ความสำคัญโรงเรียน และผลกระทบของวิกฤต COVID-19 ที่มีต่อการศึกษา

โรงเรียนเป็นสถานที่ที่เพิ่มพูนทักษะมากมาย 
นอกเหนือจากทักษะทางวิชาการ

            ในสภาพการณ์ของโลกที่เกิดวิกฤต COVID - 19 ทำให้ประเทศหลายประเทศในโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะประเทศในยุโรป อเมริกา และหลายประเทศในเอเซีย เป็นที่น่าแปลกที่หลายประเทศมีการประกาศเปิดโรงเรียนทั้ง ๆ ตัวเลขระบาดของไวรัสยังสูงอยู่ และเป็นที่น่าตกใจที่ประเทศไทยมีนโยบายเลื่อนการเปิดเทอมเป็นวันที่ 1 ก.ค. 63 

            อย่างไรก็ตามเป็นที่เข้าใจได้ในกรณีที่จะเลื่อนเปิดเทอมไปเพื่อทำให้เข้าใจกับโรคระบาด และรอให้จำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อลดลง อย่างไรก็ตามกระทรวงศึกษาธิการกลับมีนโยบายการเรียน ออนไลน์ออกมา (โดยภายหลังมีการปรับเปลี่ยนให้เป็น 3 รูป Online On-Side On- Air) 

            ในบทความนี้ผมไม่อยากเน้นเรื่องของการเรียนออนไลน์มากนัก เพราะเป็นที่ประจักษ์แน่ชัดอยู่แล้วว่า ความเลื่อมล้ำในสังคมไทยมีสูงมาก และความเลื่อมล้ำส่วนหนึ่งนั้นก็แปรผันไปตามเครื่องมือ หรือเทคโนโลยีที่จะอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันและการศึกษา ดังนั้นยิ่งมีการเรียนออนไลน์แทนการเรียนปกติจะทำให้เกิดการเลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มากกว่าเดิมแบบ "เท่าทวี" 

โรงเรียนสำคัญอย่างไร

            การศึกษาไทยเป็นโจทย์ที่ปราบเซียนนักบริหารเสมอ เพราะมีรากฐานที่ฝักรากลึก และเปลี่ยนแปลงได้ยาก แต่สิ่งนี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญในบทความนี้ เพราะการศึกษาในประเทศไทยนั้นไม่ได้มีคุณภาพทางวิชาการ ซึ่งแตกต่างจากประเทศที่มีการศึกษาอันดับต้น ๆ ของโลกที่มีการส่งเสริมด้านวิชาการที่มีคุณภาพตามวุฒิภาวะของเด็ก ในขณะที่การศึกษาของเรามีการเรียนที่เยอะ จำนวนชั่วโมงต่อวันสูง ทำให้เด็กไม่ได้มีเวลาในการค้นหาตนเอง หรือ สร้างอัตลักษณ์ของตนเอง หรือเสริมทักษะตามความถนัดของนักเรียน

            ในความจริงแล้วเหตุผลที่เด็กจำเป็นต้องไปโรงเรียนก็เพราะว่า โรงเรียนเป็นสถานที่ที่เพิ่มพูนทักษะมากมายนอกเหนือจากทักษะทางวิชาการ โดยจะยกตัวอย่างทักษะบางอย่างที่จำเป็น เช่น

                - ทักษะทางสังคม เป็นทักษะของการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่มาก การเรียนรู้ที่จะมีข้อตกลงร่วมกันในสังคม และความรับผิดชอบต่อสังคม 

                - ทักษะความสัมพันธ์ เป็นทักษะที่เรียนรู้เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันในกลุ่มเพื่อน การเจรจาต่อรองกันในกลุ่มเพื่อนหรือบุคคลที่มากลั่นแกล้ง การเรียนรู้ที่จะเป็นผู้นำ ผู้ตามในกลุ่ม

                - การค้นหาตนเอง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการที่เด็กได้ลองผิดลองถูกกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งการค้นหาตนเองนั้นไม่ใช่เพียงแค่รู้ว่าตนเองเก่งวิชาอะไร แต่เป็นการรู้จักตนเอง เช่น การรู้จักข้อดี ข้อเสียของตนเอง ความถนัด ความสามารถของตนเอง และจะต่อยอดอย่างไรต่อไปในอนาคต เช่น การเรียนต่อ หรืออาชีพที่อยากเป็น

