จิตวิทยาความรัก (Psychology of Love) ตอนที่ 1

"ความรักเป็นแรงขับเคลื่อน 
ของทุกรูปแบบความสัมพันธ์ให้เดินหน้า 
ไปในทิศทางที่ต่างกัน"
            คนทุกคนล้วนมีความรักกันทุกคน ไม่ว่าจะรักเพื่อน รักแฟน รักพ่อ รักแม่ รักสัตว์ ทุกความรักล้วนเหมือนกันแตกต่างกันที่บริบทว่ารักอะไร

            ความรัก เป็นเหมือนทั้งความสุขและความเจ็บปวด บางคนมักกล่าวว่ามีรักก็ต้องมีทุกข์ ในความจริงแล้วสิ่งที่จะทำให้ความสัมพันธ์เกิดความสุขหรือความเจ็บปวดได้นั้น มาจากคน 2 คนที่รักกัน ไม่ใช่ความรู้สึกรัก เนื่องจากความสัมพันธ์มีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับคู่รัก 2 คน ว่าจะรังสรรค์ ให้รูปแบบของความรักออกมาเป็นแบบไหน

            มีทฤษฎีทางจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงอย่างมากเกี่ยวกับความรักคือ ทฤษฎีสามเหลี่ยมของความรัก (Triangular Theory of Love)

            นักจิตวิทยาชื่อนั้นคือ Sternberg (1988) ซึ่งได้เสนอทฤษฎีสามเหลี่ยมของความรัก ซึ่งอธิบายถึงธรรมชาติและรูปแบบของความรักว่าประกอบด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ ความใกล้ชิด (Intimacy) ความเสน่หา (Passion) และความผูกมัด (Commitment) ซึ่งองค์ประกอบมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ดังรูปด้านล่าง


โดยองค์ประกอบต่าง ๆ ของสามเหลี่ยมของความรัก มีดังต่อไปนี้

            1. ความใกล้ชิด เป็นองค์ประกอบของความรักด้านอารมณ์ คือ มีความคุ้นเคยใกล้ชิดกันในความรู้สึก ความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง ความเอื้ออาทรต่อกัน สื่อสารกันได้อย่างดี และมีความไว้วางใจต่อกัน ความใกล้ชิดสนิทสนจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเมื่อมีความสัมพันธ์เป็นเวลานาน โครงสร้างของความใกล้ชิดนั้น พบว่ามีอยู่ในทุก ๆ ความสัมพันธ์ และมีรูปแบบเฉพาะในแต่ละความสัมพันธ์ด้วย เช่น ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ความสัมพันธ์กับคู่รัก ความสัมพันธ์กับเพื่อน ดังนั้นความใกล้ชิดจึงเป็นองค์ประกอบของทุก ๆ รูปแบบความสัมพันธ์

            2. ความเสน่หา เป็นองค์ประกอบของความรักด้านแรงจูงใจ เกิดจากแรงขับภายในของร่างกาย หรือความรู้สึกที่ถูกกระตุ้นทางสรีระ (Physiological arousal) เป็นแรงดึงดูดทางเพศ เช่น ความพอใจในรูป กลิ้น เสียง หรือการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือเสน่ห์ (Appeal) อื่น ๆ และ ยังรวมถึงการกระตุ้นอื่น ๆ ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกโรแมนติกด้วย

            3. ความผูกมัด เป็นองค์ประกอบของความรักทางด้านความคิด คือการตัดสินใจที่จะรักหรือมีพันธะทางใจหรือทางสังคมต่อกัน การใช้เวลาร่วมกันในกิจกรรมต่าง ๆ หรือการใช้ชีวิตร่วมกันต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลานาน ความรับผิดชอบในพันธะที่ตกลงต่อกัน การรับพันธะผูกพันจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเมื่อมีความสนิทสนมกันมากขึ้น และเปลี่ยนแปลงไปตามระดับของความสุข ความพอใจที่เกิดขึ้นในแต่่ละระยะเวลา เมื่อมีปัญหายุ่งยากในความสัมพันธ์ระหว่างกัน การรับพันธะผูกมัดก็อาจลดระดับลงไปด้วย องค์ประกอบด้านความผูกมัดนั้นจะประกอบไปด้วย การผูกมัดแบบระยะสั้น และการผูกมัดแบบระยะยาว

องค์ประกอบทั้งสามของความรักนั้น มีความเชื่อมโยงกัน เช่น องค์ประกอบด้านความเสน่หามีความสัมพันธ์อย่างมากกับองค์ประกอบด้านความใกล้ชิด เนื่องจากเมื่อคู่รักได้มีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน ก็จะทำให้เกิดความเสน่หา ความรู้สึกอยากมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกันมากยิ่งขึ้น

องค์ประกอบด้านความผูกมัดมีความสัมพันธ์กับทั้งองค์ประกอบด้านใกล้ชิดและเสน่หา เนื่องจากเมื่อเราตกลงในที่จะผูกมัดกับใครสักคนแล้ว เช่น การแต่งงาน ซึ่งจะนำมาสู่พฤติกรรมที่แสดงความใกล้ชิด การแสดงความเป็นเจ้าของ

องค์ประกอบของความรักทั้ง 3 ส่วนสามารถนำมาอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันได้ทั้งหมด โดยเรามักจะพบว่าองค์ประกอบของความใกล้ชิด เป็นแกนหลักที่สามารถพบเห็นได้ในทุก ๆ ความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก คนในครอบครัว เพื่อสนิท เป็นต้น องค์ประกอบเสน่หามักจะพบเฉพาะในความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักเท่านั้น และองค์ประกอบด้านความผูกมัดนั้นมีความผันแปรในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตมนุษย์ โดยที่ความรักของบุคคล อาจมีความผูกมัดกับครอบครัวในวัยเด็ก มีความผูกมัดกับเพื่อนในช่วงวัยรุ่น มีความผูกมัดกับคนรักในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งในแต่ละบุคคลอาจมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่เผชิญด้วย

            จะเห็นว่าองค์ประกอบของความรัก ความใกล้ชิด (Intimacy) ความเสน่หา (Passion) และความผูกมัด (Commitment) เป็นส่วนผสมของทุกรูปแบบความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบเพื่อนรัก ความสัมพันธ์แบบครอบครัว ความสัมพันธ์แบบสามี ภรรยาที่พึ่งแต่งงานกันใหม่หรือรักกันนานแล้ว ความสัมพันธ์แบบแฟนที่พึ่งคบกัน ความสัมพันธ์แบบคู่สมรสที่คุมถุงชน ฯ ดังนั้นแล้วการให้ความสัมพันธ์มีทั้ง 3 องค์ประกอบทั้งหมด คือมีทั้งความใกล้ชิด ความเสน่หา และความผูกมัด จะทำให้เป็นความรักที่สมบูรณ์แบบ Consummate Love
"คนเราจะตระหนักถึงคุณค่าของความสำคัญ 
ก็ต่อเมื่อเขามีความรัก หรือสูญเสียมันไป"
จิตวิทยาความรัก ตอน 2 (Psychology of Love)

สามารถอ่านบทความอื่นเพิ่มเติมจากลิ้ง สารบัญ  

อ้างอิง

Sternberg . R. J.  1988.  The triangle of love.  New York: Basic Books.

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น