การเปลี่ยนเรื่องเลวร้ายให้เป็นแรงบันดาลใจ

        ท่านผู้อ่านรู้จักกล่องดำไหมครับ เป็นอุปกรณ์ที่ทนทานมาก สามารถบันทึกเสียงและความเป็นไปทุกช่วงเวลาในการบินแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของตัวเครื่อง หรือเสียงในห้องนักบิน  หากเครื่องบินตกมีโอกาสน้อยมากที่จะมีผู้รอดชีวิต กล่องดำจะเป็นข้อมูลสำหรับค้นหาสาเหตุที่เกิดขึ้น สิ่งประดิษฐ์นี้มีเบื้องหลังที่น่าเศร้าอยู่ ผู้ที่คิดค้นขึ้นมาคือ เดวิด วอร์เรน (David Warren) นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย

        วอร์เรนเกิดในหมู่บ้านที่ห่างไกลความเจริญ แวดล้อมไปด้วยชนเผ่าพื้นเมืองอะบอริจินส์ ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองออสเตรเลีย พ่อของเขาเป็นนักสอนศาสนาที่สละความสุขสบายในเมืองใหญ่ เพื่อมาเผยแผ่ศาสนาให้กับชนพื้นเมือง ด้วยความยากลำบาก และไม่คุ้นเคยกับอากาศกับสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดการบาดเจ็บ ป่วย หรือเป็นอันตราย บางครั้งเขาต้องอดมื้อกินมื้อ เมื่อวอร์เรนอายุได้ 4 ขวบพ่อตัดสินใจส่งเขาไปอยู่โรงเรียนประจำที่ซิดนีย์ ทำให้เขาได้มีโอกาสแค่ช่วงโรงเรียนปิดเทอมที่จะอยู่กับครอบครัว แต่วอร์เรนก็มีความสนิทสนมกับพ่อกับแม่เขาด้วยความรักอย่างเหลือล้น เพียงพอที่จะทำให้เขารู้สึกไม่เดียวดาย

        ในระหว่างที่วอร์เรนอยู่โรงเรียนประจำ พ่อของเขาซื้อวิทยุที่สมัยนั้นเป็นของหายากมาก วอร์เรนจึงรู้สึกดีใจกับของขวัญชิ้นนี้มาก เขาสามารถแอบฟังได้เมื่อโรงเรียนให้ปิดไฟนอน แต่วิทยุนี้กลับกลายเป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายที่เขาได้รับจากพ่อ เนื่องจากพ่อของเขาเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตกในเวลาไม่นานหลังจากนั้น นับเป็นอุบัติเหตุทางอากาศครั้งแรกของออสเตรเลีย พ่อและผู้โดยสารอื่น ๆ อีกกว่า 10 ชีวิตรวมทั้งนักบินเสียชีวิตหมด ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีกล่องดำจึงไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด

        ในความมืดมิด วอร์เรนน้ำตาไหลขณะนอนฟังวิทยุ พร้อมกับตั้งคำถามว่า "ทำไมเครื่องบินถึงตก" แต่ไม่นานด้วยความเป็นเด็ก ถึงแม้กำลังเผชิญหน้ากับเรื่องเลวร้าย แต่ด้วยความซุกซน วอร์เรนจึงแกะเครื่องวิทยุออกมา และประกอบมันกลับเข้าไป จากเหตุการณ์นั้นทำให้เขาซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ มาประกอบเป็นวิทยุเครื่องใหม่ได้สำเร็จท่ามกล่างเสียงชื่นชมจากเพื่อน 

