การค้นหาความหมายของชีวิต (Meaning of Life)

        หนึ่งในประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ครั้งหนึ่งเขาเคยประกอบอาชีพทนายความ ว่าความให้คนยากจน ยึดถือความถูกต้องในยุคที่มีการค้าทาสกันอย่างเข้มข้น ด้วยมุมมองนี้ทำให้เขาทำคดีที่เกี่ยวข้องกับทาส หรือผู้ที่มีความเปราะบางทางสังคมบ่อยครั้ง ทำให้เขาไม่อาจจดจ่อที่ตัวบทกฎหมายได้อีกต่อไปแล้ว เขาคิดว่าพวกทาสนับล้านคนประสบกับความทุกข์ทรมาน ความรู้สึกนี้ทำให้เขารู้สึกทุกข์อย่างไม่รู้จักสิ้นสุด 

            ยกตัวอย่างคดีหนึ่งที่มีหญิงผิวดำคนหนึ่งในเมืองสปริงฟีลด์มาหาลินคอล์น และเล่าเรื่องที่น่าสลดใจให้ฟัง เธอเล่าว่า ลูกชายของเธอไปที่เมืองเซ็นต์หลุยส์และทำงานในเรือกลไฟซึ่งแล่นในแม่น้ํามิสซิสซิปปี ครั้งหนึ่งเมื่อเขามาที่เมืองนิวออล์ลีนส์เขาถูกจับขังคุก ทั้ง ๆ ที่เขากำเนิดมาโดยมีเสรีภาพ ไม่ได้เป็นทาสแต่กำเนิด เพียงแค่เขาไม่มีเอกสารพิสูจน์ความจริง เขากำลังจะถูกขายไปเป็นทาสเพื่อเอาเงินมาชำระค่าใช้จ่ายที่เขาถูกขังคุก 

            ลินคอล์นเสนอเรื่องนี้ต่อข้าหลวงแห่งรัฐอิลลินอยส์ ข้าหลวงปฏิเสธบอกว่าเขาไม่มีสิทธิ์หรืออำนาจที่จะแทรกแซงเรื่องนี้ เขาจึงส่งจดหมายไปหาข้าหลวงแห่งรัฐลุยเซียน่า ซึ่งเขาตอบจดหมายลินคอล์นว่าเขาไม่สามาถจะจัดการได้เช่นเดียวกัน ลินคอล์นจึงกลับไปหาข้าหลวงแห่งรัฐอิลลินอยส์อีกเป็นครั้งที่สอง และกระตุ้นเตือนให้ข้าหลวงทำอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ข้าหลวงก็สั่นหัว

            ลินคอล์นจึงลุกขึ้นจากเก้าอี้ ร้องขึ้นด้วยเสียงที่ผิดธรรมชาติ "เพื่อพระเจ้า ท่านข้าหลวง ท่านอาจจะไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะปลดปล่อยชายหนุ่มผู้น่าสงสารคนนี้ แต่ผมนี้แหละจะทำให้แผ่นดินของประเทศนี้ร้อนเป็นไฟ จนพวกเจ้าของทาสไม่สามารถจะวางเท้าเหยียบลงไปได้เลย" หลังจากนั้นลินคอล์นจึงได้เรี่ยไรเงินกับเพื่อนทนายจนพอที่จะช่วยซื้ออิสรภาพของชายหนุ่มคนนี้ แล้วจัดการไถ่เขาออกไปจากคุก และส่งมาให้กลับให้กับแม่ผู้ปลื้มปิติอย่างไม่มีสิ่งใดเปรียบเทียบ เหตุการณ์นั้นเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่จุดไฟให้กับลินคอล์น ในการจะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ตลอดไป และรู้อะไรไหม เขาทำได้สำเร็จจริง ๆ ในอีก 10 ปีต่อมา

            ผมยกเรื่องราวของลินคอล์นขึ้นมาเพื่อให้ผู้อ่านเห็นถึงกระบวนการค้นพบความหมายในชีวิต คนทั่วไปมักพูดกันว่าเราต้องหาความหมายของชีวิตให้เจอ ต้องพยายามค้นหามัน ซึ่งผมขอบอกเลยว่ามันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น และในบางครั้งเราอาจคิดว่าเราได้พบมันแล้ว แต่มันอาจจะไม่ใช่ก็ได้ หรือเราอาจจะเจอมันแล้วโดยที่เราไม่รู้ตัวเองเลยก็ได้เช่นเดียวกัน แม้แต่ผมที่กำลังเขียนอยู่ตอนนี้ก็ไม่แน่ใจว่าผมเจอมันแล้วหรือยัง หรือถ้าเจอแล้วมันก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อผมเติบโตก็ได้

