กลไกการป้องกัน (Defense Mechanism)

      ในบทความที่แล้วเราได้รู้จักกับ Id Ego และ Superego กันแล้ว ซึ่งได้เกริ่นถึงกลไกการป้องกัน (Defense Mechanism) และโครงสร้างการทำงานที่จำเป็นจะต้องปกป้องตัวเองจากความขัดแย้งของโครงสร้างบุคลิกภาพ กลไกการป้องกันนั้นเป็นสิ่งที่สามารถพบเจอได้ในสังคมทั่วไป ใคร ๆ ก็ใช้กัน ในวันหนึ่งเราจะต้องเห็นคนที่ใช้อย่างแน่นอน รวมถึงตัวเราเองก็ใช้มันอย่างบ่อยครั้ง และใช้อยู่หลายกลไกซึ่งในปัจจุบันมีนักจิตวิทยาได้ศึกษาและเพิ่มจำนวนของกลไกการป้องกันตนเองจนมีจำนวนมากขึ้นกว่าในอดีต แต่โดยส่วนมากจะเป็นกลไกที่แตกแขนงจากกลไกหลักที่ฟรอยด์ และลูกสาวของเขาแอนนาได้กล่าวถึง เราจะมารู้จักกับกลไกการป้องกันของมนุษย์กัน

กลไกการป้องกัน (Defense Mechanism)

        ทุกอย่างมันเป็นความผิดของคุณ.................ดีแล้วที่เค้าเลิกกับเรา เราจะได้มีอิสระ...............ที่แม่ตีเพราะว่าแม่รักนะ.............แพทเทิลเหล่านี้เรามักจะพบเห็นกันได้เสมอ ซึ่งแพทเทิลเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลไกที่เราใช้เพื่อปกป้องตนเอง ก่อนอื่นจะต้องทวนเกี่ยวกับทฤษฎีโครงสร้างบุคลิกภาพกันสักเล็กน้อย

      อย่างที่กล่าวกันในบทความที่แล้ว Ego จะเป็นส่วนที่คอยประณีประนอม Id กับ Superego เมื่อโครงสร้างเกิดความไม่สมดุล ให้นึกถึงไม้กระดกที่น้ำหนักถูกเทไปด้านใดด้านหนึ่ง Ego ใช้กลไกป้องกันตนเอง (Ego Defense Mechanism) เพื่อปรับให้ไม้กระดกอยู่ในแนวขนาน ภาระสำคัญของระบบอีโก้อย่างหนึ่ง ก็คือปกป้องอันตราย และแก้ปัญหาอย่างเป็นจริง (กิติกร มีทรัพย์, 2554) หรือพยายามที่จะระงับปัญหาเหล่านั้นโดยมีวิธีนิ่งเฉย หรือปฏิเสธความจริง (Denial) เราเรียกกลไกนี้ว่า กลไกการป้องกัน (Defense Mechanism) หรือเรียกอย่างเข้าใจง่าย ๆ ว่า "วิธีรักษาหน้าของ Ego" แม้ว่ากลไกการป้องกันตนเองนั้นจะเป็นแนวคิดของฟรอยด์ แต่ฟรอยด์ไม่ได้บอกว่ากลไกเหล่านี้มีกี่ชนิด จนกระทั่งลูกสาวคนสุดท้อง Anna Freud (เป็นลูกคนเดียวที่เจริญรอยตามพ่อและมีชื่อเสียงระดับโลก) ได้กล่าวถึงจำนวน (Freud, 1937) กลไกการป้องกันไว้ 10 ชนิดในปี 1936 (ตีพิมพ์ 1937) ดังต่อไปนี้

