เริ่มต้นฝึกฝนการจัดการตนเอง ก้าวสู่การเป็นนักเรียนที่ Productive มากขึ้น

หลายคนมักสร้างภาพว่าตนเองมีความสามารถที่มากกว่าผู้อื่น แต่ส่วนใหญ่แล้วมันเป็นการสร้างภาพขึ้นมาผ่านจินตนาการของการแข่งขันเปรียบเทียบ

            Productive คือคำที่ผมได้ยินบ่อยมากในยุคสมัยนี้ หลายคนให้คำนิยามเอาไว้แตกต่างกัน สำหรับผมแล้ว Productive มีความหมายว่า การสร้างผลผลิตอย่างมีคุณภาพ แน่นอนว่ามันคือค่านิยมในปัจจุบัน หากเราหยุดอยู่กับที่โดยไม่ได้ทำอะไร จิตเราจะปรุงแต่งว่าเราอาจจะตามใครเค้าไม่ทัน

            ผมจึงมีความคิดเห็นว่า Productive ที่มากจนเกินไปหรือเรียกว่า Over productive เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง แต่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ เวลาภารกิจเฉพาะบุคคลมีความจำเป็นที่จะต้องแบ่งเวลาเพื่อสร้างกิจกรรมที่ Productive หากเป็นนักเรียนก็คงเป็นการเรียน หากเป็นอาจารย์ก็คงเป็นการสอน และการวิจัย หากเป็นพนักงานบริษัทก็คงเป็นการทำงานตามบริบทขององค์กร

            ดัวยภารกิจเฉพาะบุคคลที่แตกต่างกัน เราจึงต้องฝึกนิสัยตนเองให้มีความ Productive บ้างเล็กน้อยถึงปานกลาง หลักการที่ผมหยิบยกมานำเสนอในบทความนี้คือ "การจัดการตนเอง" ซึ่งเป็นหลักการที่เรียบง่ายและทุกคนควรจะนำมาใช้  ไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้เพื่อสร้างความ Productive ที่ล้นเกิน แต่ใช้เพื่อสร้างชีวิตให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้นก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับการจัดการตนเองเสียก่อน 

            การจัดการตนเอง (Self-Management) เป็นทักษะที่ทำให้นักเรียนสามารถควบคุมชีวิตของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน หรือชีวิตส่วนตัว ทักษะนี้ช่วยให้นักเรียนสามารถวางแผน จัดลำดับความสำคัญ และมีวินัยในตัวเอง ซึ่งส่งผลต่อความสำเร็จทั้งในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ยังช่วยลดความเครียดและเพิ่มความมั่นใจในตนเองอีกด้วย

            นักเรียนที่มีทักษะการจัดการตนเองที่ดีมักจะสามารถควบคุมอารมณ์ ลดความเครียด และเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การฝึกฝนการจัดการตนเองจึงเป็นกุญแจสำคัญในการเป็นนักเรียนที่ Productive และประสบความสำเร็จในระยะยาว

องค์ประกอบสำคัญของการจัดการตนเอง

            1) การสังเกตตนเอง (Self-Observation) เริ่มต้นด้วยการสังเกตพฤติกรรมของตัวเอง เช่น

                - ฉันมีปัญหาเรื่องการบริหารเวลาหรือไม่

                - ฉันใช้เวลาทำการบ้านมากเกินไปหรือเสียเวลาไปกับโซเชียลมีเดียมากเกินไปหรือไม่

                - ฉันสามารถจดจ่อกับการเรียนได้ดีแค่ไหน

            การสังเกตตนเองช่วยให้เราตระหนักถึงพฤติกรรมที่ต้องปรับปรุง และช่วยให้เราสามารถกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาตนเอง สิ่งที่ต้องระวังระหว่างการสังเกตตนเองคือการหลอกตนเอง หลายคนมักสร้างภาพว่าตนเองสามารถบริหารจัดการทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างดีเยี่ยม มีความพยายาม มีความสามารถที่มากกว่าผู้อื่นแต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นการสร้างภาพขึ้นมาผ่านจินตนาการบนการแข่งขันเปรียบเทียบ

                2) การบันทึกตนเอง (Self-Recording) เมื่อสังเกตพฤติกรรมของตัวเองแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการบันทึกข้อมูลเพื่อติดตามความก้าวหน้า การบันทึกจะช่วยให้เราเห็นพฤติกรรมที่แท้จริงของตนเองแบบต่อเนื่อง ช่วยให้วางแผนปรับปรุงได้อย่างตรงจุดมากขึ้น และลดทอนการหลอกตัวเองลง โดยสามารถใช้เครื่องมือต่าง ๆ ได้ดังนี้

