โรคซึมเศร้า (Depression) เงามืดที่คืบคลาน

            ในศตวรรษที่ 21 หนึ่งในโรคที่กำลังได้รับการพูดถึง และกำลังเป็นโรคที่มีผู้ป้วยมากขึ้นเรื่อย ๆ  คือโรคซึมเศร้า เนื่องจาก WHO ได้นำเสนอข้อมูลสถิติผู้ป้วยโรคซึมเศร้าในปี 2560 ทั้งโลก มีจำนวน 322 ล้านคน และในประเทศไทย กรมสุขภาพจิตได้ประมาณการผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสูงถึง 1.5 ล้านคน (ในปี 2564 เพียงปีเดียวสูงถึง 1 ล้านคนที่เข้าถึงการบริการ) นอกจากนั้นข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ในปี พ.ศ. 2561 มีผู้เข้ารับการรักษา 61.21% และกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าให้มีผู้รักษา สูงกว่า 71% ในปี 2564 จากข้อมูลดังกล่าวถึงให้เห็นที่จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเข้าถึงการบริการให้เยอะมากขึ้น 

            เหตุการณ์ผลที่หน่วยงานต่าง ๆ จำเป็นต้องให้ผู้ป้วยโรคซึมเศร้าเข้าถึงบริการ เพราะอาการดังกล่าวกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้ป้วย และคนรอบข้างอย่างาก ผมใช้คำว่าเงามืดที่คืบคลาน เพราะเมื่อเป็นโรคนี้แล้ว จะไม่สามารถคิดหรือทำอะไรได้เหมือนกับตนปกติ เหมือนมีเงามืดอยู่รอบ ๆ  ด้วยความทุกขเวทนาของผู้ป้วยโรคซึมเศร้า มีความน่าเป็นห่วง และกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคม จึงเป็๋นสาเหตุที่ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมา เพื่อให้ทุกท่านรู้จัก รู้เท่าทันกับโรคนี้มากยิ่งขึ้น เข้าใจอาการของผู้ป้วย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไปจนถึงฆ่าตัวตาย  แต่ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักกับโรคนี้เบื้องต้นกันก่อน

รู้จักกับโรคซึมเศร้า

            โรคซึมเศร้า (Depression) เป็นโรคที่ส่งผลทางอารมณ์และความรู้สึก โดยจะมีความคิดต่อตนเองในทางลบ ทำให้รู้สึกหม่นหมอง หดหู่ เศร้า ท้อแท้ หมดหวัง มองโลกในแง่ร้าย ขาดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ  และตำหนิตนเอง รู้สึกว่าทุก ๆ อย่างช้าลงไม่ว่าการเดิน พูด หรือคิด นอกจากนั้นยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกของตนเองได้ ส่งผลให้พยายามหลีกหนีจากสถานการณ์ต่าง ๆ หลบเลี่ยงการเผชิญหน้า  ซึ่งการป่วยเป็นโรคซึมเศร้านั้นจะทำให้สารสื่อประสาท (Neurotransmitter) เสียสมดุล เช่น Serotonin  และ Dopamine เป็นสารที่เกี่ยวข้องกับความสุข ความพึงพอใจ  ผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าจะสัมพันธ์กับสารสื่อประสาทดังกล่าวที่ลดลง แต่สามารถคืนรูปกลับมาได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ในกรณีที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า สารสื่อประสาทดังกล่าวจะเสียสมดุล และไม่ยอมคืนรูปกลับมา 

            อาการของโรคซึมเศร้าจะขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางคนมีอารมณ์เศร้าที่ชัดเจนบ่อยครั้ง หรือเกือบจะตลอดเวลา แต่ในขณะที่บางคนไม่มีอารมร์เศร้าที่ชัดเจน แต่มีความรู้สึกเบื่อหน่ายกับทุกสิ่งทุกอย่าง เบื่อตัวเอง เบื่อคนรอบตัว เบื่องาน  บางคนอาจมีอารมณ์ทางเพศลดลง เบื่ออาหาร และนอนไม่หลับ แต่ก็มีส่วนน้อยที่มีอารมณ์ทางเพศมากขึ้น กินเก่งขึ้น และนอนหลับตลอดเวลา 