      1. Repression (เก็บกด) หมายถึงการเก็บกดซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือการเก็บกดทั้งหมด และการเก็บกดเฉพาะเรื่อง การเก็บกดทั้งหมดนั้นหมายถึง เก็บกดสัญชาตญาณตั้งแต่เราเกิดมา เช่น เราไม่ควรที่จะมีเพศสัมพันธ์กับพ่อหรือแม่หรือพี่น้อง การแต่งงานในเครือญาติ ซึ่งเราจะไม่มีทางตระหนักถึงสัญชาตญาณเหล่านี้ได้ แตกต่างกับ"การเก็บกดเฉพาะเรื่อง" ซึ่งหมายถึงการบังคับความทรงจำ ความคิด หรือการรับรู้ให้ออกไปจากการรู้คิด (Conscious) ส่งไปอยู่ในจิตใต้สำนึก (Unconscious) และสร้างกำแพงเพื่อปกป้องเอาไว้ เช่น ความเจ็บปวดจากการโดนทำร้ายร่างกาย โดนข่มขืน โดนกลั่นแกล้ง โดนลงโทษ หรือแม้แต่การล้อเลียน ก็สามารถถูกนำเอาไปเก็บไว้ได้หมด (เป็นสถานการณ์) แต่อย่างไรก็ตามความทรงจำเหล่านั้นสามารถถูกดึงกลับขึ้นมาได้ เช่น การเจอเหตุการณ์นั้นซ้ำ การสะกดจิต การย้ำคิด และการเจอเหตุการณ์ที่มีความคล้ายคลึงหรือเกี่ยวข้อง (สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับ การเก็บกด เพิ่มเติมได้ในลิ้งนี้)

      2. Projection (โทษคนอื่น) คือการที่ Ego ถูกกดดันจาก Id หรือ Superego มาก ๆ Ego จะโยกย้ายความกดดันเหล่านั้นออกไปยังโลกภายนอกแทน เช่น ฆาตกรผู้หนึ่งได้กล่าวกับตำรวจว่าตนเองฆ่าคนเพราะครอบครัวสอนให้เขาเป็นคนแบบนั้น ซึ่งเหตุการณ์นี้สามารถสรุปได้ว่า Id กดดันให้ Ego ไปฆ่าคน หลังจากที่โดนจับ Ego ต้องการจะรักษาตัวตนของตนเองไว้ จึงไม่ยอมรับว่าพฤติกรรมเลวร้ายที่ทำเป็นเพราะตนเอง แต่เป็นเพราะครอบครัว กล่าวคือ "โยนความผิดให้คนอื่น" หรือเป็นเพียงการเปลี่ยนประธาน เช่น "ฉันเกลียดเธอ" กลายเป็น "เธอเกลียดฉัน" หรือ เวลาที่บุคคลคนหนึ่งชื่นชอบสื่อลามกแต่กลับกล่าวว่าคนอื่นนั้นลามก เพื่อรักษามโนธรรมของตนเองเอาไว้ การโทษคนอื่น (ซึ่งอยู่ภายนอก) จะส่งผลให้เราขจัดความกลัว หรือกังวลออกไปได้ง่ายกว่าจัดการกับ Id และ Superego (ซึ่งอยู่ภายใน) (สามารถอ่านบทความเรื่อง การโทษคนอื่น เพิ่มเติมได้ในลิ้งนี้)

      3. Reaction Formation (ปากว่าตาขยิบ) เมื่อ Ego เกิดแรงกระตุ้นจาก Id หรือ Superego ระบบ Ego พยายามที่ป้องกันแรงกดดันที่ประดังเข้ามา โดยเปลี่ยนไปในทิศทางตรงกันข้าม เช่น Ego มองภาพตัวเองว่าเป็นคนดีมีศีลธรรม ซึ่งเกิดจากแรงกระตุ้นโดย Superego แต่ Id ต้องการที่จะทำร้ายคนคนหนึ่งที่นับถือศาสนาไม่เหมือนกับตนเอง จึงสร้างมายาคติว่า สามารถฆ่าคนต่างศาสนาได้โดยไม่ผิด หรือเป็นเรื่องพื้นฐานอย่างเช่น เราอาจเกลียดเพื่อนคนหนึ่งมาก แต่ Ego มองภาพตนเองว่าเป็นคนที่เกลียดใครไม่เป็น จึงพยายามแสดงความรัก เป็นมิตรออกมา ซึ่งพฤติกรรมที่แสดงออกมาจะมีน้ำหนักมากเกินกว่าเหตุ เช่น ถ้าเกลียดแต่พยายามแสดงออกว่ารัก ก็จะดูเกินกว่าเหตุ รักมากจนเกินไป หรือในกรณีที่แม่ตีลูกเพราะรัก ก็จะตีอย่างรุนแรงและขาดความยืดหยุ่น นอกจากนั้นยังมีกรณีที่บุคคลบางคนอาจโดนกระทำความรุนแรง หรือได้รับการปลูกฝังความรุนแรงตั้งแต่วัยเด็ก แต่กลไกป้องกันตนเองได้ปิดบังสภาพความรุนแรงเหล่านั้นจนส่งผลให้เขากลายเป็นคนที่อ่อนโยนมาเกินกว่าคนทั่วไป (สามารถอ่านบทความเรื่อง ปากว่าตาขยิบ เพิ่มเติมได้ในลิ้งนี้)

