กลไกปากว่าตาขยิบ (Reaction Formation) ธรรมชาติของสังคม

            ทุกคนใช้คำว่าปากว่าตาขยิบกันแพร่หลายอยู่แล้ว คำว่าปากว่าตาขยิบมีความหมายว่า ปากกับใจไม่ตรงกัน ยกตัวอย่างประโยคที่นิยมใช้กันทั่วไป คือ "รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี" เป็นประโยคสอนใจที่นิยมใช้พูดกันทั่วไป ในเชิงของจิตวิทยาแล้ว มันคือการปากว่าตาขยิบ

            ความจริงแล้ว คำว่า "รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี" เป็นพฤติกรรมสำหรับคนที่กระทำรุนแรงเพื่อจะสั่งสอน คนที่อยู่ใต้อำนาจของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น คุณครู หรือ พ่อแม่ แน่นอนการลงโทษโดยการตีทำให้สามารถลด หรือยุติพฤติกรรมได้ในทางจิตวิทยา แต่การลงโทษด้วยความรุนแรงหรือใช้การตีเพียงอย่างเดียว เป็นการกระทำที่สิ้นคิด เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย (การทำร้ายร่างกาย เช่น การใช้ไม้เรียวฟาดอย่างรุนแรง) เพื่อบุตร หรือนักเรียนของตนเองเรียนรู้อะไรบางอย่าง นอกจากนั้นเรื่องรักวัวให้ผูกรักลูกให้ตีแล้ว ตัวอย่างที่เราคุ้นชินอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนคนหนึ่งที่ชอบทำบุญช่วยเหลือผู้อื่น แต่กลับเป็นคนที่ชอบทำร้ายและเอาเปรียบคนอื่น หรือ คนที่ชอบพูดออกมาว่าตนเองเป็นคนดี มีศิลธรรม แต่ความจริงแล้วมีพฤติกรรมคดโกงผู้อื่น นี้จึงเป็นตัวอย่างของคำว่า ปากว่าตาขยิบ (Reaction Formation)

Masks Masquerade Masque - Free vector graphic on Pixabay

กลไกปากว่าตาขยิบ (Reaction Formation) 

            กลไกปากว่าตาขยิบ (Reaction Formation) เป็นกลไกลป้องกันตนเองของมนุษย์ (Defense Mechanism) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อสัญชาตญาณกระตุ้นให้คนเกิดความวิตกกังวลโดยกดดัน Ego โดยตรงหรือผ่านทาง Superego (ศิลธรรม)  ดังนั้น Ego (ตัวเรา) จะพยายามที่จะเปลี่ยนแนวการป้องกันแรงกดดันนั้น โดยเน้นไปในทิศทางตรงกันข้าม ตัวอย่างเช่น หากเราเกิดความรู้สึกเกลียดชัง Ego จะเลี่ยงไปเปิดประตูความรัก เพื่อปิดความไม่เป็นมิตรเอาไว้ มันจะออกมาในรูปแบบคำพูด "ความรักนั้นสามารถลบล้างความเกลียดชังได้" ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป เพราะว่าความรู้สึกเกลียดยังถูกซ่อนอยู่ลึก ๆ ใต้อารมณ์ หากจะพูดให้ถูกจะต้องบอกว่า "ความรักเป็นหน้ากากที่อำพรางความเกลียดเอาไว้" กลไกนี้จึงเป็นกลไกของจิตใจซึ่งสัญชาตญาณอันหนึ่งถูกซ่อนไว้ในทางตรงข้ามโดยไม่รู้ตัว ลักษณะอย่างนี้จึงเรียกว่าปากว่าตาขยิบ (Reaction Formation)

            แล้วเราจะสามารถแยกระหว่าง "ความจริง" กับ "ปากว่าตาขยิบ" ได้อย่างไร ข้อแตกต่างก็คือปากว่าตาขยิบ จะมีอาการของความดัดจริต เลอะเทอะ แสดงออกมากเกินไป ทำเกินกว่าเหตุ โอ้อวด ซึ่งจะดูไม่เข้าเรื่อง เช่น บุคคลที่ทำความดีกับคนอื่นเพื่อหวังผลอะไรบางอย่าง จะมีการพูดโอ้อวด หรือทำอะไรให้ดูเวอร์เกินไป "ผมตั้งใจเสียสละหยาดเหงื่อแรงกายทำสิ่งนี้เพื่อคุณ" จึงมักมีคำพูดที่พูดกันเสมอว่า คนที่ีดีจริง ๆ มักจะไม่โอ้อวด

            การกลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัวหรือโฟเบีย (Phobia) เป็นตัวอย่างของลักษณะ "ปากว่าตาขยิบ" เป็นอย่างดี คนจะกลัวในสิ่งที่น่ากลัว แต่กลัวแบบโฟเบียนั้นเราจะไม่ได้กลัววัตถุนั้นจริง ๆ แต่เกิดจากความเชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์ในอดีตกับวัตถุเหล่านั้น (วางเงื่อนไขกับวัตถุนั้น ๆ หรือสถานที่ เช่นเคยถูกขังไว้ในที่แคบตอนเด็ก ๆ เมื่อโตขึ้นมาจึงเกิดอาการกลัวที่แคบ)

            นอกจากนั้นลักษณะปากว่าตาขยิบมีผลมาจาก Superego ด้วย โดยความจริงแล้ว Superego เป็นระบบเดียวกับวิธีปากว่าตาขยิบเหมือนกัน ซึ่งพัฒนาขึ้นมาเพื่อป้องกัน Ego ให้ไกลจาก Id (สันดานดิบ) เพราะว่าสังคมมองว่าการแสดงสัญชาตญาณดิบออกมาเป็นเรื่องที่ไม่สมควร เช่น เมื่อมีความต้องการทางเพศ ก็แสดงออกมาให้ผู้อื่นรู้ หรือ หิวก็เข้าไปแย่งผู้อื่นรับประทาน Superego หรืออุดมคติ(การใฝ่ดี)จึงเป็นเหมือนการปากว่าตาขยิบเหมือนกัน เพื่อต่อด้านสันดานดิบ (Id) มากกว่าเป็นคุณค่าที่แท้จริง เช่น การพูดถึงประโยชน์ส่วนรวมจนเกินไปอาจอำพรางความเห็นแก่ตัว หรือการทำบุญสุนทานอย่างมากอาจเป็นการอำพรางความบาปของตนก็ได้

            ลักษณะปากว่าตาขยิบจึงเป็นการปรับตัวที่ผิด ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อลดความกังวลวุ่นวายใจของตนเอง ซึ่งต้องใช้พลังงานไปเป็นจำนวนมากเพื่อหลอกตนเอง "บิดความจริง" และทำให้บุคคิกภาพไม่มีความยืดหยุ่น

ปากว่าตาขยิบเป็นเรื่องธรรมชาติของสังคม

            อย่างที่กล่าวไปกลไกนี้เป็นกลไกการป้องกันตนเองของมนุษย์ ดังนั้นมันจึงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไปอยู่แล้ว แต่ว่าในสังคมเรามักจะพบเห็นกลไกเหล่านี้ทำงานอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นท่านหรือผมเองก็เช่นเดียวกัน เช่นเดียวกับกลไกการป้องกันตัวอื่น เช่น การโทษคนอื่น แต่กลไกนี้มีข้อดีอย่างไรบ้าง แน่นอนการที่ครู/ผู้ปกครองตีนักเรียนเพราะหวังดี เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะการตีเป็นการใช้ความรุนแรงและทำให้เกิดพฤติกรรมต่อต้าน และส่งผลต่อความเครียด ความทุกข์ และอาจส่งผลสุขภาพจิตของบุตรหรือนักเรียนเสียหาย แต่รูปแบบกลไกปากว่าตาขยิบที่คนพยายามทำดีเพื่อหวังผลตอบแทนนั้นก็อาจจะเป็นข้อดีได้ ยกตัวอย่างเช่น เป้าหมายในการทำ CSR (บางบริษัท) เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสังคม หรือ การทำให้ทานกับผู้อื่น เพื่อหวังจะได้บุญ อย่างไรก็ตามผมไม่ได้บอกว่าตัวอย่างที่กล่าวมาข้างตนเป็นสิ่งที่ไม่ดีหรือไม่ควร มันเป็นสิ่งที่ดีแล้ว ไม่ว่าเจตนาเบื้องหลังของการทำดีกับผู้อื่นหรือสังคมจะคืออะไรก็ตาม มันไม่ได้สำคัญ เพราะหากสิ่งที่แสดงออกมาผู้คนได้ประโยชน์ก็เป็นสิ่งที่ดีแล้ว เพียงแต่เราจะต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมของตนเอง เพื่อทำให้ Ego เติบโตและสามารถดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับความเป็นจริงได้มากที่สุด

อ้างอิง

กิติกร มีทรัพย์.  2554.  พื้นฐานทฤษฎีจิตวิเคราะห์.  พิมพ์ครั้งที่ 5.  กรุงเทพฯ:  สมิต

คาลอส บุญสุภา. (2560). Id Ego และ Superego ทฤษฎีโครงสร้างบุคลิกภาพ. https://sircr.blogspot.com/2017/12/id-ego-superego-sigmund-freud.html

คาลอส บุญสุภา. (2560). กลไกการป้องกัน (Defense Mechanism). https://sircr.blogspot.com/2017/12/defense-mechanism.html

ความคิดเห็น