ชาลี แชปลิน (Charlie Chaplin) เป็นการแสดงตลกภาพยนตร์เงียบ โดยมักจะแต่งตัวเป็นคนจรจัด ใส่หมวกใบเล็ก มีหนวดเล็ก ๆ เป็นเอกลักษณ์ เขาสร้างรอยยิ้มให้กับคนทั้งโลก จนได้ชื่อว่า "ตลกอัจฉริยะ" เป็นแรงบัลดาลใจให้กับเฉินหลงคิดการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษจนมีชื่อเสียงโด่งดัง เขาได้รับการยกย่องสูงสุดในฐานะนักแสดงจากสหรัฐ และได้รับตำแหน่งท่านเซอร์จากพระราชินีอังกฤษ ภาพยนตร์หลายเรื่องของเขาเป็นผลงานระดับขึ้นหิ้งจนมาถึงทุกวันนี้ แต่หลายท่านคงคาดไม่ถึงว่าในสมัยเด็กหนูน้อยชาลีเผชิญกับประสบการณ์เลวร้ายมามากมายแค่ไหน
หนูน้อยชาลีเกิดในสลัมของกรุงลอนดอน มีพ่อแม่เป็นนักแสดงเร่ที่ไม่มีชื่อเสียง พ่อของเขาเป็นคนขี้เมาที่ไม่มีใครจ้าง สุดท้ายเมื่อพ่อแม่ของเขาหย่ากัน ชาลีกับพี่ชายก็ไปอยู่กับแม่ โดยที่พ่อไม่เคยใส่ใจกับเรื่องนี้เลย หนูน้อยชาลีเป็นเด็กน่ารัก และมีสายเลือดนักแสดงติดตัวมา เขาทั้งชอบร้องเพลงและเต้นระบำเลียนแบบแม่ เคยถูกจับไปแสดงคั่นเป็นบางครั้งตอนที่แม่ของเขาป่วยไม่สามารถแสดงได้ คนดูชอบความสามารถและความน่ารักของเขาในวัยห้าขวบมาก
และแล้วก็มาถึงวันหนึ่งที่แม่ของเขาป่วยจนไม่สามารถแสดงต่อได้อีก ทำให้ฐานะทางบ้ายค่อย ๆ ยากจนลงไป ต้องอดมื้อกินมื้อ แม่พยายามเย็บผ้าเลี้ยงชีพ ก็ไม่สามารถทำได้เต็มที่เนื่องจากมีสุขภาพไม่ดี ทำให้ชาลีและพี่ชายต้องไปขอข้าวคนข้างบ้านกิน พี่ชายพยายามหางานเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำเพื่อจะหาเงินซื้ออาหารมาเลี้ยงน้องชายและแม่ แต่ก็ไม่พอที่จะเลี้ยงทั้งครอบครัวได้ ทำให้ทั้งครอบครัวต้องไปอยู่สถานสงเคราะห์คนยากจน ชาลีได้เห็นสภาพของผู้คนที่จนตรอกและพ่ายแพ้กับชีวิต ต้องเรียงแถวรับอาหารบริจาค ที่บางครั้งก็เต็มไปด้วยการเย้ยหยันหรือเมตตาจอมปลอม
ประสบการณ์นี้ทำให้ชาลีซึมซับ และเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความยากจนไว้เต็มหัวใจ ยิ่งไปกว่านั้นแม่ของเขาเริ่มจะมีอาการเสียสติ ต้องเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลจิตเวชอยู่เป็นประจำ บางครั้งทั้งสองพี่น้องก็หนีออกจากสถานสงเคราะห์ เพื่อจะอยู่เองให้ได้ จากการขายหนังสือพิมพ์บ้าง ขายดอกไม้บ้าง ทำงานในโรงงานบ้าง ศาลเคยสั่งให้พ่อของเขารับชาลีและพี่ชายไปอยู่ด้วย แต่เมียใหม่ของพ่อไม่ชอบเด็กทั้งสองคน บางครั้งเธอก็ไม่ให้เขาทั้งสองเข้าไปในบ้าน ทำให้ทั้งสองต้องหนาวอยู่นอกบ้านเป็นเวลานาน ๆ แต่สุดท้ายพ่อของก็เสียชีวิตลง ทำให้ทั้งสองต้องเผชิญโลกเองเหมือนเดิม