      4. Regression (การถอยกลับ) เมื่อบุคคลได้ไปถึงการเปลี่ยนผ่านของพัฒนาการ บุคคลอาจเกิดความไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนผ่าน เนื่องจากความหวาดกลัว จึงถอยกลับไปเพื่อหาพื้นที่ปลอดภัย (Comfort Zone) โดยการถอยกลับไปในช่วงพัฒนาการที่บุคคลสบายใจ หรือในกรณีที่ บุคคลผู้หนึ่งถูกทำร้ายจิตใจอย่างรุนแรง บุคคลคนนั้นจึงถอยหนีไปหลบอยู่ในโลกของอดีต หรือมีพฤติกรรมไปในช่วงพัฒนาการที่เขาปลอดภัย เช่น วัยเด็ก กล่าวคือ เมื่อ Ego กระเจิดกระเจิงออกจากโลกความเป็นจริง และไม่สามารถควบคุมได้ Ego จะถอยกลับไปในช่วงพัฒนาการหรือช่วงเวลาบางเวลาที่สามารถควบคุมได้ ไม่จำเป็นต้องถอยกลับไปไกลถึงขนาดนั้น แต่อาจจะเป็นช่วงเวลาที่บุคคลจะต้องเผชิญหน้ากับความไม่มั่นคงบางอย่าง จึงพยายามกลับไปสู่สิ่งที่มั่นคงอยู่แต่เดิมแล้ว เช่น ไม่กล้าเสียเงินลองของใหม่ ๆ จึงกินแต่ของเดิม ๆ ที่กินเป็นประจำ ซึ่งรวมไปถึงการลองทำอะไรใหม่ ๆ หรือการไปในสถานที่ใหม่ ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน

      5. Denial (การปฏิเสธความจริง) Anna Freud (1937) ได้อธิบายเกี่ยวกับปฏิเสธความจริงไว้ว่า คือการปิดกั้นตนเองจากสถานการณ์ภายนอกที่เกิดขึ้น เมื่อสถานการณ์ดังกล่าวมีความรุนแรงเกินกว่าที่จะรับมือได้ บุคคลจึงพยายามที่จะปฏิเสธประสบการณ์เหล่านั้น เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวอาจเกิดผลกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรงจนรับไม่ได้  เช่น ลูกของตนเองประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิต ผู้เป็นแม่จึงปฏิเสธว่าลูกตนเองได้เสียชีวิตไปแล้ว กรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่มีสถาพจิตใจขั้นรุนแรง แต่การปฏิเสธความจริงก็มักจะเกิดขึ้นโดยทั่วไปเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อบุคคลหนึ่งมองตนเองว่าเป็นคนดีมีศีลธรรม แต่เมื่อมีคนอื่น ๆ มาบอกว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมันผิดศีลธรรม บุคคลจึงปฏิเสธความจริงดังกล่าว จะเห็นได้ว่าระดับของการปฏิเสธความจริงมีหลายระดับขึ้นอยู่กับตัวบุคคล

