ความรู้เบื้องต้นและแนวทางการให้ความช่วยเหลือ นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disability)
การช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ให้สามารถประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ได้ จำเป็นต้องมีการปรับการสอนที่ตรงจุดและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
ในฐานะที่ผมเป็นครูการศึกษาพิเศษในโรงเรียนแห่งหนึ่ง จึงพบเห็นนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษพอสมควรไม่ว่าจะเป็นสมาธิสั้น ออทิซึมฯ และนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ในบทความนี้ผมอยากนำเสนอเกี่ยวกับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้อ่านทุกคนได้เข้าใจและตระหนักถึงลักษณะที่แตกต่างกับนักเรียนทั่วไป อีกทั้งยังนำเสนอปัญหา และแนวทางการแก้ไขเพื่อให้ผู้อ่านที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนฯ เข้าใจและสามารถให้ความช่วยเหลือพวกเขาได้
นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disability) คือ กลุ่มนักเรียนที่ประสบปัญหาในการเรียนรู้ การประมวลผลข้อมูล หรือมีความยากลำบากใน “ด้านใดด้านหนึ่ง" หรือ ”หลายด้าน” ของการเรียนรู้ ซึ่งสาเหตุมาจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง แม้ว่านักเรียนเหล่านี้จะมีสติปัญญาในระดับปกติหรือสูงกว่า แต่กลับพบอุปสรรคในการพัฒนาทักษะเฉพาะ เช่น การอ่าน การเขียน และการคำนวณ
นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการอ่านมักพบปัญหาต่อเนื่องในด้านการเขียนและทักษะอื่น ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความบกพร่องในสมองส่วนความจำใช้งาน (Working Memory) ที่ทำให้ไม่สามารถจดจำและประมวลผลข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Lachmann, T., & Bergström, K., 2023) เมื่อความจำใช้งานไม่สามารถเก็บลำดับของเสียงหรือตัวอักษรในคำได้ การอ่านและเขียนจึงล่าช้า และส่งผลให้เกิดปัญหาในการเรียนรู้ด้านอื่น ๆ เช่น การประมวลผลข้อมูลในคณิตศาสตร์และการเรียงลำดับความคิด
ภาวะบกพร่องทางการอ่าน: ลักษณะและปัญหาที่พบ
ภาวะบกพร่องทางการอ่าน (Dyslexia) เป็นภาวะที่มีความยากลำบากในการอ่าน การเขียน และการสะกดคำ เป็นผลมาจากความผิดปกติในการประมวลผลภาษาและข้อมูลของสมอง ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการอ่านออกเสียง แยกแยะตัวอักษร หรือเข้าใจข้อความ และการเชื่อมโยงเสียงตัวอักษรเข้ากับรูปคำต่าง ๆ ซึ่งมีลักษณะและปัญหาของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (ด้านการอ่าน) ดังนี้
เมื่อเขาไม่สามารถอ่านได้เทียบเท่ากับนักเรียนคนอื่น ปัญหาทางด้านการเขียน และอื่น ๆ ก็จะตามมา |
1) ปัญหาในการแยกแยะเสียง นักเรียนฯ มักมีปัญหาในการเชื่อมโยงเสียงกับตัวอักษร ซึ่งทำให้การสะกดคำเป็นเรื่องยาก ไม่สามารถระบุเสียงที่แตกต่างกันได้ชัดเจน หรือการถอดรหัสเสียงในคำต่าง ๆ ซึ่งทำให้การสะกดคำกลายเป็นเรื่องยากลำบาก
2) การอ่านที่ไม่คล่องแคล่ว เกิดจากปัญหาในการประมวลผลเสียงและความสามารถในการจดจำคำศัพท์ที่คุ้นเคย ซึ่งจำเป็นต่อการอ่าน นักเรียนฯ อาจต้องหยุดซ้ำ ๆ เพื่อแปลความหมายของตัวอักษรและคำ และไม่เพียงแต่ส่งผลต่อความเร็วในการอ่าน แต่ยังทำให้ความเข้าใจในเนื้อหานั้นด้อยลง
3) ความสับสนในการอ่านคำที่คล้ายกัน นักเรียนฯ มีความสับสนระหว่างคำที่มีตัวอักษรคล้ายกัน เช่น "tap" กับ "pat ปัญหานี้เกิดจากความบกพร่องในการประมวลผลทางสายตา และการประมวลผลทางเสียง ทำให้นักเรียนฯ ไม่สามารถจำแนกความแตกต่างของตัวอักษรหรือเสียงได้อย่างชัดเจน
ภาวะบกพร่องทางด้านการเขียน: ลักษณะและปัญหาที่พบ
ภาวะบกพร่องทางด้านการเขียน (Dysgraphia) คือเป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อทักษะการเขียนของบุคคล โดยเฉพาะในเรื่องการสะกดคำ การเขียนข้อความ การเรียบเรียงประโยค และการสร้างเนื้อหาที่มีความหมายอย่างถูกต้อง ผู้ที่มีภาวะนี้มักประสบปัญหาในการเขียนด้วยมือ การจัดวางตัวอักษร การควบคุมเครื่องมือสำหรับเขียน
1) การสะกดคำผิด มีความยากลำบากในการประมวลผลและเชื่อมโยงเสียงกับตัวอักษร ทำให้การสะกดคำกลายเป็นปัญหา แม้ในคำที่ใช้งานทั่วไปหรือเพิ่งเรียนรู้มา
