มารู้จักกับ ความเครียด (Stress)

การที่บุคคลเคยเผชิญกับประสบการณ์ทางลบในวัยเด็ก ก็จะมีความเครียดง่ายปกติ   

            หลายคนคงคุ้นเคยกับคำว่าความเครียดดี เพราะมักจะเป็นคำที่ทุกคนใช้กันเยอะมากขึ้น ยิ่งในสมัยนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผลันโดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี ที่เรามักคุ้นหูกันว่า Technology Disruption หรือการแทรกแซงของเทคโนโลยี ทำให้สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงอย่างผลิกผัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ถูกเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ จนเกิด Start up ซึ่งคือเป็นบริษัทใหม่ ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำให้การใช้ชีวิตของคนดีขึ้น 

            นอกจากนั้นยังมีการระบาดของโควิด-19 ที่ในปัจจุบันเกิดการระบาดระรอกใหม่ในประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว และทำให้บางภาคส่วนของเศรษฐกิจต้องปิดตัวลง เช่น การท่องเที่ยว การบิน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อรายได้ของบุคคลที่ลดลง 54% ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 33% มีหนี้สินในระบบ 14% และนอกระบบ 9%  นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบกับการทำงานของพนักงาน และมีการถูกเลิกจ้าง 14.5% (สำนักงานสถิติแห่งชาติ และคณะ, 2563) รวมไปถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเฉพาะบุคคลเช่น การทำงานที่ ความกดดัน ความวิตกกังวล ฯลฯ

            จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ผู้คนเกิด "ความเครียด" ผมจึงอยากจะนำเสนอความเข้าใจเกี่ยวกับความเครียดโดยคาดหวังว่าผู้อ่านจะเข้าใจความเครียดมากขึ้น เข้าใจถึงสาเหตุ และผลกระทบของความเครียดมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะสามารถรู้เท่าทันความรู้สึกของตนเอง อย่างไรก็ตามอารมณ์ ความรู้สึกเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอโดยที่เราไม่รู้ตัว หากเราสามารถรู้เท่าทันอารมณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า ความโกรธ หรือความเครียดก็ตาม จะสามารถทำให้จัดการกับมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เผลอทำร้ายคนที่เรารักโดยที่เราไม่รู้ตัว

ความเครียดคืออะไร และมีสาเหตุจากอะไร

            ความเครียด (Stress) เป็นอารมณ์ หรือความรู้สึกที่ไม่สบายใจ คับข้องใจ กดดันให้รู้สึกทุกข์ใจ เป็นการตอบสนองของร่ายกายหรือจิตใจที่มาคุกคามทำให้เกิดความไม่สมดุลขึ้นชั่วคราว และร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาภาวะสมดุล (Homeostasis) (แสดงออกเป็นความเครียด)  โดยความเครียดนั้นจะแสดงออกมาทางความคิด ซึ่งเกิดจาการรับรู้ และตีความของเราเอง กล่าวคือ เราประเมินสิ่งต่าง ๆ ผ่านประสบการณ์ของเราว่าสิ่งนั้นคุกคาม และเป็นอันตรายมากน้อยแค่ไหน จึงทำให้ร่ายการทำงานหนักมากขึ้น  ดังนั้นระดับความเครียดจะมากหรือน้อย มีสาเหตุมาจากการประเมินหรือตีความของเราเอง โดยตีความจากปัจจัยภายนอก เช่น สถานการณ์โควิด-19 การตกงาน หรือโดนตำหนิ ที่สัมพันธ์กับปัจจัยภาย เช่น ประสบการณ์ในวัยเด็ก บุคลิกภาพ ทัศนคติ อารมณ์ หรือความต้องการของบุคคล

            ดังนั้นเราจะเครียดมากน้อย ขึ้นอยู่กับว่าเราประเมิน ตีความมันอย่างไร โดยขึ้นอยู่สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นที่สัมพันธ์กับ ประสบการณ์ของเราเอง เช่น เมื่อในอดีตเราอาจเคยโดนกลั่นแกล้งทำร้ายร่างกาย เมื่อเราโตขึ้นแล้วเห็นคนโดนทำร้าย เราอาจจะรู้สึกเครียดมากกว่าคนทั่วไป เพราะการที่บุคคลเคยเผชิญกับประสบการณ์ทางลบในวัยเด็ก ก็จะมีความเครียดง่ายปกติ