      6. Rationalization (การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง) เป็นวิธีการลดความกดดันจาก Ego ซึ่งมีผลมาจากสถานการณ์ภายนอก โดยการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ต่อสถานการณ์เหล่านั้นโดยการสร้างองค์ความคิดขึ้นมา เพื่อให้คลายความกดดันเหล่านั้นลงไปด้วยกระบวนการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ
          6.1 Sour Grape (องุ่นเปรี้ยว) เป็นวิธีที่ Ego ลดความกดดันโดยการลดความสำคัญของสิ่งที่อยากได้แต่ไม่สามารถครอบครองเอามาได้ เช่น สามีต้องการรถคันใหม่อย่างมาก แต่ไม่สามารถซื้อมาได้เนื่องจากภรรยาไม่ยอมให้ซื้อ ตัวสามีจึงสร้างองค์ความคิดขึ้นมาใหม่ประมาณว่า "รถคันใหม่มันสิ้นเปลือง ดีแล้วแหละที่ไม่ซื้อ" จะเห็นว่าเป็นเรื่องทั่วไปที่เกิดขึ้นและดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่หากเป็นกรณีที่ บุคคลฝันอยากจะประกอบอาชีพแพทย์ตั้งแต่ยังเด็ก แต่สอบไม่ติดจึงเลือกที่จะเรียนสาขาอื่น และเปลี่ยนองค์ความคิดของตนเองเป็น "ที่ผ่านมาตนเองไม่เคยอยากที่จะเป็นหมอมาก่อน" กล่าวคือบุคคลได้เปลี่ยนการรับรู้ต่อประสบการณ์ของตนเองไปเลย ซึ่งคำว่าองุ่นเปรี้ยวนั้นมีที่มาจากนิทานอีสปเรื่องจิ้งจอกกับพวงองุ่น ที่กล่าวถึงจิ้งจอกที่อยากกินองุ่นสุก แต่ใช้ความยายามมากแค่ไหนก็ไม่สามารถได้มาครอบครอง จึงคิดว่าองุ่นพวกนั้นคงเปรี่ยว ดีแล้วแหละที่ไม่ได้กิน
          6.2 Sweet Lemon (มะนาวหวาน) ตรงกันข้ามกับองุ่นเปรี่ยว มะนาวหวานจะเป็นวิธีที่ Ego ลดความกดดันโดยการให้ความสำคัญของสิ่งที่ตนเองครอบครอง เป็นการเปลี่ยนองค์ความคิด ยกตัวอย่างเช่น หญิงสาวที่โสด มองว่าดีแล้วแหละที่ตนเองเป็นอิสระ หรือ ชายหนุ่มคนหนึ่งมองว่างานหนัก ๆ ที่ตนเองทำนั้นมีคุณค่าและมีความหมาย เราจะเห็นว่ามะนาวหวาน ความกดดันที่ Ego ได้รับจะไม่รุนแรงเท่ากับองุ่นเปรี่ยว
      จะเห็นว่าทั้งองุ่นเปรี่ยวและมะนาวหวานจะเหมือนกับภาพที่ทับซ้อนกัน กล่าวคือ Rationalization จะเป็นการสร้างมายาคติเพื่อมาบิดเบือนความเป็นจริง และปกป้อง Ego จากแรงกดดัน และความตรึงเครียด เช่น ชายหนุ่มคนนั้นอาจหางานที่ตนเองพอใจไม่ได้ จึงพยายามมองว่างานที่ทำนั้นมีคุณค่าและมีความหมาย หรือ หญิงสาวที่โสดอาจหาชายหนุ่มที่เหมาะสมกับตนเองไม่ได้ จึงมองว่าดีแล้วจะได้เป็นอิสระ ดังนั้นในบางตำราหรือบางงานเขียนจึงไม่ได้แยกองุ่นเปรี้ยวและมะนาวหวานออกจากกัน แต่มองว่าทั้งสองเป็นสิ่งเดียวกัน (สามารถอ่าน กลไกการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง เพิ่มเติมได้ในลิ้งนี้)

