สารสื่อประสาทโดพามีน (Dopamine)

            สำหรับผมแล้วสารสื่อประสาทที่ได้ยินเยอะที่สุดคือ โดพามีน (Dopamine) เพราะมันเกี่ยวข้องกับหลายสิ่งหลายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น โรคจิตเภท พาร์กินสัน อาการเสพติด ตกหลุมรัก และอื่น ๆ อีกมายมาย ยิ่งไปกว่านั้นตอนได้ศึกษาเกี่ยวกับการปรับพฤติกรรม ผมก็พบว่าโดพามีนเป็นสารสื่อประสาทที่มีความสำคัญอย่างมาก และเป็นสิ่งที่ละเลยไปไม่ได้ ต้องทำความเข้าใจอย่างยิ่ง

            ซึ่งในบทความนี้ผมอยากจะนำเสนอเกี่ยวกับโดพามีนในมุมของพฤติกรรมเป็นส่วนใหญ่ มากกว่าในมุมของชีววิทยา เนื่องจากผมไม่ได้มีความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์มากมายนัก จึงอยากนำเสนอในมุมมองเชิงพฤติกรรมศาสตร์มากกว่า แต่อย่างไรก็ตามผมอาจจะต้องแตะเนื้อหาเกี่ยวกับสมองบ้างเล็กน้อย เพื่อทำให้เข้าใจบริบทของสารสื่อประสาทนี้มากยิ่งขึ้น 

            ผมอยากให้ผู้อ่านลองนึกภาพว่าท่านกำลังถือเครื่องมือที่สามารถบังคับสารโดพามีนในมนุษย์คนหนึ่ง หากผู้อ่านกดไปที่ปุ่มโดพามีนในขณะที่ มนุษย์นั้นกำลังอ่านหนังสือเขาก็จะอ่านมันอย่างตะบี้ตะบัน เหมือนคนติดสารเสพติด หากลดน้อยลงเขาก็จะหมดความสนใจในสิ่ง ๆ นั้นทันที ยิ่งไปกว่านั้นหากปล่อยไว้นานยังมือสั่นอีกต่างหาก  อย่างไรก็ตามผมไม่อยากให้ผู้อ่านคิดว่าคนที่มีความพึงพอใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเพราะสารโดพามีนเขาหลั่ง แต่ควรจะบอกว่าคนที่มีความพึงพอใจในสิ่งใดสิ่นหนึ่งมาก ภายในสมองของเขาก็จะพบสารโดพามีนกำลังทำงานหนักด้วยเช่นกัน 

            โดพามีนถูกพบโดยบังเอิญจากนักประสาทวิทยา ในปี 1954 ชื่อ เจมส์ โอลด์ส (James Olds) และ ปีเตอร์ มิลเนอร์ (Peter Milner) ที่ฝั่งขั่วไฟฟ้าลงกลางสมองของหนูทดลองตัวหนึ่ง พวกเขาสอดเข็มเข้าไปในสมองส่วนนิวเคลียสแอคคัมแบนส์ (Nucleus Accumbens) ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ทำให้เกิดความรู้สึกมีความสุข หนูทดลองเหล่านั้นจึงแสดงพฤติกรรมเหมือนคนติดยาเสพติด เคลิ้ม ไม่เป็นอันทำอะไร

            ยิ่งไปกว่านั้นโดพามีนยังช่วยควบคุมอารมณ์ทั้งหมดที่เรามี ตั้งแต่รู้สึกรักไปจนถึงความเกลียด กล่าวคือการกระตุ้นการทำงานของโดพามีนทำให้สมองส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ สื่อสารกันทำให้ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว (เป็นการทำงานของระบบ 1 ที่ใช้สัญญาตญาณ) "เหมือนที่คนเขาพูดกันว่า อารมณ์ศิลปิน" ทำให้สามารถเกิดการหยั่งรู้ คาดเดาได้ ซึ่งจะถูกหรือผิดขึ้นอยู่กับประสบการณ์  น่าสนใจใช่ไหมครับลองอ่านการทดลองต่อไปนี้ดู

            โดพามีนได้รับการศึกษามากขึ้น จนกระทั่ง ปี 1990  นักประสาทวิทยาโวลแฟรม ชูลซ์ เขาทดลองเกี่ยวกับการควบคุมการเคลื่อนไหวในลิง เพื่อกระตุ้นการเคลื่อนไหวของผู้ป้วยพาร์กินสัน แต่มันก็ล้มเหลว ซึ่งหลังจากที่เขาค้นคว้ามานานหลายปี เขาสังเกตเห็นความแปลกประหลาดว่า เซลล์โพพามีนส่งสัญญาณมาก่อน ที่ลิงจะได้รับอาหารที่มันชอบ ที่น่าแปลกก็คือมันส่งสัญญาณก่อนที่จะได้รับรางวัล อธิบายง่าย ๆ ก็คือลิงมันคาดหวังว่ามันจะได้รับรางวัล ทำให้ไปกระตุ้นการทำงานของเซลล์โดพามีน ทำให้มันได้รับความพอใจ  

