กลไกการโทษคนอื่น (Psychological Projection)

            เรามักจะคุ้นชินกับคำว่า โทษคนอื่น อยู่เสมอ สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือ เราล้วนใช้กลไกนี้ทุกคน เราทุกคนเคยมีประสบการณ์ที่โทษคนอื่น และในบางครั้งเรารู้สึกสบายใจอย่างมาก เพราะมันเป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของความผิดเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น บริษัทจะต้องไปขายงานให้กับลูกค้า จึงเตรียมพนักงานไปนำเสนอเพื่อประมูลงาน เมื่อผลออกมาเป็นความผิดหวัง หัวหน้าการนำเสนอจึงกล่าวโทษลูกน้องบางคนว่าที่ไม่่ได้งานนั้น เพราะเนื้อหาที่ลูกน้องนำเสนอนั้นไม่ดี ทั้ง ๆ ที่การนำเสนอแทบทั้งหมดนั้นเป็นของหัวหน้าการนำเสนอ

            นี้เป็นตัวอย่างที่หลายคนอาจจะคุ้นชิน การที่หัวหน้านำเสนองานโทษลูกน้องตัวเอง นอกจากจะเป็นการผลักความรับผิดชอบไปแล้ว ยังทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นด้วย แต่จะรู้สึกดีได้อย่างไรหละ คำตอบก็คือ เมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของความผิดพลาด Ego (ตัวตน) ของเราจะรู็สึกไม่สบายใจ การฉายความรู้สึกดังกล่าวออกไป ให้กับใครสักคนให้เป็นผู้แบกรับความไม่สบายใจ ความวิตกกังวล ความเครียดเหล่านี้ไป จะทำให้ Ego ของเราสบายใจมากขึ้น (ทำให้เราลดความเครียด กดดันออกไป) มันจึงเป็นกลไกป้องกันตัว (Defense Mechanism) ปกติของมนุษย์ แม้ว่าการกระทำของหัวหน้างานคนนี้จะเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ เพราะความเป็นผู้นำจะต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาด และเป็นผู้นำที่ทำให้ลูกน้อง เกิดการเรียนรู้ในความผิดพลาดนั้นร่วมกัน เพื่อพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน ทั้งตัวผู้นำและผู้ตาม


            ในทางจิตวิทยาแล้วการโทษคนอื่น (Projection) เป็นหนึ่งในกลไกการป้องกันตนเองของมนุษย์ จะแสดงออกเมื่อคนเราถูกทำให้รู้สึกไม่สบายใจ เครียด วิตกกังวล เพราะ Ego ถูกกดดันจาก Id (สัญญาตญาณดิบ) และ Superego (มโนธรรม) มากเข้า จิตใจของเราจะพยายามทำให้ความกดดันนั้นหายไป โดยระบุว่าต้นเหตุของความกดดัน ความเครียด ความไม่สบายใจนั้น เกิดมาจากโลกภายนอกแทน ดังนั้นแทนที่จะพูดว่า "ฉันเกลียดเขา" คนกลับพูดว่า "เขาเกลียดฉัน" (ฉันจึงเกลียดเขาบ้าง) หรือแทนที่จะพูดว่า "ความคิดของฉันทำให้ฉันไม่สบายใจ" กลับไปพูดหรือคิดแทนว่า "เขาทำให้ฉันไม่สบายใจ" 

            ซึ่งในตัวอย่างแรกเกิดจากคนคนนั้นปฏิเสธยอมรับว่าความไม่สบายใจเกิดมาจาก Id หรือ Superego อย่างที่ยกตัวอย่างในข้างต้นเกี่ยวกับกรณีพรีเซ้นงานผิดพลาด การที่เราจะยอมรับว่าการเป็นผู้นำนั้นจะต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดไมว่ากรณีไหนก็ตาม (อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป แต่เป็นความคิดที่เป็นอุดมคติที่เกิดจาก Superego) เพราะการที่ยอมรับว่าตนเองผิดจะเป็นจะกระทบต่อ Ego หัวหน้าการนำเสนองานจึงเลือกที่จะโยนความผิดให้กับบุคคลอื่นแทน (หาแพะ)