      7. Identification (การเลียนแบบ) คล้ายคลึงกับ Regression (การถอยกลับ) เมื่อ Ego เกิดความไม่สบายใจ เครียด ไม่ปลอดภัย จะส่งผลให้บุคคลนั้นหาพื้นที่ที่จะสร้างความมั่นคงให้กับตนเองได้ กระบวนการถอยกลับจะย้อนกลับไปในช่วงพัฒนาการที่มีความปลอดภัย สบายใจ ซึ่งต่างกับการเลียนแบบ ที่คนเราจะเลียนแบบบุคคลที่ตนเองรู้สึกว่า มั่นคง ปลอดภัย ส่วนมากจะเป็นคนรอบตัว เช่นเด็ก เลียนแบบพ่อแม่ของตนเอง หรือ เป็นบุคคลที่มีความสามารถ นอกจากนั้นการเลียนแบบสามารถเกิดขึ้นเมื่อเราต้องการเป็นที่สนใจ เช่นเลียนแบบพ่อแม่ เพื่อเรียกร้องความสนใจจากเขา หรือเลียนแบบบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อให้สังคมยอมรับ หรือสนใจ

      8. Displacement (การย้ายที่) เมื่อ Ego เกิดการตึงเครียด คับข้องใจ Ego จะย้ายที่ความรู้สึกเหล่านั้นไปไว้ภายนอก เช่น การเตะเก้าอี้ การปาข้าวของ ซึ่งโดยส่วนมากการย้ายที่นั้นจะแสดงออกในเชิงก้าวร้าวเป็นส่วนมาก นอกจากจะย้ายที่ไปที่ข้าวของ ก็มักจะพบเจอได้บ่อยครั้งที่การย้ายที่นั้นจะย้ายไปที่ตัวบุคคลอื่นด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น สามีเกิดความตึงเครียด กดดัน จึงระบายอารมณ์ไปที่ภรรยา โดยการทุบตี ซึ่งสถานการณ์ที่ยกตัวอย่างมา มักพบเห็นกันได้ทั่วไป ในกรณีที่การรับน้องนอกจากจะเป็นการสืบต่อวัฒนธรรมแล้ว ในบางกรณีรุ่นพี่ก็เก็บความรู้สึกที่เจ็บปวด ไม่ยุติธรรม หรือความตึงเครียดในปัจจุบัน ไปลงที่รุนน้องด้วยเช่นกัน

      9. Sublimation (การทดแทน) กลไกชนิดนี้จะคล้ายคลึงกับ การย้ายที่ ต่างกันตรงที่การย้ายที่จะย้ายความคับข้องใจของ Ego ออกไปสู่ภายนอก แต่การทดแทนจะต่างกัน การแทนที่จะย้ายความคับข้องใจออกไป แต่การทดแทนจะเปลี่ยนรูปแบบความคับข้องใจเหล่านั้นไปเลย กล่าวคือ การทดแทนจะเปลี่ยนรูปแบบความเครียด ความคับข้องใจของ Ego ไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เช่น ระบายความรุนแรงออกเป็นงานศิลปะ หรือการเขียนนิยายแทน ขึ้นอยู่กับว่า Ego ได้รับแรงกดดันเรื่องอะไร เช่น Id อาจส่งสัญญาณความต้องการทางเพศ ไปที่ Ego แต่ Ego ถูก Superego ปฏิเสธ Ego จึงเกิดความเครียดส่งผลให้เลือกใช้กลไกการทดแทน เพื่อผ่อนหนักเป็นเบา จากผลงานชื่อ Leonardo da Vinci and a Memory of His Childhood ของฟรอยด์ เขาเชื่อว่า (ยศ สันตสมบัติ, 2559) ศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานอันยอดเยี่ยม หรือนักวิทยาศาสตร์ที่ประดิษฐ์คิดค้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบุคคลนั้นสามารถแปลงพลังงานทางเพศไปสู่ผลงานสร้างสรรค์ของตนเอง ซึ่งในงานเขียนของฟรอยด์ได้ยก Leonardo da Vinci เปนกรณีศึกษา

