ความรู้เบื้องต้นและแนวทางให้ความช่วยเหลือ เด็กที่มีภาวะออทิซึมสเปคตรัม (Autism Spectrum Disorder)

อุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น สามารถพัฒนาและปรับปรุงได้ เมื่อพวกเขาได้รับการเข้าใจและได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม

            มีเวปไซต์มากมายที่นำเสนอความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ บุคคลที่มีภาวะออทิซึมสเปคตรัม (Autism Spectrum Disorder) ได้อย่างดี แต่ในฐานะที่เป็นครูการศึกษาพิเศษ ทำหน้าที่สอนนักเรียนที่มีภาวะออทิซึมสเปคตรัม จึงอยากเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมา เพื่อให้ผู้อ่านได้มีความรู้ เข้าใจ และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการให้ความช่วยเหลือหรือวางแผนในการพัฒนาให้กับพวกเขาได้

            หลายคนอาจไม่รู้ว่า บุคคลที่มีภาวะออทิซึมสเปคตรัมถือเป็นหนึ่งในกลุ่มของผู้ที่มีความพิการด้านการพัฒนาการทางระบบประสาท ออทิซึมไม่ได้เป็นเพียงลักษณะทางพฤติกรรมหรือการสื่อสารที่แตกต่าง แต่ยังส่งผลกระทบต่อวิธีการที่บุคคลเหล่านี้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมรอบตัว มันจึงเป็นการยากที่พวกเขาจะอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข แต่ด้วยความเข้าใจ และวิธีการที่เหมาะสม เราสามารถเป็นกลไกสำคัญในการสร้างศักยภาพที่จะทำให้พวกเขาสามารถปรับตัวในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับภาวะออทิซึมสเปคตรัม

            ภาะออทิซึมสเปคตรัม เป็นภาวะที่มีความหลากหลายทางพฤติกรรมและระดับความรุนแรง โดยมีความแตกต่างตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงอย่างมาก เด็กบางคนอาจไม่สามารถพูดได้เลย ขณะที่บางคนอาจพูดมากจนหยุดไม่ได้ บางรายอาจมีภาวะสติปัญญาต่ำจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ขณะที่บางคนมีความสามารถเรียนรู้สูงจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก เนื่องจากลักษณะของโรคนี้มีขอบเขตกว้าง 

            ทางการแพทย์จึงเรียกภาวะนี้ว่า "Spectrum" หรือในบางครั้งเรียกว่า Autistic Spectrum Disorder (ASD) ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติของความผิดปกติทางจิต (DSM-5) ได้แบ่งระดับของออทิซึมออกเป็น 3 ระดับ (American Psychiatric Association, 2013) ได้แก่

            1) ระดับที่ 1 ต้องการการสนับสนุน (Requiring support) เด็กในระดับนี้มีความสามารถในการสื่อสารได้ค่อนข้างดี แต่ยังคงมีความลำบากในด้านการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และมีพฤติกรรมซ้ำ ๆ ที่สามารถจัดการได้เมื่อได้รับการสนับสนุน 

            2) ระดับที่ 2 ต้องการการสนับสนุนมาก (Requiring substantial support) บุคคลในระดับนี้มีความยากลำบากในการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เด่นชัดขึ้น รวมถึงมีพฤติกรรมซ้ำ ๆ และความสนใจที่จำกัด ซึ่งต้องการการช่วยเหลือที่ชัดเจนและต่อเนื่อง 

            3) ระดับที่ 3 ต้องการการสนับสนุนอย่างมาก (Requiring very substantial support) เด็กในระดับนี้มีความยาก ลำบากอย่างมากในการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และมีพฤติกรรมซ้ำ ๆหรือความสนใจที่จำกัดในระดับสูง ต้องการการช่วยเหลืออย่างมากในชีวิตประจำวัน 

            ผู้อ่านจะเห็นว่าทั้ง 3 ระดับต้องได้รับการช่วยเหลือที่ต่างกัน และมีความเข้มข้นในการให้ความช่วยเหลือที่ต่างกัน ผมเคยสอนนักเรียนตั้งแต่ระดับที่ 1 - ระดับที่ 3 ทำให้เห็นถึงความต่างที่ชัดเจน ในบทความหน้าผมอาจจะลงลึกเกี่ยวกับการสอนและการให้ความช่วยเหลือมากกว่นี้ แต่บทความนี้ผมอยากจะอธิบายเป็นความรู้เบื้องต้นเท่านั้น

