การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community :PLC)

ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้จากการที่สถาบันมีวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน ผู้บริหารจะต้องเป็นแบบอย่าง เป็นตัวแปรหลักในการขับเคลื่อน

            ในวงการการศึกษาเราเคยได้ยินเกี่ยวกับ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community :PLC) กันแทบทุกท่าน ในหลานสถาบันเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการเลื่อนวิทยฐานะ และมีการอบรมเกี่ยวกับเรื่องนี้กันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการทำวิจัยในเรื่อง PLC เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน ในบทความนี้ผู้เขียนจึงอยากนำเสนอเกี่ยวกับ PLC สั้น ๆ และนำเสนอว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้ PLC ประสบความสำเร็จ

            ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ คือกระบวนการที่ครูและบุคลากรทางการศึกษามาร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาและปรับปรุงการสอน โดยเน้นการแลกเปลี่ยนความรู้ การสะท้อนผลการปฏิบัติงาน และการสนับสนุนซึ่งกันและกัน

            อีกทั้งกระบวนการนี้ยังช่วยพัฒนาครูให้มีทักษะและความรู้ที่ทันสมัย ต่อยอดวัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน เพิ่มความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของนักเรียน และช่วยปรับปรุงการสอนให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนได้ดีขึ้น ที่ผู้เขียนใช้คำว่า "ต่อดยอด" ก็เพราะการจะทำ PLC ควรจะมีวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน ถ้าไม่อย่างนั้น PLC จะไม่ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน 

        ทุกท่านจะเห็นว่า PLC มีประโยชน์อย่างมาก และคงจะสงสัยว่าถ้าจะนำ PLC ไปใช้จะทำอย่างไร ซึ่ง PLC มีขั้นตอนดังนี้

            1) การรวมกลุ่มชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) การจัดกลุ่มครูที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น สอนวิชาเดียวกันหรืออยู่ในระดับชั้นเดียวกัน เพื่อสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์

            2) การค้นหาปัญหาหรือความต้องการ ร่วมกันระบุปัญหาที่พบในการเรียนการสอนหรือความต้องการในการพัฒนาวิชาชีพ เพื่อกำหนดเป้าหมายในการปรับปรุง 

            3) การออกแบบกิจกรรมการแก้ปัญหา วางแผนและออกแบบกิจกรรมหรือวิธีการที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาที่ระบุไว้ 

            4) การนำไปสู่การปฏิบัติและสังเกตการสอน นำกิจกรรมหรือวิธีการที่ออกแบบไปใช้จริงในห้องเรียน พร้อมทั้งมีการสังเกตและบันทึกผลการดำเนินงาน 

            5) การสะท้อนผล หลังจากการปฏิบัติ ร่วมกันสรุปและวิเคราะห์ผลที่ได้ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานในอนาคต 

            มีกรณีศึกษาโรงเรียนบ้านวังศรี จังหวัดเชียงใหม่ที่ผู้บริหารเปลี่ยนจากโรงเรียนที่มีนักเรียนหลังสิบ กลายเป็นหลักร้อย และกลายเป็นโรงเรียนที่มีวิธีการสอน วิธีการจัดการที่โดดเด่นขึ้นมาได้ ซึ่งนอกเหนือจากการที่ผู้บริหารนำทรัพยากรเข้าโรงเรียนมากขึ้น รวมไปถึงการปรับหลักสูตรให้นักเรียนได้รับประโยชน์มากที่สุดโดยที่ครูไม่มีภาระงานที่ล้นจนเกินไป

กระบวนการนี้ยังช่วยพัฒนาครูให้มีทักษะและความรู้ที่ทันสมัย ต่อยอดวัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน

            ผู้บริหารโรงเรียนบ้างวังศรียังได้นำ PLC มาใช้ในสถาบัน ในช่วงบ่ายทุกสัปดาห์จะมีการพูดคุย สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน แก้ไขปัญหาต่าง ๆ พัฒนากระบวนการสอน ทำให้เกิดวิธีการสอน และการประเมินในรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นมา 