      10. Fantasy (ฝันกลางวัน หรือ จินตนาการ) เช่นเดียวกับกลไกอื่นเกิดขึ้นจาก Ego เกิดความเครียด เนื่องจากความขัดแย้งของโครงสร้างบุคลิกภาพภายใน ส่งผลให้ตัวบุคคลขจัดความเครียดโดยการสร้างพื้นที่ในจินตนาการ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเพ้อฝัน เช่น ชายคนหนึ่งกำลังเดินเที่ยวห้าง ขณะที่เขาเดินผ่านกับผู้หญิงท่านหนึ่งที่แต่งตัวยั่วยวนส่งผลให้เกิดอารมณ์ทางเพศ ชายผู้นั้นจึงใช้วิธีในการจินตนาการว่าตนเองกำลังมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงคนนั้น เพื่อให้เขาเกิดความพึงพอใจ เนื่องจากบุคคลไม่สามารถแสดงอารมณ์ทางเพศออกมาได้ หรือในกรณีที่พนักงานบริษัททำงานบริษัทแห่งหนึ่งจนเกิดความเครียดอย่างหนัก จึงพยายามจินตนาการช่วงเวลาที่เงินเดือนออก และตนเองได้ไปเที่ยวเพื่อให้ตนเองเกิดความพึงพอใจและสบายใจมากขึ้น  นอกจากนั้นในกรณีที่เด็กโดนรังแกที่โรงเรียน เขาจึงจินตนาการว่าตนเองเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ที่มีพลังมากมายมหาศาลเพื่อแบ่งเบาความทุกข์ทรมาณที่ Ego แบกรับ หรือบุคคลที่มีถานะทางเศรษฐกิจไม่ค่อยดี เขาจินตนาการว่าตนเองเป็นมหาเศรษฐี จะเห็นว่าหากเราใช้กลไกนี้มาก ๆ และยิ่งความฝันและความยิ่งแตกต่างกันมากเท่าไหร่ จะยิ่งส่งผลในทางลบต่อ Ego มากขึ้นเท่านั้น

      แน่นอนว่ากลไกการป้องกันตัวเองจะเหมือนกับยาเสพติดของ Ego เวลาที่เราเศร้าเสียใจ เจ็บปวด การเสพยาจะช่วยทำให้เราเมา และลืมความเจ็บปวดเหล่านั้นไปช่วงเวลาหนึ่ง โครงสร้างของเราก็เช่นกัน เมื่อ Ego เกิดความเครียด ขับข้องใจ ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งภายใน (Id Ego และ Superego) Ego จะใช้กลไกป้องกัน (Defense Mechanism) เพื่อขจัดความเครียดนั้นออกไป เหมือนกับการใช้สารเสพติด ถ้าใช้มากไปก็จะติด และส่งผลกระทบกับร่างกายและจิตใจ ซึ่งแน่นอนบุคคลที่มีอาการทางประสาทก็มักจะเกิดจากการที่ใช้ กลไกการป้องกันที่มากเกินไป เช่น บุคคลที่ยากจนเจอความเจ็บปวดมาตลอดชีวิต จึงเลือกใช้กลไก Fantasy เพื่อจินตนาการว่าตนเองเป็นมหาเศรษฐี และยิ่งเขาใช้มันมาก ๆ ก็จะส่งผลให้บุคคลคนนั้นหลุดออกจากความเป็นจริงไป หรือการใช้ Identification เลียนแบบผู้อื่นมากเกินไป ก็จะสูญเสียความเป็นตัวเองไป และหลุดออกจากความเป็นจริง เช่นเดียวกับกระบวนการอื่น ๆ ดังนั้นการทำให้ Ego แข็งแรงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับต่อไป

สามารถอ่านบทความเรื่อง ความลับของจิตใต้สำนึก ได้ในลิ้งนี้

สามารถอ่านบทความอื่นเพิ่มเติมจากลิ้ง สารบัญ

อ้างอิง

กิติกร มีทรัพย์.  2554.  พื้นฐานทฤษฎีจิตวิเคราะห์.  พิมพ์ครั้งที่ 5.  กรุงเทพฯ:  สมิต.

คาลอส บุญสุภา. (2560). Id Ego และ Superego ทฤษฎีโครงสร้างบุคลิกภาพ. https://sircr.blogspot.com/2017/12/id-ego-superego-sigmund-freud.html

ยศ สันตสมบัติ.  2559.  ฟรอยด์และพัฒนาการของจิตวิเคราะห์ จากความฝัน สู่ทฤษฎีสังคม.  ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Freud, A.  1937.  The Ego and the mechanisms of defense.  London: Hogarth and Institute of Psycho - Analysis

ความคิดเห็น