โลกสร้างใจของพวกเรา: วัฒนธรรมอันเป็นพิษ (Toxic Culture)

ก่อนที่ใจของเราจะสร้างโลก โลกเองได้สร้างใจของพวกเราขึ้นมาก่อน 

        ข้อความด้านบนนี้เป็นประโยคที่ผมพบนี้ในหนังสือ The myth of normal: Trauma, illness, and healing in a toxic culture ที่เขียนโดย เกเบอร์ เมต (Gabor Maté) และ แดเนียล เมต (Daniel Maté) และเป็นครั้งแรกที่ผมได้รู้จักคำว่าวัฒนธรรมที่เป็นพิษ เป็นข้อความที่ตอบโจทย์ทางด้านจิตวิทยาสังคมที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์อย่างมาก และเป็นข้อความที่สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบัน

            ขอผมอธิบายเพิ่มเติมหน่อยนะครับ โลกสร้างใจ หมายถึง สภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ และไม่เพียงส่งผลให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ทั้งเชิงบวก เชิงลบแล้ว แต่ยังสร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับพวกเราด้วย 

            บาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นจากความเจ็บปวด ความชอกช้ำ และความหวาดกลัว ได้หล่อหลอมมุมมองต่อโลกให้บิดเบี้ยว ดั่งแว่นตาที่ผิดรูปซึ่งกำหนดกรอบการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ บาดแผลเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลต่อความคิดและอารมณ์ แต่ยังขัดขวางความสามารถในการเติบโต ทำให้เราติดอยู่กับอดีต และขโมยความสมบูรณ์ของปัจจุบันไปจากเรา

            บาดแผลที่ถูกโลกสร้าง หากไม่ได้รับการเยียวยา มันจะกัดเซาะความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ทำลายความสัมพันธ์ และบ่อนทำลายความรู้สึกยินดีในชีวิต ไม่เพียงแค่บาดแผลที่เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมที่โลกสร้าง แต่ยังรวมไปถึงบาดแผลทางใจในอดีตด้วย

โลกในปัจจุบันสร้างวัฒนธรรมที่เป็นพิษ นำมาซึ่งบาดแผลทางจิตใจ

            ที่แย่ที่สุดก็คือ หากบาดแผลเกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก มันจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของสมอง ทำให้การเติบโตทั้งทางกายและจิตใจหยุดชะงัก และในที่สุดก็กลายเป็นรากฐานของความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจตลอดช่วงชีวิต ดังนั้นสิ่งนี้เป็นรากฐานของปัญหาสุขภาพจิตหลายอย่างที่เราพบเห็นกันในปัจจุบัน

วัฒนธรรมที่หล่อหลอมความเจ็บปวด

            มอร์ริส เบอร์แมน นักประวัติศาสตร์วัฒนธรรมชี้ให้เห็นว่า สิ่งแวดล้อมเชิงพาณิชย์ได้กลายเป็นกรอบกำหนดโลกทางจิตใจของเรา สังคมในปัจจุบันเน้นย้ำการแข่งขัน การบริโภคและความสำเร็จที่วัดได้จากทรัพย์สิน วัฒนธรรมเหล่านี้เป็นเหมือนกับห้องทดลองที่บ่มเพาะความเครียดเรื้อรัง ซึ่งกัดกร่อนสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจอย่างต่อเนื่อง

            ธอม ฮาร์ตแมนน์ นักเขียนและนักกิจกรรม กล่าวว่า วัฒนธรรมมีพลังที่จะส่งเสริมหรือทำลายสุขภาพได้ ปัจจุบัน วัฒนธรรมที่ครอบงำโลกไม่เพียงแต่สร้างความเหลื่อมล้ำ แต่ยังทำให้ผู้คนนับล้านต้องทนทุกข์จากความเครียด ความโดดเดี่ยวทางสังคม และสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม เรามีทรัพยากรเพียงพอที่จะจัดการกับความยากจน โรคภัย และความไม่เท่าเทียม แต่เรากลับติดอยู่ในกรอบวัฒนธรรมที่มุ่งเน้นผลประโยชน์ระยะสั้น และละเลยสุขภาวะระยะยาวของมนุษย์

            เอริก ฟรอมม์ (Erich Fromm) นักจิตวิทยาสังคมในหนังสือ The Sane Society ได้กล่าวถึงสิ่งที่เขาเรียกว่า “ความปกติที่บิดเบี้ยว” ของสังคม วัฒนธรรมในปัจจุบันหล่อหลอมให้ผู้คนยอมรับความผิดปกติทางจิตใจ เช่น ความเครียดเรื้อรัง หรือการโดดเดี่ยวทางสังคมว่าเป็นเรื่องปกติ การที่คนจำนวนมากมีพฤติกรรมหรือความคิดที่ผิดพลาดเหมือนกันไม่ได้ทำให้สิ่งเหล่านั้นถูกต้อง ความผิดพลาดเหล่านี้ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างสังคมที่ดี

            ในท้ายที่สุด โลกที่สร้างใจของเรานั้นไม่ได้เป็นกลาง หากแต่มันกำลังถูกหล่อหลอมโดยวัฒนธรรมที่เราอยู่ วัฒนธรรมอันเป็นพิษที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ความขาดแคลน และการแยกตัวออกจากกัน ทำให้ผู้คนไม่สามารถเติบโตและใช้ชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพ การตระหนักถึงกรอบเหล่านี้คือก้าวแรกในการสร้างความเปลี่ยนแปลง เราต้องเริ่มตั้งคำถามกับวัฒนธรรมที่กำหนดตัวตนของเรา และสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ส่งเสริมความสุข สุขภาวะ และความสมดุลในทุกมิติของชีวิต

            โลกที่ดีขึ้นไม่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีล้ำสมัยหรืองบประมาณมหาศาล แต่ต้องเริ่มจากการสร้างวัฒนธรรมที่หล่อเลี้ยงใจของพวกเราให้เติบโตอย่างงดงาม ไม่สร้างบาดแผลทางจิตใจ ไม่สร้างความเครียดที่เรื้อรังและความโดดเดี่ยวอ้างว้าง 

และเป็นวัฒนธรรมที่เราอยากส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป

อ้างอิง

Maté, G., & Maté, D. (2022). The myth of normal: Trauma, illness, and healing in a toxic culture. Avery.

ความคิดเห็น