        นั้นจึงเป็นอาชีพแรกวอร์เรนในการประดิษฐ์วิทยุขายให้เพื่อน ๆ  นอกจากจะทำให้เขาได้ค่าขนมยังทำให้เขามีความชำนาญมากขึ้นอีกด้วย ด้วยความชอบในการประดิษฐ์ทำให้เขาสนใจในเรื่องของวิทยาศาสตร์จนสามารถจบปริญญาเอกจากประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ตามความโศกเศร้าที่ซุกซ้อนในจิตใจก็ไม่เคยหายไป แต่กลับผลักดันให้เขาสามารถผลิตกล่องดำได้สำเร็จ เด็กชายที่ไม่เคยได้รับคำตอบเรื่องการจากไปของพ่อสุดที่รัก เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ที่ช่วยให้การบินรอบโลกได้รับคำตอบมากมายเพื่อช่วยในการเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับการเดินทางบนอากาศ
เดวิด วอร์เรน ไม่เคยจดลิขสิทธิ์ กล่องดำ เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ควรมอบเป็นของขวัญแก่มนุษยชาติมากกว่าที่จะนำมาเป็นสินค้า 
        ผมเชื่อว่าทุกท่านเคยพบเจอเรื่องเลวร้ายด้วยกันทั้งนั้น และหลายครั้งที่เรื่องเลวร้ายเหล่านั้นส่งผลให้เราเกิดความรู้สึกแง่ลบตามมา ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ ความเศร้า ความโดดเดี่ยว ความอ้างว้าง หรือความทรมาน เรื่องเลวร้ายมักจะเกิดขึ้นได้เสมอไม่ว่าจะต่อหน้าต่อตา หรือเป็นข่าวร้ายเหมือนกับ เดวิด วอร์เรน (David Warren) ได้ข่าวการสูญเสียของพ่ออันเป็นที่รักของเขา ซึ่งไม่ว่าเป็นเหตุการณ์เล็กหรือใหญ่แค่ไหนก็ตามตราบใดที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกเชิงลบ เป็นทุกข์ ก็สามารถเกิดแผลเป็นทางจิตใจได้ 
        เมื่อเราเจอเรื่องราวที่เลวร้าย เราจะต้องยอมรับว่ามีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้น ยอมรับว่าตอนนี้เรากำลังรู้สึกทุกข์ มากน้อยแค่ไหนไม่เป็นไรเพียงแค่ยอมรับ อย่าทำตัวเสแสร้งว่าตัวเองมีความสุขตลอดเวลา เพราะมันจะเป็นการกดดันตัวเองให้แสดงความสุขจอมปลอมออกมา ความจริงแล้วมันคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ใครจะมีความสุขเวลาที่ทุกข์ได้ ซูซาน เดวิด (Susan David) ผู้เขียนหนังสือชื่อ หนังสือ Emotional Agility "บรรดารอยยิ้มปลอม ๆ และความรู้สึกอยากจะคว้าแต่ความสุขทำให้เรามองไม่เห็นแง่ดีของความรู้สึกในด้านลบเลย" 

        โดยปกติแล้วเมื่อเราถูกชีวิตกระหน่ำจนจมดิน แม้บางครั้งจะเจ็บปวดอยู่บ้าง แต่ลึกลงไปแล้วมักจะมีสิ่งเล็ก ๆ แต่สำคัญซ่อนอยู่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อชีวิตเราในภายภาคหน้าเสมอ ผลงานศิลปะ กวี วรรณกรรม สถาปัตยกรรมมากมายบนโลกใบนี้ล้วนเกิดจากความย่ำแย่และมืดมนในชีวิตมนุษย์ ความรู้สึกดิบ ๆ เหล่านี้บางครั้งเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องมีเพื่อให้มาสอนสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวเราเองและทำให้เราเกิดการตื่นรู้ต่อทิศทางที่สำคัญในชีวิต 

        แน่นอนว่าความทุกข์ก็คือความทุกข์ ผมคงไม่ได้แนะนำว่า "จงรู้สึกดีกับความทุกข์" ถ้าเป็นไปได้เราก็ควรจะหลีกเลี่ยงมัน เป็นเรื่องฉลาดเสียด้วยซ้ำที่จะหลีกหนีต่อความทุกข์ เช่นเราอาจจะเป็นคนที่ไม่ชอบเสี่ยงอย่างรุนแรง เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงจะทำให้เราเกิดความกังวล ความทุกข์ ความไม่สบายใจที่รุนแรงมาก เราจึงไม่ควรเอาตัวเองไปอยู่ในสภาพแบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นการที่เรานำเงินจำนวนมากไปลงทุนกับสิ่งที่มีความเสี่ยงสูง การเล่นกีฬาที่มีความอันตราย หรือการนำเอาอาชีพการงานของตนเองไปเสี่ยงมากจนเกินไป

