เมื่อภาวะซึมเศร้ากลายเป็นความปกติใหม่: สำรวจมุมมององค์รวมเพื่อฟื้นฟูสุขภาพจิตในยุคปัจจุบัน

การจะทำความเข้าใจภาวะซึมเศร้าไม่ควรจะจบแค่เพียงปัจจัยเดียว แต่ควรที่จะพิจารณาในทุก ๆ ปัจจัยที่อยู่รอบตัวของเราประกอบกัน

            บทความนี้ผมอยากจะเขียนเกี่ยวกับ ความปกติใหม่ ที่หลายคนคุ้นเคยกันในช่วง Covid-19 จริง ๆ แล้วความหมายของความปกติใหม่คือพฤติกรรมที่คนส่วนใหญ่ ๆ ทำกันซึ่งแตกต่างไปจากอดีต อย่างเช่นการใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน แม้จะเป็นช่วงที่ Covid-19 หมดไปแล้ว แต่ก็ยังคงใส่อยู่ เช่นเดียวกันความปกติใหม่ที่ผมเริ่มต้นบทความนี้ มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นมาในปัจจุบันและมันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของให้กลายเป็นบุคคลที่เผชิญภาวะซึมเศร้า

            เราจะเห็นว่าแม้ว่าเราจะอยู่ในยุคที่การสื่อสารไร้พรมแดนเกิดขึ้นได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส แต่กลับมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่กลับรู้สึกโดดเดี่ยวและต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าอย่างลึกซึ้ง เพราะสังคมสมัยใหม่เต็มไปด้วยแรงกดดันนานัปการ ทั้งจากเศรษฐกิจ การเปรียบเทียบผ่านโซเชียลมีเดีย ความคาดหวังจากรอบตัว การบริโภคนิยม และการทำงานที่แทบไม่เคยหยุดพัก เมื่อความเหนื่อยล้าและความรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ดีพอค่อย ๆ สะสมมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาวะซึมเศร้ากลายเป็นเรื่องใกล้ตัวของใครหลายคน

            ผมไม่ได้คิดเป็นตุเป็นตะด้วยตนเอง แต่ในหนังสือ The Myth of Normal: Trauma, Illness, and Healing in a Toxic Culture ผู้เขียน เกเบอร์ เมต (Gabor Maté) เป็นแพทย์ชาวแคนาดาที่มีชื่อเสียงในด้านการศึกษาและการบำบัดเกี่ยวกับ บาดแผลทางจิตใจ การเสพติด ความเครียด และโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์ชีวิตที่เจ็บปวดกับปัญหาสุขภาพร่างกายและจิตใจ

            ในหนังสือเล่มได้ทำการสำรวจถึงปัญหาสุขภาพร่างกายและจิตใจถึงกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมที่มีโครงสร้างแบบปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ภาวะซึมเศร้ากลายเป็นความปกติใหม่ที่ผมนำเสนอในชื่อของบทความ อย่างไรก็ตามภาวะซึมเศร้าไม่ควรเป็นเพียงปัญหาสุขภาพจิต “ปกติใหม่” ที่ทุกคนทำเป็นมองข้าม การหยุดมองแต่เพียงปัจจัยด้านชีวเคมีของสมอง แล้วหันมาพิจารณาปัจจัยแวดล้อมมากมายข้างต้นทั้งจากเศรษฐกิจ การเปรียบเทียบผ่านโซเชียลมีเดีย ความคาดหวังจากรอบตัว และการทำงานที่แทบไม่เคยหยุดพัก รวมไปถึงการบริโภคนิยมอันไม่มีที่สิ้นสุด

            ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ปัจจัยทางสังคมเท่านั้น แต่ยังมีรวมไปถึงร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เราเข้าใจภาวะนี้ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และการจะทำความเข้าใจนี้ไม่ควรจะจบแค่เพียงปัจจัยเดียว แต่ควรที่จะพิจารณาในทุก ๆ ปัจจัยที่อยู่รอบตัวของเราประกอบกัน

สังคมมีการเปลี่ยนแปลง เช่น เครือข่ายสังคม การบริโภคนิยม เทคโนโลยี และการแข่งขัน

            ผมเขียนเคยเกี่ยวกับ มุมมององค์รวม (Holistic Perspective) ซึ่งคือแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงทุกด้านในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพร่างกาย การตระหนักรู้ทางอารมณ์ ความสัมพันธ์ทางสังคม ไปจนถึงความหมายและจุดมุ่งหมายในชีวิต มุมมองแบบองค์รวมทำให้เรารู้สึกถึงความเกี่ยวข้องกันของสิ่งต่าง ๆ ในตัวเรา และช่วยสร้างความสมดุลอย่างยั่งยืน

