การให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา (Counseling Psychology)

            ตอนที่ผมเรียนจิตวิทยาทั้งปริญญาตรี และปริญญาโท วิชาที่นักศึกษาอยากจะเรียนมากที่สุดคือจิตวิทยาการให้คำปรึกษา ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? คำตอบนั้นไม่ยาก เพราะว่าในชีวิตของทุกคนล้วนเคยให้คำปรึกษาเพื่อน ๆ หรือคำแนะนำให้กับเพื่อน ๆ ด้วยกันทั้งนั้น คำว่าปรึกษาจึงไม่ใช่สิ่งที่อยู่ไกลตัว

            ผู้ให้คำปรึกษา หรืออาจารย์ทางด้านจิตวิทยาการให้คำปรึกษา จะบอกว่าการให้คำปรึกษาเพื่อนนั้นจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องทางจิตวิทยา มันเป็นการให้คำแนะนำเฉย ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วก็เป็นคำพูดที่ถูกครึ่งหนึ่ง จริงที่จิตวิทยาการให้คำปรึกษามีกระบวนการและทักษะซึ่งจะต้องได้รับการฝึกฝน และเรียนมาถึงจะสามารถใช้ปฏิบัติได้ แต่กระบวนการที่ให้คำแนะนำเพื่อน ก็เป็นการให้คำปรึกษาเช่นเดียวกัน เพราะก่อนที่เราจะสามารถให้คำแนะนำใครได้ก็จำเป็นที่จะต้อง "เป็นผู้ฟังก่อน" ซึ่งการฟังเป็นหัวใจสำคัญของจิตวิทยาการให้คำปรึกษา ดังนั้นแล้ว หากเราสามารถเรียนรู้จักการฟังที่ดี เป็นผู้ฟังที่ดี ก็สามารถให้คำปรึกษาผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพไปครึ่งหนึ่งแล้ว อีกครึ่งหนึ่งก็คือกระบวนการ และทักษะของผู้ให้คำปรึกษา ซึ่งความหมาย กระบวนการ และทักษะบางประการ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ความหมายของการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา

            การให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา คือ กระบวนการที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคล โดยอาศัยการสื่อสารแบบ 2 ทางของผู้ให้ และผู้รับคำปรึกษา ซึ่งผู้ให้คำปรึกษาจะมีหน้าที่ในการช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาได้เข้าใจสิ่งที่เป็นปัญหา เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจสิ่งแวดล้อม จนสามารถตัดสินใจหรือแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยตนเองได้ และสามารถปรังปรุงตลอดจนพัฒนาตนเองต่อยอด ต่อไปได้ในอนาคต

            กล่าวคือจิตวิทยาให้คำปรึกษาเป็นกระบวนการให้คำปรึกษากับบุคคลจนสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเองและเติบโตได้

กระบวนการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา

            1. การสร้างสัมพันธภาพ คือ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อตกลงในการบริการ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย กระบวนการ บทบาท เวลา และการรักษาความลับ การสร้างสัมพันธภาพที่ดีนั้นจะช่วยให้ผู้รับคำปรึกษามีความเครียดลดลง ผ่อนคลาย เกิดความไว้วางใจ ซึ่งช่วยให้ผู้รับการปรึกษาแสดงความรู้สึกของตนเองได้ มีความตั้งใจที่จะให้ความร่วมมือ และเข้าใจกระบวนการให้คำปรึกษามากยิ่งขึ้น

            2. การสำรวจปัญหา คือ การที่ผู้ให้คำปรึกษาจะใช้ทักษะต่าง ๆ เพื่ออำนวยและกระตุ้น ให้ผู้รับคำปรึกษาสำรวจปัญหาและความต้องการของตนเอง ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลานาน ขึ้นอยู่กับ สติปัญญา ความสามารถ ลักษณะนิสัยของผู้รับคำปรึกษา และความชำนาญของผู้ให้คำปรึกษา โดยจะต้องอาศัยทักษะการใส่ใจ ฟังอย่างใส่ใจ และสังเกตเพื่อจะทำให้ผู้ให้คำปรึกษาสามารถเข้าใจปัญหาของผู้รับคำปรึกษาได้ดีมากยิ่งขึ้น

