เทคนิคและวิธีการค้นหาตัวเอง

            บทความนี้เป็นบทความที่ผมอยากเขียนมานาน แต่ก็ไม่กล้าเขียน เนื่องจากทุกวันนี้ผมก็ยังค้นหาตัวเองอยู่เรื่อย ๆ และผมก็เชื่อว่าไม่ว่าใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนยากคนจน ไปจนถึงคนร้ำรวยที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็ยังต้องค้นหาตัวเองอยู่เช่นกัน เพราะการค้นหาตัวเองเป็นกระบวนการที่ดำเนินไปตลอดชีวิต ซึ่งเราดำเนินไปอย่างรู้ตัวและไม่รู้ตัว

            แน่นอนหลายคนที่อ่านบทความนี้ อาจจะเคยทำแบบทดสอบบุคลิกภาพเพื่อคนหาตัวเองอยู่บ้าง หรือนักเรียนพยายามค้นหาตัวเองเพื่อเลือกสายการเรียน เลือกอาชีพ แต่สิ่งที่เราไม่รู้ตัวก็คือเวลาที่เราใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียน หรือการทำงาน เรากำลังค้นหาตัวเองแบบอัตโนมัติแทบทั้งนั้น เพราะเราเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิต ซึ่งประสบการณ์เหล่านั้นจะเป็นตัวหล่อหลอมให้ตัวตนของเรามันชัดเจนมากขึ้น

            ผมจะยกตัวอย่างนักเรียนมัธยมปลายหลายคน เล่น เรียน อ่าน มาตลอดชีวิต พึ่งเคยจะเคยตระหนักว่าตนเองจะต้องค้นหาตนเองว่าเขา มีนิสัยอย่างไร บุคลิกภาพแบบใด ถนัดวิชาอะไร ถนัดทักษะอะไรบ้าง ข้อค้นพบเหล่านี้พึ่งจะเคยค้นพบแม้ว้าจะใช้ชีวิตมาแล้วหลายปี นั้นก็เพราะว่านักเรียนคนดังกล่าวเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ผ่านการวางเงื่อนไข การเสริมแรง ประสบการณ์วัยเด็ก สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ หล่อหลอมให้เขามีบุคลิกภาพ และความถนัดต่าง ๆ ในแบบที่เขาเป็นอยู่ทุกวันนี้

            อย่างไรก็ตามต่อให้ประสบการณ์ชีวิตของเราหล่อหลอมให้เรามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ก็เป็นเรื่องยากที่เราจะค้นหาตัวเองให้เจอ ในสมัยที่ผมฝึกงานเป็นครูแนะแนวผมเคยออกแบบบอร์ดเกมส์ และให้เพื่อนที่ฝึกงานด้วยกันช่วยผลิตขึ้นเพื่อใช้กับนักเรียน ผลที่ได้คือนักเรียนเล่นกันอย่างสนุกสนานและได้ข้อมูลความชอบ ความถนัด นิสัยเล็ก ๆ น้อย ๆ และสาขาที่จะเรียนในอนาคตออกมา ทั้ง ๆ ที่เด็กเหล่านั้นแทบจะไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้มาก่อน พูดง่าย ๆ คือ เราจำเป็นต้องมีจุดเปลี่ยนบางอย่างมากระตุ้นให้เขาได้ตระหนักถึงตัวเอง เหมือนกับนักเรียนที่ได้เล่นบอร์ดเกมส์ที่ผมสร้าง หรือนักเรียนมัธยมปลายที่จะต้องเลือกสาขาเรียนต่อ หรือนักเรียนที่เรียนวิชาแนะแนวในห้องเรียน