            การทดลองของซูลซ์น่าสนใจอย่างมาก ซูลซ์ฝังขั้วไฟฟ้าไว้ในสมองฮูลิโอ (ชื่อลิง) เพื่อสังเกตปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในสมอง และให้ฮูลีโอไปอยู่ที่หน้าจอคอม หน้าที่ของมันคือดึงคันโยกเมื่อเห็นรูปทรงต่าง ๆ บนหน้าจอ เช่น รูปก้อนหายสีเหลือง เส้นยึกยือสีแดง เส้นตรงสีน้ำเงิน หากทำสำเร็จ น้ำแบล็กเบอร์รี่ (ของโปรดฮูลีโอ) จากท่อที่ห้อยบนเพดานจะไหลเข้าปากมันหนึ่งหยด ในตอนแรกมันก็ไม่ค่อยสนใจจะดึงคันโยกสักเท่าไหร่ แต่เมื่อมันได้กินน้ำผลไม้ มันก็จ้องจดจ่อ แล้วดึงคันโยกไปมาจนเริ่มเข้าใจว่า รูปทรงบนหน้าจอเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิด (พฤติกรรม) ดึงคันโยก ซึ่งมันจะได้รางวัลตามมา (น้ำแบล็กเบอร์รี่) เมื่อไหร่ก็ตามที่ฮูลิโอได้รางวัล สมองของมัน (ที่เชื่อมกับขั้วไฟฟ้า) ก็จะตื่นตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามันมีความสุขอย่างมาก 
            เมื่อการทดลองดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ สมองของฮูลิโอก็เริ่มคาดหวังจะได้ดื่มน้ำแบล็กเบอร์รี่มากขึ้นเรื่อย ๆ มันเพียงแค่เห็นสิ่งกระตุ้น (รูปทรงในคอมพิวเตอร์) มันก็สนองประมาณว่า "ฉันจะได้กินน้ำอร่อยแล้ว" เกิดขึ้นในสมองทันที ก่อนที่มันจะได้กินน้ำแบล็คเบอร์รี่จริง ๆ เสียอีก พูดง่าย ๆ ก็คือนอกจากรูปทรงต่าง ๆ บนหน้าจอจะเป็นสิ่งกระตุ้นให้ฮูลิโอดึงคันโยกแล้ว มันยังทำให้สมองของมันเกิดความพึงพอใจด้วย เพราะฮูลิโอคาดหวังแล้วว่ามันจะได้รับรางวัลทันทีที่มันมองเห็นรูปทรง

            ลิงเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วว่ามันจะได้รับรางวัลอันแสนหอมหวานตอนไหน หลังจากนั้นสมองก็จะเปรียบเทียบการคาดการณ์ดังกล่าวกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เมื่อลิงถูกฝึกให้คาดว่าจะได้ลิ้มรสน้ำผลไม้หลังเกิดเหตุการณ์บางอย่าง เซลล์โดพามีนจะตรวจสอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างระมัดระวัง หากทุกอย่างเป็นไปตามคาด เซลล์ประสาทจะผลิตโดพามีนออกมาเล็กน้อย และลิงก็จะมีความสุข 
            แต้ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามคาดหวังเอาไว้ (ไม่ได้รางวัลอย่างที่เคย) เซลล์โดพามีนก็จะหยุดปล่อยสารทันที กล่าวคือมันจะ "เหวอ" แล้วก็จะไปสู่ความรู้สึกโกรธหรือเซื่องซึมตามมา แต่เราจะมาพูดถึงเรื่อง "เหวอ" กันเพราะเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก

            กระบวนการ"เหวอ"ดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในพื้นที่เล็ก ๆ บริเวณใจกลางสมองซึ่งเต็มไปด้วยเซลล์โดพามีน เรียกว่า แอนทีเรียร ซิงกูเลต คอร์เทกซ์ (Anterior Cingulate Cortex : ACC) โดยจะทำหน้าที่เชื่อมโยงสิ่งที่เราคิดกับสิ่งที่เรารู้สึก เมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิด เราจะหยุดแล้วสังเกตเหตุการณ์นั้นทันที กล่าวคือ ACC เหมือนส่วนที่ทำให้เราเรียนรู้ประสบการณ์ที่แย่ ๆ และสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดได้ ในกรณีเป็นลิง มันก็จะหาวิธีเพื่อให้ได้รางวัลมาให้ได้ ลิงจะทำการรวบรวมข้อมูลใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องและเปลี่ยนความรู้สึกแย่ ๆ ให้เป็นโอกาสในการเรียนรู้ หากลิงไม่ได้ดื่มน้ำผลไม้ เซลล์โดพามีนก็จะปรับความคาดหวังเสียใหม่ กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดเวลา 