            โดยเฉพาะกับเรื่องการนอน คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีลักษณะของการนอนไม่หลับหลายรูปแบบ เช่น หลับยาก หลับ ๆ ตื่น ๆ หลับไม่สนิท หลับไม่ลึก (หลับเหมือนไม่ได้หลับ) บางคนอาจหลับไปช่วงหนึ่งและตื่นขึ้นกลางดึก โดยไม่สามารถหลับต่อได้อีก

            มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่เห็นได้ชัด เช่น มีความสนใจที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่สนุกกับเรื่องที่เคยสนุก และมีพฤติกรรมหงุดหงิด ขี้โมโห ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนไม่เคยเป็น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์จะส่งผลให้ขาดสมาธิในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การทำงาน เรียนหนังสือ การวางแผน โดยจะไม่มีสมาธิ เหม่อลอยไปจนถึงเฉื่อยชา และยังมีอาการเหนื่อยง่ายโดยอธิบายสาเหตุไม่ได้

            นอกจากนั้นยังมีการคิดฆ่าตัวตาย ไปจนถึงวางแผนฆ่าตัวตาย หลายคนเข้าใจว่าการคิดฆ่าตัวตายเป็นอันตรายอย่างมาก แต่ในความจริงแล้วความคิดฆ่าตัวตายอาจจะเป็นการท้อแท้ ความเศร้า หรือกำลังเผชิญหน้ากับความเครียด ความกดดัน แต่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางคนอาจมีการวางแผนฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะกับบุคคลที่มีพันธุกรรมของครอบครัวที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือมีประวัติฆ่าตัวตายสำเร็จมาก่อน

            อย่างไรก็ตาม ในหนังสือเรื่องโรคซึมเศร้า ที่เขียนโดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้บอกอาการ 2 เรื่องที่เด่นชัด ที่สามารถตอบได้ว่าผู้นั้นเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ 1) การนอน พฤติกรรมการนอนหลับในช่วงแรก แล้วตื่นกลางดึกโดยไม่สามารถนอนหลับต่อได้อีก เป็นพฤติกรรมที่มีความจำเพราะพอสมควร 2) เรื่องความคิดฆ่าตัวตาย 

ความคิดฆ่าตัวตายของคนเป็นโรคซึมเศร้า

            การที่คนคนหนึ่งคิดจะฆ่าตัวตาย มันเป็นการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ หลายคนมักเรียกว่า การเรียกร้องความสนใจ แกล้งทำ หรือดูสำออย แต่ในเชิงจิตวิทยาแล้ว ต่อให้ดูเหมือนการเรียกร้องความสนใจอย่างไร ก็เป็นการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลืออยู่ดี 

            รุ่นน้องที่สนิทกันคนหนึ่งของผมทำงานเกี่ยวกับการให้คำปรึกษา พบเคสที่มีนักศึกษาซึมเศร้าเยอะมากขึ้น บางเคสมีการทำร้ายตนเอง เช่น การกรีดข้อมือ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร จิตใจของเรามีความสมดุลอยู่ระหว่างความสุข และความเศร้า (ทุกข์) เวลาสูญเสียสมดุลคนจะแสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น คนที่มีความสุขมากก็จะแสดงออกมาในเชิงบวก หัวเราะ ร่าเริงมากเป็นพิเศษ

