สาเหตุของโรคซึมเศร้า (Depression)

            ในบทความที่แล้ว ผมเขียนเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเงามืดที่คืบคลาน เพื่อเป็นข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเบื้องต้น โดยไม่ได้อธิบายสาเหตุ ว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากปัจจัยใดบ้าง หรือทำไมคนเราถึงเป็นโรคซึมเศร้าได้ เพราะจะทำให้บทความยาวเกินไป  ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่ออธิบายถึงสาเหตุของโรคซึมเศร้าโดยเฉพาะ  หากเราสามารถเข้าใจสาเหตุของการป่วย จะทำให้เราสามารถสำรวจคนรอบข้าง เพื่อป้องกันไม่ให้ไปไกลจนถึงเป็นโรคซึมเศร้าได้ และทำให้ผู้อ่านเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามากยิ่งขึ้น  ก่อนจะเข้าเรื่องสาเหตุ เรามาทบทวนเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าสั้น ๆ ก่อน

            เมื่อเราอยู่ในภาวะซึมเศร้า จะทำให้เรามีมุมมองต่อตนเองในแง่ลบ มักจะตำหนิตนเอง แตกต่างกับบุคคลในภาวะปกติที่มักจะตำหนิผู้อื่น จะมีอารมณ์และความรู้สึกเศร้า หดหู่ โดยจะมีอาการต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่นการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ หงุดหงิด โมโห สิ่งที่เคยสนุกก็ไม่สนุกอีกแล้ว มีปัญหาการนอนหลับสนิท และมีความคิดฆ่าตัวตาย  เมื่อบุคคลเผชิญกับภาวะซึมเศร้าอยู่นานจนสารสื่อประสาทเสียความสมดุลแบบไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ จะไม่สามารถออกจากภาวะตรงนั้นได้ และกลายเป็๋นโรคทางจิตเวชขึ้นมา โดยมีอาการรุนแรงมากขึ้น รู้สึกว่าทุกอย่างช้าไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเดิน หรือการคิด และจะพยายามหลีกหนีจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามากดดันผู้ป้วย สุดท้ายอาจจะนำไปสู่การวางแผนหรือพยายามฆ่าตัวตายได้

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

            โรคซึมเศร้ามีปัจจัยหลายประการเกี่ยวข้อง ประกอบไปด้วย พันธุกรรม จิตใจ และสังคม(สิ่งแวดล้อม) ปัจจัยทั้ง 3 มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เป็นสมดุลของชีวิต การเป็นโรคซึมเศร้าจึงเป็นการสูญเสียความสมดุล ส่งผลให้สารสื่อประสาทมีความผิดปกติ  ก่อนที่ผมจะไปอธิบายปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ผมจะขออธิบายถึงสารสื่อสารสาทที่มีความสำคัญในสมองมนุษย์ ซึ่งมีบทบาทอย่างยิ่งสำหรับผู้ป้วยโรคซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม หลายคนเข้าใจผิดว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีสาเหตุจากสารสื่อประสาทมีความผิดปกติ 

            ในความจริงแล้ว สารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าจะเพิ่มหรือลด ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มากระตุ้น เช่น เด็กที่คาดหวังว่าเมื่อกลับบ้านแล้วจะได้เล่นเกมส์ (ความคาดหวังกระตุ้นให้ Dopamine เพิ่มขึ้น) และเมื่อได้เล่นเกมส์สารสื่อประสาท Dopamine (สารที่ทำให้พึงพอใจ) ก็จะเพิ่มขึ้นอีกครั้งในขณะที่เด็กได้เล่นเกมส์ กล่าวคือสารสื่อประสาทจะเพิ่มหรือลด ขึ้นอยู่กับทั้งความคาดหวัง (กลับบ้านแล้วจะได้เล่นเกมส์) และรางวัล (เมื่อได้เล่นเกมส์) 

            ดังนั้นการเป็นโรคซึมเศร้าจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้ง พันธุกรรม จิตใจ และสังคม เสียสมดุล สัมพันธ์กับสารสื่อประสาทที่เสียความสมดุล  ดังนั้นการเข้าใจปัจจัยที่ส่งผลโดยตรง (พันธุกรรม จิตใจ และสังคม) จะทำให้เข้าใจถึงสาเหตุของโรคซึมเศร้ามากขึ้น 

ปัจจัยทางพันธุกรรม (ยีน)

            ในหนังสือหลายเล่ม จะใช้คำว่าชีววิทยาแทนพันธุกรรม เนื่องจากสาเหตุของโรคซึมมาจากสารสื่อประสาท แต่ผมมองว่าสารสื่อประสาทเพียงแค่สัมพันธ์กันกับอาการซึมเศร้า เป็นผลที่ตามมาจากความเศร้า กล่าวคือถ้าเราสามารถปรับพฤติกรรม หรือกระบวนการคิด ก็จะสามารถปรับสารสื่อประสาทให้กลับมาสมดุลได้ แต่ในขณะเดียวกัน การใช้ยาเพื่อสร้างความสมดุลให้สารสื่อประสาท ก็สามารถทำให้พฤติกรรมกลับเข้าสู่วงจรปกติได้ ดังนั้น พฤติกรรม และสารสื่อประสาทจึงสัมพันธ์กัน

            นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ได้เขียนเกี่ยวกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมโรคซึมเศร้า ในหนังสือชื่อโรคซึมเศร้า โดยคุณหมอให้ความเห็นว่า รูปแบบการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นไม่ชัดเจน ทำนายไม่ได้ ซึ่งอัตรากรถ่ายทอดจากพ่อหรือแม่ไปสู่ลูกอยู่ประมาณ 10 - 15% และจากงานวิจัยแฝดแท้และแฝดเทียมแสดงให้เห็นว่าโรคซึมเศร้าประมาณ 37% ถ่ายทอดมาจากพันธุกรรม  งานวิจัยจำนวนมากสามารถระบุยีนที่รับผิดชอบ รวมทั้งตำแหน่งบนโครโมโซมที่ผิดปกติ ซึ่งจะเป็นเหมือนสวิตซ์ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ที่มีผลกับความเครียด ความเศร้า ความวิตกกังวลได้ 

            ในหนังสือ Please to meet me ที่เขียนโดย Bill Sullivan ได้นำคำกล่าวของ Luther Burbank นัก   พฤกษศาสตร์ชื่อดังมาเขียนเอาไว้ว่า "พันธุกรรมไม่ใช่สิ่งอื่นนอกจากสิ่งแวดล้อมที่เก็บสั่งสมมา" สิ่งที่เราพบเจอสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับเหนือพันธุกรรม (Epigenetic) ขึ้นใน DNA และเปลี่ยนแปลงยีน เช่น การทารุณกรรมในวัยเด็ก การกลั่นแกล้ง การเสพติด และความเครียด รวมไปถึงการมีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจในระดับต่ำก็ยังสอดคล้องกับปัญหาสุขภาพเมื่อเติบโตขึ้น  เหตุการณ์เชิงลบสามารถก่อให้เกิดแผลเป็นใน DNA ของเราได้ และในบางกรณี แผลเป็นเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปอีกรุ่นหนึ่ง 

ปัจจัยทางจิตวิทยา

            เป็นที่รู้กันว่าโรคซึมเศร้าเป็นผลมาจากกระบวนการคิด เป็นความผิดปกติของการรับรู้และการเข้าใจภาวะแวดล้อมที่เป็นเชิงลบ หลักจิตวิทยาการรู้คิด ได้อธิบายระบบความคิดของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าว่า มีความคิดอัตโนมัติที่รับรู้และเข้าใจสภาพแวดล้อมในเชิงลบ เช่น มองตัวเองในแง่ลบ มองโลกในแง่ลบ กล่าวคือ มองไปทางไหนก็รู้สึกแย่ "ฉันมันไม่เอาไหน" "ทุกคนต่างประสบความสำเร็จไปเสียหมด" "ฉันมันล้มเหลว" "สู้ใครเขาก็ไม่ได้" "ฉันมันน่าผิดหวัง" "โลกนี้มันชั่งแย่" ทุกคนเห็นแก่ตัวกันหมด พอมองไปที่อนาคตก็รู้สึกเหมือนทางตัน ไม่รู้จะไปต่ออย่างไร เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมดังกล่าวนานขึ้น (มองตัวเองและโลกในแง่ลบ) ก็จะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า สารสื่อประสาทเสียความสมดุล และหากปล่อยไว้นานถึงจุดหนึ่ง สารดังกล่าวก็จะไม่สามารถกลับมาสมดุลได้อีก จนทำให้จากภาวะซึมศร้า และกลายเป็นโรคซึมเศร้าในท้ายที่สุด

            การมองตัวเองในแง่ลบ และมองโลกในแง่ลบ มาจากประสบการณ์ของแต่ละบุคคล และการเลี้ยงดู หลายคนเข้าใจผิดว่า คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาจากการเลี้ยงดู แต่ในความจริงแล้วการเลี้ยงดูเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความคิดเชิงลบ เราอาจจะพัฒนาความคิดเชิงลบโดยไม่รู้ตัวมาจากปัจจัยหลายอย่าง การเลี้ยงดู ข่าวสาร พันธุกรรม โรงเรียน เพื่อน เกมส์ ภาพยนตร์ หนังสือ สื่อสังคม ฯลฯ กล่าวคือ มีปัจจัยมากมายที่ทำให้เราเกิดความเชิงลบจนไม่สามารถระบุได้แน่ชัด 

