โปรแกรม TEACCH: แนวทางพัฒนาการเรียนรู้สำหรับนักเรียนที่มีภาวะออทิซึมสเปกตรัม

การมีโครงสร้างที่เป็นรูปธรรมและกิจกรรมที่คาดการณ์ได้จะช่วยลดความเครียด และช่วยให้พวกเขาสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และพัฒนาทักษะการกำกับตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            ตลอดการทำงานเป็นครูการศึกษาพิเศษ ผมสอนนักเรียนที่มีภาวะออทิซึมหลายระดับชั้น และหลายระดับข้อจำกัด สิ่งที่ผมพบก็คือนักเรียนกลุ่มนี้มักเผชิญกับข้อจำกัดด้านการสื่อสาร การเข้าสังคม ความยืดหยุ่นในการปรับตัว รวมถึงการจัดการตนเองในกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้การสอนในรูปแบบทั่วไปจึงยากในการเข้าถึง หากสามารถใช้วิธีการสอนที่เหมาะสมกับข้อจำกัด และดึงข้อเด่นออกมาก็จะทำให้พวกเขาเกิดการเรียนรู้ได้ดีมากขึ้น

            เพื่อให้การพัฒนาศักยภาพนักเรียนเหล่านี้เป็นไปอย่างเหมาะสม ในบทความนี้ผมจึงอยากแนะนำการสอนรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า โปรแกรม TEACCH (Treatment and Education of Autistic and Communication Handicapped Children) เป็นการสอนแบบมีโครงสร้าง (Structured Teaching และใช้สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ โดยปรับให้เหมาะสมกับข้อจำกัดและศักยภาพของนักเรียนที่มีภาวะออทิซึมสเปกตรัม

            โปรแกรม TEACCH เป็นแนวทางการสอน (สามารถประยุกต์เป็นการบำบัดได้) ที่พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาเพื่อรองรับความต้องการเฉพาะของบุคคลที่มีภาวะออทิซึมสเปกตรัม  ซึ่งโครงสร้างประกอบไปด้วย การกำหนดตารางกิจกรรม การจัดสภาพแวดล้อมที่เป็นระบบ และการใช้สื่อหรือสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้นักเรียนสามารถคาดการณ์และวางแผนได้ด้วยตนเองอย่างเหมาะสม (Panerai et al., 2002) 

            โปรแกรมนี้เริ่มต้นโดยศาสตราจารย์อีริก ชอปเลอร์ (Eric Schopler) และคณะในช่วงทศวรรษ 1960 ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ต่อมาแกรี เมซิบอฟ (Gary Mesibov) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านออทิซึมสเปกตรัมและการศึกษาพิเศษ ได้พัฒนาและขยายแนวทางการสอนและบำบัดสำหรับบุคคลที่มีภาวะออทิซึมสเปกตรัม กล่าวคือเมซิบอฟเป็นผู้วางรากฐานและพัฒนาโปรแกรม TEACCH ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยโปรแกรมนี้ประกอบไปด้วยหลักการสำคัญ 4 ด้าน ดังนี้

โปรแกรม TEACCH ประกอบด้วย การจัดสภาพแวดล้อม ตารางกิจกรรม ระบบงาน และสื่อภาพ

            1) การจัดโครงสร้างสภาพแวดล้อม (Physical Structure) คือการกำหนดพื้นที่การเรียนรู้ให้เป็นสัดส่วนชัดเจน เช่น มุมทำงาน มุมสื่อ มุมเล่นหรือกิจกรรมกลุ่ม เพื่อให้นักเรียนเห็นขอบเขตและวัตถุประสงค์ของกิจกรรมในแต่ละพื้นที่ วิธีนี้ช่วยให้เกิดความชัดเจนว่า “ควรทำอะไร ที่ไหน และเมื่อไร” จึงลดความสับสนและความกังวลของนักเรียน นอกจากนี้ยังส่งเสริมวินัยและระเบียบในการทำกิจกรรม ทั้งยังช่วยให้ผู้สอนสามารถจัดการสภาพแวดล้อมได้อย่างเป็นระบบและง่ายต่อการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนอีกด้วย

            2) การจัดตารางกิจกรรม (Scheduling) คือการใช้ตารางกิจกรรมที่เรียงลำดับเป็นขั้นเป็นตอน เช่น ปิดป้ายหรือติดภาพกิจกรรมตามช่วงเวลาต่าง ๆ (เช้า กลางวัน บ่าย) ช่วยให้ผู้เรียนทราบลำดับของสิ่งที่ต้องทำและสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ยังลดความวิตกกังวลเมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยนกิจกรรม เนื่องจากนักเรียนจะเห็นภาพชัดเจนว่ากิจกรรมต่อไปคืออะไร และยังสามารถเตรียมตัวล่วงหน้าได้ เช่น หากตารางระบุว่าจะมีการเปลี่ยนจากกิจกรรมกลุ่มไปยังงานเดี่ยว (หรือตรงกันข้าม) เขาจะสามารถปรับตัวและพร้อมสำหรับงานถัดไปได้ดีมากขึ้น

            3) การจัดระบบงาน (Work System) คือการแบ่งงานหรือกิจกรรมให้มีโครงสร้างที่ชัดเจน ตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น จัดการเรียนรู้เป็นช่วง ๆ ติดสัญลักษณ์หรือคำอธิบายง่าย ๆ ไว้ที่แต่ละสถานี เพื่อระบุขั้นตอนของกิจกรรมให้เข้าใจได้ง่าย ช่วยให้นักเรียนเห็นภาพรวม และสามารถประเมินความสำเร็จของตนเองในแต่ละขั้นตอนได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถทำงานอย่างเป็นอิสระโดยต้องพึ่งพาผู้สอนน้อยลง เนื่องจากรู้ว่าต้องทำอะไรบ้างในแต่ละสถานี ทำให้นักเรียนมีความมั่นใจมากขึ้นในการทำงานจนจบกิจกรรม

