การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self Esteem) ตอนที่ 1

            มนุษย์ทุกคนมีคุณค่า หลายคนเคยได้ยินประโยคแบบนี้กันอย่างเอิกเกริก สมมุติว่าเราทำแบบสอบถามและถามประชาชนทั้งประเทศว่า คุณคิดว่ามนุษย์ทุกคนมีคุณค่า ผมเชื่อว่าส่วนมากคนจะตอบว่าใช่ แต่ถ้าถามว่าคุณคิดว่าตนเองมีคุณค่าหรือไม่ คำตอบอาจจะไม่ใช่แบบเดิม ถึงแม้ว่าเราจะคิดว่าคนอื่นมีคุณค่า แต่เรากลับมองว่าตนเองอาจจะไม่มีคุณค่า หรือมีคุณค่าน้อย (อาจจะมีคนหลายคนที่มองว่าตนเองมีคุณค่า แต่คนอื่นมีคุณค่าน้อย ก็มีคนประเภทแบบนี้เช่นเดียวกัน)

            ในบทความนี้จะนำพาทุกคนมารู้จักคำว่า การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self Esteem) ดูว่า มันคืออะไร มีลักษณะอย่างไร และมีอิทธิพลจากอะไรบ้าง


ความหมายของการเห็นคุณค่าในตนเอง

            Coopersmith (1981 อ้างถึงใน คาลอส บุญสุภา, 2562) ให้ความเห็นว่าการเห็นคุณค่าในตนเอง หมายถึง การประเมินตนเองตามความรู้สึกและทัศนคติที่มีต่อตนเอง เป็นการยอมรับหรือไม่ยอมรับตนเอง เป็นการประเมินโดยพิจารณาจากประสบการณ์ที่ผ่าน ๆ มาของบุคคล ในเรื่องของความสำเร็จ ความล้มเหลว ตลอดจนการตัดสินของบุคคลที่ตนเองให้ความสำคัญ เช่น คนรอบตัวอาจมองว่าเราฉลาด หรือมองว่าเราโง่

            Lilian (1988 อ้างถึงใน คาลอส บุญสุภา, 2562) ให้ความเห็นว่าการเห็นคุณค่าในตนเอง หมายถึง การยกย่องตนเองซึ่งมีผลมาจากการประเมินตนเองและจากผู้อื่น คนรอบข้าง ทำให้บุคคลนั้นมีความรู้สึกเป็นที่รักหรือเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น ซึ่งการเห็นคุณค่าตนเองนั้นจะต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างขึ้นมา แต่เกิดจากการสะสมมาตั้งแต่อดีต ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และ สิ่งแวดล้อม

            Palladino (1989 อ้างถึงใน คาลอส บุญสุภา, 2562) ห้ความเห็นว่าการเห็นคุณค่าในตนเอง หมายถึง แนวทางที่บุคคลคิดและรู้สึกเกี่ยวกับตนเองและบุคคลอื่น โดยวัดจากการกระทำของตนเอง โดยการประเมินจากประสบกาณ์ชีวิต เช่น การประสบความสำเร็จ ความล้มเหลว ต่อให้ในสายตาของคนอื่นไม่ได้มองว่าตนเองเป็นคนล้มเหลว แต่หากเจ้าตัวมองว่าตนเองล้มเหลวก็จะมีความเห็นคุณค่าในตนเองที่ต่ำลง

            ดังนั้นการเห็นคุณค่าในตนเองจึงเป็นการประเมินตนเอง ผ่านประสบการณ์ สถานการณ์ หรือเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วผ่านจิตสำนึก นอกจากนั้นยังเป็นการประเมินตนเอง จากคนรอบข้าง สังคม กล่าวคือ ถ้าคนรอบข้างมองว่าการกระทำนี้เป็นการกระทำที่ดี ประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลว แย่ ก็จะส่งผลต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง ของตัวบุคคลนั้น ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน

            โดยปกติแล้วลักษณะของผู้ที่มีการเห็นคุณค่าในตนเอง ส่วนมากเรามักจะรู้กันอยู่แล้ว ว่ามีความมั่นใจในตนเอง เชื่อมั่นในตนเองสูง เช่นเดียวกับคนที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ ก็จะมีไม่มีความมั่นใจในตนเอง แต่ยังมีลักษณะอื่นๆ ที่ Satir, (1991, 2002) และ Linderfield (1995) ที่มีความเห็นสอดคล้องกันได้อธิบายเอาไว้ (อ้างถึงใน คาลอส บุญสุภา 2562)

            ลักษณะของตนที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองสูง

                - รักตนเอง และผู้อื่น
                - สิ่งที่แสดงออกจะสอดคล้องกับความรู้สึกภายใน
                - ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล
                - มีความเชื่อมั่นในตนเอง
                - มีชีวิตชีวาและยอมรับความเป็นจริงของชีวิต
                - สามารถปรับตัวได้ดี
                - ควบคุมตนเองได้ แม้จะเผชิญความยุ่งยากก็ไม่รู้สึกหวาดกลัว
                - หากมีความกดดันสูง ก็จะแสดงความเครียดความกังวลออกมาน้อย และปรับตัวเข้าสู่ความสงบได้อย่างรวดเร็ว

            ลักษณะของคนที่เห็นคุณค่าในตนเองต่ำ

                - ต้องการเป็นที่รักของผู้อื่น บางกรณีอาจจะพยายามได้มาโดยการเอาอกเอาใจผู้อื่น
                - ยอมทำตามผู้อื่น
                - มักจะอยู่ภายใต้ความควบคุมของผู้อื่น
                - ชอบตำหนิผู้อื่นและตัดสินผู้อื่น
                - ไม่ชอบที่จะแสดงความรู้สึกภายในตนเอง
                - ไม่มีความยืดหยุ่น
                - ปรับตัวได้ยาก
                - ไม่มีอารมณ์ขัน
                - มักจะติดอยู่ในเหตุการณ์ในอดีต
                - ไม่ชอบความท้าทาย

            ดังนั้นการเห็นคุณค่าในตนเองที่สูงหรือต่ำนั้น จะส่งผลต่อพฤติกรรมที่แสดงออกมา คนที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองสูง ก็จะแสดงพฤติกรรมออกมาเปนด้านบวก เช่น ควบคุมตนเองและปรับตัวได้ดี ตรงกันข้ามกับคนที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำก็จะแสดงพฤติกรรมเป็นด้านลบออกมา เช่น ไม่เป็นตัวของต้นเอง ต้องคอยเอาใจผู้อื่นอยู่เสมอ

สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง

            มีหลายทฤษฎีที่แบ่งองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง แต่ในบทความนี้จะแบ่งออกอย่างกว้างเป็นปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก (Coopersmith, 1984)

            1. องค์ประกอบภายใน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของบุคคล

                - ลักษณะทางกายภาพ มีผลอย่างมากต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง เช่น ความสวยงาม การมีรูปร่างหน้าตาที่ดี (ตามค่านิยม) หรือลักษณะทางกายภาพบางครั้งเอื้อให้บุคคลประสบความสำเร็จในกิจกรรมที่ทำ เช่น ความแข็งแรงและความรวดเร็ว ซึ่งลักษณะทางกายภาพจะส่งผลต่อการเห็นคุณค่าในตนเองมากน้อยเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับค่านิยมของสังคมนั้น หรือค่านิยมในยุคนั้น ๆ เช่น ในสมัยก่อนคนนิยมผู้หญิงที่รูปร่างอวบ แตกต่างกับปัจจุบันที่นิยมผู้หญิงมีรูปร่างผอม

                - ความสามารถของบุคคล มีผลอย่างมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมภายในโรงเรียน ครอบครัวหรือสังคม โดยมีระดับสติปัญญาเป็นตัวช่วยสนับสนุนให้กิจกรรมหรือการกระทำนั้นสำเร็จตามวัตถุประสงค์เมื่อประสบความสำเร็จ ความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองจะเพิ่มค่าขึ้นทันที แต่เมื่อใดที่ประสบกับความล้มเหลว บุคคลจะรู้สึกว่าตนเองด้อยคุณค่า