            ซึ่งจุดเปลี่ยนเหล่านั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งชีวิต แม้ว่าเราจะเคยผ่านจุดเปลี่ยนมาหลายครั้งก็ตาม กล่าวคือไม่ว่าจะเราเรียนวิชาแนะแนว อ่านหนังสือแรงบัลดาลใจเพื่อค้นหาตนเอง หรือกำลังจะเลือกเรียนต่อ ก็สามารถเกิดจุดเปลี่ยนอีกครั้งได้ในอนาคตเช่นเดียวกัน ดังนั้นผมจึงคาดหวังว่าการอ่านบทความนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนให้กับทุกคนสามารถค้นหาตนเองให้เจอ หรือค้นพบชิ้นส่วนบางอย่างในชีวิตที่เติมเต็มตัวเอง ให้ค้นพบตัวเองในอีกมุมที่ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ 

เทคนิคและวิธีการค้นหาตัวเอง

            การค้นหาตนเอง จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาตนเองได้  อีกมั้งยังมองเห็นตนเองตามความเป็นจริงได้ เผชิญปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมไปถึงการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข โดยวิธีค้นหาตนเองนั้นสามารถทำได้โดยการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับตนเองให้มากที่สุด และนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์รวมกัน ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราทำแบบทดสอบบุคลิกภาพ หากเราทำแบบทดสอบแค่แบบเดียว มันก็จะแสดงแค่บางมุมของตัวเราออกมา แต่ไม่ได้สะท้อนบุคลิกภาพทั้งหมด (หลายมิติ) ออกมา ดังนั้นเราควรจะทำการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นนิสัย บุคลิภาพ รสนิยม ค่านิยมของตนเองออกมาได้มากที่สุด และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ โดยจะสามารถวิเคาะห์จากแหล่งข้อมูลใหญ่ ๆ 2 แหล่ง ประกอบด้วย มุมมองจากตัวเราเอง และมุมมองจากผู้อื่น

            1. วิเคราะห์จากตนเอง สามารถทำการสำรวจหรือ สังเกต ความรู้สึก พฤติกรรมของตนเอง หรือการทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อประเมินตนเองออกมา เพื่อให้เข้าใจลักษณะเฉพาะของตนเองในทุกด้าน เช่น ความสามารถ ความถนัด บุคลิกภาพ ฐานะเศรษฐกิจ และฐานะทางครอบครัว โดยเฉพาะบุคลิกภาพที่เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม และแรงผลัดดันส่วนบุคคลซึ่งประกอบไปด้วยปัจจัยภายนอก เช่น ระดับชั้นทางสังคม ครอบครัว และสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และปัจจัยภายใน เช่น ความสามารถ ความถนัด บุคลิกภาพ ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้จะก่อให้เกิดค่านิยมของตนเองขึ้นมา และค่านิยมในการดำเนินชีวิตจะหล่อหลอมให้เกิดเป็นบุคลิกภาพ 

            เราสามารถทำแบบทดสอบบุคลิกภาพหลาย ๆ แบบเพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ตัวตนของเรา เช่น แบบทดสอบ 16 บุคลิกภาพ (MBTI) และ แบบทดสอบบุคลิกภาพเพื่อค้นหาอาชีพที่ปรับมาจากแนวคิดของ John L. Holland ซึ่งสุดท้ายองค์ประกอบทั้งหมดจะกลายเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล

            2. วิเคราะห์จากผู้อื่น สามารถทำโดยถามหรือสัมภาษณ์ เช่น ถามคนในครอบครัวที่อยู่ใกล้ชิดกัน โดยใช้คำถามง่าย ๆ ก็ได้ เช่น "แม่คิดว่าผมเป็นคนนิสัยเป็นอย่างไร" "พ่อคิดว่าผมเป็นคนอย่างไร" และสามารถถามจากผู้อื่นที่มีสัมพันธภาพกับเรา เช่น คุณครู เพื่อน หรือคนใกล้ชิดคนอื่น นอกจากนั้นยังสามารถศึกษาได้จากปฏิกิริยาที่ผู้อื่นแสดงออกมาเมื่ออยู่กับเรา อย่างไรก็ตามควรจะสัมภาษณ์อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งผลประสบความสำเร็จในการถามข้อมูลจากผู้อื่นก็คือความสามารถที่จะเปิดใจของตนเอง หากเป็นใจได้มากก็ยิ่งเป็นผลดีมาก หากเปิดใจได้น้อยอาจจะเกิดอคติและทำให้ไม่สามารถรับข้อมูลตามจริงได้ 

