แนวทางการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย

ความยากจนเป็นมิติที่สำคัญในการวิเคราะห์ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะเป็นรากฐานสำคัญที่ส่งผลต่อภาพกว้าง โดยเฉพาะผลกระทบทางจิตใจของเด็กที่เผชิญกับความยากจน

            ผู้อ่านบางท่านอาจจะมีความคิดเห็นว่า "ผมเป็นใคร" ถึงมาสำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศ เพราะมันเป็นปัญหาระดับประเทศที่ฝังรากลึกมาเป็นเวลานาน และเป็นปัญหาที่ใหญ่ แก้ได้ยาก อีกทั้งรัฐบาลและภาคีต่าง ๆ เช่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้อยู่แล้วในปัจจุบัน

            ดังนั้นในบทความนี้ผมจึงอยากจะนำเสนอแนวทางที่ไม่ใช่จากการมโน แต่เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยที่อาจจะมีความแตกต่างอยู่บ้างเล็กน้อย โดยวัตถุประสงค์ของบทความนี้ผมอยากจะฉายภาพผลกระทบของความเหลื่อมล้ำเป็นภาพใหญ่ และแนวทางการแก้ไข (ที่สอดคล้องกับภาครัฐ) เพื่อให้ทุกท่านได้เข้าใจมิติของความเหลื่อมล้ำ และมองเห็นทางออกของปัญหานี้ ผมจะเริ่มเลยนะครับ

            จากรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2566 โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่าในปีนี้มีเด็กไทยที่อยู่ในครอบครัวยากจนและยากจนพิเศษจำนวนประมาณ 1.8 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีเพียง 994,428 คน ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาความยากจนในระดับรุนแรงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เด็กในกลุ่มนี้ขาดโอกาสในการศึกษา แม้ว่าจะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่ความยากจนยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กบางส่วนไม่สามารถเรียนต่อได้

            ปัญหาหลัก ๆ ที่พบคือ ครอบครัวที่ยากจนไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าธรรมเนียมการเรียน หรือค่าเดินทาง ทำให้เด็กในกลุ่มนี้ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาไปในที่สุด นอกจากนี้ ยังพบว่าโอกาสที่เด็กกลุ่มนี้จะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามีน้อยมาก โดยในปี 2566 มีเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่สามารถเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้

            จากข้อมูลนี้ผู้อ่านจะเห็นว่าสิ่งที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอันดับแรก ๆ คือเรื่องของเศรษฐกิจ ดังนั้นในบทความนี้ผมจะให้ความสำคัญกับด้านเศรษฐกิจอย่างมาก มีการศึกษาที่พบว่าครอบครัวที่มีพ่อแม่เพียงคนเดียว (ซึ่งส่วนใหญ่พบในครอบครัวที่มีปัญหาทางด้านการเงิน) จะมีความซึมเศร้ามากกว่า ใช้ยาเสพติดมากกว่า สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์มากกว่า ให้นมน้อยกว่า และกระตุ้นการใช้ภาษาของเด็กน้อยกว่า (Anda Fleisher and Felitti, 2004) 

ครอบครัวที่มีพ่อแม่เพียงคนเดียว จะมีความซึมเศร้ามากกว่าและกระตุ้นการใช้ภาษาของเด็กน้อยกว่า

            มีคนเคยพูดกับผมว่า "ถ้าท้องไม่อิ่ม เด็กก็ไม่พร้อมเรียน" ซึ่งทั้งหมดนี้มันสอดคล้องกับหลาย ๆ ปัญหาในสังคมไทยถ้าผู้อ่านลองพิจารณาดู

ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

            1) การเข้าถึงการศึกษาไม่เท่าเทียม เช่น หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน หรือเทคโนโลยีที่ใช้ในการเรียนออนไลน์ ความขาดแคลนนี้ทำให้คุณภาพการศึกษาที่เด็กได้รับต่ำกว่าเด็กจากครอบครัวที่มีฐานะดีกว่า ซึ่งมีทรัพยากรสนับสนุนการเรียนรู้ที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ถูกเสริมด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐที่ไม่เพียงพอ แม้ว่าจะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่ครอบครัวยังคงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายแฝง เช่น ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์ และค่าอาหาร ซึ่งกลายเป็นภาระเพิ่มเติม

            2) การจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรไปยังโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลยังไม่เพียงพอ ทำให้โรงเรียนในพื้นที่เหล่านี้ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โรงเรียนในพื้นที่ชนบทต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการพัฒนาทั้งทางด้านครู สื่อการเรียนการสอน และเทคโนโลยี สถานการณ์นี้ยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างโรงเรียนในเมืองและชนบทขยายกว้างขึ้น

            3) ความยากจนและการเลิกเรียนกลางคัน ความยากจนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กจำนวนมากต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เนื่องจากครอบครัวไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์ หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เป็นภาระ และอย่างที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น ครอบครัวที่มีพ่อแม่เพียงคนเดียว จะมีความซึมเศร้ามากกว่า ใช้ยาเสพติดมากกว่า สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์มากกว่า ให้นมน้อยกว่า และกระตุ้นการใช้ภาษาของเด็กน้อยกว่า