            จากประสบการณ์ในชีวิต ผมพบเจอกับบุคคลที่มีภาวะซึมเศร้ามากขึ้น และผมก็เชื่อว่าทุกคนก็พบเจอมากขึ้นเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความเข้าใจผิด แต่มันคือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหากพิจารณาถึงสภาพสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่น เครือข่ายสังคม การบริโภคนิยม การแทรกแซงจากเทคโนโลยี รวมไปถึงการแข่งขันกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด รวมไปถึงร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณด้วย

            แม้ว่าภาวะซึมเศร้าจะดูเป็นเรื่องส่วนตัว แต่อันที่จริงแล้ว มันสะท้อนถึงรอยร้าวของสังคมที่ใครหลายคนอาจกำลังประสบ สิ่งสำคัญคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ผู้คนสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พูดคุยอย่างเปิดใจ และได้รับการสนับสนุนจากชุมชน การบำบัดด้วยงานศิลปะ การทำสมาธิ หรือการบำบัดทางเลือกอื่น ๆ ควรได้รับการส่งเสริมควบคู่กับการรักษาทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ค้นพบแนวทางฟื้นฟูที่เหมาะสมกับตัวเองอย่างแท้จริง

            แน่นอนผมไม่ได้จะทำให้ผู้อ่านทุกท่านหมดหวัง แต่ผมอยากให้ทุกท่านมีความหวัง แม้ว่าภาวะซึมเศร้าจะบั่นทอนชีวิตให้ดูหม่นหมอง แต่ความหวังยังคงเป็นพลังที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลง หากเราเปิดใจยอมรับว่าภาวะซึมเศร้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมยุคใหม่ และเลือกที่จะตอบสนองด้วยความเข้าใจในทุกมิติ เราจะค้นพบหนทางในการเติบโต สร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง และมีชีวิตที่มีความหมายมากยิ่งขึ้น

            กลับมาที่มุมมองแบบองค์รวมอีกครั้ง ผมอยากจะเน้นมุมมองนี้เป็นพิเศษเพราะมันเป็นทางออกที่สำคัญของหลาย ๆ ปัญหา มันสะท้อนให้เห็นว่า ประเด็นนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของบุคคล แต่ยังเกี่ยวพันกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากสังคมร่วมกันสนับสนุนและเปิดโอกาสให้บุคคลได้ค้นหาแนวทางดูแลตนเองในหลายมิติ ก็เท่ากับเราได้สร้างพื้นฐานสำคัญในการเยียวยาที่คงทนยั่งยืน

            ดังนั้นภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นจึงเป็นภาพสะท้อนของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ด้วยเหตุผลด้านสังคมที่ผมยกขึ้นมาข้าวต้นเช่น การแข่งขันบริโภคนิยม ที่มีสื่อเครือข่ายสังคมเป็นตัวนำและกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น แตกต่างจากในอดีตที่มองว่าภาวะซึมเศร้าเกิดจากสารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ หรือเกิดจากประสบการณ์ในอดีต กล่าวคือเป็นผลจากปัจจัยส่วนบุคคลเป็นอย่างเดียว

            ด้วยเหตุผลนี้มุมมององค์รวมจึงเป็นหนทางฟื้นฟูสุขภาพจิตในยุคปัจจุบัน ด้วยความซับซ้อนดังที่ผมกล่าวมา การแก้ปัญหาทางใดทางหนึ่งจึงไม่ใช่เป็นทางออกที่เหมาะสม จากประสบการณ์ของผมการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นการฟื้นฟูภาวะซึมเศร้าที่มีประสิทธิภาพมากอย่างมาก เพราะเป็นการฟื้นฟูทั้งจิตวิญญาณ สังคม และร่างกาย อย่างเรียบง่าย

สิ่งสุดท้ายที่ผมอยากจะบอกก็คือ ความเรียบง่ายแบบที่ผมยกตัวอย่างมา เป็นทางออกของหลาย ๆ ปัญหา ภาวะซึมเศร้าก็เป็นหนึ่งในนั้น

อ้างอิง

นันทภัค ชนะพันธ์. (2556). การฟื้นหายจากโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า. วารสารพยาบาลสภากาชาดไทย, 6(1), 22-28.

ปิยะนุช สัมฤทธิ์. (2562). ปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าของแรงงานไทยในระบบในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก. วารสารวิจัยสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, 8(2), 10-20.

สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. (2563). แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า. กรุงเทพฯ: สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย.

American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and statistical manual of mental disorders (5th ed.). American Psychiatric Publishing.

Dossey, B. M., & Keegan, L. (2016). Holistic nursing: A handbook for practice (7th ed.). Jones & Bartlett Learning.

Maté, G., & Maté, D. (2022). The myth of normal: Trauma, illness, and healing in a toxic culture. Avery.

World Health Organization. (2021). Depressionhttps://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/depression

ความคิดเห็น