                - ทักษะการคิดการตัดสินใจ โดยทักษะนี้จะเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันในกลุ่มเพื่อน ในสังคม ระหว่างเพื่อน หรือครู เช่น การตัดสินใจเลือกใช้คำพูด การตัดสินใจว่าจะใช้ความรุนแรงหรือไม่ การตัดสินใจว่าจะหาข้ออ้างอะไรในกรณีที่ไม่ได้ทำการบ้าน หรือการวางแผนทำกิจกรรมในโรงเรียน การวางแผนก่อนการสอบ การตัดสินใจเลือกวิธีการติวบทเรียนก่อนสอบ

                - Executive functions (EF) เป็นความสามารถของสมองและจิตใจที่ใช้ในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ยังเขียนในหนังสือชื่อเลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ EF (2561) ว่าการมี EF ที่ดีจะทำให้เด็ก สามารถดูแลตนเองได้ เอาตัวรอดได้ และมีอนาคตที่ใช้ได้ สามารถมองไปข้างหน้า ตัดสินใจและลงมือ มีความยืดหยุ่น รับผิดชอบ และสามารถวางแผนจัดการตนเองได้ 

ทักษะสังคม ความสัมพันธ์ การค้นหาตนเอง การตัดสินใจ และ EF สร้างขึ้นจากโรงเรียน

            Executive Functions หรือ EF จะถูกพัฒนาขึ้นจากการใช้ชีวิตประจำวัน การตัดสินใจ การวางแผน การเล่น การทำงาน (ทำเวร) การอดเปรี้ยวไว้กินหวาน เช่น การออมเงิน การสะสมสติ๊กเกอร์แลกของรางวัล (ครู ครูประจำชั้น ครูแนะแนว ครูการศึกษาพิเศษ สามารถนำเอาไปใช้เพื่อฝึกให้กับนักเรียนได้) กล่าวคือ EF เป็นทักษะที่พัฒนาผ่านประสบการณ์ชีวิต โรงเรียนจึงเป็นสถานที่ในการสร้าง EF ได้อย่างดี เพราะโรงเรียนเป็นสังคมที่หลอมไปด้วยผู้คน วิถีชีวิต และวัฒนธรรมหลายรูปแบบ

            นอกจากนั้นยังมีหลายทักษะนอกเหนือจากที่กล่าวมา ที่จะหล่อหลอมให้เด็กเติบโตขึ้นไปอย่างมีคุณภาพนอกเหนือจากวิชาการในโรงเรียน นอกจากทักษะต่าง ๆ แล้วยังมีสิ่งที่สำคัญอีกอย่างของโรงเรียนคือ อาหารกลางวันตามโภชนาการและนมโรงเรียน เพราะด้วยปัญหาความเลื่อมล้ำและความยากจนในหลาย ๆ พื้นที่ของประเทศไทย ทำให้มีหลายครัวเรือนที่อดอยาก ต้องอดมื้อกินมื้ออาหารเที่ยงที่โรงเรียน และนมโรงเรียนจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตของเด็กนักเรียน นอกจากนั้นยังมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ให้ทุนอาหารเช้ากับนักเรียนที่ยากจนพิเศษ 

ความเหลื่อมล้ำกับการศึกษา

            จะเห็นได้ว่าเรื่องเกี่ยวกับโภชนาการ ทักษะต่าง ๆ หรือความสามารถทางด้านวิชาการ จะมีมากมีน้อย จะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจของในแต่ละบ้าน ครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ก็จะมีเวลา มีทรัพยากรในการเพิ่มพูนทักษะเหล่านี้ให้กับเด็ก ในขณะที่ครอบครัวที่ยากจน พ่อแม่ก็จะไม่ค่อยมีเวลา และทรัพยากรที่น้อยในการเพิ่มพูนทักษะเหล่านี้ โดยเฉพาะประเทศไทยมีความเลื่อมล้ำทางสังคมที่สูงมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่เลวร้ายอย่างมากในเชิงสังคม เพราะว่าความเลื่อมล้ำมีผลทางด้านจิตวิทยา 