2) การจัดวางตัวอักษรและการควบคุมการเขียน มีความยากลำบากในการจัดเรียงตัวอักษรหรือคำบนกระดาษ การเขียนอาจดูไม่เป็นระเบียบ เกี่ยวข้องกับการควบคุมกล้ามเนื้อมือที่ใช้เขียน
3) ปัญหาในการเรียบเรียงประโยค มีความยากลำบากในการสร้างประโยคที่สมบูรณ์และมีความหมาย มักไม่สามารถคงไว้ซึ่งข้อมูลที่เพิ่งได้รับและประมวลผลคำในลำดับที่ถูกต้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภาวะบกพร่องทางการคำนวณ: ลักษณะและปัญหาที่พบ
ภาวะบกพร่องทางการคำนวณ (Dyscalculia) คือภาวะที่ส่งผลต่อความสามารถในการเข้าใจและปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ นักเรียนฯ จะมีความยากลำบากในการทำความเข้าใจพื้นฐานคณิตฯ เช่น การบวก ลบ คูณ หาร รวมถึงการเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับจำนวน เลขหลัก และความสัมพันธ์ระหว่างตัวเลข
1) ความยากลำบากในการเข้าใจแนวคิดเชิงตัวเลขและสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ นักเรียนฯ มักจะมีปัญหาในการทำความเข้าใจแนวคิดพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ เช่น การเชื่อมโยงระหว่างตัวเลข ไม่เข้าใจความหมายของเครื่องหมายทางคณิตศาสตร์ เช่น +, -, ×, ÷ หรือไม่สามารถแปลความหมายของสัญลักษณ์เหล่านี้เป็นการคำนวณได้อย่างถูกต้อง
2) ปัญหาในการจัดการกับเวลาและการจัดระเบียบเชิงพื้นที่ นักเรียนฯ มักมีปัญหาในการอ่านนาฬิกา การจัดการกับเวลาที่เป็นนาทีหรือชั่วโมง รวมถึงการวัดและจัดระเบียบเชิงพื้นที่ เช่น การประมาณระยะทางหรือการทำตามทิศทาง
3) ความวิตกกังวลที่เกี่ยวกับการทำงานทางคณิตศาสตร์ นักเรียนฯ มักประสบปัญหาในการประมวลผลข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวเลข ส่งผลให้ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนวิชาคณิตฯ หรือการจัดการกับตัวเลขได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเกิดความล้มเหลวในวิชานี้หลายครั้ง ส่งผลให้ขาดความมั่นใจและเกิดความเครียดเมื่อต้องเผชิญกับงานที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณ
อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วนักเรียนที่มีปัญหาด้านการอ่านเป็นสัดส่วนที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มนี้ ซึ่งทำให้การอ่านเป็นปัญหาหลักที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนในด้านการศึกษาพิเศษ นอกจากนั้นการบกพร่องทางการอ่าน มักส่งผลกระทบต่อการเขียน เนื่องจากทั้งสองทักษะนี้เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด การที่นักเรียนฯ มีปัญหาในการแยกแยะและเข้าใจเสียงในภาษา จะทำให้เกิดความลำบากในการสะกดคำหรือสร้างประโยคที่ถูกต้องในงานเขียน ต่อไปผมจะนำเสนอแนวทางในการให้ความช่วยเหลือดังนี้
แนวทางให้ความช่วยเหลือ
1) การปรับวิธีการสอน เน้นการใช้สื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น สื่อภาพ สื่อเสียง และกิจกรรมเชิงปฏิบัติ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของนักเรียน งานวิจัยของ Mayer และ Moreno (2005) แสดงให้เห็นว่าการใช้สื่อการสอนแบบมัลติมีเดีย เช่น การใช้ภาพ เสียง และข้อความประกอบกัน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ได้อย่างดี ทำให้เข้าใจและจดจำเนื้อหาได้ดีขึ้น เช่น การใ้ช้การคิดด้วยภาพ (Visual Thinking) คือกระบวนการใช้สื่อภาพเพื่อช่วยให้นักเรียนทำความเข้าใจและการสื่อสารแนวคิดที่ซับซ้อน
ตัวอย่างการใช้การคิดด้วยภาพ (Visual Thinking) ที่ผมสอนที่โรงเรียน |
2) การปรับสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ สำหรับนักเรียนฯ ผู้สอนควรสร้างบรรยากาศที่ปราศจากความกดดันและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตนเองอย่างมั่นคง โดยมีการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยสำคัญ เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์และแอปพลิเคชันที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้เฉพาะทาง นอกจากนี้ การจัดตารางเวลาและการแนะนำวิธีการจัดระเบียบการเรียนรู้จะช่วยให้นักเรียนมีแนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