            3. เข้าปัญหา สาเหตุ และความต้องการของผู้รับคำปรึกษา คือ การที่ผู้ให้คำปรึกษาทำให้ผู้รับเกิดความกระจ่างในปัญหาของตนเองอย่างแท้จริงโดยผู้ให้คำปรึกษาจะต้องใช้ทักษะต่าง ๆ เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าใจตั้งแต่สาเหตุปัญหาของตนเอง ช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาได้คิด ได้สำรวจความรู้สึกของตนเอง ความต้องการของตนเอง และมองเห็นแนวทางที่จะแก้ไขปัญหานั้นได้ด้วยตนเอง

            4. การวางแผนแก้ปัญหา คือ การที่ผู้ให้คำปรึกษาร่วมกับผู้รับคำปรึกษาวางแผนแก้ไขปัญหา ซึ่งในขั้นนี้ผู้ให้คำปรึกษาไม่ควรเร่งรีบและด่วนตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาของผู้รับคำปรึกษา แต่จะให้กำลังใจแก่ผู้รับคำปรึกษาในการวางแผนแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามผู้ให้คำปรึกษาสามารถเสนอแนะ และเปิดโอกาสให้ผู้รับคำปรึกษาได้แสดงความคิดเห็นในข้อเสนอแนะนั้น ๆ ซึ่งจำเป็นที่ผู้รับคำปรึกษาจะต้องตัดสินใจเลือกวิธีแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดด้วยตนเอง โดยเป็นแนวทางที่สามารถทำได้จริง มีโอกาสประสบความสำเร็จ และมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติด้วยตนเอง ผู้ให้คำปรึกษาจึงไม่ควรบังคับหรือแนะนำวิธีการแก้ปัญหาที่ผู้รับคำปรึกษาไม่สามารถปฏิบัติได้

            5. การยุติการปรึกษา คือ การที่ผู้ให้คำปรึกษาให้สัญญาณแก่ผู้รับคำปรึกษาว่า หมดเวลาแล้ว และให้ผู้รับคำปรึกษาได้สรุปสิ่งต่าง ๆ จากการสนทนาในครั้งนี้ ซึ่งผู้ให้คำปรึกษาจะคอยเพิ่มเติมประเด็นที่ขาดหายไป หรือมีความจำเป็นต้องส่งต่อ ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องให้ข้อมูล และทำความเข้าใจกับผู้รับคำปรึกษาอย่างชัดเจน รวมไปถึงเปิดโอกาสให้ผู้รับคำปรึกษาสามารถพบได้ในครั้งต่อไปถ้าเกิดว่าเขาต้องการ พร้อมทั้งให้กำลังใจแก่ผู้รับคำปรึกษาในการปฏิบัติตามข้อตกลงที่เกิดขึ้นในระหว่างการให้คำปรึกษาก่อนสิ้นสุดการให้คำปรึกษา

            เมื่อผู้ให้และผู้รับคำปรึกษามีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ผู้รับคำปรึกษาจจะกล้าเปิดใจเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวด ความทุกข์ใจ ซึ่งเรื่องเล่าเหล่านั้นมักจะสับสนและไม่สอดคล้องกัน ไม่ชัดเจน จนไม่สามารถเข้าใจปัญหาของตนเองได้และอาจนำไปสู่การวางแผนแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกต้อง ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องใช้ทักษะในการให้คำปรึกษาเพื่อช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาสามารถเข้าใจปัญหาของตนเองซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง และตรงจุด

ทักษะการให้คำปรึกษา

            สำหรับทักษะการให้คำปรึกษาผมจะอธิบายยกตัวอย่างทักษะที่จำเป็นอย่างมากในการให้คำปรึกษามา 4 ทักษะ ดังต่อไปนี้

