การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิต

            ทุกท่านคงคุ้นเคยกับคำว่า Connecting the dots (การเชื่อมต่อจุด) ของ Steve Jobs เป็นคำที่แปลออกมาไม่เหมือนกัน แต่เข้าใจความหมายร่วมกันว่า "การเรียนรู้ก็เหมือนกับ จุด (Dots) ที่เชื่อมโยงความรู้ต่าง ๆ เข้าด้วยกันจนเป็นเส้นที่เชื่อมโยงจุดต่าง ๆ เข้าหากันกลายเป็นเครือข่ายที่เรียกว่า ประสบการณ์"

            สำหรับผมแล้วประสบการณ์มีอยู่ 2 ประเภท ประกอบไปด้วย ประสบการณ์ตรง คือเหตุการณ์ที่เราเผชิญกับมันอยู่ทุกวัน และ ประสบการณ์ทางอ้อม คือสิ่งที่เราเรียนรู้จากคำบอกเล่า ตัวหนังสือ หรือการเรียนหนังสือ การฟัง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ให้ความรู้มากน้อยแค่ไหนก็ตาม

            ประเด็นก็คือเวลาที่เราได้ยินคำว่าเก็บเกี่ยวประสบการณ์ โดยส่วนใหญ่จะเป็นประสบการณ์อ้อมเช่น การอ่านหนังสือ หรือการเรียน เหมือนกับที่ Steve Jobs ลงเรียนวิชาประดิษฐ์ตัวอักษร (Calligraphy) ในวิทยาลัยรีด โดยที่เขาไม่รู้ว่าวันหนึ่งวิชานี้จะเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบตัวอักษรที่สวยงามกับเครื่องแมคอินทอชในอนาคต หรือการที่เราอ่านหนังสือจนเมื่อเวลาผ่านไป ข้อมูลในหนังสือนั้นก็อาจจะกลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตัวเรา หรือทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาที่สำคัญได้ดียิ่งขึ้น

            นอกจากนั้น เวลาที่เราอ่านหนังสือ มันจะหล่อหลอมตัวตนของเราทีละเล็กทีละน้อย จนถึงจุดหนึ่งเราอาจจะสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ เช่น มีความคิดที่คมคายมากขึ้น มีความสามารถในการอ่านที่รวดเร็วมากขึ้น จับประเด็นต่าง ๆ ได้เก่งมากขึ้น สามารถคิดอะไรที่สร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น
            แต่สิ่งที่เราไม่ค่อยได้คำนึงถึงก็คือ "ประสบการณ์ทางตรง" ซึ่งคือประสบการณ์ที่เราเผชิญหน้าในการดำเนินชีวิต คำถามคือทำไมเราถึงไม่ค่อยนึกถึง เพราะสำหรับหลายคนที่ต้องทำงานซ้ำซากจำเจ จึงทำให้พฤติกรรมที่แสดงออกมาระหว่างเผชิญกับประสบการณ์ตรง เป็นการคิดแบบระบบ 1 ที่คิดอย่างรวดเร็ว โดยไม่ได้ใช้การคิดวิเคราะห์จากระบบ 2 (Kahneman, 2013) กล่าวคือเวลาที่เราทำอะไรบ่อย ๆ จนเป็นนิสัย และมักจะเกิดการตอบสนองแบบเดิมทุกครั้ง จนเป็นแบบแผนของพฤติกรรม (Scripted Behavior)

            ในหนังสือ Elastic นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ Mlodinow ได้ยกตัวอย่างแบบแผนของพฤติกรรม เหมือนกับพฤติกรรมที่เป็นไปโดยอัตโนมัติหรือถูกโปรแกรมมาแล้ว และจะเกิดขึ้นเมื่อถูกกระตุ้น เช่น คนที่รู้สึกหิวแล้วกินแต่อาหารแบบเดิมตลอด กล่าวคือเป็นพฤติกรรมที่ถูกวางเงื่อนไขเอาไว้แล้ว เวลาที่เราเจอปัญหา เรามักจะเลือกแก้ปัญหาด้วยวิธีแบบเดิม ซึ่งเป็นการคิดแบบระบบ 1 เป็นเหมือนทางลัดของธรรมชาติที่รวดเร็ว ต่างกับระบบ 2 ที่ช้าและขี้เกียจ สรุปคือ พฤติกรรมในแต่ละวันของเราเป็นแบบแผน 

            อย่างไรก็ตาม หากเราดำเนินชีวิตอย่างเป็นแบบแผน ทำอะไรซ้ำซากจำเจ เราก็จะเก็บประสบการณ์ได้น้อย เหมือนกับการเล่นเกมส์ MMORPG เวลาที่เรากำจัดมอนสเตอร์ที่ไม่เก่งไปเรื่อย ๆ ค่าประสบการณ์ที่เราได้รับก็จะได้น้อย และได้ Item ที่ไม่ดี ไม่หลากหลาย แตกต่างกับคนที่ดำเนินชีวิตอย่างไม่ซ้ำซาก ก็จะได้รับค่าประสบการณ์ และ Item ที่หลากหลาย จึงเป็นเหตุผลที่หลายคนมักบอกว่าการไปเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ เป็นการเรียนรู้ที่ดีมาก ได้เรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณี ที่แตกต่างออกไปในแต่ละที่

วิธีการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ตรง

            คำถามคือเราในแต่ละวันจะดำเนินชีวิตประจำวันอย่างไรให้ไม่ซ้ำซาก เพราะงานบางชนิดมีความซ้ำซากจำเจ สำหรับผมมีวิธีการก็คือ ใช้ Self Talk หรือการพูดกับตัวเอง เวลาที่เรานั่งทำงานให้เราตั้งคำถามกับตัวเองบ่อย ๆ เช่น "เบื่อไหม ลองลุกไปทำอย่างอื่นแก้เซงบ้าง" "ลองหาวิธีอื่นแก้ปัญหาบ้าง" "หากไม่มีโปรแกรมที่เราใช้ประจำ จะใช้โปรแกรมอะไรดี" "วันนี้กินแบบนี้บ่อยแล้ว ลองไปกินแบบอื่นบ้าง" ชุดคำพูดดังกล่าวเป็นการยกตัวอย่างการพูดกับตัวเอง เพื่อกำกับให้ตนเองได้ใช้ระบบที่ 2 เป็นการคิดวิเคราะห์ ซึ่งจะทำให้เราได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่จากการดำเนินชีวิตประจำวันแบบเรียบง่าย

            ผมจึงอยากเสนอว่า เราควรเก็บประสบการณ์ทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการอ่านข้อมูล หนังสือ ภาพยนต์ ซีรีส์ ข่าวสาร พูดคุยกับเพื่อน ถามเยอะ ๆ หรือไปเรียน และเก็บประสบการณ์ทางตรงโดยการ ตั้งคำถามกับตัวเองในขณะดำเนินชีวิตประจำวัน แก้ปัญหาด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป หาประสบการณ์เพิ่มโดยวิธีง่าย ๆ เช่น ลองไปเที่ยวที่ใหม่ ๆ หรือไกล ๆ ที่เราไม่คุ้นเคยดูบ้าง 

            ทั้งหมดนั้นจะทำให้เราสามารถพัฒนาความคิดระบบที่ 1 ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เราตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ดีมากขึ้น แก้ปัญหาได้ดีมากยิ่งขึ้น กล่าวคือประสบการณ์จะหล่อหลอมตัวเราให้มีการมองโลกเปลี่ยนไป มีแนวทางในการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปในทางที่ดียิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันการใช้ระบบที่ 2 คิดก็จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คิดได้แยบคายมากขึ้น เป็นความคิดที่ยืดหยุ่น (Elastic Thinking) มากขึ้น

            ประสบการณ์จึงเหมือนกับจุดที่เรานำมาเชื่อมต่อกัน เพื่อกำหนดเส้นทางในตลอดชีวิต Steve Jobs เชื่อว่าถ้าจุดไม่เพียงพอมันจะจบลงด้วยเส้นตรง เขาไม่สนใจวิธีการเชิงเส้นตรงในการกระทำสิ่งต่าง ๆ สำหรับเขาการเดินทางไปตามเส้นทางที่น่าสนใจเป็นกุญแจที่นำไปสู่การค้นพบเส้นทางที่นำไปสู่จุดหมายปลายที่ทางที่ดีที่สุด เมื่อถึงเวลาที่เขาจะต้องทำงานกับใครสักคนที่ Apple เขาจะมองหาคนที่มีประสบการณ์ชีวิตกว้างขวางที่พวกเขาสามารถแปลงมาเป็นความเข้าใจอันดีต่อประชาชน และเขาเห็นว่าสิ่งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการหาคำตอบให้กับประชาชนที่ประสบปัญหา ไม่ว่าจะเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือไม่ก็ตาม

"บางครั้งการขึ้นรถไฟผิดขบวน อาจพาเราไปถึงสถานีที่ใช่ก็ได้" Lunchbox

            การที่เราเดินออกมาจากความเคยชินบ้างเป็นบางครั้ง ก็ทำให้เราได้พบเจอประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่จะหลอมรวมกลายเป็นคุณค่าในตัวเรามากยิ่งขึ้น ทำให้เราแตกต่าง และฉีกออกจากค่านิยม วัฒนธรรม ประเพณี อันจำเจของสังคม แม้สิ่งนั้นจะไม่ใช่สิ่งที่แย่เสมอไป แต่ก็ทำให้เราได้ตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นมาเนิ่นนาน ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ พูดให้ง่ายคือ "ทำให้เราคิดยืดหยุ่นได้มากยิ่งขึ้นนั้นเอง" 

อ้างอิง

Kahneman, D. (2013). Thinking Fast and Slow. NY: Farrar, Straus and Giroux.

Mlodinow, L. (2018).  Elastic: Flexible Thinking in a Time of Change. NY: Pantheon Books.

Smith, D. (2013). How to Think Like Steve Jobs. UK: Michael O' Mara Books.

คาลอส บุญสุภา. (2564). ออกแบบชีวิตอย่างเรียบง่าย (Keep It Simple). https://sircr.blogspot.com/2021/04/keep-it-simple.html

ความคิดเห็น