ด้วยความเข้าใจและวิธีที่เหมาะสมเราสามารถสร้างศักยภาพที่จะทำให้พวกเขาปรับตัวอยู่ในสังคมได้

            สิ่งสำคัญในการสนับสนุนเด็กที่มีภาวะออทิซึมสเปคตรัมคือการช่วยเหลือให้พวกเขาสามารถสื่อสารได้ดีมากขึ้น มีการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นที่ดีมากขึ้น และแก้ไขพฤติกรรมบางอย่างที่มีความซ้ำซาก ซึ่งก่อนที่ผมจะอธิบายแนวทางการให้ความช่วยเหลือ ผมจะขออธิบายลักษณะของเด็กที่มีภาวะออทิซึมสเปคเสียก่อน โดย DSM-5 ได้แบ่งการแสดงออกในสองด้านหลักที่เป็นข้อบ่งชี้สำคัญ (American Psychiatric Association, 2013) ดังนี้

            1) ความบกพร่องด้านการสื่อสารและการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เด็กที่มีภาวะออทิซึมสเปคตรัมจะมีปัญหาในการสื่อสารทั้งทางวาจาและอวัจนภาษา เช่น การสบตา การใช้ท่าทาง และการแสดงออกทางสีหน้า ซึ่งมักจะไม่เหมาะสมกับบริบททางสังคม เด็กเหล่านี้อาจขาดทักษะในการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนและการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม โดยมักไม่สามารถสร้างและรักษาความสัมพันธ์ได้อย่างเหมาะสม 

            2) พฤติกรรมและความสนใจที่จำกัดและซ้ำซ้อน เด็กที่มีภาวะออทิซึมสเปคตรัมมักแสดงพฤติกรรมซ้ำ ๆ เช่น การเคาะ การหมุน หรือการทำท่าทางเดิมอย่างต่อเนื่อง พวกเขาอาจยึดติดกับกิจวัตรประจำวันที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้และมีความยากลำบากในการปรับตัวเมื่อมีกิจวัตรหรือสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ยังมีความสนใจในหัวข้อหรือวัตถุที่จำกัด และมีการตอบสนองที่ผิดปกติต่อการรับรู้ทางประสาทสัมผัส เช่น ไวต่อเสียงหรือแสงเกินไป หรือลดการรับรู้ในบางด้าน

แนวทางในการให้ความช่วยเหลือ  

            ทุกท่านจะเห็นแล้วว่าภาวะออทิซึมสเปคตรัมมีความหลากหลายของปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการเรียน ตั้งแต่การสื่อสารที่จำกัด ความไวต่อสิ่งเร้าในสภาพแวดล้อม ไปจนถึงความยากลำบากในการสร้างความสัมพันธ์และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น อย่างไรก็ตาม การศึกษาแสดงให้เห็นว่าอุปสรรคเหล่านี้สามารถพัฒนาและปรับปรุงได้ เมื่อพวกเขาได้รับการเข้าใจและได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม

            โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ มีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด เช่น การพัฒนาทักษะการสื่อสารช่วยให้เด็กไม่เพียงแต่สื่อสารกับผู้อื่นได้ดีขึ้น แต่ยังเป็นพื้นฐานในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่มั่นคง

            การพัฒนาทักษะทางสังคมและการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ส่งผลให้เด็กสามารถเผชิญหน้ากับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นใจ 

            ส่วนการพัฒนาทางกายภาพและการบูรณาการทางประสาทสัมผัสช่วยเสริมสร้างความคล่องแคล่วและความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเรียนรู้เชิงปฏิบัติหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับผู้อื่น

            ด้วยการพัฒนาและบูรณาการทักษะเหล่านี้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จะช่วยให้เด็กที่มีภาวะออทิซึมสเปค   ตรัมสามารถเติบโตและพัฒนาศักยภาพในทุกด้านได้อย่างเต็มที่ สู่การใช้ชีวิตที่มีคุณภาพและมีความสุขในสังคม โดยการสนับสนุนดังกล่าวควรประกอบไปด้วย