            ในขณะเดียวกันหากบุคคลมีความผิดปกติทางพันธุกรรมทำให้จำนวนตัวรับโดพามีนใน ACC ลดลง พวกเขาก็จะเรียนรู้ประสบการณ์แย่ ๆ ได้น้อยลงส่งผลให้เขาทำผิดแบบเดิมซ้ำซาก โดยไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ แม้ว่าจะเห็นตำตาอยู่แล้วว่าสิ่งนั้นส่งผลร้ายต่อตนเองก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นหากวงจรโดพามีนเกิดการพังทลาย ความเจ็บป่วยทางจิตก็อาจจะเกิดขึ้น แม้ว่าอาการจิตเภทจะมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่สามารถอธิบายได้ แต่จากการศึกษาพบว่าคนที่เป็นโรคจิตเภท มีตัวรับโดพามีนบางชนิดมากเกินไป ทำให้ระบบโดพามีนอยู่ในภาวะขาดความสมดุลและไร้การควบคุม กล่าวคือ ผู้ป่วยจิตเภทจะไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผล รู้สึกหวาดระแวง มีอารมณ์แปรปรวนคาดเดาไม่ได้ เหมือนถูกตัดออกจากโรคความเป็นจริง เพราะสารมีสารสื่อประสาทโดพามีนที่ถูกผลิตเยอะมากจนเกินไป จึงเป็นเหตุผลที่ยารักษาโรคจิตเภทจะลดการทำงานของโดพามีนลง 

            ลองนึกถึงเวลาที่เราตกหลุมรักใครสักคนดูสิครับ เราแทบจะไม่มีเหตุผลเลย กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ควบคุมตัวเองไม่ได้ บางทีทำในสิ่งที่ตัวเองก็คาดไม่ถึง ไม่เชื่อท่านผู้อ่านลองนึกย้อนไปในอดีต (หากมีใครกำลังตกหลุมรักอยู่ก็ขออภัยด้วยนะครับ) ท่านจะนึกถึงเหตุการณ์ที่คิดย้อนกลับไปแล้วรู้สึกอาย ตลก ไม่เข้าใจว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เช่นเดียวกับคนที่เป็นโรคจิตเภท และผู้ที่เสพยา เวลาที่เซลล์โดพามีนทำงานหนัก เราจะไม่สามารถคาดเดาอารมณ์ได้ เหมือนถูกตัดออกจากโรคความจริง เหมือนที่ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยา รี้ด มองตากิว (Read Montague) ได้กล่าวว่า "คุณมีโอกาส 99.9% ที่จะไม่รู้ตัวเวลาที่มีโดพามีนหลั่งออกมา แต่ในขณะเดียวกัน คุณมีโอกาส 99% ที่จะทำอะไรต่อมิอะไรตามอารมณ์ที่โดพามีนส่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของสมอง"

            ความน่ากลัวของภาวะตกหลุ่มรัก และโรคจิตเภทย้ำเตือนถึงความสำคัญของโดพามีน หากเซลล์ประสาทนี้ทำงานอย่างเหมาะสมก็จะเป็นขุมพลังอันยิ่งใหญ่  ลองนึกภาพหากเราต้องการลดความอ้วน สิ่งกระตุ้นคือรองเท้าวิ่ง กิจวัตรคือการวิ่ง รางวัลคือลดความอ้วนได้ กว่าที่เราจะได้รับรางวัลอาจจะต้องใช้เวลานานบางทีอาจใช้เวลาเป็นปี แต่อะไรเป็นแรงขับเคลื่อนให้เราตั้งใจออกกำลังกายได้ ทั้ง ๆ ที่กว่าจะเป็นผลนานมาก นั้นก็คือความคาดหวัง (โดพามีนทำงาน) ที่เป็นตัวหล่อเลี้ยงให้เราสามารถพยายามจนประสบความสำเร็จได้ ยิ่งไปกว่านั้นเรายังสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาด สะสมประสบการณ์ สามารถวิเคราะห์สถานการณ์โดยใช้สัญชาตญาณได้อย่างรวดเร็ว โดพามีนจึงเป็นสารสื่อประสาทที่น่าศึกษา และน่าค้นหาอย่างยิ่ง

อ้างอิง

Duhigg, C. (2014). The Power of Habit: Why We Do What We Do in Life and Business. NY: Random House.

Lehrer, J. (2010). How We Decide. MS: Mariner Books.

ความคิดเห็น