            อย่างไรก็ตามการจะวิเคราะห์ข้อมูลทั้งจากตนเอง และผู้อื่น เราต้องระวังอคติ เพราะบางคนมีภาพของตนเองในแบบอยากที่จะเป็น ทำให้ไม่ยอมรับข้อมูลที่ได้มาจากทั้ง 2 แหล่งดังกล่าว ดังนั้นการจะสามารถค้นหาตัวเองได้อย่างแท้จริงเราจะต้องดำเนินไปตามระยะ ทั้งหมด 3 ระยะ ประกอบไปด้วย 

            1. การรู้จัก บุคคลจะต้องรู้จักตนเองก่อนว่าตนเองมีบุคลิกภาพ นิสัยใจคออย่างไร โดยสามารถค้นหาได้จาก 2 แหล่งที่กล่าวมาข้างต้น 

            2. การเข้าใจ เป็นขั้นตอนหลังจากที่เรารู้จักตนเองแล้ว โดยเราจะนำเอาข้อมูลทั้งหมดมาทำความเข้าใจกับตัวเองว่าทำไมเราถึงเป็นเช่นที่เราเป็น ไม่ว่าจะเป็นเพราะพันธุกรรม หรือสภาพแวดล้อมแบบใดที่ทำให้เราเป็นในแบบที่เราเป็น ยกตัวอย่างเช่น การที่เรามองโลกในเชิงลบมากจนเกินไป อาจจะมาจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่ครอบครัวคอยตำหนิเราตลอดเวลาที่เราทำผิด และปฏิเสธความคิดเห็นและการกระทำของเราบ่อยครั้ง หรือบางคนอาจจะได้รับพันธุกรรมมาจากครอบครัวที่มีประวัติโรคซึมเศร้าทำให้มีกระบวนการคิดที่เป็นเชิงลบสะส่วนใหญ่

            3. การยอมรับ เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่เกิดขึ้นเมื่อเราทำความเข้าใจกับตัวเองแล้ว โดยเราจะต้องยอมรับในแบบที่เราเป็น บางคนอาจดูไม่ดีถ้าเทียบกับค่านิยมของสังคม บางคนอาจจะไม่ได้เรียนวิชาบางวิชาเก่ง บางคนอาจไม่ถนัดด้านกีฬาเลย เราจะต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริง ซึ่งการยอมรับจะช่วยให้เราพัฒนาตนเอง หล่อหลอมให้เกิดความยืดหยุ่นทางจิตใจ

            การยอมรับตนเองเป็นกุญแจสำคัญในการค้นหาตนเอง เพราะต่อให้เรามีข้อมูลที่ดีแค่ไหนเกี่ยวกับตนเอง มีคนรอบข้างให้ข้อมูลจำนวนมากแค่ไหนก็ตาม หากเราไม่ยอมรับข้อมูลดังกล่าว ก็ไม่เกิดอะไรขึ้นมา ยิ่งไปกว่านั้นการยอมรับตนเองไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ แม้ว่าเราจะเข้าใจตนเองได้ด้วยความคิดเรา แต่การยอมรับไม่ใช่สิ่งที่เราจะใช้กระบวนการคิดในการยอมรับได้โดยง่าย เราจะต้องใช้เวลาพอสมควรขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของเราว่าจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหน 