เมื่ออายุแปดขวบ ชาลีก็เริ่มรับงานแสดงเป็นตัวประกอบ มีบทเล็กน้อย ทำให้พอได้เงินไปซื้ออาหารบ้าง แต่ซ้ำร้ายอาการของแม่ค่อย ๆ เลวร้ายลงจนสุดท้ายแม่เกิดอาการเสียสติรุนแรง ชาลีต้องคอยปลอบแม่ให้สงบ แล้วจูงแม่ซึ่งไม่รู้เรื่องไปส่งโรงพยาบาลจิตเวชด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามการแสดงของเขามีความก้าวหน้าขึ้น แม้เขาจะไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ก็ให้พี่ชายช่วยอ่านบทให้ฟังซึ่งเขาสามารถจำมันได้ติดหัว โดยไม่ต้องให้พี่ชายอ่านทวนให้อีกเป็นครั้งที่สอง
ชาลีเริ่มมีชื่อเสียง และย้ายไปอเมริกาจึงพาแม่ไปด้วย แต่อาการของแม่หนักเกินไป จึงต้องพาไปอยู่โรงพยาบาลจิตเวชที่นั้น เขารักแม่มาก ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมเขาจะกอด จูบ จับมือ แล้วคุยกับแม่ เท่าแม่จะสามารถคุยได้ จนกระทั่งแม่เขาได้ตายจากไปในขณะที่ชาลีกำลังถ่ายหนังอยู่ เขาจึงรีบไปที่โรงพยาบาลร้องไห้ พูดกับแม่ที่ไร้สติในโรงพยาบาลอยู่หลายชั่วโมง
ชาลีใช้ประสบการณ์เลวร้าย ที่ยากจนและทนทุกข์ของตัวเองในอดีตมาสร้างเป็นภาพยนตร์หลายเรื่อง จนเป็นภาพจำของเขาในบทของ "คนจรจัด" นอกจากนั้นยังสร้างภาพยนตร์ที่สะท้อนความเลวร้ายของทุนนิยมแบบตลกร้าย จนถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตามชาลี แชปลินในวัยเด็กสามารถเติบโตขึ้น และประสบความสำเร็จอย่างสูง แม้ว่าเขาจะต้องเผชิญเรื่องราวที่เลวร้ายขนาดไหนก็ตาม ทั้ง ๆ ที่มีหลายคนพยายามจะไม่พูดถึงประสบการณ์เลวร้าย แต่เขาเลือกเผชิญหน้าและหยิบมันขึ้นมาสร้างสรรค์เป็นผลงานที่เป็นตำนานแห่งโลกภาพยนตร์ตลอดไป
หลายคนอยากหนีออกจากความรู้สึกเชิงลบเหล่านี้ แต่ก็ไม่เคยลืมมันได้ บางคนสามารถใช้กลไกป้องกันตนเองเก็บกด ซึ่งหมายถึงการบังคับความทรงจำ ความคิด หรือการรับรู้ให้ออกไปจากการรู้คิด (Conscious) ส่งไปอยู่ในจิตใต้สำนึก (Unconscious) และสร้างกำแพงเพื่อปกป้องเอาไว้ เช่น ความเจ็บปวดจากการโดนทำร้ายร่างกาย โดนข่มขืน โดนกลั่นแกล้ง โดนลงโทษ หรือแม้แต่การล้อเลียน ก็สามารถถูกนำเอาไปเก็บไว้ได้หมด (เป็นสถานการณ์)
แต่อย่างไรก็ตามความทรงจำเหล่านั้นสามารถถูกดึงกลับขึ้นมาได้ เช่น การเจอเหตุการณ์นั้นซ้ำ การย้ำคิด และการเจอเหตุการณ์ที่มีความคล้ายคลึงหรือเกี่ยวข้อง กล่าวคือประสบการณ์เลวร้ายเหล่านั้นไม่เคยหนีหายไปไหน
แล้วจะทำอย่างไรต่อไป ในเมื่อยังไงประสบการณ์เชิงลบก็ต้องเกิดขึ้นแน่นอน จะหนีก็ไม่ได้ จะโยนปัญหาเหล่านั้นไปซ่อนก็ไม่ได้ คำตอบก็คือจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับมัน ในหนังสือ Emotional Agility ซูซาน เดวิด (Susan David) ได้ยกตัวอย่างเรื่อง The Babadook ในหนังเรื่องนี้ แม่เลี้ยงเดี่ยวคนหนึ่งต้องทนทุกข์ทรมานกับปีศาจเงาที่โผล่ออกมาจากหนังสือนิทานเล่มหนึ่งของลูกชาย ท้ายที่สุุดเรื่องก็มาเฉลยว่า ปีศาจร้ายตัวนั้นเป็นตัวแทนของความรู้สึกเกี่ยวกับความเป็นแม่ของเธอและความเจ็บปวดที่เธอมีต่อลูกชาย นับตั้งแต่สามีของเธอตายไปในอุบัติเหตุรถชนตอนที่เขาขับพาเธอไปทำคลอดนั้นเอง นั้นแปลว่า ปีศาจร้ายตัวนั้นเป็นตัวแทนความเศร้าเสียใจของเธอนั้นเอง
