พลังแห่งความเชื่อมั่น: สำรวจทฤษฎีการรับรู้ความสามารถตนเอง (Self-Efficacy Theory) โดย Albert Bandura และการประยุกต์ใช้

ความเชื่อเป็นปัจจัยสำคัญและส่งผลต่อวิธีการที่บุคคลตั้งเป้าหมาย ทำงานหนัก และรับมือกับอุปสรรค

            ผมได้เรียนทฤษฎีทางจิตวิทยาพอประมาณรวมไปถึงการอ่านงานวิจัยต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน หนึ่งในทฤษฎีที่ผ่านหูผ่านตา และมีการนำไปประยุกต์ร่วมกับทฤษฎีอื่น ๆ คือทฤษฎีการรับรู้ความสามารถตนเอง (Self-Efficacy Theory) ที่คิดค้นโดย อัลเบิร์ต แบนดูรา (Albert Bandura) นักจิตวิทยาชาวแคนาดาที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลอย่างมากในวงการจิตวิทยา

            ทฤษฎีดังกล่าวได้กลายเป็นหนึ่งในทฤษฎีที่มีอิทธิพลอย่างมากในด้านจิตวิทยาและการศึกษา ทฤษฎีนี้เป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญาสังคม (Social Cognitive Theory - SCT) ซึ่งอัลเบิร์ต แบนดูรา ขยายความจากทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory) โดยอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางบุคคล พฤติกรรม และสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อกันอย่างต่อเนื่อง (Reciprocal Determinism) 

            แบนดูราอธิบายว่ามนุษย์ไม่เพียงแต่เรียนรู้จากการสังเกตและเลียนแบบพฤติกรรมของผู้อื่น แต่ยังมีความสามารถในการควบคุมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองตามปัจจัยเหล่านี้ นอกจากนี้ ทฤษฎี SCT ยังกล่าวถึงบทบาทของความสามารถในตนเอง (Self-efficacy) หมายถึงความเชื่อในความสามารถของตนเองในการบรรลุเป้าหมายและจัดการกับสถานการณ์ต่าง ๆ 

            บุคคลที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงมักจะมีแนวโน้มที่จะพยายามและไม่ย่อท้อเมื่อเผชิญกับความท้าทายหรืออุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบริบทต่าง ๆ  ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จและพฤติกรรมของบุคคล เรียกได้ว่ากรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) ที่มาก่อนกาล

            ดังนั้นก่อนที่จะไปทฤษฎีการรับรู้ความสามารถตนเอง ผมอยากอธิบายเกี่ยวกับทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมเล็กน้อย ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวเน้นถึงบทบาทของการสังเกตและเลียนแบบจากสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างที่โด่งดังที่สุดของการเรียนรู้จากการสังเกตคือการทดลองตุ๊กตาโบโบ (Bobo Doll Experiment) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเด็ก ๆ สามารถเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าวจากผู้ใหญ่ที่เป็นตัวอย่างได้ โดยที่พวกเขาไม่ได้ลงมือทำเองก่อนที่จะเห็นพฤติกรรมนั้นๆ 

            ทฤษฎีทั้งสองนี้มีอิทธิพลอย่างมากในด้านการศึกษาและการบำบัดยังช่วยสร้างแนวทางใหม่ ๆ ในการส่งเสริมการพัฒนาทักษะ การแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และการเสริมสร้างความมั่นใจในความสามารถของตนเองในหลากหลายบริบท และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและปัจจัยภายในบุคคลที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและการเรียนรู้

            อย่างไรก็ทฤษฎีการรับรู้ความสามารถตนเอง (Self-Efficacy Theory) ที่เป็นพระเอกในบทความก็มีส่วนสำคัญมากเช่นเดียวกัน เพราะเป็นหนึ่งในทฤษฎีที่สำคัญต่อวงการจิตวิทยาเนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการทำความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ โดยเฉพาะในด้านของแรงจูงใจ ความสำเร็จ และการเผชิญกับความท้าทาย ทฤษฎีนี้เน้นถึงความเชื่อของบุคคลในความสามารถของตนเองที่จะประสบความสำเร็จในการทำสิ่งต่าง ๆ ความเชื่อเป็นปัจจัยสำคัญและส่งผลต่อวิธีการที่บุคคลตั้งเป้าหมาย ทำงานหนัก และรับมือกับอุปสรรค