            กล่าวคือความเลื่อมล้ำส่งผลให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองเหนือกว่าหรือต่ำต้อย การถูกให้ค่าหรือลดทอนคุณค่า และสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือความไม่มั่นคงทางจิตใจ เพราะเด็กจะกังวลมากขึ้นว่าสังคมจะมองว่าตนเองเป็นอย่างไร จะถูกมองว่าฉลาด มีเสน่ห์หรือไม่ ซึ่งโครงสร้างความคิดแบบนี้ (Mindset) จะส่งผลให้เกิดความเครียด ความกลัว มากยิ่งขึ้น (Wilkinson and Pickett, 2009) เด็กวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 10 - 15 ปี ที่มีสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจต่ำ มักจะเป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล มากกว่าเด็กที่มีสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจสูงกว่า 2.5 เท่า 

            ดังนั้นยิ่งเลื่อมล้ำมากก็ยิ่งเสี่ยงต่อโรคทางจิตใจ โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีพ่อแม่เพียงคนเดียว (ซึ่งส่วนใหญ่พบในครอบครัวที่มีปัญหาทางด้านการเงิน) จะมีความซึมเศร้ามากกว่า ใช้ยาเสพติดมากกว่า สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์มากกว่า ให้นมน้อยกว่า และกระตุ้นการใช้ภาษาของเด็กน้อยกว่า (Anda Fleisher and Felitti, 2004) 

            นอกจากนั้นยังมีการศึกษาประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก เช่น การถูกทอดทิ้ง การถูกทำร้าย หรือความรุนแรงในครอบครัว ที่มาปรากฎในวัยผู้ใหญ่ พบว่า ประสบการณ์ที่เลวร้ายในวัยเยาว์นั้นมีความสัมพันธ์กับ สุขภาพกายที่มีปัญหา ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่สูง โรคซึมเศร้า และมีอัตราการฆ่าตัวตายที่สูง การติดเหล้า การใช้ยาเสพติด มีผลการปฏิบัติงานที่ไม่ดี รวมไปถึงมีปัญหาในการเข้าสังคม และยังมีความเครียดง่ายกว่าปกติ (Perry, 2004 cited in Heckmen, 2008)

            ความจริงแล้วรัฐบาลสามารถลดความเลื่อมล้ำได้โดยการมีสวัสดิการทางสังคม (รัฐสวัสดิการ) ให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถออมเงิน หรือ นำเงินไปใช้จ่ายที่จำเป็นอื่น ๆ และเป็นหนี้น้อยลง มีสุขภาพจิตที่ดีมากยิ่งขึ้นและสามารถเอาเวลาไปคิดทางด้านการส่งเสริมชีวิตของตนเองได้ นอกจากนั้นสิ่งที่จะลดความเลื่อมล้ำทางสังคมได้ก็คือ การศึกษา 

            เพราะการศึกษาเป็นการให้โอกาสกับเด็ก ในกรณีที่ประเทศมีการศึกษาที่ดีจะสามารถทำให้นักเรียนเติบโตในเส้นทางของเขาได้ มีความถนัด มีบุคลิกภาพที่แตกต่างกันออกไป ก็จะทำให้เกิดโอกาสอย่างมากกับสังคมไทยในภายภาคหน้า ดังนั้นเราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา ลงทุนกับวิธีการศึกษาที่ถูกค้อง และเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อตัวเด็กเอง ครอบครัว และสังคม ไปจนถึงประเทศชาติ 

ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้นจาก COVID-19

            ด้วยสถานการณ์ COVID - 19 ที่ระบาดในปัจจุบัน และตัวเลขของประเทศไทยที่มีอัตราผู้ติดเชื้อน้อยอย่างมาก (มีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศเป็น 0 ติดต่อกันหลายวัน 19 มิ.ย.63) การที่กระทรวงศึกษาธิการให้นักเรียน เรียนออนไลน์ในคอมพิวเตอร์ ออนแอร์ในทีวี จะทำให้เกิด"อภิมหาความเลื่อมล้ำ"อย่างมาก เพราะว่า

            1. เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันทางด้านความสนใจ บุคลิกภาพ เด็กบางคนสามารถจดจ่อ มีสมาธิได้กับการเรียนมากกว่า มีความเหมาะกับเรื่องวิชากรมากกว่า บางคนอาจเหมาะกับกิจกรรมอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการเรียน ซึ่งความแตกต่างนี้่ส่วนหนึ่งขึ้นอยู้่กับการฝึกตั้งแต่เด็กจากการดูแลของผู้ปกครอง