วิธีที่แม่จัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ "เธอเลือกเผชิญหน้ากับมัน" สุดท้ายเธอสามารถกำราบอารมณ์ที่น่ากลัว ด้วยการยอมรับ และปล่อยให้เจ้าบาบาดุกอาศัยอยู่ในห้องใต้ดินที่เธอคอยให้อาหารและดูแล หรือพูดอีกอย่างก็คือ เธอเรียนรู้ที่จะทำให้มันเชื่องและดูแลอย่างดีโดยไม่ปล่อยให้มันมาบงการชีวิตของเธออีก นี้จึงเป็นตัวอย่างที่ดีอย่างมาก เพราะในความจริงแล้วเราไม่สามารถทำลายเจ้าบาบาดุกได้
เหมือนกับประสบการณ์เลวร้ายที่เราไม่สามารถลืมมันได้ หลาย ๆ คนรวมทั้งผมด้วยอาจจะเคยเผลอนึกถึงเหตุการณ์ในอดีต โดยเฉพาะเรื่องที่อับอาย เจ็บปวด จนหลับตาปี๋ทันที ซึ่งไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี ก็ไม่สามารถลืมมันได้ซักที เพราะในชีวิตจริงก็เหมือนกับเรื่องบาบาดุกนั้นแหละครับ เรากำจัดมันไม่ได้ เราไม่สามารถใช้ดาบเลเซอร์ คำสาปพิฆาต หรือใช้รองเท้าเสริมพลังเตะมันออกไปได้ ทำได้แค่เพียงเผชิญหน้าแล้วอยู่ร่วมกับมันอย่างเข้าใจ ผมจึงอยากนำเสนอวิธีการเปลี่ยนแปลงประสบการณ์เลวร้ายเพื่อก้าวเดินต่อไป โดยแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1 เผชิญหน้ากับประสบการณ์เลวร้าย โดยการรับรู้ว่าประสบการณ์เลวร้ายนั้นมีอยู่จริง มันเป็นเรื่องจริง มันเคยเกิดขึ้นจริง และรับรู้ถึงความรู้สึกของตัวเองในขณะนั้นว่า เรารู้สึกอย่างไร เสียใจมากแค่ไหน เศร้ามากแค่ไหน อยากร้องก็ร้องออกมา อยากโกรธก็แสดงความโกรธออกมา อย่าพยายามเก็บกดอารมณ์ของตัวเอง เพราะว่าในความจริงแล้วอารมณ์เหล่านั้นมันไม่เคยหายไป สักวันหนึ่งมันก็ต้องระเบิดออกมาอยู่ดี หลังจากที่รับรู้ถึงเหตุการณ์นั้น และรับรู้อารมณ์ของตัวเองแล้ว เราจะค่อย ๆ ทำความเข้าใจและยอมรับมัน ผมเปรียบขั้นนี้เหมือนกับการรับรู้ว่าเรากำลังโดนถล่มด้วยระเบิด
ขั้นตอนที่ 2 เข้าใจและยอมรับ คือการที่เราเข้าใจและยอมรับประสบการณ์เลวร้ายนั้น ๆ เสียก่อน เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือเหตุการณ์ใด ๆ ได้จนกว่าเราจะยอมรับในสิ่งที่ดำรงอยู่ตอนนี้เสียก่อน การยอมรับความจริงคือสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำหากต้องการความเปลี่ยนแปลง เราต้องเข้าใจและยอมรับว่าโลกใบนี้มันก็เป็นอย่างที่มันเป็น เราจะสามารถอยู่กับมันได้อย่างสันติสุขเพียงแค่เราเลิกที่จะเปลี่ยนมันให้ได้ เพราะปัญหาในโลกนี้มีอยู่ 2 อย่าง 1) ปัญหาที่แก้ไขได้ 2) ปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ และส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ ซึ่งมักจะเป็นปัญหาที่ไม่เกี่ยวกับเราโดยตรงแต่เราเอามาหนักหัวตัวเอง เช่นปัญหาของคนอื่น เพื่อนอกหัก หรือมีคนมองเราในแง่ลบ หากเราเข้าใจและยอมรับปัญหาหรือประสบการณ์เลวร้ายนั้นแล้ว แรงระเบิดเหล่านั้นก็จะสงบและเงียบมากพอที่เราจะทำอะไรต่อไป
ขั้นตอนที่ 3 เมตตาต่อตัวเอง หลังจากที่แรงระเบิดสงบเงียบลงหรือหลังจากที่เราเข้าใจและยอมรับประสบการณ์เลวร้ายนั้นแล้ว ต่อมาเราก็จะต้องเมตตาต่อตัวเอง เพราะเรื่องบางเรื่องแม้เราจะเจ็บปวดจากการกระทำของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นศัตรู หรือคนใกล้ตัวเรา เช่น พ่อ แม่ พี่น้อง เพื่อน แต่เรามักจะโทษตัวเองโดยอัตโนมัติ เนื่องจากโดยปกติแล้วเรามักจะใส่อารมณ์กับคนที่เราทำได้ง่ายที่สุด "ก็คือตัวเรานั้นเอง" ดังนั้นเราจะต้องหยุดโทษตัวเอง รู้จักเมตตาต่อตัวเองว่า "เรามันก็คือมนุษย์ตัวเล็กคนหนึ่ง เป็นแค่เม็ดผงเล็ก ๆ ในจักรวาลอันกว้างใหญ่นี้ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงด้วยสัญชาตญาณ และมักจะทำในสิ่งที่ผิดพลาดเสมอ" ดังนั้นมันจึงเป็นเหตุผลที่ดีอย่างมากที่เราจะเมตตาต่อตนเอง โดยการให้อภัยตัวเอง อีกอย่างเรามักจะรู้จักแต่การง้อคนอื่น แต่เราไม่เคยง้อตัวเองเลยสักครั้ง หากเราลงโทษตัวเองรุนแรงขนาดนั้น ทำไมเราจะง้อตัวเองไม่ได้ เราสามารถง้อโดยการหาความสนุกใส่ตัวบ้าง ออกกำลังกายให้ร่างกายและจิตใจแข็งแรง หาของกินที่อร่อยเพื่อดื่มกิน แล้วสร้างสมดุลกับการกินอาหารสุขภาพเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและจิตใจแจ่มใสมากขึ้น ในขั้นนี้เปรียบเสมือนเรากำลังบูรณะตัวเราที่พังอยากการโดนระเบิดถล่มใส่
ขั้นตอนที่ 4 ก้าวเดินต่อไป เป็นขั้นตอนสุดท้าย เมื่อเราบูรณะตัวเราที่พังจากการโดนถล่มไปแล้ว สิ่งสุดท้ายที่เราจะต้องทำก็คือก้าวเดินต่อไป เปรียบเสมือนกับการที่เราจะต้องทำให้เมืองของเราพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น นอกจากนั้นยังต้องสร้างการป้องกันเพื่อไม่ให้เมืองของตัวเองโดนถล่มอีกรอบหนึ่งด้วย เหมือนกับที่ชาลี แชปลินที่นำเอาเรื่องราวของตนเองมาสร้างสรรค์เป็นภาพยนตร์ และทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จ
