
ในตอนที่ 2 นี้จะนำเสนอรูปแบบของความรัก ที่ประกอบไปด้วยองค์ประกอบทั้ง 3 มากน้อยต่างกัน เช่น ความสัมพันธ์บางอย่างที่มีความใกล้ชิดมาก ความเสน่หาน้อย ความผูกมันน้อย ก็จะเป็นรูปแบบความรักแบบหนึ่ง โดยประเภทของความรักนั้นจะแบ่งประเภทออกเป็น 8 ประเภทดังต่อไปนี้
1. การไม่มีความรัก (Nonlove) เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ไม่มีทั้ง สามองค์ประกอบของความรักเลย โดยมีลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เป็นแบบง่าย ๆ เป็นระยะเวลาชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ไม่มีความรู้สึก หรือความรักเข้ามาเกี่ยวข้อง
2. รักแบบหลงใหล (Infatuated Love) เป็นความรักที่ประกอบไปด้วยองค์ประกอบด้านความเสน่หาเพียงอย่างเดียว มีความตื่นตัวทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อบุคคลที่เราเกิดความหลงใหลด้วย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นบ่อยในชีวิต เช่น การตกหลุมรัก รักแรกพบ หรือวัยรุ่นที่ชอบนักแสดงที่ชื่นชอบ จะเป็นความรักที่ปราศจากความใกล้ชิด และยังไม่มีพันธะผูกพันต่อกัน
3. รักแบบชอบพอ (Liking) เป็นความรักที่ประกอบไปด้วยองค์ประกอบด้านความใกล้ชิดเท่านั้น เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่เรารู้จัก มีความสนิทและใกล้ชิด แบบเพื่อน โดยความสัมพันธ์นี้จะไม่มีความเสน่หาต่อกัน และไม่มีความผูกมัดพันธะใด ๆ
4. ความสัมพันธ์แบบปราศจากความรัก (Emtry Love) เป็นความรักที่มีองค์ประกอบทางด้านผูกมัดเพียงอย่างเดียว โดยเกิดขึ้นเมื่อเราผูกมัดกัน เช่น การแต่งงานแบบคลุมถุงชน หรือแต่งงานแบบที่ไม่ได้รักกัน จึงเป็นการอยู่ร่วมกันเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่า ปราศจากความรักจะเป็นอยู่ตลอดไป มีหลายกรณีที่อยู่ด้วยกัน ก็สามารถพัฒนาความใกล้ชิด หรือเกิดความเสน่หาต่อกันได้ จนพัฒนาไปสู่รูปแบบความรักในรูปแบบอื่นได้เช่นเดียวกัน
5. รักแบบโรแมนติก (Romantic Love) เป็นความรักที่ประกอบไปด้วย ความใกล้ชิด และความเสน่หา โดยจะขึ้นเมื่อคน 2 คนได้รู้จักกัน มีความใกล้ชิดกัน จึงเกิดการปรารถนาที่จะใกล้ชิดกันมากขึ้น ได้สัมผัส ถ่ายถอดความรู้สึกต่อกันและกัน โดยไม่ได้มีพันธะผูกมัดใด ๆ เกิดขึ้น
6. รักแบบมิตรภาพ (Compainonate Love) เป็นความรักที่ประกอบไปด้วย ความใกล้ชิด และ ข้อผูกมัด โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระยะยาว เช่น มิตรภาพระหว่างเพื่อน หรือคู่แต่งงานที่ใช้ชีวิตร่วมกันมานาน ซึ่งการดึงดูดทางร่างกายไม่ได้มีอิทธิพลหลักในความสัมพันธ์อีกต่อไปแล้ว