            ระบบ Ego พยายามเปลี่ยนความกดดัน ความไม่สบายใจ ที่เกิดขึ้นจากจิตใจของเขาให้เป็นความกดดัน และความไม่สบายใจที่เกิดจากคนอื่นแทนมอบให้กับเขาแทน เพื่อให้ Ego จัดการกับความกดดัน และความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้น เนื่องจากสิ่งที่เป็นอันตรายนั้นมาจากภายนอก จากคนอื่นหรือสิ่งอื่น ไม่ใช่มาจากภายในซึ่งอาจเป็น Id ที่เป็นสันดานดิบของมนุษย์ หรือ Superego ที่เป็นคุณธรรม ซึ่งทั้งสองอย่างนั้น Ego จะจัดการได้ยาก อันเนื่องมาจาก Id คือสัญญาตของมนุษย์ซึ่งฝืนได้ยาก และ Superego เป็นหลักคุณธรรมที่ถูกวัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยมของสังคมหล่อหลอมมาตลอดเวลาตั้งแต่เป็นทารก จนถึงปัจจุบัน 

            กล่าวคือ ความกลัวจากภายนอกขจัดได้ง่ายมากกว่ากลัวจัดการความกลัวจากภายใน ที่เราแทบจะหาสาเหตุของความกลัวที่เกิดขึ้นไม่ได้ด้วยซ้ำ การโทษคนอื่นจึงเป็นการแบ่งเบาเอาความกังวล ความกลัว ความไม่สบายใจ ความกดดันออกไป คนที่เชื่อว่าตัวเองถูกเกลียดชังหรือถูกปองร้าย อาจใช้ความเชื่อนั้นเป็นข้อโจมตีศัตรูของเขาโดยการใช้กลไกการป้องกันตนเอง ทำให้เขารู้สึกสบายใจต่อการแสดงความไม่เป็นมิตร หรือความเกลียดชังของเขาได้ โดยที่เขาจะได้รับความพึงพอใจโดยไม่รู้สึกผิด หรือต่อให้เขาได้แสดงความก้าวร้าวออกมา เขาก็สามารถให้เหตุผลได้ว่าเป็นการแสดงออกที่มีเหตุผล พูดง่าย ๆ ก็คือ เขาใช้เหตุผล "เข้าข้างตนเอง" เพื่อตำหนิผู้อื่น

            การใช้เหตุผลเข้าข้างตนเอง จึงเป็นการหาหลักฐานแก้ตัวจากภายนอก เพื่อกระทำการบางอย่างโดยที่ Superego เห็นพ้องด้วย เป็นการทดแทนการกระทำในสังคม โดยให้สังคมยอมรับในสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ เช่น การซื้อของขนมจากคนพิการแล้วนำมาแจกเพื่อน ๆ พนักงาน เขาอาจคิดว่าเขาเป็นคนใจบุญแต่ที่จริงเขาถูกกระตุ้นด้วยความอยากเป็นคนดี ใจบุญ หรืออาจจะเพราะรู้สึกผิดอะไรบางอย่าง (เช่น เคยทำร้ายจิตใจ หรือทำให้ผู้อื่นเกิดความทุกข์จากความตั้งใจของเขาเอง) อย่างไรก็ตามการกระทำที่ทำลงไปโดยไม่รู้ว่าเป็นการโทษผู้อื่นหรือเป็นการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง เพราะหากรู้ตัว การกระทำที่แสดงออกมาจากตัวอย่างด้านบนก็จะไม่สามารถแบ่งเบาความไม่สบายใจได้เลย เพราะกลไกลการโทษคนอื่น หรือหาเหตุผลเข้าข้างตนเองเป็นกลไกการป้องกันตนเองของ Ego ซึ่งมักจะกระทำโดยไร้สำนึก (ไม่รู้ตัว)