ปัจจัยทางสังคม

            อย่างที่กล่าวมาเกี่ยวกับเรื่องของความคิดอัตโนมิติ หรือหากมองความคิดเป็นระบบ 1 และระบบ 2 ความคิดอัตโนมัติก็คือความคิดระบบ 1 ที่มีความไวสูง ใช้สัญชาตญาณ และเรียนรู้ทางสังคม กล่าวคือ ความคิดอัตโนมัติเกิดจากการจับคู่เรื่องหนึ่งกับอีกเรื่องหนึ่ง โดยส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีเหตุผล เช่น การที่ตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงขึ้น เป็นเพราะคนในประเทศไม่มีวินัย ไม่มีความรู้ ไม่มีความรับผิดชอบ เพียงอย่างเดียว หรือ เห็นรถยนต์ที่ยอดในที่ห้ามจอด ก็มองว่าสังคมไทยเป็นคนเลว ไม่มีวินัย ซึ่งเป็นการตีความที่ผิด เพราะในความจริงแล้ว การเพิ่มขึ้นของตัวเลขมีปัจจัยอย่างอื่นมากมาย รวมทั้งรถที่จอดในที่ห้ามจอดก็เป็นความมักง่ายของบุคคลเพียงคนเดียว 

            นอกจากนั้นยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดชุดความคิดอัตโนมัติหลายประการ เช่น การเลี้ยงดูของพ่อแม่ ที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเอง "ไม่ดีพอ" เช่น พ่อแม่ที่คาดหวังและเคี่ยวเข็ญลูกมากจนเกินไป จนทำให้ลูกที่ไม่สามารถทำตามที่พ่อแม่คาดหวังได้ มีการเห็นคุณค่าในตนเองลดลง (Low Self - Esteem) หรือชุดความคิดอัตโนมัติที่มองว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องผิดที่ร้ายแรงมาก ทำให้เวลาเราทำผิดพลาด เราจะโทษตนเองอย่างรุนแรง และทำให้การเห็นคุณค่าในตนเองลดลงตามไปด้วย 

            เมื่อเกิดความรู้สึกผิด การเห็นคุณค่าของตนเองลดลง ความมั่นใจลดลง ก็จะเกิดการหนี กลัว ไม่กล้าเผชิญหน้า ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย ผู้คนที่ไม่เข้าใจก็จะต่อว่า แสดงความไม่พอใจ หรือปฏิบัติอย่างไม่เข้าใจต่อผู้ที่กำลังเผชิญกับสภาวะซึมเศร้า ทำให้สารสื่อประสาทที่ขาดความสมดุลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ไม่มีความช่วยเหลือจากผู้อื่น ไม่หานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ หรือมีคนที่เข้าใจรับฟัง ก็จะทำให้สารสื่อประสาทไม่สามารถกลับมาสมดุลได้อีกครั้ง สุดท้ายเราป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 

ทำไมปัจจัยทั้ง 3 ถึงต้องสมดุลกัน

            ทุกท่านอาจสามารถสังเกตได้ถึงความเชื่อมโยงของปัจจัยทั้ง 3 สมมติ มีเด็กคนหนึ่งเผชิญกับเหตุการณ์เลวร้ายในอดีต โดนดูถูกจากคนรอบข้าง โดนกลั่นแกล้งที่โรงเรียน โดนทารุณกรรมโดยครอบครัว (ปัจจัยทางสังคม) จากเหตุการณ์เหล่านั้นทำให้เขามีความคิดเชิงลบต่อทุกสิ่งทุกอย่าง คิดว่าคนทุกคนไม่ชอบเขา คิดว่าตัวเองแย่ โทษตัวเองตลอดเวลา ร้องไห้และมักจะบ่นว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ จนกลายเป็นโรคซึมเศร้า สารสื่อประสาทจึงเสียความสมดุลตามไปด้วย (ปัจจัยทางจิตใจ) 

            เมื่อเด็กคนนี้เผชิญสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายส่วนหนึ่งก็จากที่เขาสร้างขึ้นมาจากความคิด และส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลจากเหตุการณ์เลวร้ายในอดีต ทำให้ยีนเกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อเขาเติบโตขึ้นและแต่งงานมีลูกของเขาก็มีแนวโน้มที่จะเป็นซึมเศร้าได้เช่นกัน (ปัจจัยทางพันธุกรรมหรือยีน)

            อย่างไรก็ตามหากสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายส่งผลให้ยีนเกิดการเปลี่ยนแปลง ผมก็เชื่อว่าหากเราสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นได้ในสังคม เช่น การมีความเข้าใจที่ดีต่อกัน ใจดีต่อกัน เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันได้ (บ้าง) พร้อมทั้งมีรัฐบาลที่ใส่ใจประชาชน และมีความสามารถที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ก็จะสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีและส่งผลให้ยีนเกิดการเปลี่ยนแปลง จนมีพันธุกรรมที่ดีส่งผ่านกันต่อไป

อ่านแนวทางแก้ไขโรคซึมเศร้าตอนที่ 1 ได้จากลิ้งนี้ครับ

อ้างอิง

Sullivan, Bill. (2019). Pleased to Meet me : Germs, and the Curious Forces That Make Us Who We Are.  DC: National Geographic Society.

คาลอส บุญสุภา. (2564). โรคซึมเศร้า (Depression) เงามืดที่คืบคลาน. https://sircr.blogspot.com/2021/04/depression.html

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. (2561). โรคซึมเศร้า. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพ: อมรินทร์.

ความคิดเห็น