            1. ทักษะการตั้งคำถาม (Question) เป็นทักษะสำคัญในการเปิดโอกาสให้ผู้รับการปรึกษาได้บอกถึงความคิด และความรู้สึกต่อเรื่องราวต่าง ๆ เป็นข้อมูลสำคัญที่จะให้คำปรึกษาเข้าใจถึงปัญหาของผู้รับการปรึกษามากยิ่งขึ้น คำถามมี 2 รูปแบบใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้

                1.1 คำถามปลายปิด (Close-Ended Question) เป็นการถามเพื่อทราบข้อมูลเฉพาะ ซึ่งจะได้คำตอบเพียงสั้น ๆ เช่น ใช่หรือไม่ใช่ 

                1.2 คำถามปลายเปิด (Open-Ended Question) เป็นการถามที่ไม่ได้กำหนดขอบเขตของการตอบ จึงช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาได้มีโอกาสบอกถึงความคิด และความรู้สึก ซึ่งจะทำให้ผู้ให้คำปรึกษาเข้าใจถึงปัญหาและความต้องการของผู้รับคำปรึกษาได้ เช่น อะไร อย่างไร ทำไม 

            2. การสะท้อนความรู้สึก (Reflection of Feeling) คือ การที่ผู้ให้คำปรึกษาสื่อสารความรู้สึกของผู้รับคำปรึกษาที่ส่งมากลับไป ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ผู้รับการปรึกษามีในขณะนั้น แต่ไม่ได้พูดออกมาตรง ๆ ซึ่งการสะท้อนความรู้สึกนั้นควรทำเมื่อผู้ให้คำปรึกษาต้องการสื่อให้ผู้รับคำปรึกษารับรู้และเข้าใจความรู้สึกของตนเอง จะเป็นการช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาได้สำรวจและรับรู้ความรู้สึกที่ตนมีซึ่งบางครั้งผู้รับคำปรึกษาอาจจะปฏิเสธไม่ยอมรับรู้ หรือไม่ให้ความสำคัญ แต่ความรู้สึกนั้นกลับมีผลต่อพฤติกรรม และความคิดของผู้รับการปรึกษา โดยจะถ่ายทอดทางสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง จังหวะการพูด ฯลฯ เพื่อให้ผู้รับการปรึกษายอมรับหรือทำความเข้าใจกับความรู้สึกของตนเองที่เกิดขึ้น ซึ่งมักจะขึ้นต้นด้วยคำว่า "คุณรู้สึก" 

            3. การให้ข้อมูล (Informing) คือการที่ผู้ให้การปรึกษาให้ข้อมูลที่เฉพาะเจาะจง ให้ข้อเท็จจริง เพื่อบอกให้ทราบถึงรายละเอียดต่าง ๆ ที่จำเป็นแก่ผู้รับคำปรึกษา ซึ่งจะช่วยให้ผู้รับการปรึกษาเข้าใจถึงปัญหาของตนเอง และใช้ประกอบการตัดสินใจ เช่น การให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพ การศึกษาต่อ ข้อมูลแวดล้อมอื่น ๆ เช่นสภาพทางสังคม ข้อเท็จจริงต่าง ๆ โดยการให้ข้อมูลจะช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาสามารถวางแผนแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง รวมไปถึงแนวทางในการดำเนินชีวิต 

            4. การนำ (Leading) เป็นการกระตุ้นให้ผู้รับคำปรึกษาพูดในสิ่งที่ไม่มั่นใจ หรือไม่กล้าพูดออกมา ซึ่งจะช่วยให้ผู้รับการปรึกษาได้สำรวจหรือแสดงออกถึงความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรมของตน รวมไปถึงการทำความเข้าใจ ความคิด ความรู้สึก และประสบการณ์ต่าง ๆ จนสามารถหาแนวทางการแก้ไขปัญหาได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น

