การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self Esteem) ตอนที่ 2

            จากบทความที่แล้ว การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self Esteem) ตอนที่ 1 เราได้เห็นว่าการเห็นคุณค่าในตนเอง คืออะไร ถ้ามีมากมีน้อยจะมีลักษณะอย่างไร และ มีอิทธิพลมาจากอะไรบ้าง ในบทความนี้ ซึ่งเป็นตอนที่ 2 จะอธิบายถึง ความสำคัญของการเห็นคุณค่าในตนเอง ว่ามันมีความสำคัญอย่างไร และจะพัฒนาการเห็นคุณค่าในตนเองได้อย่างไรบ้าง

ก่อนอื่นต้องทวนก่อนว่าความเห็นคุณค่าในตนเองคืออะไร 

            การเห็นคุณค่าในตนเอง เป็นความรู้สึกนึกคิดของเราเอง ที่มีต่อตนเอง ผ่านประสบการณ์ชีวิตในอดีต และจากสังคมรอบนอก ซึ่งจะมีทั้งด้านบวก และด้านลบ ยิ่งบวกมาก ก็จะมีความมั่นใจ เชื่อมั่นในตนเอง มีการมองโลกในแง่บวก ถ้าลบมาก ก็จะขาดความมั่นใจ ไม่เชื่อมั่นในตนเอง และมองโลกในแง่ลบ (สามารถเพิ่มเติมได้จากตอนที่ 1)

ความสำคัญของการเห็นคุณค่าในตนเอง

การเห็นคุณค่าในตนเองนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิต รวมไปถึงการเรียนรู้และการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น บุคคลที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองที่สูงจะสามารถเผชิญกับปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เราจะสามารถยอมรับปัญหาเหล่านั้นและจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้เนื่องจาก การเห็นคุณค่าในตนเองเปรียบเหมือนพลังที่ช่วยให้บุคคลสามารถเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตด้วยความมั่นใจ มั่นคงและดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความเป็นอิสระ ไม่พึ่งพาใคร มองตนเองในทางบวก รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีความสามารถ มีประโยชน์ ต่อสังคม มีภาวะจิตใจที่มั่นคง ในทางตรงกันข้ามถ้าบุคคลมีการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการแสดงบทบาท ขาดความมั่นใจ ไม่กล้าตัดสินใจ รู้สึกว่าตนเองขาดความสามารถ ขาดความเคารพนับถือตนเอง ส่งผลให้มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตได้ 

ความรู้สึกต่อตนเองมีผลอย่างยิ่งต่อประสบการณ์ของเราทุกแง่มุม (Branden, 1987) ไม่ว่าจะเรื่องการทำงาน ความรัก เรื่องเพศ การทำหน้าที่พ่อแม่ตลอดจนแนวโน้มว่าเราจะก้าวไปไกลแค่ไหนในชีวิต ในกระบวนการเติบโตนั้นมันง่ายที่จะออกห่างความคิดบวกต่อตนเอง แต่การเห็นคุณค่าในตนเองนั้นจะมากหรือน้อย เรามีระดับหนึ่งเสมอ ดังนั้นการเพิ่มการเห็นคุณค่าในตนเองนั้นจะทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข เผชิญชีวิตอย่างมั่นใจ และมองโลกในแง่ดีมากขึ้น ยิ่งเราเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้น เราจะยิ่งเผชิญความทุกข์ยากในชีวิตมากยิ่งขึ้น มีความยืดหยุ่นและมีพลังที่จะต้านแรงกดดันของความสิ้นหวังและความพ่ายแพ้มากขึ้น ยิ่งมีความเห็นคุณค่าในตนเองมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีความสร้างสรรค์ในการทำงานมากขึ้น ซึ่งหมายถึงโอกาสที่จะประสบความสำเร็จขึ้นด้วย และมีแนวโน้มที่จะเสริมสร้างมากกว่าการทำลายความสัมพันธ์เพราะสิ่งที่เหมือนกันย่อมชักนำเข้าหากัน ความมีชีวิตชีวาและความเปิดกว้างย่อมน่าดึงดูดใจกว่าความว่างเปล่าและความเห็นแก่ตัว