องค์ประกอบหลักของทฤษฎีการรับรู้ความสามารถตนเอง

            อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ทฤษฎีการรับรู้ความสามารถตนเองอธิบายถึงความเชื่อของบุคคลในความสามารถของตนเองในการทำงานหรือบรรลุเป้าหมาย ความเชื่อนี้จะส่งผลต่อการตัดสินใจ การลงมือทำ และความพยายามที่บุคคลใส่ลงไปในการเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ถ้าบุคคลเชื่อมั่นว่าตนเองทำได้ เขาก็จะมีแนวโน้มที่จะพยายามอย่างเต็มที่และไม่ย่อท้อเมื่อเจออุปสรรค (Bandura, 1977)

            ทฤษฎีการรับรู้ความสามารถตนเองประกอบด้วย 2 องค์ประกอบหลักที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมของบุคคล ได้แก่ การรับรู้ความสามารถตนเอง (Perceived Self-Efficacy) และความคาดหวังในผลลัพธ์ (Outcome Expectation) ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจและการกระทำของบุคคลในสถานการณ์ต่าง ๆ

การรับรู้ความสามารถตนเอง มีผลต่อ พฤติกรรม และ ความคาดหวังในผลลัพธ์ ซึ่งนำไปสู่ ผลลัพธ์ ที่เกิดขึ้น

            ภาพนี้แสดงให้เห็นถึง การรับรู้ความสามารถตนเอง (Perceived Self-efficacy) ของบุคคลส่งผลต่อ พฤติกรรม และความคาดหวังในผลลัพธ์ (Outcome Expectation) ซึ่งส่งผลต่อผลลัพธ์ ที่เกิดขึ้นในที่สุด โดยการรับรู้ตนเองและความคาดหวังจะเป็นตัวกำหนดว่าบุคคลจะทำอะไรและคาดหวังผลอย่างไร

            1) การรับรู้ความสามารถตนเอง (Perceived Self-Efficacy) หมายถึงความเชื่อมั่นของบุคคลในความสามารถของตนเองที่จะทำงานหรือภารกิจใด ๆ ให้สำเร็จ ความเชื่อมั่นนี้เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของบุคคลในการเผชิญกับความท้าทาย ความสามารถในการจัดการกับอุปสรรค และความพยายามในการบรรลุเป้าหมาย 

            ยิ่งบุคคลมีการรับรู้ความสามารถตนเองสูง เขาก็จะมีความมั่นใจและความตั้งใจในการดำเนินการมากขึ้น ตัวอย่างเช่น นักเรียนที่มีการรับรู้ความสามารถตนเองสูงมักจะมีความมุ่งมั่นในการเรียนรู้ และจะไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น (Bandura, 1977)

            2) ความคาดหวังในผลลัพธ์ (Outcome Expectation) ความคาดหวังในผลลัพธ์คือความเชื่อที่บุคคลมีต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง หากบุคคลเชื่อว่าผลลัพธ์จะเป็นไปตามที่คาดหวังไว้ เขาหรือเธอจะมีแนวโน้มที่จะลงมือทำและพยายามบรรลุผลลัพธ์นั้น ในทางตรงกันข้าม หากความคาดหวังต่ำหรือไม่เชื่อว่าผลลัพธ์จะดี บุคคลนั้นอาจไม่พยายามหรือเลี่ยงที่จะทำสิ่งนั้น (Bandura, 1986)

Reciprocal Determinism กับการพัฒนาทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญาสังคม

            ทฤษฎีการรับรู้ความสามารถตนเองเชื่อมโยงกับแนวคิด Reciprocal Determinism ที่อธิบายว่าพฤติกรรมมนุษย์เป็นผลจากการปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางบุคคล (Personal Factors) พฤติกรรม (Behavior) และสิ่งแวดล้อม (Environment) ปัจจัยทั้งหมดทำงานร่วมกันและส่งผลต่อกันอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น บุคคลที่มีการรับรู้ความสามารถตนเองสูงในสภาพแวดล้อมที่สนับสนุน จะมีแนวโน้มที่จะพยายามและประสบความสำเร็จในสิ่งที่พวกเขาทำ พฤติกรรมของบุคคลจึงเป็นผลจากการทำงานร่วมกันของปัจจัยทั้งสามนี้ (Bandura, 1977)

โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง 3 องค์ประกอบ เป็นอิทธิผลร่วมที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์

            ในปัจจุบันมีการแนะนำให้ใช้การปรับพฤติกรรมโดยการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เนื่องจากมนุษย์อ่อนแอต่อสิ่งกระตุ้นจากภายนอก และมักจะตอบสนองต่ออารมณ์หรือสัญชาตญาณมากกว่าเหตุผล เช่น การเลือกอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสิ่งล่อใจหรือการขาดแรงจูงใจในการทำงานเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่ไม่เอื้อต่อการทำงาน 

            ดังนั้น การปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น การจัดพื้นที่ทำงานที่มีการสนับสนุนทางจิตวิทยา หรือการจัดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพจึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเชิงบวก การสร้างเงื่อนไขและบรรยากาศที่เอื้อต่อเป้าหมายที่ต้องการจะช่วยลดการพึ่งพาการตัดสินใจที่ใช้เหตุผลน้อยลงและเพิ่มความเป็นไปได้ในการปรับปรุงพฤติกรรมที่ดีขึ้น ซึ่งในทฤษฎีนี้ อัลเบิร์ต แบนดูรา (Albert Bandura) ระบุว่าความสามารถตนเองของบุคคลสามารถพัฒนาได้จากแหล่งที่มาหลักสี่ประการดังต่อไปนี้

            1) Mastery Experiences (ประสบการณ์จากความสำเร็จที่ผ่านมา) คือการมีประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จในอดีตสามารถเพิ่มความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองได้อย่างมาก

            2) Vicarious Experiences (การเห็นคนอื่นทำสำเร็จ) คือการสังเกตคนอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกับตนเองและเห็นว่าพวกเขาทำได้สำเร็จ จะทำให้เกิดความเชื่อว่าเราก็สามารถทำได้เช่นกัน

            3) Social Persuasion (การได้รับการสนับสนุนทางสังคม) คือการได้รับกำลังใจหรือคำชื่นชมจากผู้อื่นสามารถช่วยเพิ่มความเชื่อในความสามารถของตนเองได้

            4) Emotional and Physiological States (สภาพอารมณ์และสภาพร่างกาย) คืออารมณ์และสภาวะทางกายภาพ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล หรือสุขภาพที่ดี สามารถมีผลต่อความเชื่อในความสามารถของตนเอง

            ผู้อ่านจะเห็นว่าทั้ง 4 ข้อนี้สอดคล้องกันอย่างเห็นได้ชัด การที่เราฝึกฝนประสบการณ์มีตัวแบบหรือคนที่ฝึกฝนไปพร้อมกับเรา ได้รับคำชมและการสนับสนุนจากผู้คนรอบข้าง และการมีสุขภาพกายใจที่มีความพร้อมหรือแข็งแรง ย่อมสามารถทำให้เรามีการพัฒนาความสามารถของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การประยุกต์ใช้ทฤษฎีการรับรู้ความสามารถตนเอง

            ทฤษฎีการรับรู้ความสามารถตนเองถูกนำมาใช้ในหลายบริบท เช่น การศึกษา การพัฒนาบุคลิกภาพ การจัดการความเครียด และการทำงานในองค์กร โดยเน้นที่การเสริมสร้างความมั่นใจในตนเองและส่งเสริมให้บุคคลสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากต่าง ๆ  ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ความเชื่อมั่นในตนเองจึงเป็นกุญแจสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจ พฤติกรรม และความสำเร็จของบุคคลในชีวิตประจำวัน

            1) การศึกษา ครูสามารถใช้ทฤษฎีการรับรู้ความสามารถตนเองในการออกแบบการเรียนการสอนที่เน้นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในความสามารถของนักเรียน โดยใช้กิจกรรมที่ไม่ยากจนเกินไป เพื่อให้เกิดความรู้สึกถึงความสำเร็จ (Mastery Experiences) และการชื่นชมในความพยายามของนักเรียน