            2. เด็กที่บ้านมีพ่อแม่ให้ความปลอดภัยตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ดีมากกว่า กล่าวคือถ้าเด็กรู้สึกปลอดภัย มีพ่อแม่คอยอยู่ใกล้ ๆ เด็กจะอยากที่จะเล่น สำรวจสิ่งต่าง ๆ ซึ่งคือการเรียนรู้ของเด็ก ดังนั้นถ้าบ้านไหนมีความพร้อมในด้านดังกล่าวตั้งแต่แรก ก็จะได้เรียนรู้ ทดลองสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง และก็จะส่งผลให่มี EF ความจำ การทำงานของสมอง การวางแผน การอดกลั่น ที่ดีกว่าและมีผลต่อความสำเร็จในด้านการเรียนด้วย เพราะว่าสามารถที่จะเรียนรู้ได้มากกว่าเด็กที่ไม่มีความพร้อมหรือมีความพร้อมน้อย ครอบครัวที่มีความพร้อมมีเพียงไม่กี่ % ของประเทศไทย 

            3. สิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่นคอมพิวเตอร์ Tablet อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ลำโพง ไมโครโฟน และอื่น ๆ ที่จะสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนได้ นอกจากนั้นแล้วยังมีพวกหนังสือ แอร์ ที่นั่ง โต๊ะ และอาหารการกินที่จะสามารถอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของเด็กได้ 

            สิ่งที่จะช่วยลดความเลื่อมล้ำได้นอกเหนือจากรัฐสวัสดิการที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว โรงเรียนก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะสามารถลดความเลื่อมล้ำได้ เพราะหากประเทศไทยของเรามีการศึกษาท่ี่มีประสิทธิภาพ โรงเรียนจะเป็นที่ที่ทำให้นักเรียนได้ฝึก EF มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาหารที่ดีตามโภชนาการ (มีอาหารเช้า อาหารเย็นให้นักเรียนยากจนด้วยยิ่งดี) และที่สำคัญที่สุดคือมีครูที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้และค้นหาตัวเองของเด็ก รวมไปถึงเป็นผู้ที่ให้ความรู้ ทักษะ ต่าง ๆ ที่สำคัญในการดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคต สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กสามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ ต่อให้มีความเลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจสูงมากแค่ไหนก็ตาม 

การศึกษาที่ดีจะช่วยบีบช่องว่างแห่งความเลื่อมล้ำได้ 

            ดังนั้นจึงเป็นความจำเป็นอย่างมากที่นักเรียนจะต้องไปเรียนตามปกติ ด้วยมาตรการป้องกัน โดยกระทรวงศึกษาธิการจะต้องร่วมมือกับโรงเรียนทุกโรงเรียนในการปฏิบัติ ความกลัวของรัฐบาลจะทำให้ครอบครัวที่ยากจนเสียโอกาสอย่างมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ครอบครัวหลายครอบครัวเกิดวิกฤตไม่สามารถทำมาหากินได้ตามปกติ หรืออาจจะทำได้แต่มีผู้บริโภคในประเทศน้อยลง นักท่องเที่ยวไม่มี ทำให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั่งบางครอบครัวไม่ได้รับเงิดชดเชยเยียวยาจากรัฐบาลอีกด้วย เพราะอย่างไรก็ตาม 

การที่ประเทศของเราจะมีการศึกษาที่ดีได้นั้น 
ไม่พ้นการต้องมีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ 

อ้างอิง

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์.  2561.  เลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ EF. พิมพ์ครั้งที่ 7 กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พบลิชชิ่ง. 

Anda, R. F., Fleisher, V. and Felitti, V.  2004.  Childhood abuse, household dysfunction, and indicaors of impaired worker performance in adulthood." Permanente Journal, 8, 30-38.

Heckman, J.  2008.  School, Skill, and Synapses. Economic Inquiry, Western Ecomic Association International, 46(3), 283-324.

Willkinson, G. and Pickett, K.  2009.  Income Inequality and Social Dysfunction. Annual Review of Sociology. 35(1).

ความคิดเห็น