            อย่างไรก็ตามมีการโทษคนอื่นมีรูปแบบอื่นที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคมทุกสังคม โดยเฉพาะ ใน Social Media นั้นคือ การร่วมแสดงความรู้สึกต่อโลกภายนอก เช่น คนที่รู้สึกมีความสุข ก็จะคิดว่าคนอื่นมีความสุขด้วย หรือ คนหนึ่งรู้สึกโศกเศร้ามักคิดว่าเอาว่าโลกทั้งโลกก็โศกเศร้าไปหมด เหตุผลที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า จิตใจของเราจะปกป้องตนเอง เนื่องจาก เมื่อคนอื่นทุกข์ ความเป็นสุขของตัวเองก็จะรู้สึกอันตรายไปด้วย กล่าวคือ "รู้สึกผิดที่มีความสุข ในขณะที่คนอื่นเป็นทุกข์" ดังนั้นเพื่อที่จะขจัดความรู้สึกกดดันนี้ออกไป คนจึงฉายภาพไปที่คนอื่นว่า คนอื่นก็มีความสุขเช่นเดียวกัน หรืออีกตัวอย่างหนึ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปคือ คิดว่าคนอื่นไม่ซื่อสัตย์ จึงเป็นเหตุผลที่ชอบธรรมที่เราจะไปซื่อสัตย์ด้วย (ใคร ๆ ก็ทำกัน คุ้น ๆ หรือไม่) หรือการนอกใจไปซื้อบริการเป็นเรื่องธรรมดาของผู้ชาย คนคนนั้นก็จะใช้ความเชื่อนี้เพื่อนอกใจบ้าง

            การโทษคนอื่น จึงมีหลายรูปแบบ แต่มีจุดประสงค์เดียวคือเพื่อลดความเครียด ความกังวล ความขับข้องใจ ความกดดัน ในจิตใจเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการโยนความผิดให้กับคนอื่น การให้เหตุผลว่าตนเองเป็นคนดีเพราะว่าทำความดี (โดยไม่พิจารณาถึงสิ่งที่ตนเองทำไม่ดี) หรือ การเหมารวมว่าคนอื่นมีความสุข เพราะว่าเรามีความสุข

            ในปัจจุบันมีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับ Covid -19 ผู้คนได้รับผลกระทบมากมาย แต่ก็มีคนที่คิดว่าคนอื่นไม่มีวินัยเหมือนกับตนเอง ไม่รู้จักเก็บเงินเอาเงินไปใช้ฟุ้มเฟือย ดื่มเหล้า (โดยไม่ได้รู้เกี่ยวกับปัญหาเชิงโครงสร้างต่าง ๆ ในสังคม) แล้วออกมาต่อว่ารัฐบาล เหตุผลที่เขามีความคิดแบบนั้นเพราะไม่อยากโทษรัฐบาลที่ตนเองเชียร์ กลไกลนี้จึงช่วยรักษาความเสียหน้าของตนเอง ช่วยให้เราไม่ต้องยอมรับว่ามุมมองที่เราไม่เชื่อ ไม่ชอบมาแต่แรก มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเราผิดมาตลอด

อ้างอิง

กิติกร มีทรัพย์.  2554.  พื้นฐานทฤษฎีจิตวิเคราะห์.  พิมพ์ครั้งที่ 5.  กรุงเทพฯ:  สมิต

คาลอส บุญสุภา. (2560). Id Ego และ Superego ทฤษฎีโครงสร้างบุคลิกภาพ. https://sircr.blogspot.com/2017/12/id-ego-superego-sigmund-freud.html

คาลอส บุญสุภา. (2560). กลไกการป้องกัน (Defense Mechanism). https://sircr.blogspot.com/2017/12/defense-mechanism.html

ความคิดเห็น