            ดังนั้นการเห็นคุณค่าในตนเองจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะในปัจจุบันผู้คนประสบพบเจออุปสรรคต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต การเห็นคุณค่าในตนเองจึงมีประสิทธิภาพอย่างมากในการก้าวข้ามผ่านปัญหา และพร้อมที่จะเผชิญอุปสรรคอย่างมั่นคง นอกจากนั้นแล้วการเห็นคุณค่าในตนเองยังส่งผลถึงการมองโลกในด้านบวก และมีโอกาสที่ดีในชีวิต ประสบความสำเร็จไม่เพียงแต่ด้านการทำงานเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นรากฐานที่สำคัญของความสุขโดยเฉพาะในด้านของความสัมพันธ์

วิธีที่จะเพิ่มความเห็นคุณค่าในตนเอง

            จากทั้งการเห็นคุณค่าในตนเองตอนที่ 1 และเนื้อหาด้านบนเราจะเห็นแล้วว่าการเห็นคุณค่าในตนเอง มีความสำคัญอย่างมากกับการดำเนินชีวิต เพราะมันมีความสัมพันธ์กับความสุข (คาลอส บุญสุภา, 2562) ความเครียด ดังนั้นการเพิ่มการเห็นคุณค่าในตนเองให้สูงมากขึ้นจังจะเป็นการเพิ่มความสุข และลดความเครียดมากขึ้นไปในตัว อย่างไรก็ตามการเพิ่มคุณค่า มีวิธีการหลายวิธีแต่ในบทความนี้จะแนะนำวิธีการของ Nathaniel Branden (1987) ผู้ที่บุกเบิกจิตวิทยาแห่งความนับถือตนเอง โดยจะยกวิธีการมาสังเขปในที่นี้

            เราจะเติบโตอย่างนับถือตนเองหรือเห็นคุณค่าในตนเองได้อย่างไร เราจะมาสรุปประเด็นสำคัญบางอย่างไรกันพร้อมกับแบบฝึกหัด

            เราต้องจำไว้ว่า ความนับถือตนเองไม่ได้ถูกกำหนดจากความสำเร็จทางโลก รูปร่างหน้าตา การเป็นที่ชื่นชอบ หรือคุณค่าอื่นใดที่อยู่พ้นไปจากอำนาจควบคุมของเราโดยตรง แต่มันเป็นเรื่องของความมีเหตุผล ความซื่อสัตย์และความซื่อตรงของเรา เป็นกระบวนการเลือกอย่างจงใจ เป็นการปฏิบัติของจิตใจที่อยู่ในความรับผิดชอบของเรา

แบบฝึกเติมประโยคให้สมบูรณ์ซึ่งช่วยให้ท่านมองเห็นได้ชัดเจนว่า ณ ปัจจุบันท่านอยู่ตรงจุดไหนในประเด็นดังกล่าวนี้ 

ถ้าฉันได้พิจารณาหลักเกณฑ์ที่ฉันใช้ตัดสินตัวเอง......
ถ้าไม่มีใครสร้างความนับถือตัวเองที่ดีแก่ฉันได้นอกจากตัวฉันเอง........
ถ้าฉันเลือกที่จะทำความเข้าใจว่าความนับถือตัวเองขึ้นอยู่กับอะไร.......
สิ่งหนึ่งที่ฉันสามารถทำได้เพื่อยกระดับความนับถือตัวของฉันคือ.........

            เนื่องจากความนับถือตัวเองเชิงบวก เป็นความรู้สึกประสบการณ์ และความเชื่อมั่นว่าตนเหมาะสมกับความท้าทายของชีวิต และเนื่องจากว่าจิตใจของเราคือเครื่องมือพื้นฐานของการอยู่รอด เสาหลักสำคัญของความนับถือตนเองอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งเดียวกับแนวทางการดำรงชีวิตอย่างมีสติรู้ตัว (ซึ่งเกี่ยวข้องกับความมีเหตุผล ความซื่อสัตย์ และความซื่อตรง) การดำรงชีวิตอย่างรู้ตัวจึงเป็นการดำรงชีวิตอย่างรับผิดชอบต่อความจริงของตัวเรา ดำรงชีวิตโดยเคารพต่อข้อเท็จจริง ความรู้ และความจริงและเป็นแนวทางในการสร้างระดับของการรับรู้เหมาะสมกับการกระทำของเรา

ถ้าฉันยอมให้ตัวเองเข้าใจความหมายของการดำรงชีวิตอย่างมีสติรู้ตัว........
ถ้าฉันยังไม่พร้อมอย่างเต็มที่ที่จะใช้ชีวิตอย่างรู้ตัว.........
ถ้าฉันยินดีจะรับรู้ว่าฉันได้ทำอะไรลงไปในเวลาที่ฉันทำ...........
ถ้าฉันยินดีที่จะเห็นสิ่งที่ฉันได้เห็นและรู้สิ่งที่ฉันได้รู้................