เมื่อเราสามารถเชื่อมโยงตัวตนที่แท้จริงของคุณเข้ากับสิ่งที่คุณเชื่อมั่นว่าสำคัญ ช่องว่างระหว่างสิ่งที่เรารู้สึก (ยอมรับ) กับสิ่งที่เราแสดงออกจะบีบเข้าใกล้กันมากขึ้น เราจะเริ่มใช้ชีวิตของเราโดยมีรื่องให้รู้สึกเสียดายไม่มากนัก และไม่ค่อยกังวลสงสัยในตนเองอีกต่อไปเมื่อเราค้นหาตนเองเจอ

            การค้นหาตนเองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากเราทุกคนทุกคนมีแนวโน้มที่จะบุกตะลุยไปข้างหน้าโดยสวมผ้าปิดตาเอาไว้ ใช้ชีวิตไปแต่ละวันไปอย่างนั้น เมื่อไหร่ที่เราต้องการแนวทางบางอย่าง เราก็จะมองผู้คนรอบข้าง เพื่อดูว่าเขาทำอะไรกัน แล้วก็เลือกสิ่งต่าง ๆ อย่างไร้สติเพียงเพราะเป็นสิ่งที่เขาทำกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องเรียน เรื่องการใช้ชีวิตในมุมต่าง ๆ ทั้งที่จริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านั้นไม่ได้เหมาะกับทุกคน เพียงแค่มันเร็วกว่าและง่ายกว่าที่จะทำตามสิ่งที่เราเห็น แทนที่จะค้นหาสิ่งที่เหมาะกับเราจริง ๆ 

            เซอร์เคนเนธ โรบินสัน (Sir Kenneth Robinson) ได้เปรียบเทียบการค้นหาตนเองว่า เป็นการค้นพบธาตุของตนเอง โดยเขาเชื่อว่าการค้นพบธาตุของตนเอง จะทำให้เรามีศักยภาพก้าวสู่ความสำเร็จที่สูงขึ้นไปอีกขั้น แม้ว่าแต่ละคนอาจจะไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล นักวาดการ์ตูนหรือนักแสดงชื่อดัง แต่เราทุกคนต่างมีความหลงใหล หรือพรสวรรค์เฉพาะตัว ซึ่งเป็นพลังบันดาลใจให้เราก้าวสู่ความสำเร็จเกินกว่าที่จะนึกฝันได้  ความเข้าใจนี้จะเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่าง มันจะช่วยให้เราค้นพบสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง และการมั่นใจในศักยภาพของตัวเองเพียงอย่างเดียวที่จะเอื้อให้เราบรรลุความสำเร็จที่แท้จริงและยั่งยืนในอนาคตที่ไม่แน่นอนได้

            ดังนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าเราจะน้อยเนื้อต่ำใจต่อตนเองเมื่อเปรียบเทียบกับคนในสังคม หรือหมู่เพื่อนมากน้อยแค่ไหนก็ตาม เราก็สามารถค้นหาตนเองให้เจอ ค้นหาศักยภาพที่พิเศษอันแตกต่างของตนเองออกมาได้ โดยเราสามารถค้นหาข้อมูลได้จากตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการสังเกต การทำแบบทดสอบ หรือการค้นหาข้อมูลจากผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการถาม หรือการสังเกตสิ่งที่ผู้อื่นปฏิบัติกับเรา รวมไปถึงเราจะต้องเข้าใจตนเองว่าสาเหตุของบุคลิกภาพ นิสัยของเรามาจากอะไร และสุดท้ายเราจะต้องยอมรับตนเองให้ได้ 

วันหนึ่งที่เราสามารถยอมรับตนเองได้เราจะดำเนินชีวิตอย่างแตกต่างและสามารถมีความสุขได้บนโลกที่ผันผวนใบนี้

อ้างอิง

David, S. (2016). Emotional Agility: Get Unstuck, Embrace Change, and Thrive in Work and Life. NY: Avery.

Goleman, D. (1998). What Makes the Leader?. Harvard business review. 76(6), 93-102.

Robinson, K. & Aronica. L. (2009). The Element: How Finding Your Passion Changes Everything. NY: Penguin Books.

ความคิดเห็น