            ในขณะเดียวกันบุคคลที่มีความเศร้าเยอะมาก ก็จะแสดงออกในเชิงลบ เช่น มองพื้นตลอดเวลาเดิน (ไม่นับบุคลิกภาพแบบเก็บตัว) แววตาเศร้า ร้องไห้บ่อยครั้ง หากมีความเศร้ามากถึงจุดหนึ่ง ก็อาจจะทำร้ายตัวเองซึ่งเป็๋นการขอความช่วยเหลือรูปแบบหนึ่ง เกิดจากการเสียสมดุลทางจิตใจ หากไม่มีใครสนใจ รับฟัง ช่วยเหลือ อาจจะทำให้เกิดเหตุบานปลาย (การพูดคุยกับคนที่ไว้ใจเป็นขั้นแรกของการพื้นตัว) ซึ่งมีทั้ง แบบรุนแรง เช่น กระโดดตึก/น้ำ แขวนคอ ปืน หรือของมีคม แบบรุนแรงน้อย เช่น กินยาเกินขนาด ยาพิษ หรือสารเคมี  แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่พยายามฆ่าตัวตายจะทำสำเร็จทุกคน หลายคนพยายามทำแต่มีคนช่วยเอาไว้ 

            ในหนังสือ Talking to Strangers ที่เขียนโดย Malcolm Gladwell ได้เขียนถึงความเป็นไปได้ที่การฆ่าตัวตาย อาจเกิดจากการจับคู่เชื่อมโยง (Coupling) กล่าวคือ พฤติกรรมต่าง ๆ เชื่อมโยงกับสภาพการณ์และเงื่อนไขที่เฉพาะเจาะจงมาก เช่น คนบางคนโกรธเอย่างมากเมื่อเห็นเด็กโดนไม้ตี ทั้ง ๆ ที่ปกติไม่ใช่คนที่โกรธง่าย อาจจะเพราะเขาเคยโดยไม้ตีบ่อยในสมัยเด็ก ซึ่งเป็นการจับคู่เชื่อมโยงระหว่างโดนไม้ตี กับประสบการณ์เจ็บปวดในวัยเยาว์ ดังนั้นการฆ่าตัวตายอาจจะไม่ใช่เพียงแค่คนที่หดหู่ซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่คนเหล่านั้นอาจจะทำในบางห้วงเวลาที่จิตใจอ่อนแอ บวกกับวิธีเฉพาะเจาะจง เช่น การจับคู่เชื่อมโยงระหว่างการฆ่าตัวตายกับเชือกเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถระบุสาเหตุได้แน่นอน 

            ดังนั้นหากคนใกล้ตัวมีความพยายามฆ่าตัวตายด้วยวิธีใดก็ตาม ให้พยายามเอาสิ่ง ๆ นั้นออกไปจากบ้าน จะสามารถช่วยเหลือเขาได้ เพราะต่อให้จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาได้ช่วยเหลือทางจิตใจมาแล้วจนผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น แต่เมื้อผู้ป้วยโรคซึมเศร้ากลับมาเจอสถานการณ์แวดล้อมแบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง ก็อาจจะมีความพยายามฆ่าตัวตายอีกครั้งก็ได้

            จิตใจที่เสียสมดุล จะต้องเติมความสุขเพื่อเรียกความสมดุลกลับมา แต่หากจะทำได้ต้องสร้างศักยภาพให้บุคคลมีความพร้อมที่จะมีความสุขให้ได้ก่อน กล่าวคือจะต้องรักษาความสมดุลของสารสื่อประสาทให้กลับมาเป็นปกติ ไม่ว่าจะด้วยยา หรือการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาก็ตาม  นอกจากนี้ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ของคนรอบข้างก็มีผลอย่างมากที่จะทำให้ผู้ที่หดหู่เศร้าใจกลับมายิ้มร่าเริงและดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขได้อีกครั้งหนึ่ง 

"ความใจดีและความเข้าอกเข้าใจของคนรอบข้าง สามารถป้องกันไม่ให้ความหดหู่ในตัวบุคคลบานปลายเป็นเงามืดที่เรียกว่าโรคซึมเศร้า"

อ่านบทความสาเหตุโรคซึมเศร้าในลิ้งนี้ครับ

อ้างอิง

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. (2561). โรคซึมเศร้า. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพ: อมรินทร์.

Gladwell, M. (2019). Talking to Strangers: What We Should Know about the People We Don't Know. UK: Confer Books.

Cowen, M. (2020). Depression and the CPA. https://www.journalofaccountancy.com/issues/2020/feb/mental-illness-depression-at-work-mark-cowan-cpa.html

ความคิดเห็น