            การยอมรับตนเองคือการไม่ปฏิเสธหรือไม่ผลักใสมุมใด ๆ ของตัวเรา ทั้งความคิด อารมณ์ ความทรงจำ ลักษณะทางกาย ตัวตนย่อย และการกระทำของเรา การยอมรับตัวเองคือการไม่เป็นปฏิปกษ์กับประสบการณ์ของตัวเราเอง มันคือพื้นฐานสำคัญของการเติบโตและเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง และโดยความหมายสูงสุดแล้ว มันคือความกล้าที่จะเป็นหรือดำรงอยู่เพื่อตัวเราเอง ระดับความนับถือตนเองของเราไม่มีทางสูงกว่าระดับการยอมรับตัวเองของเรา

เมื่อฉันเรียนรู้ที่จะยอมรับตนเอง.........
สิ่งหนึ่งที่ฉันต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับคือ..........
เมื่อฉันเลิกต่อสู้กับตนเอง.........
เมื่อฉันยอมรับความรู้สึกของตัวเองแทนที่จะต่อต้านมัน.......
เมื่ิอฉันเรียนรู้ที่จะยอมรับการกระทำของตัวเอง...........
ฉันเริ่มตระหนัก.........

            ถ้าจะปกป้องความนับถือตนเองของเรา เราต้องรู้ว่าจะประเมินพฤติกรรมตัวเองอย่างเหมาะสมอย่างไร ซึ่งประการแรกที่ได้แก่ ต้องแน่ใจว่ามาตรฐานที่เราใช้วัดเป็นของเราเองจริง ๆ ไม่ใช่แค่ค่านิยมของคนอื่นที่เรารู้สึกว่าต้องแสร้งเห็นดีด้วย แต่ต้องใช้ความเห็นใจด้วย ซึ่งหมายถึงการเต็มใจที่จะพิจารณาบริบทและสถานการณ์ของการกระทำของเรา ตลอดจนตัวเลือกหรือทางเลือกอื่นที่เรามองเห็นในตอนนั้น ถ้าเป็นเรื่องที่เรารู้สึกผิดจริง ๆ และเห็นว่ามันสมควรที่จะรู้สึกผิด เราต้องมีขั้นตอนเฉพาะเจาะจงเพื่อแก้ไขความรู้สึกผิดแทนที่จะเป็นทุกข์ไปเรื่อย ๆ

ถ้าการมีชีวิตอยู่กับความรู้สึกผิดไปเรื่อย ๆ คือการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ.......
ถ้าฉันเต็มใจที่จะให้อภัยตนเอง.......
เมื่อพยายามทำความเข้าใจว่าทำไมฉันถึงทำอย่างที่ฉันทำ..............
เมื่อเรียนรู้ที่จะมีชีวิตตามมาตรฐานตัวเอง.............

            เราต้องเรียนรู้ที่จะไม่ต้องขออภัยในคุณสมบัติด้านบวกของตัวเรา ไม่ตำหนิตัวเองที่เรามีมัน หรือพยายามไม่ยอมรับความดีงามของตัวเรา เราต้องกล้ายอมรับจุดแข็งและคุณค่าที่เรามีอยู่ในตัว ไม่เช่นนั้น เราจะทรยศต่อความนับถือตัวเองอย่างเลี่ยงไม่ได้

ถ้าฉันไม่ยอมขอโทษสำหรับความดีงามของฉัน......
ถ้าฉันซื่อสัตย์เกี่ยวกับจุดแข็งของฉัน.......
ถ้ามันมีความพอใจในตัวของฉัน........
ถ้าฉันยอมรับว่าชอบตัวเอง.........