            4) คุณภาพของโรงเรียนในพื้นที่ยากจน โรงเรียนในพื้นที่ชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำมักขาดทรัพยากรที่จำเป็น เช่น ครูที่มีคุณภาพ สื่อการเรียนการสอน หรือโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม ซึ่งส่งผลให้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กในพื้นที่เหล่านี้มีข้อจำกัด สิ่งนี้สอดคล้องกับความไม่พร้อมของเด็กที่ผลกระทบมาจากความยากจนในครอบครัว ซึ่งตามมาด้วยปัญหาครอบครัวอีกหลายประเด็น

            ความยากจนเป็นมิติที่สำคัญในการวิเคราะห์ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะเป็นรากฐานสำคัญที่ส่งผลต่อภาพกว้าง โดยเฉพาะผลกระทบทางจิตใจของเด็กที่เผชิญกับความยากจน กล่าวคือ เด็กที่มาจากครอบครัวยากจนไม่เพียงแต่ขาดแคลนทรัพยากรทางการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเผชิญกับความกดดันทางจิตใจจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้พวกเขามีปัญหาในด้านพฤติกรรม การเรียนรู้ และการเข้าสังคม นอกจากนี้ ปัญหาความเครียดจากการขาดแคลนทรัพยากรยังทำให้เด็กเหล่านี้ขาดความมั่นใจและแรงจูงใจในการเรียนรู้อย่างมาก

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

            ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาส่งผลกระทบอย่างมากในหลากหลายมิติ ย่อยลงไปเป็นร้อยผลกระทบ ดังนั้นผมจึงอยากอธิบายภาพกว้าง เพราะไม่อย่างนั้นบทความนี้คงจะยาวเกินไป ซึ่งในภาพกว้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยมีรายละเอียดดังนี้

            1) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเมื่อประชากรกลุ่มยากจนไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ พวกเขาจะขาดทักษะและความรู้ที่จำเป็นต่อการทำงานในตลาดแรงงานสมัยใหม่ ส่งผลให้ความสามารถในการผลิตของแรงงานลดลงและเกิดการใช้ทรัพยากรมนุษย์ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ การที่เด็กกลุ่มยากจนหลุดออกจากระบบการศึกษายังทำให้โอกาสในการเพิ่มรายได้และขยายฐานเศรษฐกิจของประเทศลดลง หากสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ได้ องค์การ UNESCO คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะเติบโตมากขึ้นถึง 3%​

            2) ผลกระทบต่อสังคม ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสร้างความไม่เท่าเทียมในสังคม ทำให้เกิดความแตกแยกทางสถานะสังคมและโอกาสในการพัฒนาตนเอง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสังคมอื่น ๆ เช่น อาชญากรรม ความยากจนข้ามรุ่น และการขาดโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาในระยะยาวจะสร้างความแตกแยกในด้านโอกาสทางชีวิต ระหว่างกลุ่มที่เข้าถึงการศึกษาและกลุ่มที่ไม่ได้รับโอกาส สร้างความเหลื่อมล้ำที่ลึกขึ้นและทำให้สังคมขาดความสมานฉันท์​

            3) ผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาส่งผลกระทบระยะยาวต่อการพัฒนาประเทศ เพราะการพัฒนาทุนมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หากประชากรส่วนหนึ่งไม่ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม จะทำให้ศักยภาพของประชากรในประเทศลดลง การขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพและมีทักษะสูงจะทำให้ประเทศขาดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนในระยะยาว​

แนวทางการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย

            จากการศึกษาแนวทางในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำพบว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเสนอนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในมิติความยากจนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพราะเป็นแนวทางที่สามารถจัดการความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้เกือบจะรอบด้าน และมีการพยายามนำไปใช้จริงและพบผลลัพธ์ที่เป็นไปในเชิงบวกด้วย แนวทางนี้ประกอบไปด้วย

            1) การจัดสรรทุนการศึกษา จัดสรรทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนจากครอบครัวยากจน เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงการศึกษาต่อเนื่องได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนทรัพยากรด้านการศึกษา

            2) การสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา มีการจัดหาอุปกรณ์การเรียน เช่น แท็บเล็ต และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพื่อให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลสามารถเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมกับเด็กในเมือง

            3) การปรับปรุงโรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้ สนับสนุนการสร้างหรือปรับปรุงโรงเรียนและศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ที่ขาดแคลนทรัพยากร

            4) การจัดสรรอาหารกลางวันและโภชนาการที่เหมาะสม เด็กนักเรียนจากครอบครัวที่ยากจนจะได้รับการสนับสนุนด้านอาหารกลางวันและโภชนาการที่เหมาะสม เพื่อให้พวกเขามีสภาพร่างกายและจิตใจที่พร้อมสำหรับการเรียน