                - สภาวะทางอารมณ์ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความพึงพอใจ ความรู้สึกเป็นสุข ความวิตกกังวล เป็นต้น สภาวะทางอารมณ์จะเกิดขึ้นเมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น แล้วส่งผลให้เราประเมินตนเอง กล่าวคือถ้าเราประเมินตนเองในทางที่ดี ก็จะรู้สึกดีหรือพึงพอใจ เช่น คนอื่นยิ้มให้เรา เราจึงรู้สึกมีความสุข ซึ่งมาจากที่เราประเมินตนเองออกมา แต่ถ้าคนอื่นด่า ต่อว่าเรา เราจะรู้สึกแย่ ซึ่งเช่นเดียวกัน ก็มาจากการประเมินตนเองของเราเอง การที่เรามีสภาวะทางอาณ์เป็นบวกหรือเป็นสุขก็ส่งผลต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง

                - ค่านิยมส่วนบุคคล เป็นการที่เราประเมินตนเองกับสิ่งที่ตนเองให้คุณค่าซึ่งคุณค่าเหล่านั้นสอดคล้องกับกับสิ่งที่สังคมรอบๆตัวเราให้คุณค่าด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราประกอบอาชีพ หมอ เรารู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองสูง กว่าการที่เราประกอบอาชีพ พิธีกร โปรดิวเซอร์ หรือเอเจนซี่โฆษณา นอกจากการประกอบอาชีพ ก็ยังเป็นการปฏิบัติตัวไปตามค่านิยมของสังคม เช่น การแต่งตัว การพูดการจา อย่างไรก็ตาม สังคมในปัจจุบันเริ่มมีการฉีกออกระหว่าง ช่วงวัย (Generation) ค่านิยมของสังคมแต่ละวันก็จะแตกต่างไปด้วย

                - ความทะเยอทะยาน คือ การประเมินตนเองของเราที่เปรียบเทียบระหว่างผลงานความสามารถ กับมาตรฐานส่วนตนที่ตั้งไว้ การที่เราสามารถทำผลงานหรือความสามารถได้ตามเป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้ เราจะเห็นคุณค่าในตนเองสูงขึ้น ซึ่งมาตรฐานนี้จะมากขึ้นตามการประสบความสำเร็จในอดีตของเราเช่น ได้เกรด 3 สำเร็จแล้ว ต่อไปก็จะตั้งเป้าไว้สูงกว่านั้น ในทางกลับกันถ้าไม่เป็นไปตามเป้า เราจะเห็นคุณค่าในตนเองน้อยลง จึงมีคำพูดว่า ถ้าเราไม่คาดหวังกับชีวิตมาก ไม่ตั้งเป้าหมายไว้ไกลมาก เราจะมีความสุข มากขึ้น เพราะเราจะไม่มีการเห็นคุณค่าในตนเองที่ลดลง (การเห็นคุณค่าในตนเองสัมพันธ์กับความสุข (คาลอส บุญสุภา, 2562))

            2 องค์ประกอบภายนอก หมายถึง สภาพแวดล้อมภายนอกที่บุคคลมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ซึ่งส่งผลให้บุคคลเกิดการเห็นคุณค่าในตนเองที่แตกต่างกันไป

                - ความสัมพันธ์กับครอบครัว เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ทั่วไปว่า สิ่งที่ทำมาในอดีตส่งผลต่อปัจจุบัน ดังนั้นประสบการณ์ที่ได้รับมาจากวัยเด็ก พ่อ แม่ หรือสิ่งแวดล้อมภายในครอบครัวมีผลอย่างมากต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง ยกตัวอย่างพฤติกรรมเช่น 1) การที่พ่อแม่ยอมรับความคิด ความรู้สึก สิทธิและคุณค่าของเด็ก 2) การที่พ่อแม่กำหนดขอบเขต กฎระเบียบการกระทำที่ชัดเจนและดูแลให้เด็กทำตาม ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย 3) การที่พ่อแม่ให้ความนับถือ ให้ความเป็นอิสระแก่เด็กภายในขอบเขตอันสมควร ให้มีโอกาสแสดงออกถึงความสามารถและความรับผิดชอบ