7. รักแบบไร้สติปัญญา (Fatuous) เป็นความรักที่ประกอบไปด้วย ความเสน่หา และความผูกมัด จะเกิดขึ้นจากคน 2 คน ที่พบรักกันและตัดสินใจผูกมัดกันอย่างรวดเร็ว มักจะพบเห็นได้ทั่วไปกับคนที่พึ่งรู้จักกันไม่กี่เดือน ก็แต่งงานกัน โดยยังไม่ได้พัฒนาความใกล้ชิดหรือเรียนรู้กันอย่างถ่องแท้ ดังนั้น ความรักในรูปแบบนี้มีแนวโน้มจะจบลงอย่างรวดเร็ว
8. รักแบบสมบูรณ์แบบ (Comsummate Love) เป็นความรักที่มีทั้งสามองค์ประกอบ ทั้งความใกล้ชิด ความเสน่หา ข้อผูกมัด เป็นรูปแบบรักที่เกิดจากการที่ คน 2 คน มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างกัน มีความใกล้ชิดกัน สนับสนุนต่อกันและกัน สื่อสารกันอย่างเข้าใจ และมีความต้องการทางกายต่อกัน ความรักในรูปแบบนี้เป็นความรักที่เกิดขึ้นได้ยาก และยากในการรักษาให้ความรักคงสภาพต่อไปได้ ขึ่นอยู่กับ คน 2 คน และสภาพแวดล้อมในความสัมพันธืระหว่าง คน 2 คน ด้วย
จากรูปแบบความรักทั้ง 8 นี้ จะสังเกตได้ว่ามีองค์ประกอบ 3 อย่างเป็นกุญแจสำคัญ ประกอบด้วย ความใกล้ชิด เสน่หา และข้อผูกมัด นอกจากนั้นสามารถสังเกตได้อีกว่า รูปแบบของความรักในความสัมพันธ์หนึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ยกตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่งได้รู้จักผู้หญิงคนหนึ่ง จึงเกิดความเสน่หาขึ้นมา เช่นเดียวกับฝ่ายหญิง จึงเกิดความรักแบบหลงใหลขึ้นมา แต่พอได้รักและรู้จักไปสักพักหนึ่ง จึงเกิดความใกล้ชิดขึ้น จึงทำให้เกิดรักแบบโรแมนติก หลังจากนั้นทั้งสองได้คบหาเป็นเวลานานพอสมควร มีการสัญญากัน มีการหมั่นหมายกัน และแต่งงานจึงเกิดความรักแบบสมบูรณ์แบบ จนผ่านไปหลายปีทั้ง 2 คน เริ่มแก่ตัว เริ่มหมดความสนใจซึ่งกันและกัน จนทำให้เกิดรูปแบบความรักแบบมิตรภาพ
จากตัวอย่างที่ยกขึ้นมาจะเห็นได้ว่ารูปแบบความรักเหมือนกับคลื่นทะเลที่ซัดเข้าซัดออก ไม่มีอะไรมั่นคงแน่นอน ทุกอย่างแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ไม่คงที่ ความรักจึงเป็นการประคองซึ่งกันและกัน ให้เกิดความคงที่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คู่แท้จึงเป็นการที่ทั้งสองฝ่ายรักและพยายามเอาใจเขาใส่ใจเราซึ่งกันและกันอยู่เสมอ มีทะเลาะบ้าง ขัดแย้งบ้าง เป็นธรรมดา การประคองรักแบบสมบูรณ์แบบสามารถทำได้ และมักจะเห็นได้ทั่วไปในสังคม
"ความรักจึงประกอบไปด้วยการแตกต่างกัน และความพยายามที่จะพบจุดลงตัวของกันและกัน"
Sternberg . R. J. 1988. The triangle of love. New York: Basic Books.
สามารถอ่านบทความอื่นเพิ่มเติมจากลิ้ง สารบัญ
อ้างอิง
Sternberg . R. J. 1988. The triangle of love. New York: Basic Books.
คาลอส บุญสุภา. (2562). จิตวิทยาความรัก (Psychology of Love) ตอนที่ 1. https://sircr.blogspot.com/2019/11/psychology-of-love.html
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น