                    - ตารางบันทึกเวลา (Time Log) จดบันทึกว่าในแต่ละวันเราใช้เวลาทำอะไรบ้าง เริ่มต้น-สิ้นสุดกี่โมง กิจกรรมไหนใช้เวลาเยอะกว่าที่คิด หรือตรงตามแผนที่วางไว้หรือไม่ อาจเพิ่มคอลัมน์บันทึกว่า “ทำเสร็จ/ไม่เสร็จ” และ “ความรู้สึก” หรือ “คะแนนโฟกัส” เพื่อประเมินคุณภาพการทำงานของแต่ละช่วงเวลา

                    - แอปพลิเคชันจัดการงาน อย่าง Notion, Trello หรือ TimeBlocks จะช่วยให้เราจัดระเบียบสิ่งที่ต้องทำได้อย่างเป็นระบบ เริ่มจากการสร้างบอร์ดงานหรือรายการสิ่งที่ต้องทำ แบ่งหมวดหมู่ตามโครงการ หรือกำหนดวันครบกำหนด เพื่อให้เราเห็นภาพรวมและเรียงลำดับความสำคัญได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานเรียน งานส่วนตัว หรือโปรเจกต์ระยะยาว 

                นอกจากนี้ เรายังสามารถเพิ่มแท็กหรือบันทึกความคืบหน้าของแต่ละงานได้ทันที ช่วยลดความสับสนในการวางแผนและเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารเวลา ส่งผลให้เราเดินหน้าตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การจัดการตนเอง เป็นทักษะที่ทำให้นักเรียนสามารถควบคุมชีวิตของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                    - การทำ Bullet Journal บันทึกพฤติกรรม การเรียน และอารมณ์ของคุณแต่ละวัน อาจใช้ปากกา/ปากกามาร์กเกอร์คนละสีแยกหมวด เช่น งานเรียน งานบ้าน งานอดิเรก เพื่อให้เห็นชัดว่าหมวดไหนใช้เวลามากเกินไปหรือน้อยเกินไป ในปัจจุบันนี้ยมทำ Planing กันซึ่งมีทั้งสมุดเขียนด้วยมือ หรือเขียนโดยใช้ Applicaton ใน Tablet 

                การบันทึกช่วยให้เราเห็นภาพรวมของพฤติกรรมตนเองและสามารถปรับปรุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการบันทึกอารมณ์หรือภารกิจจะช่วยสร้างการตระหนักรู้ทางอารมณ์ไปพร้อมกับการจัดการงานไปด้วย

            3) การเตือนความจำ (Cueing) หากเราพบว่าตนเองหลุดโฟกัสง่าย หรือมักจะลืมเป้าหมายที่ตั้งไว้ การใช้สัญญาณแจ้งเตือนสามารถช่วยได้ ตัวอย่างเช่น

                - ตั้งแจ้งเตือนในโทรศัพท์เพื่อเตือนให้ทำการบ้าน

                - ใช้ Sticky Notes ติดไว้ที่โต๊ะเพื่อเตือนว่าต้องทำอะไร พบมากในออฟฟิตปัจจุบัน

                - ใช้แอปพลิเคชันช่วยจัดลำดับความสำคัญ เช่น Todoist หรือ Forest ที่ทำให้เราโฟกัสกับบางสิ่งบางอย่างมากขึ้น

            เครื่องมือเหล่านี้ช่วยให้เราไม่ลืมเป้าหมายและสร้างวินัยให้กับตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการมีอิสรภาพต่อวันที่มากขึ้น ไว้บทความถัด ๆ ไปผมจะอธิบายเรื่องนี้อีกทีหนึ่ง

            4) การเสริมแรงเชิงบวก (Positive Reinforcement) หากเราสามารถทำตามแผนที่วางไว้ได้ ควรให้รางวัลกับตัวเองเพื่อเป็นแรงจูงใจ สิ่งเป็นกลไกทางจิตวิทยาที่ขาดไม่ได้ในการปรับพฤติกรรม และเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ผลตลอดกาล เช่น

                - หลังจากทำการบ้านเสร็จ อาจให้เวลาตัวเองดูซีรีส์ที่ชอบ

                - ใช้ระบบ Habit Tracker โดยกำหนดว่า หากคุณทำได้ครบหนึ่งสัปดาห์ จะให้รางวัลตัวเอง

                - ใช้วิธีการให้กำลังใจตัวเอง เช่น "ฉันทำได้ดีแล้ว" หรือ "ฉันพัฒนาขึ้นทุกวัน" โดยการเขียนใน ไดอารี่