                - โรงเรียนและการศึกษา มีส่วนอย่างมาก และต่อเนื่องมาจากครอบครัว เพราะเป็นสถานที่ที่เด็กใช้เวลาเยอะรองลงมาจากที่บ้าน ประสบการณ์วัยเด็กที่ได้รับจากโรงเรียนจะเสริมให้เกิดการเห็นคุณค่าในตนเองเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพราะโรงเรียนจะมีหน้าที่อบรมสั่งสอนให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถ มีความเชื่อมั่น มีทักษะและมีความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเอง อย่างไรก็ตามโรงเรียนก็มีส่วนอย่างมากในการทำลายการเห็นคุณค่าในตนเองของเด็ก เนื่องจากค่านิยมของเด็กดี คือเรียนเก่ง และด้วยบุคลิกภาพที่แตกต่างกันออกไปทำให้เด็กบางคนเรียนเก่ง เด็กบางคนเล่นกีฬาเก่ง เด็กบางคนเล่นเกมเก่ง เด็กบางคนทำอาหารเก่ง เด็กบางคนพูดเก่ง โรงเรียนจึงมีหน้าที่ให้แสดงความสามารถต่าง ๆ ออกมาและ จะต้องชูให้เด็กเหล่านั้นเห็นคุณค่าในตนเอง ออกมาให้ได้

                - สถานภาพทางสังคม เป็นสิ่งที่แสดถึงสถานภาพของตัวบุคคลในสังคม โดยจะพิจารณาจากลักษณะอาชีพ ตำแหน่งหน้าที่การงาน บทบาททางสังคม รายได้หรือสถานะทางเศรษฐกิจ บุคคลที่มาจากสถานภาพทางสังคมในระดับสูง จะได้รับการปฏิบัติทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า

            กลุ่มเพื่อน การรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเองเกิดจากการที่เรารู้สึก หรือประเมินเอง โดยเราจะประเมินจากคนรอบข้าง เช่น เพื่อนของเรา (เปรียบเทียบ) ว่าตนเองมีความสามารถ ทัักษะ การเรียน ความถนัด อะไรมากกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน หากเรามีมากกว่าเราก็จะเห็นคุณค่าในตนเอง เพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราเปรียบเทียบแล้วน้อยกว่า ก็จะเห็นคุณค่าในตนเองลดลง

            การเห็นคุณค่าในตนเองจึงอยู่ที่การประเมินความรู้สึกของตัวบุคคลเอง ถ้าเราคิดว่าเรามีความสามารถ ความรู้ ความถนัด มีบุคลิกที่ดี โดยการเปรียบเทียบจากคนรอบข้างบ้าง เราก็จะเห็นคุณค่าในตนเองมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์แต่เราจะต้องพึงรับรู้เอาไว้ว่า มนุษย์เราแตกต่างกัน มีข้อดี นิสัย ลักษณะ ทักษะ ค่านิยม ต่างกัน เราจะต้องหาจุดเด่น ข้อด้ีของเราออกมาให้ ซึ่งสิ่งที่จะสามารถช่วยได้คือ ครอบครัว พ่อแม่อาจค้นหาทักษะให้ พัฒนา และส่งเสริม คุณครูที่โรงเรียนอาจจะช่วยทำให้เด็กเกิดการตระหนักรู้ในข้อดีของตนเอง และส่งเสริม ชมเชย ให้ทำกิจกรรม ให้เด็กมีการเห็นคุณค่าในตนเองมากยิ่งขึ้น และสุดท้าย หากเราโตแล้ว ไม่ได้อยู่ในระบบที่จะช่วยเหลือส่งเสริมเราได้ เราจะต้องมองข้อดี คุณค่าของตัวเองให้ออก และพัฒนาส่งเสริมมันให้เรารู้สึกว่าตนเองมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น เราก็จะมีความสุขกับการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย


สามารถอ่านบทความอื่นเพิ่มเติมจากลิ้ง สารบัญ

แหล่งอ้างอิง

Coopersmith, S.  1984.  Self-Esteem Inventories.  Palo Alto, California: Counsuting Psychologist.

คาลอส บุญสภา.  2562.  การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการเห็นคุณค่าในตนเองของนิสิต มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ.  ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.


ความคิดเห็น