม่ยอมรับความจริงเมื่อมีเรื่องที่ตนเองยังไม่รู้แล้วเถียงสู้คนอื่นไม่ได้

การจัดการผลกระทบเชิงลบจากโซเชียลมีเดีย

            ผมจะขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าเราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แม้ว่าโซเชียลมีเดียจะช่วยให้เราสามารถเชื่อมต่อกับผู้อื่นได้ง่ายขึ้น เปิดโอกาสให้เราได้แบ่งปันประสบการณ์และความรู้สึก แต่ก็มีผลกระทบเชิงลบที่อาจทำให้เรารู้สึกแย่ต่อตนเอง และเพิ่มความเครียดและความกดดันในชีวิต

            ดังที่ผู้อ่านจะเห็นจากการนำเสนอแล้วว่า โซเชียลมีเดียสามารถทำให้คนหลงตัวเองไปจนถึงเป็นโรคหลงตัวเองมากขึ้นได้ ซึ่งมันเริ่มมากจากการเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น การพยายามรักษาภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาผู้อื่น และการติดตามความเคลื่อนไหวของผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ผมจึงอยากจะนำเสนอวิธีการจัดการ ซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีการที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เราสามารถใช้โซเชียลมีเดียได้อย่างมีสติและมีความสุข โดยมีงานวิจัยที่สอดคล้องดังนี้

            1) การสร้างสมดุลในการใช้โซเชียลมีเดีย การจำกัดเวลาในการใช้โซเชียลมีเดียและการทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์และเสริมสร้างความรู้สึกดีต่อตนเองในชีวิตจริงสามารถช่วยลดผลกระทบเชิงลบได้  (Twenge, 2017) การลดเวลาก็เท่ากับว่าเราลดการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นไปด้วยเช่นกั ตัวอย่างเช่น การกำหนดเวลาการใช้โซเชียลมีเดียไม่เกินหนึ่งชั่วโมงต่อวัน ซึ่งสามารถใช้ Applications ในการช่วยเราได้มากมาย หรือแม้แต่การตั้งเวลาไว้ใน

            2) การให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในชีวิตจริง การให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในชีวิตจริงและการมีปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณภาพกับคนรอบข้างสามารถช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยวและความกดดันจากโซเชียลมีเดีย  (Sbarra et al., 2019) การที่เราลดบทบาทความสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัว ย่อมทำให้เราใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การจัดเวลาเพื่อพบปะสังสรรค์กับครอบครัวและเพื่อนฝูงอย่างสม่ำเสมอ พยายามไม่ปฏิเสธการชักชวนของเพื่อนหากไม่จำเป็นจริง ๆ 

            3) การพัฒนาทักษะการคิดเชิงบวกและการปรับตัว การพัฒนาทักษะการคิดเชิงบวกและการยอมรับความเป็นจริงสามารถช่วยลดความรู้สึกเชิงลบต่อตนเองและเสริมสร้างความรู้สึกดีต่อตนเอง (Lyubomirsky & Layous, 2013) ในเมื่อความหลงตัวเองส่วนหนึ่งเริ่มต้นจากการเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นแล้วรู้สึกด้อย ดังนั้นหากเราปรับความคิดของตัวเองให้เป็นเชิงบวกไปพร้อมกับคิดบวกต่อภาพลักษณ์หรือเรื่องราวชีวิตของคนอื่น ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นทางได้ ตัวอย่างเช่น การเขียนบันทึกความดีที่เราได้ทำหรือความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน 

            ผลกระทบของโซเชียลมีเดียที่ทำให้ผู้คนรู้สึกเชิงลบต่อตนเองและมีแนวโน้มที่จะหลงตัวเองเพิ่มขึ้นเป็นประเด็นที่สำคัญ การสร้างสมดุลในการใช้โซเชียลมีเดีย การให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในชีวิตจริง และการพัฒนาทักษะการคิดเชิงบวกจะช่วยลดผลกระทบเชิงลบและเสริมสร้างความรู้สึกที่ดีต่อตน อีกทั้งการตระหนักถึงผลกระทบเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถใช้โซเชียลมีเดียได้อย่างมีสติและมีสุขภาพจิตที่ดีมากยิ่งขึ้น 

แม้เราจะไม่สามารถควบคุมโซเชียลมีเดียได้ แต่เราสามารถจัดการเพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุดได้

อ้างอิง

Buffardi, L. E., & Campbell, W. K. (2008). Narcissism and social networking websites. Personality and Social Psychology Bulletin, 34(10), 1303-1314.

Chou, H. T. G., & Edge, N. (2012). “They are happier and having better lives than I am”: The impact of using Facebook on perceptions of others’ lives. Cyberpsychology, Behavior, and Social Networking, 15(2), 117-121.

Lundberg, T. E. (2023). Surrounded by narcissists: How to stop other people's egos ruining your life. Vermilion.

Lyubomirsky, S., & Layous, K. (2013). How do simple positive activities increase well-being? Current Directions in Psychological Science, 22(1), 57-62.

McCain, J. L., & Campbell, W. K. (2016). Narcissism and social media use: A meta-analytic review. Psychology of Popular Media Culture, 5(4), 307-327.

Perloff, R. M. (2014). Social media effects on young women’s body image concerns: Theoretical perspectives and an agenda for research. Sex Roles, 71(11), 363-377.

Sbarra, D. A., Briskin, J. L., & Slatcher, R. B. (2019). Smartphones and close relationships: The case for an evolutionary mismatch. Perspectives on Psychological Science, 14(4), 596-618.

Toma, C. L., & Hancock, J. T. (2013). Self-affirmation underlies Facebook use. Personality and Social Psychology Bulletin, 39(3), 321-331.

Twenge, J. M. (2017). iGen: Why today’s super-connected kids are growing up less rebellious, more tolerant, less happy–and completely unprepared for adulthood–and what that means for the rest of us. Simon and Schuster.

Vogel, E. A., Rose, J. P., Roberts, L. R., & Eckles, K. (2014). Social comparison, social media, and self-esteem. Psychology of Popular Media Culture, 3(4), 206-222.

ความคิดเห็น