            เราต้องยอมรับ เป็นมิตร พูดคุยกับ และ(ถึงที่สุดแล้ว)โอบรับตัวตนย่อยที่อยู่ภายในตัวเรา เพื่อที่เราจะได้รู้สึกครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่แบ่งแยก และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวเอง

เมื่อฉันเรียนรู้ที่จะโอบรับตัวตนวัยเด็กของฉัน......
เมื่อฉันเรียนรู้ที่จะโอบรับตัวตนวัยรุ่นของฉัน........
ถ้าฉันไม่ยอมรับบุคคล/ตัวตนที่ฉันเคยเป็น..........
ถ้าฉันผูกมิตรกับทุกส่วนของฉัน.......
ฉันเริ่มมองเห็นแล้วว่า.......

            เราต้องใช้ชีวิตแบบผลักดันตัวเองไม่ใช่เฉื่อยชา ต้องรับผิดชอบต่อการเลือก ความรู้สึก การกระทำ และสุขภาวะของเรา ต้องรับผิดชอบต่อการบรรจุสิ่งที่เราปรารถนา ต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ความมีผลิตภาพก็เหมือนความเป็นอิสระ มันคือคุณธรรมพื้นฐานของการมีความนับถือตัวเอง การทำงานเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อตัวเองในรูปแบบหนึ่ง

ถ้าฉันรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองอย่างเต็มที่........
ถ้าฉันรับผิดชอบต่อสิ่งที่ฉันพูดอย่างเต็มที่.......
ถ้าฉันยังคงกล่าวโทษผู้อื่นต่อไปเรื่อยๆ........
ถ้าฉันยืนกรานว่าตัวเองเป็นเหยื่อ........
ถ้าฉันยอมรับว่าความสุขของฉันขึ้นอยู่กับตัวฉันเองคนเดียว........

            เราคงความเชื่อมั่นในตัวเองและการเคารพตัวเองได้ด้วยใช้ชีวิตอย่างเป็นตัวเองได้ด้วยการใช้ชีวิตอย่างเป็นตัวเอง มันคือความกล้าที่จะเป็นตัวเรา กล้าที่จะให้ตัวตนภายในและตัวตนที่แสดงต่อโลกภายนอกเป็นในทางเดียวกัน มันหมายถึงการใช้ชีวิตในแบบที่ยืนยันตัวเองจริง ๆ เลย ...ว่าสิ่งที่เราคิด ให้ค่า และรู้สึก เราจะแสดงให้ปรากฎต่อโลก เราจะไม่ขังตัวเองอยู่ใต้พื้นผิวของชีวิตที่ไม่ได้แสดงออกและชีวิตที่ไม่ได้ใช้

เมื่อฉันเรียนรู้ที่จะซื่อสัตย์เกี่ยวกับสิ่งที่ฉันคิดและรู้สึกมากขึ้น......
เมื่อฉันเรียนรู้ที่จะซื่อสัตย์เกี่ยวกับความต้องการของฉัน
เวลาที่ฉันคิดถึงการมีชีวิตแบบลวงหลอกของฉัน......
เมื่อฉันพร้อมที่จะเลิกการลวงหลอกเหล่านั้น.......
ถ้าฉันเต็มใจที่จะให้เวลาที่จำเป็นต่อการเรียนรู้นั้นกับตัวเอง......
ถ้าฉันเต็มใจที่จะให้ผู้อื่นได้ยินท่วงทำนองที่อยู่ในตัวฉัน........
ถ้าฉันเต็มใจที่จะแสดงให้ตนรู้ว่าฉันเป็นใคร.............
เมื่อฉันเรียนรู้ที่จะเป็นแค่ตัวฉันเอง..........

            เมื่อเราเกื้อหนุนความนับถือตนเองของผู้อื่น เราก็ได้เกื้อหนุนความนับถือตนเองของเราไปในตัว ด้วยเหตุนี้การใช้ชีวิตด้วยความเมตตาจึงเป็นตัวส่งเสริมความนับถือตนเองของเราไปในตัว ด้วยเหตุนี้การใช้ชีวิตด้วยความเมตตาจึงเป็นตัวส่งเสริมความนับถือตนเอง

ถ้าฉันปฏิสัมพันธ์กับผู้คนด้วยความเคารพและเมตตา.........
ถ้าฉันมอบมิตรไมตรีแก่ผู้อื่นอย่างที่ฉันอยากได้รับจากพวกเขา.........
ถ้าฉันยอมให้ตัวเองทำความเข้าใจสิ่งที่ฉันอ่านมาทั้งหมดนี้.........
ถ้าฉันยอมรับว่าตัวเองอาจยังไม่พร้อมจะซึมซับความรู้นีั้ได้ทั้งหมด.........
ถ้าฉันยอมให้ตัวเองเติบโตตามความพร้อมของตัวเอง.........
ถ้านี้คือการเริ่มต้นของการผจญภัยครั้งยิ่งใหญ่.........

            เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ความนับถือตัวเองในฐานะที่เป็นอุดมคติเชิงจริยธรรมและจิตวิทยานั้น มีนัยและเชื่อในคุณค่าสูงสุดของชีวิตปัจเจก อันตั้งอยู่บนวิสัยทัศน์เชิงศีลธรรมที่มองบุคคลแต่ละคนว่าเป็นเป้าหมายหรือมีคุณค่าในตัวเอง (ซึ่งตรงข้ามกับที่สอนให้ปฏิเสธตัวเอง ละทิ้งตัวเอง สละตัวเอง) และยึดประโยชน์ส่วนตนที่สมเหตุผลเป็นหลักการชี้นำ)

ถ้าฉันไม่ได้ดำรงอยู่เพื่อรับใช้คนอื่น.........
ถ้าคนอื่นไม่ได้ดำรงอยู่เพื่อรับใช้ฉัน.........
ถ้าชีวิตฉันเป็นของฉัน.........
ถ้าฉันมีสิทธิที่จะมีชีวิตจริง ๆ .........
ถ้าการยอมสละตัวเองไม่ได้ทำให้ฉันมีความนับถือตนเอง.........
ถ้าการเห็นแก่ตัวอย่างมีเกียรติต้องใช้ความกล้าหาญ.........
ฉันเริ่มตระหนักว่า.........

            เราจะเพิ่มความเห็นคุณค่าในตนเองได้ด้วยพฤติกรรมที่กล่าวมาข้างต้น ด้วยการที่เราใช้ชีวิตอย่างรู้เท่าทันอย่างยอมรับตนเอง อย่างรับผิดชอบ อย่างเป็นตัวของตัวเอง อย่างเมตตากรุณา การแสดงพฤติกรรมดังกล่าวจะให้ผลตอบแทนมหาศาลแต่ันก็เป็นความท้าทายเช่นกัน ไม่ว่าความนับถือตัวเอง ณ ปัจจุบันของเราจะอยู่ในระดับไหน และชีวิตที่เป็นผลพวงจากมันจะเป็นอย่างไร ถึงตอนนี้เราอาจะรู้สึกสบายกับโลกที่คุ้นเคย สบายกับสิ่งที่รู้จัก และเราอาจะรู้อยู่ลึก ๆ ว่าถ้าอยากเพิ่มความเห็นคุณค่าในตนเอง เราจะต้องก้าวออกมาจากพื้นที่ของความสบายที่คุ้นเคยและก้าวไปสู่ดินแดนที่ไม่รู้จัก

            อยากไรก็ตามการเห็นคุณค่าในตนเอง เป็นเรื่องที่เรียบง่ายอย่างมาก การที่เรารู้สึกมั่นใจหรือภูมิใจอะไรในตัวเองสักอย่างหนึ่งก็เป็นการเพิ่มการเห็นคุณค่าในตนเองได้อย่างดีแล้ว เช่น ความสามารถในการเล่นดนตรี ความชอบอ่านหนังสือ (เพราะหนังสือเป็นสิ่งที่ค่านิยมของคนส่วนใหญ่ยอมรับว่ายิ่งอ่านยิ่งเป็นคนเก่ง) ท่านอาจจะสังเกตว่าที่ยกตัวอย่างมาเป็นค่านิยมที่สังคมยอมรับ แต่การจะเพิ่มคุณค่าในตนเองโดยการภูมิใจกับอะไรบางอย่างที่สังคมยอมรับน้อย หรือไม่ยอมรับเลยเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้นการตระหนักได้ถึงมุมมองที่มองว่า เราเป็นตัวของเราเองมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร แสดงหาความต้องการ โดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน นั้นก็แสดงว่าเรานับถือตนเองแล้วนั้นเอง

อ้างอิง

Branden, N.  1987.  How to Raise Your Self-Esteem: The Proven Action-Oriented Approah to Greater Self-Respect and Self-Confidence.  New York: Bantam Books.

คาลอส บุญสภา.  2562.  การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการเห็นคุณค่าในตนเองของนิสิต มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ.  ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ความคิดเห็น