            5) การพัฒนาครูและผู้บริหารโรงเรียน การฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพของครูและผู้บริหารในพื้นที่ห่างไกลเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้พวกเขามีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและทันสมัย

            จะเห็นว่าแนวทางของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาค่อนข้างจะครอบคลุมทั้งเทคโนโลยี ทุน อาหาร การพัฒนาครูและโรงเรียนแล้ว แต่ยังมีบางส่วนที่หากเสริมขึ้นมาจะดีมากขึ้น ผมจึงได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมและนำเสนอออกมาเป็นข้อเสนอดังต่อไปนี้ 

            1) การพัฒนาการศึกษาแบบองค์รวม การพัฒนาแบบองค์รวมมุ่งเน้นการพัฒนานักเรียนทั้งในด้านวิชาการ อารมณ์ สังคม และร่างกายอย่างครบถ้วน การศึกษาไม่ได้ควรเป็นเพียงการให้ความรู้ด้านวิชาการ แต่ยังต้องรวมถึงทักษะชีวิตและการพัฒนาตนเอง ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำโดยให้โอกาสนักเรียนจากทุกพื้นฐานทางสังคมและเศรษฐกิจได้เข้าถึงการเรียนรู้ที่หลากหลาย​ ทั้งนี้คำว่าองค์รวมนั้นรวมไปถึงคุณภาพของครู หลักสูตร ชุมชนด้วยเช่นกัน

            2) การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ครู ผู้ปกครอง และชุมชน มีบทบาทสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ การร่วมมือกันช่วยให้มีการระดมทรัพยากรที่มากขึ้นและสนับสนุนโครงการพัฒนาการศึกษาที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเปราะบาง การมีส่วนร่วมยังสามารถช่วยสร้างความเข้าใจและความร่วมมือในการแก้ปัญหาในระดับท้องถิ่น​

            3) การกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียม การกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียมเป็นปัจจัยสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ โดยการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรไปยังโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลหรือโรงเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำอย่างเพียงพอ จะช่วยให้เด็กในพื้นที่เหล่านี้มีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่ากับเด็กในเขตเมือง​

            4) ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้ตลอดชีวิตช่วยให้นักเรียนและบุคคลทั่วไปสามารถพัฒนาทักษะใหม่ๆ และเติบโตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตจะช่วยเพิ่มโอกาสในการปรับตัวและพัฒนาทักษะทางอาชีพ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในระยะยาว​

            5) การติดตามและประเมินผล การติดตามและประเมินผลอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับปรุงและพัฒนาการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของนักเรียนทุกกลุ่ม การมีข้อมูลที่แม่นยำและทันสมัยสามารถช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถออกแบบโครงการที่มีประสิทธิภาพและลดความเหลื่อมล้ำได้ดียิ่งขึ้น​ ไม่ว่าจะเป็นโครงการใดก็ตามที่เกิดขึ้นควรจะมีการติดตามและประเมินผลอย่างเป็นระบบ

            สิ่งที่ผมอยากปิดท้ายก็คือ ในการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อหลายคน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพราะไม่มีใครสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวคนเดียว และเมื่อแต่ละฝ่ายทำงานโดยมีความคิดเห็นที่แตกต่างและไม่สามารถร่วมมือกันได้ ย่อมทำให้การแก้ปัญหายิ่งซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้น การทำงานร่วมกันโดยยึดเป้าหมายเป็นหลัก จะช่วยให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ

            นอกจากนั้นแล้วการติดตามและประเมินผลอย่างมีคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ การแก้ไขปัญหาหรือปรับปรุงระบบใด ๆ ควรได้รับการตรวจสอบและประเมินเพื่อวัดประสิทธิผลและประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่าการแก้ไขที่ดำเนินการไปนั้นมีผลบวกหรือลบต่อองค์กรอย่างไร และมีข้อดีหรือข้อบกพร่องตรงไหนบ้าง

การที่เราวางแผน ลงมือทำ ติดตาม และประเมินผลเป็นกระบวนการสำคัญในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีคุณภาพมากที่สุด

อ้างอิง

กลุ่ม DR03. (2567). นโยบายการศึกษาของรัฐบาลต่อความท้าทายในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจากสถานการณ์ความยากจน [นำเสนอในวิชา ED801: ภาวะผู้นำและการจัดการการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา, หลักสูตรดุษฎีบัณฑิต, คณะศึกษาศาสตร์, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ]

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (2566). รายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2566 สถานการณ์นักเรียนยากจนพิเศษ. https://www.eef.or.th/infographic-54653/

Thaipulica. (2566). รายงานกสศ. ซี้พัฒนาทุนมนุษย์ ทางออกความเหลื่อมล้ำการศึกษา-กับดักรายได้ปานกลาง. https://thaipublica.org/2023/11/eef-equity-forum-human-capital-development-helps-end-inequality/

Anda, R. F., Fleisher, V. and Felitti, V.  2004.  Childhood abuse, household dysfunction, and indicaors of impaired worker performance in adulthood." Permanente Journal, 8, 30-38.

    ความคิดเห็น