            ความสำเร็จของโรงเรียนบ้านวังศรีสอดคล้องกับ งานวิจัยเรื่อง The effective implementation of professional learning communities โดย Brown, Horn, and King (2018) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการนำชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ (Professional Learning Communities - PLC) ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพในโรงเรียน โดยเน้นถึงบทบาทของผู้นำโรงเรียนในการสร้าง PLC ที่แข็งแกร่งและการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างครูเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน

            ผลการศึกษาพบว่าการจัดตั้ง PLC ที่แท้จริงสามารถปรับปรุงผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนได้โดยมีเงื่อนไขสำคัญ คือ การทำงานร่วมกันอย่างจริงจังระหว่างครูและการสนับสนุนที่เหมาะสมจากผู้นำ 

            1) การที่ครูทำงานร่วมกันเพื่อวิเคราะห์และปรับปรุงกระบวนการสอน และการใช้ข้อมูลจากการประเมินนักเรียนเพื่อพัฒนาวิธีการสอน

            2) ผู้นำโรงเรียนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและส่งเสริมให้ PLC ทำงานได้อย่างราบรื่น โดยต้องสร้างบรรยากาศที่สนับสนุนและเป็นตัวอย่างในการมีส่วนร่วม

            อีกทั้งยังสอดคล้องกับ Jensen และคณะ (2016) ที่ศึกษางานวิจัย Beyond PD: Teacher Professional Learning in High-Performing Systems มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการพัฒนาวิชาชีพครูในระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพสูง โดยเปรียบเทียบระบบการศึกษาในประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น ฟินแลนด์ สิงคโปร์ และแคนาดา เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาวิชาชีพครูที่มุ่งเน้นผลลัพธ์และสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยั่งยืนต่อคุณภาพการสอนและการเรียนรู้ของนักเรียน

            ผลการวิจัยพบสิ่งที่สอดคล้องกับการศึกษาของ Brown, Horn, and King (2018) ดังนี้

            1) การสนับสนุนการทำงานร่วมกัน ครูทำงานร่วมกันในกลุ่มเพื่อวิเคราะห์การสอน วางแผนการเรียนรู้ และสะท้อนผลลัพธ์ของการเรียนการสอน ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและทักษะการสอนของครู

            2) การสนับสนุนจากผู้นำโรงเรียนและโครงสร้างองค์กร ผู้นำโรงเรียนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพครู โดยสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้และจัดหาโอกาสที่ครูจะพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง

            ทุกท่านจะเห็นว่าปัจจัยที่ทำให้ การพัฒนาวิชาชีพครู และการทำ PLC ที่มีประสิทธิภาพ คือ การสนับสนุนทำงานร่วมกันของครู และการสนับสนุนจากผู้นำโรงเรียนและโครงสร้างองค์กร และทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้จากการที่สถาบันมีวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน ผู้บริหารจะต้องเป็นแบบอย่าง เป็นตัวแปรหลักในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมดังกล่าว

            หากสถาบันมีวัฒนธรรมแห่งกาเรียนรู้ร่วมกัน มีการทำ PLC เป็นประจำ ผู้บริหารมีการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ ๆ มีการรวบรวมจัดการความรู้ต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ 

สถาบันดังกล่าวจะมีคุณภาพและพัฒนาตนเองขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็วในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ 

อ้างอิง

Brown, B. D., Horn, R. S., & King, G. (2018). The effective implementation of professional learning communities. Alabama Journal of Educational Leadership, 5, 53–54. https://doi.org/10.31578/jebs.v6i2.236.

Jensen, B., Sonnemann, J., Roberts-Hull, K., & Hunter, A. (2016). Beyond PD: Teacher professional learning in high-performing systems. National Center on Education and the Economy. https://www.ncee.org/wp-content/uploads/2015/08/BeyondPDWeb.pdf.

ความคิดเห็น