ลิซ เมอเรย์ (liz Murray) เป็นเด็กสาวที่เคยไม่มีที่อยู่มาก่อน จากครอบครัวที่มีปัญหาด้านยาเสพติด และคุณแม่ของเธอที่เสียชีวิตจากโรคเอดส์ รวมถึงคุณพ่อของเธอที่ถูกส่งไปบำบัดรักษายาเสพติด ทำให้เธอต้องหาเลี้ยงตัวเอง เผชิญหน้ากับชีวิตที่หนักหนาสาหัสทั้งไม่มีที่อยู่จนต้องนอนตามที่สาธารณะหรือรถไฟใต้ดิน แต่เธอก็สามารถพลิกผันชีวิตตัวเอง มุ่งมั่น ตั้งใจที่จะสร้างชีวิตของตัวเองขึ้นมาใหม่ และสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ได้ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของโลก เธอเคยกล่าวว่า
"ไม่ว่าเรื่องราวจะเปิดเผยออกมาอย่างไรนับจากนี้ ไม่ว่าบทถัดไปจะเป็นอะไร ชีวิตของฉันก็ไม่อาจใช้ผลพวงจากเรื่องเรื่องเดียวอย่างที่เคยเป็นมาเสมอ มันถูกกำหนดด้วยความยินยอมพร้อมใจของตัว ฉันเองที่จะก้าวเท้าออกไป เดินไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น"
แม้ว่าจะมีวันหนึ่งที่เราย้อนกลับมามองแล้วรู้สึกเจ็บใจ เสียใจบ้างก็ไม่เป็นไร เราไม่ต้องโทษตัวเองว่าอ่อนแอ ไม่มีใครอ่อนแอ เราล้วนเป็นมนุษย์ที่มีข้อบกพร่องด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้นเราจะต้องกำหนดชีวิตของตัวเอง เหมือนกับที่ชาลี และ ลิซทำ คือหมั่นพัฒนาตัวเอง สร้างภูมิคุ้มกัน หาความสุขให้กับตัวเอง แค่เพียงก้าวเดินต่อไปเท่านั้น สตีเฟน ฮอว์คิง นักฟิสิกส์อัจฉริยะผู้เผชิญกับโรค ALS ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ทำได้เพียงแค่ขยับนิ้วกับกระพริบตาเท่านั้น
ครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าวว่า “แม้แต่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด คนเราจะอยู่รอดได้ก็ต่อเมื่อยังคงมีความหวัง” ผมเชื่อว่าทุกท่านจะสามารถเปลี่ยนแปลงประสบการณ์เลวร้าย และสามารถก้าวเดินต่อไปอย่างมีความสุข และจะเข้มแข็งมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ตลอดช่วงชีวิตที่ยังเหลืออยู่บนโลกใบนี้
สามารถอ่านบทความ การเปลี่ยนเรื่องเลวร้ายให้เป็นแรงบันดาลใจ ได้ในลิ้งนี้
อ้างอิง
David, S. (2016). Emotional Agility: Get Unstuck, Embrace Change, and Thrive in Work and Life. NY: Avery.
Murray, L. (2010). Breaking Night: A Memoir of Forgiveness, Survival, and My Journey from Homeless to Harvard. NY: Hachette Books.
กิติกร มีทรัพย์. (2554). พื้นฐานทฤษฎีจิตวิเคราะห์. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: สมิต
สุภาศิริ สุพรรณเภสัช. (2552). วันเยาว์ของคนใหญ่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน.
คาลอส บุญสุภา. (2564). ทุนทางจิตใจ หรือ ทุนทางจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychological Capital). https://sircr.blogspot.com/2021/06/positive-psychological-capital.html
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น