3) การสนับสนุนด้านอารมณ์และพฤติกรรม นักเรียนฯ มักเผชิญกับความเครียด ความกดดัน และความวิตกกังวลในการเรียนรู้ ซึ่งอาจมาจากความรู้สึกไม่สามารถทำงานได้เท่าเทียมกับเพื่อนร่วมชั้นหรือจากประสบการณ์ที่ตนเองมองว่าล้มเหลวในอดีต สอดคล้องกับงานวิจัยของ Ramirez และ คณะ (2018) ที่ชี้ให้เห็นว่าความวิตกกังวลเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเรียนรู้และความสำเร็จทางการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะความวิตกกังวลทางคณิตศาสตร์
นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นกลุ่มนักเรียนที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการพัฒนาทักษะเฉพาะ แม้ว่าพวกเขาจะมีความสามารถทางสติปัญญาในระดับปกติหรือสูงกว่าก็ตาม การช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ให้สามารถประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ได้ จำเป็นต้องมีการปรับการสอนที่ตรงจุดและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม การใช้สื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น มัลติมีเดียที่ผสมผสานภาพ เสียง และข้อความ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าใจและจดจำเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น การสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรและการใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้เฉพาะทาง จะช่วยให้นักเรียนเหล่านี้มีแนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนาทักษะและไม่รู้สึกถูกกดดัน แต่เราจะต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับการสนับสนุนด้านอารมณ์ เนื่องจากความเครียดและความกังวลสามารถส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และความสำเร็จทางการศึกษา การช่วยให้นักเรียนรู้สึกมั่นใจและมีกำลังใจเป็นกุญแจสำคัญ
ที่จะช่วยให้พวกเขาก้าวผ่านอุปสรรคและสามารถประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง
อ้างอิง
American Psychiatric Association. (2024). What is specific learning disorder? American Psychiatric Association. https://www.psychiatry.org/patients-families/specific-learning-disorder/what-is-specific-learning-disorder
American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, Fifth Edition (DSM-5). https://repository.poltekkes-kaltim.ac.id/657/1/Diagnostic%20and%20statistical%20manual%20of%20mental%20disorders%20_%20DSM-5%20(%20PDFDrive.com%20).pdf
Che, A., Truong, D., Fitch, R., & LoTurco, J. (2016). Mutation of the dyslexia-associated gene DCDC2 enhances glutamatergic synaptic transmission. Cerebral Cortex. 26(9):3705–3718. https://doi.org/10.1093/cercor/bhv168
Lachmann, T., & Bergström, K. (2023). Developmental dyslexia and culture: The impact of writing system and orthography. Journal of Cultural Cognitive Science. 7(2). https://doi.org/10.1007/s41809-023-00129-z
Mayer, R., & Moreno, R. (2005). A cognitive theory of multimedia learning: Implications for design principles. Journal of Educational Psycholog. 91(2):1-12. https://www.researchgate.net/publication/248528255_A_Cognitive_Theory_of_Multimedia_Learning_Implications_for_Design_Principles
National Center for Learning Disabilities. (2020). What are learning disabilities? NCLD. https://ncld.org/join-the-movement/understand-the-issues/
Ramirez, G., Chang, H., Maloney, E. A., Levine, S. C., & Beilock, S. L. (2016). On the relationship between math anxiety and math achievement in early elementary school: The role of problem solving strategies. Journal of Experimental Child Psychology. 141:83-100. https://doi.org/10.1016/j.jecp.2015.07.014
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น