            4) การสื่อภาพที่มองเห็นได้ชัด (Visual Structure) คือการนำภาพ สัญลักษณ์ หรือสีมาใช้ร่วมกับการสอนและสื่อสาร เช่น การใช้การ์ดรูปภาพแทนคำบอกเล่า หรือการทำใบงานพร้อมภาพประกอบ จะช่วยลดการใช้คำอธิบายที่ยาวและซับซ้อน ส่งผลให้ผู้เรียนเข้าใจสิ่งที่ต้องทำได้ชัดเจนขึ้น เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักเรียนที่มีข้อจำกัดด้านการสื่อสารและการประมวลผลข้อมูลทางภาษาที่เป็นนามธรรม อีกทั้งยังเป็นการเสริมความสามารถในการจดจำขั้นตอนหรือกระบวนการต่าง ๆ อย่างเป็นลำดับอีกด้วย

            ด้วยองค์ประกอบทั้ง 4 นี้ โปรแกรม TEACCH ลงตัวอย่างมากกับลักษณะของนักเรียนที่มีภาวะออทิซึมสเปกตรัม ที่มีความยากลำบากด้านการสื่อสาร การปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลง และการจัดระเบียบความคิด การมีโครงสร้างที่เป็นรูปธรรมและกิจกรรมที่คาดการณ์ได้จะช่วยลดความสับสน ความกังวลและความเครียดของนักเรียน อีกทั้งยังช่วยให้พวกเขาสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และพัฒนาทักษะการกำกับตนเองได้อีกด้วย

            นอกจากนี้ โปรแกรม TEACCH ยังสามารถประยุกต์ใช้ร่วมกับกลยุทธ์การจัดการตนเอง ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกควบคุมตนเองในกิจกรรมหรือพฤติกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าหมาย การตรวจสอบตนเองและการให้รางวัลตนเอง ทั้งหมดนี้มีส่วนสำคัญในก่ารช่วยให้นักเรียนเพิ่มความมั่นใจและความเป็นอิสระ รวมถึงลดความต้องการการดูแลจากครูหรือผู้ปกครองได้อีกด้วย

            มีงานวิจัยที่ศึกษาประสิทธิผลของการใช้โปรแกรม TEACCH ร่วมกับการเสริมแรงทางบวก เพื่อเพิ่มทักษะการกำกับตนเองในเด็กปฐมวัยที่มีภาวะออทิซึมสเปกตรัม พบว่าคะแนนการกระตุ้นเตือนของผู้ฝึกลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหลักฐานว่าโปรแกรม TEACCH และการเสริมแรงทางบวกมีศักยภาพในการเพิ่มการกำกับตนเองของเด็กที่มีภาวะออทิซึมสเปกตรัมได้

            กล่าวคือ ครูหรือผู้ปกครองสามารถนำหลักการ TEACCH และกลยุทธ์การให้รางวัลทางบวกมาใช้เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนสามารถจัดการตนเองได้ดีขึ้น จากนั้นอาจต่อยอดไปสู่กลยุทธ์อื่น ๆ เช่น การเสริมแรงด้วยตนเอง และการฝึกให้เด็กมีทักษะการเลือกหรือการตัดสินใจในกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเองอย่างเป็นลำดับขั้น

            เป้าหมายของการเป็นครูสำหรับผมคือการสอนให้นักเรียนเติบโตเพื่อดูแลตนเองบนโลกใบนี้ได้ นักเรียนที่มีภาวะออทิซึมสเปกตรัมก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่อาจจะยากด้วยความแตกต่างของพวกเขา อย่างไรก็ตามด้วยวิธีการสอนดังกล่าว สามารถช่วยให้เขามีทักษะในการจัดการงานที่ดีมากขึ้น ลดความขับข้องใจ ลดความหงุดหงิด อีกทั้งยังสอดคล้องกับจุดเด่น และข้อจำกัดของพวกเขาด้วย 

เมื่อเขาได้พัฒนาทักษะและการเรียนรู้จนมีความพร้อมแล้ว เขาจะสามารถเติบโตและดำเนินชีวิตได้ด้วยตัวของเขาเองอย่างมีคุณภาพเช่นเดียวกับนักเรียนคนอื่น ๆ มากมายบนโลกใบนี้

อ้างอิง

ภทรา นาพนัง และ พิกุล เลียวสิริพงศ์. (2564). ผลการใช้โปรแกรมทีชและการเสริมแรงทางบวกเพื่อเพิ่มการกำกับตนเองของเด็กปฐมวัยที่มีภาวะออทิซึม. วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 32(1), 152–163.

Mesibov, G. B., Shea, V., & Schopler, E. (2005). The TEACCH approach to autism spectrum disorders. Springer.

Panerai, L., Ferrante, L., & Zingale, M. (2002). Benefits of the TEACCH program as a teaching method for children with autism. Journal of Developmental and Physical Disabilities, 14(4), 393–405. https://doi.org/10.1023/A:1020311523003

Tsang, S. K. M., Shek, D. T. L., & Lo, S. K. (2007). Evaluation of a TEACCH-based program for Chinese preschoolers with autism: A pilot study. Journal of Autism and Developmental Disorders, 37(2), 390–396. https://doi.org/10.1007/s10803-006-0174-8

ความคิดเห็น