        วิคเตอร์ แฟรงเคิล (Viktor Frankl) นักจิตบำบัดผู้โด่งดังที่รอดชีวิตจากค่ายกักกันนาซี ซึ่งต่อมาเขาได้เขียนเรื่องราวในหนังสือชื่อ Man's Search for Meaning เขาเคยถูกจับเป็นเชลยในค่ายกักกันที่โหดร้ายที่สุดชื่อเอาชวิทซ์ ซึ่งเป็นค่ายที่มีการรมแก๊สเพื่อฆ่าชาวยิวอย่างเป็นระบบสำหรับผู้ที่อ่อนแอ ในขณะที่ผู้เข้มแข็งจะถูกใช้งานอย่างหนัก และได้รับประทานเพียงแค่เศษขนมปังกับซุปเย็นชืด ตลอดเวลาที่เขาต้องทำงานหนัก ป่วยหนัก ทุกข์ทรมาน โอกาสที่จะมีชีวิตรอดเพียงน้อยนิด ไม่ว่าจะเป็นความหิว ความอัปยศอดสู ความหวาดกลัว และความโกรธแค้น 

        เขาบรรยายในหนังสือ Man's Search for Meaning ว่า "สิ่งที่ทำให้เขาหรือคนอื่น ๆ ที่เป็นเชลยอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไปคือการที่นึกถึงภาพของบุคคลอันเป็นที่รักไว้ช่วยเยียวยาจิตใจ มีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว มีอารมณ์ขันที่เปี่ยมด้วยความกล้าหาญ ไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ แม้กระทั่งการได้เห็นความงดงามของธรรมชาติอย่างต้นไม้สักต้นหรือภาพพระอาทิตย์ตกดินเพียงแวบเดียวก็เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตอันหนักหนาสาหัสกลายเป็นสิ่งที่พอจะทนได้บ้าง แต่ช่วงเวลาแห่งการเยียวยาปลอบใจเหล่านี้ ไม่อาจสร้างความต้องการจะมีชีวิตอยู่ จะช่วยได้ก็เพียงให้ชีวิตที่ต้องทนทุก์ทรมานที่ดูแล้วเหมือนไร้ความหมาย ของเชลยสงครามพอจะมีความหมายขึ้นมาบ้างเท่านั้น" 
"ตรงจุดนี้เอง ที่เราได้ค้นพบแก่นแท้ของการดำรงอยู่ สิ่งนั้นก็คือ การมีชีวิตก็คือความทุกข์ การมีชีวิตรอดหมายถึง การต้องค้นหาความหมายในระหว่างประสบทุกข์ ถ้าในชีวิตหนึ่งสามารถมีจุดหมายได้ ฉะนั้นในความทุกข์ทรมานและความตายก็ต้องมีจุดหมายเช่นเดียวกัน"
        หลังจากแฟรงเคิลมีชีวิตรอดออกมาจากค่ายกักกันได้ และกลายเป็นนักจิตวิทยาผู้บุกเบิก Logotherapy การบำบัดที่มุ้งเน้นการหาความหมายแห่งการดำรงชีวิตของมนุษยชาติและการแสงหาความหมายชีวิตของปัจเจกบุคคล เขาเชื่อว่า ชีวิตของเราไม่ใช่แค่ดำเนินไปตามแรงผลักดันของสัญชาตญาณ แต่มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่แม้กระทั่งยอมพลีชีพเพื่ออุดมคติและคุณค่าของตนเองได้ สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ ถึงแม้เราจะรู้สึกทุกข์ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มีความหมายอะไรเลย ทำไมเราถึงไม่เปลี่ยนมันเป็นแรงบันดาลใจในการทำอะไรสักอย่าง แต่ผมจะย้ำอีกครั้งนะครับว่า ผมไม่ได้หมายความว่าความทุกข์เป็นพรอะไรทั้งนั้น แม้ความทุกข์จะทำให้เราเข้มแข็ง แต่ก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้องเข้มแข็งขนาดนั้น ถ้าหากความทุกข์เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้มนุษย์ประสบความสำเร็จ ร่ำราย งั้นผมจะเลือกความธรรมดาแต่มีชีวิตที่ปราศจากความทุกข์เสียดีกว่า

