ชูมัคเคอร์เชื่อว่าการใช้ชีวิตเรียบง่ายและการพอใจในสิ่งที่มีอยู่สามารถสร้างความสุขที่แท้จริง
ผมได้ยินแนวคิด "Small is Beautiful" ของ แอ็นสท์ ฟรีดริช ชูมัคเคอร์ (Ernst F. Schumacher) มานาน แต่เป็นทฤษฎีที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมองข้ามไป จนกระทั่งในวันนี้ด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อม และการบริโภคนิยมจนสร้างปัญหาทางสุขภาพจิต ส่งผลให้แนวคิดดังกล่าวถูกนำมาพิจารณาในทางวิชาการมากขึ้น หรือกระทั่งมีความพยายามที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน
อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ เรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่เศรษฐกิจโลกมุ่งเน้นการเติบโตและการบริโภคเป็นหลัก แต่แนวคิด "Small is Beautiful" กลับนำเสนอแนวทางที่เน้นความยั่งยืนและความสุขของมนุษย์เป็นสำคัญ นั้นจึงเป็นเหตุผลหลักที่ผมเขียนบทความนี้ แม้จะไม่ได้มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์มากนัก แต่สามารถนำข้อมูลของแนวคิดนี้มานำเสนอร่วมกับมุมมองทางจิตวิทยาที่ผมมีความถนัดได้
ในบทความนี้จะขอใช้คำว่า "Small is Beautiful" ไปเลยแทนการใช้ภาษาไทย เพราะมีการแปลที่หลากหลาย เช่น "เล็กนั้นงาม" หรือบางครั้งอาจแปลว่า "ความงามในความเล็ก" ด้วยเหตุนี้ผมจึงขอใช้ภาษาอังกฤษตรงตัว)
แนวคิด "Small is Beautiful"
Small is Beautiful: A Study of Economics As If People Mattered เป็นหนังสือที่เขียนโดย แอ็นสท์ ฟรีดริช ชูมัคเคอร์ (Ernst F. Schumacher) และตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1973 หนังสือเล่มนี้เป็นการวิพากษ์แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์และการพัฒนาที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างไม่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่สมเหตุสมผล โดยเสนอแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบใหม่ที่เน้นความยั่งยืนและความสำคัญของมนุษย์
"Small is Beautiful" ได้รับการยกย่องเป็นอย่างมากและมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อวงการเศรษฐศาสตร์และการพัฒนา หนังสือเล่มนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักวิชาการ นักนโยบาย และนักพัฒนาทั่วโลกในการคิดค้นและพัฒนาแนวทางใหม่ ๆ ที่เน้นความยั่งยืนและการพัฒนาที่คำนึงถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์ ผมจึงอยากนำแนวคิดนี้มาเปรียบเทียบกับในบางด้านดังนี้
"Small is Beautiful" นำเสนอแนวทางที่เน้นความยั่งยืนและความสุขของมนุษย์เป็นสำคัญ |
1) ขนาดและการกระจายอำนาจ เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมุ้งเน้นการเติบโตและขยายขนาดของเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตและการบริโภคในระดับมหภาค โดยเชื่อว่าองค์กรและบริษัทขนาดใหญ่สามารถสร้างประสิทธิภาพและผลตอบแทนที่สูงกว่า ในขณะที่ "Small is Beautiful" สนับสนุนเศรษฐกิจขนาดเล็กและการ กระจายอำนาจ เน้นการพึ่งพาตนเองและการพัฒนาท้องถิ่น โดยเชื่อว่าการพัฒนาในระดับเล็กสามารถสร้างความยั่งยืนและความสุขให้กับชุมชนมากกว่า
2) การใช้ทรัพยากรและความยั่งยืน เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรเพื่อเพิ่มผลผลิตและกำไร โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ในขณะที่ "Small is Beautiful" สนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยเชื่อว่าการพัฒนาเศรษฐกิจควรคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรในทางที่ไม่ทำลายอนาคต
3) เทคโนโลยีและนวัตกรรม เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก มุ่งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน โดยเชื่อว่าเทคโนโลยีสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ ในขณะที่ "Small is Beautiful" เน้นส่งเสริมการใช้ "เทคโนโลยีที่เหมาะสม" ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ง่ายต่อการใช้งานและบำรุงรักษา และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรืออาจกล่าวได้ว่าแนวคิดนี้เชื่อว่าเทคโนโลยีควรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเหมาะสมกับบริบทของชุมชน
4) การพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายหลัก โดยเชื่อว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะนำไปสู่ความมั่งคั่งและความสุขของประชาชน ในขณะที่ "Small is Beautiful" ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่คำนึงถึงความสุขและคุณภาพชีวิตของมนุษย์มากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แนวคิดนี้เชื่อว่าการพัฒนาเศรษฐกิจควรคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
5) การวัดมูลค่าของความสำเร็จ เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก วัดความสำเร็จทางเศรษฐกิจจากการเติบโตของ GDP และตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ในขณะที่ "Small is Beautiful" วัดความสำเร็จจากคุณภาพชีวิต ความสุขของประชาชน และความยั่งยืนของการพัฒนา แนวคิดนี้เชื่อว่าตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองที่แท้จริง
คุณภาพชีวิตและความสุขจากภายใน
นอกจากความแตกต่างที่กล่าวมาแล้ว แนวคิดนี้ยังให้ความสำคัญของการพึ่งพาตนเองและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ชูมัคเคอร์เสนอว่าการลดการบริโภคที่ไม่จำเป็นและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัดจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างสมดุลในชีวิต แน่นอนว่าเราสามารถปรับใช้แนวคิดนี้ในการปลูกพืชเอง หรือการรีไซเคิลสิ่งต่าง ๆ ได้ แต่ไม่เสมอไปเพราะหัวใจสำคัญคือการช่วยให้ครอบครัวและชุมชนลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเราสามารถประยุกต์ได้หลากหลาย
นอกจากหัวใจสำคัญจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความมั่นคงทางเศรษฐกิจแล้ว อีกสิ่งสำคัญก็คือเรื่องของคุณภาพชีวิตและความสุขจากภายในมากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ ชูมัคเคอร์เชื่อว่าการใช้ชีวิตเรียบง่ายและการพอใจในสิ่งที่มีอยู่สามารถสร้างความสุขที่แท้จริง การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและชุมชน และการใช้เวลาทำกิจกรรมที่มีคุณค่า เช่น การออกกำลังกาย การทำสมาธิ และการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและความสุข
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม หลัก "Small is Beautiful" จึงถูกพูดถึงมากขึ้นในปัจจุบันเพราะพวกเราต่างเห็นผลกระทบเชิงลบของกระแสทุนนิยม การบริโภคมากจนเกินไป หนี้ครัวเรือนที่สูงมากขึ้น และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน แม้พวกเราจะไม่สามารถเปลี่ยนกระแสของสังคมได้ แต่เราสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขโดยนำหลักการนี้ทาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
อย่างที่ทุกคนเข้าใจ การมีทรัพย์สินเงินทองไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้เรามีชีวิตที่มีความสุข แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีก โดยเฉพาะความสุขจากภายใน การที่เรามีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง และมองสิ่งรอบข้างอย่างเข้าใจเป็นมุมมองที่จะช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้น อย่างไรก็ตามผมไม่ได้บอกให้เราทุกคนมองข้ามการมีทรัพย์สินเงินทองและสิ่งของที่จำเป็น
เพียงแต่เราจะต้องมีการบริหารจัดการสิ่งเหล่านี้อย่างเหมาะสมเพื่อให้เราดำรงชีวิตในสังคมท่ามกลางกระแสทุนนิยมได้อย่างมีคุณภาพ
อ้างอิง
Krugman, P., & Wells, R. (2018). Economics. New York:
Schumacher, E. F. (1973). Small is beautiful: A study of economics as if people mattered. London: Blond & Briggs.
Worth Publishers. Mankiw, N. G. (2019). Principles of Economics. Boston: Cengage Learning.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น