            ทักษะดังกล่าวที่ผมยกขึ้นมานี้เป็นทักษะที่มักจะถูกนำมาใช้ในการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา ในความจริงแล้วยังมีอีกหลายทักษะพื้นฐานที่สามารถนำไปช่วยเหลือผู้รับคำปรึกษาให้สามารถเข้าใจปัญหาของตนเอง และค้นหาทางแก้ไขปัญหาด้วยตัวเขาเองได้

            ย้อนกลับไปในด้านบนที่ผมบอกว่าหัวใจของการให้คำปรึกษาคือการฟัง ซึ่งจริง ๆ แล้วการที่เราสามารถรับฟังเรื่องราวความไม่สบายใจของผู้อื่นได้ก็เป็นกุญแจสำคัญในการช่วยเหลือเขาได้เช่นเดียวกัน ในหนังสือ The Happiness Hypothesis ของ Jonathan Haidt ได้เล่าเกี่ยวกับการศึกษาของ James Pennebaker ที่ให้คนเปิดอกบอกเล่าความลับ โดยเขาขอให้กลุ่มทดลองเขียนถึงประสบการณ์ที่ทำให้รู้สึกแย่ที่สุด กระทบกระเทือนใจมากที่สุดตลอดชีวิตออกมา โดยเฉพาะในเรื่องที่ไม่เคยพูดกับใครมาก่อน และให้กลุ่มควบคุมเขียนเรื่องทั่ว ๆ ไป การทดลองให้เขียนเรื่อย ๆ วันละ 15 นาที ติดต่อกัน 4 วัน จากนั้น 1 ปี Pennebaker พบว่า คนที่เขียนเล่าเรื่องราวในอดีตที่สะเทือนใจนั้นไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลน้อยกว่าในปีถัดมา ซึ่งสนับสนุนกับความคิดของ Sigmund Freud ที่กล่าวถึงการระบายอารมณ์ ว่าเป็นการที่คนเราระบายความอัดอั้นในอก หรือ ปล่อยอารมณ์ร้อนออกมาซึ่งจะเป็นเรื่องดีต่อสุขภาพ 

            สิ่งที่ผมกำลังจะบอกก็คือขนาดงานวิจัยที่ให้เขียนเรื่องราวยังมีผลได้ถึงขนาดนี้ หากเราสามารถเปิดเผยความรู้สึกที่ไม่ดีออกมาให้คนอื่นได้ฟัง หรือเรื่องที่ไม่สบายใจออกมาได้ มันจะเป็นผลดีต่อสุขภาพจิต และสุขภาพกายอย่างมาก ดังนั้นการให้คำปรึกษาสามารถสำเร็จไปเกินกว่าครึ่งแล้วหากเราหรือผู้ให้คำปรึกษาเป็นนักฟังที่ดี และอีกฝ่ายหนึ่งเปิดเผยเรื่องราวที่ไม่สบายใจอย่างซื่อตรง และการให้คำปรึกษาจะยิ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก หากผู้ให้คำปรึกษาสามารถดำเนินกระบวนการให้คำปรึกษาพร้อมกับใช้ทักษะ และรับฟังอย่างใส่ใจ เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาได้ระบายความไม่สบายใจทั้งที่เขารู้ตัว (กำลังคิดถึงมันอยู่) และที่ไม่รู้ตัว (ไม่ได้คิดถึงมัน) ออกมาได้

 ซึ่งอาจจะทำให้รอยยิ้มของผู้คนที่มีความทุกข์ ที่ครั้งหนึ่งเคยยิ้มได้อย่างบริสุทธิ์ใจนั้น กลับมายิ้มใหม่อีกครั้งก็เป็นได้

แหล่งอ้างอิง

จีน แบรี่.  2549.  การให้คำปรึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: เจริญวิทย์การพิมพ์.

Corey, G.  2013.  Theory and practice of counseling and psychotherapy (9th ed.). CA: Brook/Cole.

Haidt, J.  2006.  The Happiness Hypothesis: Finding Modern Truth in Ancient Wisdom. NY: Basic Books.

ความคิดเห็น