        แต่เราเลือกไม่ได้ที่จะปราศจากความทุกข์ เพียงแต่ไหน ๆ เรื่องบ้า ๆ นี้ก็เกิดขึ้นแล้ว ทำไมไม่ลองเปลี่ยนมันไปเป็นอะไรดูบ้าง อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกาผู้ปลดปล่อยทาสนับล้านเป็นอิสระ เขาเผชิญกับความเลวร้ายของระบบทาสมาตั้งแต่เด็ก พบเห็นทาสมากมายต้องทนทุกข์ทรมาน เขาไม่ค่อยสนิทกับพ่อมาก มักจะโดนพ่อทำโทษอย่างรุนแรงเสมอ นั้นทำให้ลินคอล์นเติบโตขึ้นมาโดยเกลียดการมีทาสและการกดขี่ข่มเหงอย่างมาก 

            เขาคิดว่าพวกทาสนับล้านคนประสบกับความทุกข์ทรมาน ความรู้สึกนี้ทำให้เขารู้สึกทุกข์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เขาผลักดันตัวเองมาเป็นทนายความที่ช่วยเลยว่าความให้ผู้ที่ยากจน อ่อนแอ ร่วมระดมเงินในการช่วยเหลือคนผิวดำอิสระที่เกือบถูกจับไปเป็นทาส และก้าวขึ้นมาเป็นประธาธิบดีที่สามารถเลิกทาสได้สำเร็จ

        ไม่ว่าจะเป็น วอร์เรน แฟรงเคิล หรือ ลินคอล์น ต่างก็พบเจอกับความทุกข์ แต่ก็นำเอาความทุกข์นั้นมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้กับมนุษยชาติ วอร์เรนมีแรงบันดาลใจในการสร้างกล่องดำขึ้นมาจากความทุกข์ที่เคยสูญเสียพ่อไปจากการเดินทางบนอากาศ แฟรงเคิลนำเอาความทุกข์จากการอยู่ในค่ายกักกันเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ช่วยเหลือผู้คนจำนวนมากให้สามารถค้นหาความหมายของชีวิตตัวเองจนพบ ลินคอล์นนำเอาความทุกข์ที่โดนพ่อทำโทษอย่างรุนแรง และประสบการณ์การพบเห็นทาสที่ถูกทารุณอย่างโหดเหี้ยม มาเป็นแรงบันดาลใจในการเลิกทาสได้สำเร็จ

        สุดท้ายผมอยากจะจบด้วย คำกล่าวของ นิตช์เช (Friedrich Nietzsche) นักปรัชญาสายอัตถิภาวนิยมว่า "บุคคลผู้มีเหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ย่อมสามารถอดทนต่อสภาพที่เกิดขึ้น ไม่ว่ามันจะมาในรูปแบบใดก็ได้เกือบทุกอย่าง" และ
"อะไรที่ไม่สามารถฆ่าเราให้ตายได้จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น"

สามารถอ่านบทความ วิธีเปลี่ยนแปลงประสบการณ์เพื่อก้าวเดินต่อไป ได้ในลิ้งนี้

อ้างอิง

David, S. (2016). Emotional Agility: Get Unstuck, Embrace Change, and Thrive in Work and Life. NY: Avery.

Frankl, V. (2006). Man's Search for Meaning. MS: Beacon Press.

คาลอส บุญสุภา. (2564). วิธีเปลี่ยนแปลงประสบการณ์เลวร้ายเพื่อก้าวเดินต่อไป. https://sircr.blogspot.com/2021/06/blog-post_26.html

สุภาศิริ สุพรรณเภสัช. (2552). วันเยาว์ของคนใหญ่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน.

ความคิดเห็น