การแก้ไขปัญหาทางการศึกษาควรเริ่มจาก ระบบนิเวศทางการเรียนรู้ (Learning Ecosystem)

การกระพือปีกของผีเสื้อในที่หนึ่งอาจนำไปสู่พายุในอีกซีกโลกหนึ่ง

            ในสมัยที่ผมยังเป็นเด็กผมได้ดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่งชื่อว่า Butterfly Effect เป็นภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ระทึกขวัญที่มีเนื้อหาลึกซึ้งเกี่ยวกับผลกระทบที่การตัดสินใจเล็กๆ น้อยๆ อาจมีผลต่อชีวิตในอนาคต เรื่องนี้เป็นที่จดจำเพราะนำเสนอแนวคิดของ ทฤษฎีผีเสื้อ (Butterfly Effect) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีความโกลาหล (Chaos Theory) ที่กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในระบบที่ซับซ้อนอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้ "การกระพือปีกของผีเสื้อในที่หนึ่งอาจนำไปสู่พายุในอีกซีกโลกหนึ่ง"

            "การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในระบบที่ซับซ้อนอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้" นี่คือข้อคิดประจำใจของผู้เขียนในปัจจุบันซึ่งได้รับอิทธิพลมากจากภาพยนต์เรื่องนี้ นอกจากเหนือจากแรงบัลดาลใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยฐานะของความเป็นครูแล้ว มันยังสอดคล้องกับ ตัวแปรสำคัญทางการศึกษาที่ได้รับอิทธิพลมากจากแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ตัวแปรดังกล่าวเรียกว่า "ระบบนิเวศทางการเรียนรู้" (Learning Ecosystem)

            คำว่า ระบบนิเวศทางการเรียนรู้ (Learning Ecosystem) มีรากฐานมาจากแนวคิดทางนิเวศวิทยา ซึ่งหมายถึง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ทั้งที่เป็นสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตภายในสภาพแวดล้อมเดียวกัน โดยในบริบทของการเรียนรู้ ระบบนิเวศนี้ประกอบด้วยผู้เรียน ผู้สอน ทรัพยากรการเรียนรู้ เทคโนโลยี นโยบาย และปัจจัยทางสังคมที่เกี่ยวข้อง

            ตัวอย่างที่มักมีการพูดถึงระบบนิเวศทางการเรียนรู้ บ่อยครั้งคือกรณีศึกษา Keystone Species หรือที่เรียกกันว่า "หมาป่าในเยลโลว์สโตน" เมื่อหมาป่าถูกนำกลับคืนสู่อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนในปี 1995 หลังจากที่สูญพันธุ์ไปจากพื้นที่นี้เป็นเวลาหลายสิบปี พวกมันได้ช่วยฟื้นฟูสมดุลของระบบนิเวศที่ซับซ้อนและส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในระบบนั้น

            ไม่ว่าจะเป็น 1) หมาป่าล่ากวางเอลก์ ซึ่งทำให้จำนวนกวางลดลงและช่วยลดการทำลายพืชพรรณในพื้นที่ 2) ต้นไม้ เช่น ต้นป็อปลาร์และต้นหลิว เริ่มเติบโตอีกครั้ง เพราะกวางเอลก์ไม่มากินบริเวณใกล้แม่น้ำ 3) การฟื้นฟูพืชพรรณนำมาซึ่งการกลับมาของสัตว์ชนิดอื่น เช่น นกบีเวอร์ และแม้กระทั่งสัตว์นักล่าอื่น ๆ เช่น หมี และ 4) แนวแม่น้ำมีเสถียรมากขึ้น เนื่องจากพืชปกคลุมดิน ช่วยลดการกัดเซาะ

เมื่อหมาป่าถูกนำกลับคืนสู่อุทยาน หลังจากที่สูญพันธุ์ไป พวกมันได้ช่วยฟื้นฟูสมดุลของระบบนิเวศที่ซับซ้อน

            สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าเพียงแค่หมาป่ากลุ่มเดียว ก็สามารถเปลี่ยนแปลงทั้งระบบนิเวศได้อย่างมหาศาล ในการฟื้นฟูระบบนิเวศ การมีองค์ประกอบสำคัญในระบบการเรียนรู้ เช่น ครูที่มีความสามารถ นโยบายที่มีคุณภาพ หรือ ทรัพยากรการศึกษาที่เข้าถึงได้ อาจนำไปสู่ผลกระทบเชิงบวกในทุกมิติของระบบ เช่น การเพิ่มคุณภาพการสอน การลดความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาผู้เรียนในระยะยาว

            ตัวอย่างการพัฒนานิเวศการเรียนรู้ในเมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจและสอดคล้องกับแนวคิดของ ระบบนิเวศทางการเรียนรู้ (Learning Ecosystem) อย่างชัดเจน โดยเมืองที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกนี้ ได้ริเริ่มโครงการ ‘Whole City’ ซึ่งมีเป้าหมายในการเปลี่ยนทุกพื้นที่ในเมืองให้กลายเป็น "สิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ขนาดมหึมา" โดยเปิดโอกาสให้การเรียนรู้ออกนอกกรอบห้องเรียนแบบดั้งเดิม