            ดังนั้นการค้นหาความหมายของชีวิต จึงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต วิคเตอร์ แฟรงเคิล (Viktor Frankl) นักจิตบำบัดที่รอดชีวิตจากค่ายกักกันนาซีเอาช์วิทซ์ ซึ่งต่อมาได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ Man's Search for Meaning ที่ว่าด้วยเรื่องการใช้ชีวิตที่เปี่ยมด้วยความหมาย ชีวิตที่สามารถเติมเต็มศักยภาพของมนุษย์ โดยเขาอธิบายว่า "ตรงกลางระหว่างตัวกระตุ้นกับการตอบสนองนั้นคือพื้นที่ว่าง และในพื้นที่ว่างนั้น คืออำนาจของเราที่จะเลือกวิธีการตอบสนอง และสิ่งที่เราเลือกคืออิสรภาพที่จะทำให้เราเติบโต" กล่าวคือ เรามีอำนาจที่จะเลือก และเมื่อเราเลือกแล้ว นั้นแหละจะทำให้เรามีความหมาย (หากใครงงไม่เป็นไรเดี๋ยวผมอธิบายเพิ่มเติม) ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่าความหมายของชีวิต (Meaning of Life) เสียก่อน 

            ความหมายของชีวิต (Meaning of Life) คือ การมีอิสรภาพในการเลือกเหตุผลของการมีอยู่ของตนเอง ซึ่งจะต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองเลือก ความหมายของแต่ละบุคคลจะมีเอกลักษณ์และมีลักษณะเฉพาะที่มีแต่เจ้าตัวเท่านั้นที่จะเข้าใจได้ เมื่อสามารถเข้าใจความหมายแล้ว ก็จะสามารถตอบสนองต่อแรงจูงใจที่ต้องการแสดงออกว่า "ฉันมีตัวตน" ได้

            โดยปกติแล้วเรามักจะดำเนินชีวิตไปตามสัญชาตญาณของตนเอง เช่น หิวก็กิน หรือการทำตามกลุ่มเพื่อความอยู่รอด นินทาเพื่อนบ้าง การคล้อยตามอิทธิพลทางสังคม เห็นเขาชอบสิ่งนี้กันก็ไปซื้อมาบ้าง การมีอคติที่คิดว่าตนเองถูกเสมอ หรือมั่นใจในข้อมูลที่ตนเองมีอยู่มาก หรือการสร้างกลไกป้องกันตนเอง เช่น โทษคนอื่น ปากว่าตาขยิบ ทดแทนสิ่งที่อยากทำในวัยเด็กแล้วไม่ได้ทำ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้คือการคิดแบบระบบ 1 ที่ใช้สัญญาตญาณ

            ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ที่กล่าวมาทำให้เราแทบจะสามารถคาดเดาได้เลยว่าคนคนหนึ่งต้องการอะไรบ้างในชีวิต จึงเป็นเหตุผลให้การตลาด การโฆษณา การเมือง การแพทย์ และอีกมายใช้ประโยชน์จากสิ่งที่คาดเดาได้นี้ของมนุษย์ มาสร้างเป็นผลประโยชน์ให้กับตนเองบ้าง สังคมบ้าง แล้วแต่สถาบันนั้น ๆ มีแรงจูงใจอย่างไร 

            ดังนั้นการมีอิสรภาพในการเลือก ก็คือการที่เราตัดสินใจว่าจะกำหนดแนวทางการดำรงอยู่ของเราที่หลุดออกจากสัญชาตญาณ (ระบบ 1) ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ บางคนอาจจะคิดว่าการมีความหมายในชีวิตคือการมีเจตจำนงเสรี (Free Will) นั้นก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ส่วนมากเรามักจะใช้ระบบ 1 ในการดำเนินชีวิตทำให้เรามักจะใช้สัญชาตญาณเป็นหลัก จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเลือกทุกสิ่งทุกอย่างในการดำเนินชีวิตโดยไม่มีความเจือปนของสัญชาตญาณอยู่เลย

            การที่เรามีควาหมายในชีวิต มันก็คือการที่เราใช้ระบบ 2 (การคิดวิเคราะห์ผ่านจิตสำนึก) ในการพิจารณา ไตร่ตรอง กำหนดแนวทาง เส้นทาง หรือทางเลือกของตนเอง พูดง่าย ๆ มันก็คือการสร้างความขัดแย้งระหว่างระบบ 1 และ ระบบ 2 ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น เมื่อเรากำลังจะคล้อยตามกระแสสังคม เช่น อยากซื้อบางสิ่งบางอย่างที่ไม่จำเป็น แต่มันอาจจะเพื่อความเป็นกลุ่ม ความปลอดภัย หรือปัจจัยอื่น ๆ เราอาจจะใช้ระบบ 2 ในการหาเหตุผลเพื่อปฏิเสธไม่ซื้อสิ่งนั้น เพราะสิ่งที่เราอยากจะซื้อมันอาจจะผิดไปจาก "ตัวตนที่เราเลือกจะเป็น" บางคนอาจจะใช้คำ "อุดมการณ์" หรือ "ความถูกต้องของตนเอง" ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งนั้น 