            1) การบูรณาการทักษะการสื่อสารและทักษะทางสังคม การใช้สื่อการสอนและเทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น แอปพลิเคชันและอุปกรณ์ที่ช่วยเสริมทักษะการสื่อสาร จะช่วยให้เด็กพัฒนาความสามารถในการพูดและแสดงออกได้ดียิ่งขึ้น การออกแบบเนื้อหาให้เหมาะกับความสามารถเฉพาะตัวจะช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างราบรื่นและสนุกสนาน

            2) การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง การใช้เรื่องราวทางสังคมและการสนับสนุนจากบุคคลรอบข้าง ช่วยให้เด็กสามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ได้ดีขึ้น ลดความกังวล และปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้อย่างมั่นใจ

            3) การพัฒนากล้ามเนื้อและประสาทสัมผัส การฝึกการทรงตัวและการเคลื่อนไหว ช่วยเสริมสร้างทักษะทางกายภาพและการเรียนรู้ผ่านกิจวัตรประจำวัน การฝึกเหล่านี้ไม่เพียงเพิ่มความคล่องตัวแต่ยังส่งเสริมความสามารถในการโต้ตอบกับผู้อื่นได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

            4) การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสนับสนุนการเรียนรู้ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และปลอดภัย ช่วยให้เด็กได้ฝึกฝนทักษะการเข้าสังคมและการควบคุมตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้พวกเขารู้สึกมีความมั่นใจและสามารถเติบโตในสังคมได้อย่างมีความสุข

            แม้บทความนี้ค่อนข้างมีความเป็นวิชาการ แต่สิ่งที่ผมอยากบอกผู้อ่านก็คือการพัฒนาทักษะต่างสามารถนำมาผสมผสานเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่าง ๆ ต่อชีวิตของพวกเขาได้ กล่าวคือ ไม่ได้หมายความว่าการพัฒนาทักษะการสื่อสารจะได้เพียงแค่ความชัดในการออกเสียง หรือการสื่อสารแบบสองทางเท่านั้น แต่ยังได้การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมด้วย ข้อมูลนี้จึงเป็นจุดสำคัญที่จะสร้างกำลังใจให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน 

                การบูรณาการกิจกรรม กลยุทธิ์ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ช่วยให้บุคคลหรือนักเรียนที่มีภาวะออทิซึมสเปคตรัมสามารถพัฒนาทักษะหลากหลายด่านพร้อมกัน เพราะการพัฒนาทักษะการสื่อสาร การเข้าสังคม การปรับตัว และการพัฒนาทางร่างกายและประสาทสัมผัสเป็นองค์ประกอบสำคัญที่เชื่อมโยงกันและส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ

และสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขต่อไปได้

อ้างอิง

American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fifth Edition (DSM-5). Retrieved Sep 23, 2024, from https://repository.poltekkes-kaltim.ac.id/657/1/Diagnostic%20and%20statistical%20manual%20of%20mental%20disorders%20_%20DSM-5%20(%20PDFDrive.com%20).pdf

Lindor, E., Sivaratnam, C., May, T., Stefanac, N., Howells, K., & Rinehart, N.  (2019).  Problem behavior in autism spectrum disorder: Considering core symptom severity and accompanying sleep disturbance. Frontiers in Psychiatry. 10: 487. https://doi.org/10.3389/fpsyt.2019.00487 

Lorah, E. R., Parnell, A., Whitby, P., & Hantula, D.  (2015).  A systematic review of tablet computers and portable media players as speech generating devices for individuals with autism spectrum disorder. Journal of Autism and Developmental Disorders, 45(12), 3792-3804. https://doi.org/10.1007/s10803-014-2314-4 

Muharib, R., Correa, V. I., Wood, C. L., & Haughney, K. L.  (2019).  Effects of functional communication training using GoTalk NowTM iPad® application on challenging behavior of children with autism spectrum disorder. Journal of Special Education Technology. 34(2): 71–79.

Soares, E. E., Bausback, K., Beard, C. L., Higinbotham, M., Bunge, E. L., & Gengoux, G. W.  (2021).  Social skills training for autism spectrum disorder: A meta-analysis of in-person and technological interventions. Journal of Technology in Behavioral Science, 6(1), 166–180. https://doi.org/10.1007/s41347-020-00177-0

ความคิดเห็น