            สถานที่ต่าง ๆ ในเมือง เช่น ห้องสมุด สวนสาธารณะ ป่า สนามเด็กเล่น พิพิธภัณฑ์ โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า ถนน อาคารทางวัฒนธรรม และพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ล้วนได้รับการออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้กับชีวิตจริง และสร้างประสบการณ์ทางการศึกษาที่มีคุณค่าอย่างมาก

            การพัฒนานี้ยังสอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาของฟินแลนด์ตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งได้นำแนวทาง การเรียนรู้แบบมีปรากฏการณ์เป็นฐาน (Phenomenon-based Learning) มาใช้ โดยให้ความสำคัญกับการให้ผู้เรียน 1) ออกไปสำรวจและเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น 2) เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงที่เชื่อมโยงกับบริบทจริงในชีวิตประจำวัน และ 3) พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการเรียนรู้ด้วยตนเอง

            ภายใต้ปรัชญาการศึกษานี้ เชื่อว่า "การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงมีพลังและความหมายมากกว่าการเรียนรู้จากตำรา" เพราะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจสาระสำคัญของสิ่งที่เรียนรู้ในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น ทั้งยังเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และทักษะชีวิตที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน

        ในอนาคตอันใกล้ ขอบข่ายของการเรียนรู้จะมีมิติกว้างขึ้นครอบคลุมทั้งองคาพยพของสังคม จนเส้นแบ่งระหว่างการศึกษาในและนอกระบบโรงเรียนค่อย ๆ เลือนหายไปในที่สุด เช่นเดียวกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่การเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับแก้ไขปัญหา สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เท่านั้น แต่คือ "Very need to have" ไม่ใช่เพียงแค่ "Nice to have"

            กรณีศึกษาของเมืองเฮลซิงกิ สะท้อนให้เห็นถึง พลังของระบบนิเวศทางการเรียนรู้ที่สามารถบูรณาการพื้นที่ สังคม และทรัพยากร เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยการใช้ทั้งเมืองเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้จากบริบทที่หลากหลาย ซึ่งก้าวพ้นข้อจำกัดของการเรียนรู้ในห้องเรียนแบบดั้งเดิม

            คุณภาพของการศึกษาที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดนี้ ไม่ได้พึ่งพาเฉพาะบทบาทของโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในชุมชนและสังคมที่ร่วมกันออกแบบและสนับสนุนโครงสร้างที่เอื้อต่อการพัฒนาผู้เรียนอย่างยั่งยืน หรือที่เรียกกันว่า "การมีส่วนร่วมของชุมชน"  

            แนวทางดังกล่าวมีความสอดคล้องกับข้อเสนอของ เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ และอดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้เสนอโมเดล "กองทุนพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้แห่งชาติ" เพื่อพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ในประเทศไทย โดยโมเดลนี้เสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณใน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่

            1) การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ เช่น สวนสาธารณะ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และพื้นที่ชุมชนอื่นๆ ที่สามารถเปลี่ยนเป็นแหล่งเรียนรู้ในชีวิตจริง

            2) การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ ที่มุ่งสร้างเนื้อหาและสื่อที่ทันสมัย สอดคล้องกับยุคดิจิทัล และตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนในบริบทที่หลากหลาย

            3) การจัดเวิร์คช็อปเพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ที่สนับสนุนกิจกรรมที่เสริมสร้างทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ การแก้ปัญหา และการเรียนรู้ด้วยตนเอง

            4) การสร้างความเข้าใจเรื่องอาชีพในอนาคต ให้กับผู้เรียนได้รู้จักและเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน รวมถึงแนวทางการเตรียมตัวสำหรับอาชีพใหม่ๆ

            แนวทางนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการพัฒนาระบบนิเวศทางการเรียนรู้ในประเทศไทย ซึ่งการดำเนินการตามข้อเสนอนี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน ไปจนถึงสถานศึกษาและครอบครัว เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ด้วยการสนับสนุนด้านงบประมาณและการออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสม การเรียนรู้ที่หลากหลายและเชื่อมโยงกับชีวิตจริง 

จะไม่เพียงช่วยพัฒนาผู้เรียนเท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืนในระยะยาว

อ้างอิง

ศศินันท์ เศรษฐวัฒน์บดี, กันต์ฤทัย คลังพหล, บุษยา จูงาม, ปาริชาติ ผดุงศิลป์, & อภิชญา สวัสดี. (2566). การศึกษาระบบนิเวศการเรียนรู้ของสถานศึกษาในจังหวัดปทุมธานี. 6(1), 102–113

The Kommon. (2021). ‘เฮลซิงกิ’ เมืองที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ทุกระดับ. The Kommon. Retrieved from https://www.thekommon.co/helsinki-learning-whole-city/

Lonka, K., Makkonen,J. Berg, M., Talvio, M., Maksniemi, E., Kruskopf, M., Lammassaari, H., Hietajärvi, L., & Westling. S. (2018). Phenomenal Learning from Finland. Helsinki: Edita.

ความคิดเห็น