            เหมือนกับที่ลินคอล์นพูดกับเพื่อนทนายของของเขาว่า "ฉันขอบอกท่านว่า ชาติของเราจะไม่สามารถทนดำรงอยู่ในฐานะครึ่งทาสครึ่งเสรีภาพได้ตลอดไป" หรือการที่เขาพูดด้วยความโกรธกับข้าหลวงแห่งรัฐอิลลินอยส์ว่า "ผมนี้แหละจะทำให้แผ่นดินของประเทศนี้ร้อนเป็นไฟ จนพวกเจ้าของทาสไม่สามารถจะวางเท้าเหยียบลงไปได้เลย" มันก็คือการที่เขาได้กำหนด "ความเป็นตัวเองขึ้นมา" 

            นั้นจึงเป็นเหตุผลที่เราควรจะพยายามขัดแย้งกับสัญชาตญาณของตนเองบ้าง เพื่อให้เราสามารถดำรงอยู่บน "ความเป็นตัวเอง" ที่เราตัดสินใจว่าจะเป็น โดยไม่ยอมเป็นทาสต่อสัญชาตญาณตลอดเวลา เหมือนกับที่อิเรนา เชนด์เลอร์ (Irena Sendler) ที่ครั้งเมื่อกองทัพนาซียกพลบุกเข้ามาในเมืองของเธอ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เชนด์เลอร์กับเพื่อน ๆ ที่คิดแบบเดียวกันก็เดินหน้าปลอมเอกสารนับพับชิ้นเพื่อช่วยเหลือครอบครัวชาวยิวให้หนีออกจากค่ายกักกันสุดโหดในกรุงวอซ์ซอ เธอปลอมตัวเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ทำหน้าที่ตรวจโรคไข้ไทฟัสเข้าไปในค่ายกักกันแล้วค่อย ๆ แอบพาเด็ก ๆ หนีออกมาจากค่ายกักกันแห่งนั้นด้วยตนเอง จนกระทั่งเธอถูกตำรวจเกสตาโปจับตัวได้และลงโทษประหารชีวิต

            แต่หลังจากนั้นผู้คุมคนหนึ่งก็ช่วยพาเธอหนีออกมาและหาที่ซ่อนตัวให้ แต่แทนที่เธอจะหลบซ้อนตัวไปตลอด เชนด์เลอร์ยังคงซื่อสัตย์ต่อความหมายในชีวิตของเธอหรือความเป็นตัวเองของเธอ แม้จะเสี่ยงตายอย่างมาก เธอก็เดินหน้าช่วยเหลือเด็กชาวยิวให้รอดชีวิตได้เพิ่มอีก รวมแล้วกว่า 2,500 คน เธอยังคงยืนหยัดที่จะเดินต่อไป แม้มันจะสบายและปลอดภัยกว่ามากถ้าหากเธอเลือกทิ้งทุกอย่างแล้วหนีไป แต่เธอเชื่อว่า หากปราศจากการลงมือทำ ความหมายหรือคุณค่าของเธอที่ยึดถือมาก็จะเป็นเพียงแค่แรงบันดาลใจ แทนที่จะเป็นตัวตนของเราที่เราเลือกเอง 

            ทั้งเชนด์เลอร์ และ ลินคอล์นต่างเลือกเดินบนเส้นทางที่ยากลำบาก โดยไม่หวนกลับคืน เพราะพวกเขาเลือกเส้นทางของตนเอง เลือกความหมายในชีวิตของพวกเขาเอง เพื่อที่จะช่วยเหลือหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะกำหนดความเป็นตัวเองโดยที่ไม่รู้ตัว บางทีลินคอล์นหรือเชนด์เลอร์ก็อาจจะไม่ได้ไคร่ครวญถึงการดำรงอยู่ ความหมายในชีวิตก็ได้ แต่พวกเขาแค่ทำในสิ่งที่ตนเองคิดว่ามันถูกต้อง 

            ความหมายในชีวิตจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตของเรา หากเราเลือกใช้สติ ใช้จิตสำนึกในการคิดไคร่ครวญต่อความเป็นไปของชีวิตตนเอง หรือความเป็นไปของโลกใบนี้มากขึ้น สังเกตสิ่งรอบตัว สังเกตตนเอง มันก็จะเป็นการค่อย ๆ สร้างตัวตนของเราขึ้นมา เป็นตัวตนที่เฉพาะของเราเอง และประสบการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรค ความทุกข์ ความสุข ก็จะหล่อหลอมตัวตนนี้ให้แข็งแกร่งขึ้น จนวันหนึ่งเราจะสามารถตระหนักถึงมันได้เองว่า "เรามีความหมาย"

อ้างอิง

Carnegie, D. (1993). Lincoln the Unknown. NY: Buccaneer Books.

David, S. (2016). Emotional Agility: Get Unstuck, Embrace Change, and Thrive in Work and Life. NY: Avery.

Frankl, V. (2006). Man's Search for Meaning. MS: Beacon Press.

Kahneman, D. (2013). Thinking Fast and Slow. NY: Farrar, Straus and Giroux.

ความคิดเห็น