            อีกทั้งยังสามารถแนะนำให้นักเรียนสังเกต (Vicarious Experiences) เพื่อให้เห็นตัวอย่างของเพื่อนที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งสามารถส่งผลดีต่อการพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเองของนักเรียน นอกจากนี้ ครูยังสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ให้การสนับสนุนและสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนกล้าท้าทายตนเองและรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างมีคุณภาพ

            2) การพัฒนาบุคลิกภาพและการจัดการความเครียด ผู้ให้คำปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตสามารถใช้ทฤษฎีนี้ในการส่งเสริมความสามารถของบุคคลในการรับมือกับความเครียด โดยการช่วยให้พวกเขาพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเองผ่านกิจกรรมที่ไม่ยากจนเกินไป ให้ประสบความสำเร็จทีละเล็กทีละน้อย หรือที่เรียกกันว่า "Small Win" 

            การตั้งเป้าหมายที่เหมาะสมและเป็นไปได้ การให้การสนับสนุนทางอารมณ์ และการใช้เทคนิคการสะท้อนความสำเร็จในอดีต ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการจัดการกับสถานการณ์ที่ท้าทายและลดความวิตกกังวลได้อย่างดี

            3) การพัฒนาองค์กรและการทำงานเป็นทีม ในบริบทองค์กร ทฤษฎีการรับรู้ความสามารถตนเองสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาความเชื่อมั่นในความสามารถของพนักงาน โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการเรียนรู้และการทดลองสิ่งใหม่ ๆ ผ่านการฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะ 

            นอกจากนี้ การให้การยกย่องและการสอนทักษะการทำงานร่วมกันยังสามารถเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตนเองและความสามารถในการทำงานเป็นทีม ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการบรรลุเป้าหมายขององค์กรอย่างมีประสิทธิผล

            ความสำคัญของทฤษฎีนี้ในวงการจิตวิทยาอยู่ที่การช่วยบุคคลสามารถเข้าใจว่าความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองส่งผลต่อพฤติกรรมและผลลัพธ์ในชีวิตอย่างไร คนที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงมักจะพยายามเผชิญกับความท้าทายอย่างเต็มที่ และมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่มีความเชื่อมั่นต่ำ 

            ดังนั้น หากจะพัฒนาคนที่มีความเชื่อมั่นในความสามารถในตนเองที่ต่ำ จำเป็นจะต้องเสริมความมั่นใจด้วยความสำเร็จทีละเล็กทีละน้อย จนถึงระยะเวลาหนึ่งเขาจะมีความมั่นใจมากขึ้น และกลายเป็นบุคคลที่ท้าทายต่อสิ่งต่าง ๆ 

            ในด้านการบำบัดหรือการให้คำปรึกษา ทฤษฎีนี้สามารถช่วยให้บุคคลปรับปรุงความเชื่อในความสามารถของตนเองเพื่อเอาชนะอุปสรรคต่างๆ เช่น การจัดการกับภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล หรือการเสริมสร้างความมั่นใจในการทำงานและการใช้ชีวิต 

            สิ่งที่ผมพบเจอมาตลอดทั้งชีวิตคือบุคคลที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือ ภาวะซึมเศร้า มักจะมีความมั่นใจในตนเองที่ต่ำ ซึ่งหลายครั้งการเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่เขา ก็มักจะตามมาด้วยการมองตนเองในด้านบวกมากขึ้น ทำอะไรสำเร็จมากขึ้น โทษตัวเองน้อยลง และอื่น ๆ อีกมากมาย

ทั้งหมดจะส่งผลเป็นโดมิโน่ไปจนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเขาต่อไป

อ้างอิง

Bandura, A. (1977). Self-efficacy: Toward a unifying theory of behavioral change. Psychological Review, 84(2), 191-215.

Bandura, A. (1986). Social foundations of thought and action: A social cognitive theory. Englewood Cliffs, NJ: Prentice-Hall.

Pajares, F. (1996). Self-efficacy beliefs in academic settings. Review of Educational Research, 66(4), 543-578.

Zimmerman, B. J. (2000). Self-efficacy: An essential motive to learn. Contemporary Educational Psychology, 25(1), 82-91.

ความคิดเห็น