            การเสริมแรงเชิงบวกช่วยให้เรามีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างนิสัยที่ Productive มากขึ้น ในกรณีที่อยากจะปรับพฤติกรรมหรือการสร้างนิสัยที่ดีให้กับบุคคลใกล้ตัว จะต้องเข้าใจบริบทของคนคนนั้นว่าเขาชอบอะไร มีนิสัยใจคอเป็นอย่างไร จากนั้นจึงเลือกสิ่งหรือเงื่อนไขที่จะเสริมแรง

            5) การประเมินและปรับปรุงพฤติกรรม (Self-Evaluation) ทุก ๆ สัปดาห์หรือทุก ๆ เดือน ลองประเมินว่าคุณสามารถพัฒนาการจัดการตนเองได้ดีแค่ไหน โดยอาจใช้คำถามเหล่านี้ช่วยประเมินตนเอง

                - ฉันสามารถทำงานตามแผนที่วางไว้ได้หรือไม่

                - มีอะไรที่ฉันสามารถปรับปรุงได้อีก?

                - ฉันสามารถลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้หรือไม่

            เราอาจลองพูดคุยกับเพื่อนหรือครูเพื่อขอคำแนะนำ หรืออ่านหนังสือและบทความเกี่ยวกับการพัฒนาตนเองเพื่อหาแนวทางเพิ่มเติม หรือถาม Generative AI ต่าง ๆ ก็ได้เช่นเดียวกัน

เทคนิคการจัดการตนเองเพื่อเป็นนักเรียนที่ Productive

            1) ใช้เทคนิค Pomodoro เพื่อบริหารเวลา ซึ่งเป็นวิธีการจัดการเวลาโดยการแบ่งช่วงเวลาการทำงานออกเป็น 25 นาที แล้วพัก 5 นาที ซึ่งช่วยให้เราโฟกัสกับงานได้นานขึ้นและลดความเหนื่อยล้า

            2) วางแผนล่วงหน้าด้วย To-Do List ก่อนเข้านอน ลองเขียน To-Do List สำหรับวันถัดไปเพื่อให้รู้ว่าควรทำอะไรก่อนหลัง สิ่งนี้ช่วยลดความสับสนและช่วยให้เราเริ่มต้นวันใหม่อย่างมีเป้าหมาย

            3) จัดลำดับความสำคัญด้วย Eisenhower Matrix วิธีนี้ช่วยให้เราแยกแยะได้ว่างานไหนควรทำก่อน โดยแบ่งออกเป็น 4 ช่อง

                - เร่งด่วนและสำคัญ ควรทำทันที

                - สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน ควรจัดตารางเวลาไว้ทำ

                - เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ มอบหมายให้คนอื่นช่วยทำได้

                - ไม่เร่งด่วนและไม่สำคัญ ควรลดหรือหลีกเลี่ยง

            4) จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเรียน

                - จัดโต๊ะให้สะอาดและเป็นระเบียบ

                - ปิดการแจ้งเตือนจากโทรศัพท์หรือโซเชียลมีเดียขณะทำงาน

                - ฟังดนตรีบรรเลงเบา ๆ เพื่อช่วยเพิ่มสมาธิ

            5) สร้างนิสัยเล็ก ๆ ที่นำไปสู่ความสำเร็จ เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนนิสัยเล็ก ๆ ที่สามารถทำได้ง่าย เช่น

                - ตื่นเช้า 10 นาทีเร็วกว่าปกติ

                - อ่านหนังสือวันละ 10 นาที

                - ดื่มน้ำมากขึ้นในแต่ละวัน

            เมื่อทำสิ่งเหล่านี้เป็นประจำ จะช่วยให้คุณมีวินัยและจัดการตนเองได้ดีขึ้นในระยะยาว

            การจัดการตนเองเป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนได้ และเมื่อเราสามารถควบคุมพฤติกรรมและเวลาของตัวเองได้ดีขึ้น เราจะมีชีวิตมีระเบียบมากขึ้น ลดความเครียด และเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จ ไม่ว่าเราจะเป็นนักเรียนระดับไหน การฝึกฝนการจัดการตนเองก็ยังเป็นกุญแจสำคัญ

ที่ช่วยให้เราเป็นนักเรียนที่ Productive และสามารถบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อ้างอิง

Koegel, L. K., Ashbaugh, K., Navab, A., & Koegel, R. L. (2013). Improving empathic communication skills in adults with autism spectrum disorder. Journal of Autism and Developmental Disorders, 44(4), 826-833. https://doi.org/10.1007/s10803-013-1936-5

Wilkinson, L. A. (2006). Self management: A proactive strategy for students with Asperger syndrome. Autism-Asperger’s Digest Magazine, 32-38. 

ความคิดเห็น