ผลของความเครียด

            ความเครียดเป็นการปรับตัวเพื่อการอยู่รอด โดยประสาทสัมผัสจะส่งสัญญาณจากร่างกายไปสู่สมอง เพื่อที่สมองจะสั่งการให้กลไกในร่างกายทำงาน และแสดงพฤติกรรมออกมา โดยมีทั้งการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการทำงานของหัวใจ ความดันโลหิต กระเพราะอาหาร กระเพราะปัสสาวะ และลำใส้ ร่วมกับต่อไร้ท่อที่ผลิตฮอร์โมน คอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งทำให้หัวใจเต้นแรง น้ำตาลในเลือดสูง เพื่อมอบพลังงานจำนวนมากอย่างรวดเร็ว ทำให้ความอยากอาหารลดลง และนอนไม่หลับ นอกจากนั้นความเครียดยังมีผลกระทบต่อกระบวนการคิดและความจำ โดยระดับความรุนแรงของความเสีย จะขึ้นอยู่กับระดับความเครียด และระยะเวลาที่เครียด

            หากเกิดความเครียดรุนแรงจะส่งผลต่อ การทำงานของ 1) ความคิด 2) อารมณ์ และ 3) ร่างกาย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

            1. การทำงานอย่างหนักของความคิด ทำให้เลอะเลือน ความจำไม่ดี เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ยาก ตัดสินใจได้ไม่ดี และมองโลกในแง่ร้าย 

            2. ทำให้กิดความวิตกกังวล โกรธ โมโหง่าย รับอารมณ์ไม่ค่อยได้ เบื่อซึม ท้อแท้

            3. ทำให้เกิดโรคภายไข้เจ็บต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน ไขมันเลือดสูง โรคหัวใจ ติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่ายมากขึ้นเนื่องจากความเครียดที่สูงจะไประงับภูมิคุ้นกัน (ที่มีหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย)

            อย่างไรก็ตามความเครียดที่พอประมาณก็มีผลกระทบในทางบวกด้วยเช่นกัน เรียกว่า ความเครียดเชิงบวก (Eustress) เพราะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น เช่น การเรียน การทำงาน โดยจะสามารถเพิ่มสมาธิและทำให้เกิดความกระตือรือร้นมากขึ้น มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้  ความเครียดที่พอประมาณยังช่วยป้องกันความเสียหายจากกระบวนการออกซิเดชันในร่างกาย ซึ่งกระบวนการนี้ส่งผลโดยตรงต่อการป้องกันความแก่ และโรคอื่น ๆ และเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโต แตไม่ว่าจะอย่างไร ก็ควรที่จะลดความเครียดลงเพื่อไม่ให้สูงจนเกินไปและเป็นอุปสรรคอย่างรุนแรงต่อการดำเนินชีวิต 

            ความเครียดที่รุนแรงมีผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิต แต่หากเครียดไม่มากจนเกินไป ก็เป็นผลดีได้เหมือนกัน ดังนั้นเราจึงไม่ควรหวาดกลัวกับความเครียด แต่จะต้องเข้าใจความเครียดเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะตามมา แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ใจให้สบาย 

            เพราะความเครียดเป็นแค่การตอบสนอง เพื่อให้ร่างกายเกิดความสมดุล เวลาเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ซึ่งจะเครียดมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับเราประเมินหรือตีความมันอย่างไร โดยตีความจากสิ่งเร้าที่เข้ามากระตุ้น ร่วมกับประสบการณ์ บุคลิกภาพ ทัศนคติ เช่น ในสถานการณ์โควิด-19 เวลาที่มีคนใกล้ตัวเราติดเชื้อกันมากขึ้น ก็จะทำให้เราเครียดมากกว่า คนที่คนใกล้ตัวคนที่ไม่ได้ติดเชื้อ  หรือเราอาจจะมีทัศนคติที่ว่า ติดเชื้อแล้วต้องอาการแย่อย่างมาก ทำให้เราเครียดมากกว่าคนทั่วไป ก็ได้เช่นกัน 

สุดท้ายผมอยากจะย้ำว่า ระดับของความเครียดขึ้นอยู่กับเราตีความ มันอย่างไร

(สามารถอ่านบทความ "การรับมือกับความเครียด" ต่อได้)

อ้างอิง

Hackman, J. (2008). Schools, Skill, and Synapses. Economic Inquiry. Western Economic Association International, 46(3), 289-324.

Lazarus, S. (1993). Coping theory and research: Past, Present, and future. Psychosomatic Medicine, 55(3), 234-247.

Rudland, J., Clinton, C., & Wilinson, T. (2019). The stress paradox: how stress can be good for learning. medical education, 54(1), 40-45 

Sarada, P., & Ramkumar, B. (2015) Postitive and its impact on performance. Journal of Pharmaceutical, Biological and Chemical Sciences. 6(2), 1519-1522.

Taylor, E. (1991). Developmental neuropsychiatry. The Journal of Child Psychology and Psychiatry, 32(1), 3-47.

Yaribeygi, H., Panahi, Y., Sahraei, H., Johnston, T., & Sahebkar, A. (2017). The impact of stress on body function: A review. EXCLI J, 16, 1057-1072

ความคิดเห็น