การมองโลกในแง่ดี หรือ การคิดเชิงบวก (Positive Thinking)

            ชายคนหนึ่งชื่อมิคกี้ เป็นผู้ที่โดนภรรยาทิ้ง และลูก ๆ มีปัญหาที่โรงเรียน เขามักจะได้ทำงานในบริษัทที่ล้มละลาย ทำให้ไม่มีใครอยากจ้างงานเขา นอกจากนั้นเขามักจะประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ บ้านถูกยกเค้าหรือถูกขโมยของมีค่าไป อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจก็คือ ไม่มีเหตุการณ์ไหนเลยที่ทำอะไรเขาได้เลย แม้จะมีเสียใจบ้างแต่เหมือนพลังในตัวเขาจะค่อย ๆ ฟื้นกลับมาอย่างรวดเร็ว 

        โธมัส เอริคสัน ผู้เขียนหนังสือ Surrounded by Idiots ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องนี้เคยเล่าว่า สมัยเด็ก ๆ มิคกี้เพิ่งซื่อรถอัลฟาโรเมโอคันเก่ามาคันหนึ่งซึ่งเป็นรถยนต์สองประตู สภาพสนิ่มเขรอะจนเรียกไดว่าปาฏิหาร์ย์ที่รถไม่หลุดออกมาเป็นชิ้น ๆ เขาได้รถมาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ก็ขับชนเสาไฟฟ้าข้างถนน และเอาตัวเองออกมาทางฝั่งประตูที่นั่งคนขับรถไม่ได้ พอผมได้ยินเรื่องดังกล่าว เลยรู้สึกเป็นห่วง จึงโทรศัพท์ไปถามว่าเขาปลอดภัยดีไหม คำตอบจากมิคกี้คือ "ไม่เป็นไร! ฉันเพิ่งออกมาจากประตูอีกด้านหนึ่ง" 

            ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านอาจจะมีเพื่อนบางคนที่มีลักษณะเหมือนมิคกี้ ที่ไม่ว่าจะพบเจอเหตุการณ์ซวยแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ยังยิ้ม เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น อีกทั้งยังรู้สึกถึงพลังบวกออกมา ผมก็มีเพื่อนแบบนี้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นความร่าเริง พลังงานล้นเหลือ มองโลกในแง่ดี มั่นใจในตัวเองมาก คิดว่าตนเองสามารถจะทำอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์อย่างไรก็ตาม อ่านมาถึงตรงนี้ผู้อ่านคงจะคิดว่า "แบบนี้ก็ต้องดีสิ แล้วมันไม่ดียังไง" 

            ในความจริงแล้วบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัยไม่มีใครที่เป็นด้านบวกอย่างเดียว สิ่งที่คุณเป็นจะประกอบไปด้วยข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งนั้น เช่นเดียวกับผู้ที่คิดเชิงบวก (Positive Thinking) ก็มีข้อเสียเหมือนกัน และมากกว่าที่คุณคิดไว้เสียด้วย ก่อนอื่นเรามาดูความหมายของความคิดเชิงบวกกันว่ามันคืออะไรกันแน่ ก่อนจะไปถึงข้อเสีย และสุดท้ายคุณจะต้องตัดสินใจด้วยตนเองว่า ความคิดเชิงบวก ดีจริงหรือไม่

            การมองโลกในแง่ดี (Optimism) หรือ การคิดเชิงบวก (Positive Thinking) คือกระบวนการคิดที่คาดหวังสิ่งต่าง ๆ ในทางบวก มีการให้เหตุผลต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ในมุมมองเชิงบวก ไม่ว่าจะมีอุปสรรคมากน้อยแค่ไหนก็ตาม ซึ่งความคิดนี้สามารถแผ่ขยายไปยังผู้อื่นได้ (ในความจริงแล้วการมองโลกในแง่ดี และการคิดเชิงบวก มีเส้นบาง ๆ ขั้นอยู่ เนื่องจากการมองโลกในแง่ดีจะเป็นเราคาดหวังต่อโลกนี้ในแง่ดี แต่การคิดเชิงบวกบางครั้งมันเป็นการปรับความคิดให้เป็นบวกมากขึ้น ซึ่งในหลายครั้งก็เป็นการปฏิเสธความจริง)

            อ่านแล้วดูดีใช่ไหมครับ แต่ถ้าเอาไปคิดต่อ เวลาที่คนมองโลกในแง่ดี หรือคนคิดเชิงบวก มีความคาดหวังต่ออะไรสักอย่าง มุมมองที่เขามองโลกจะเปลี่ยนไป นั้นเท่ากับว่าเขาจะเปลี่ยนความจริงไปตามสิ่งที่เขาอยากให้มันเป็น สอดคล้องกบัสิ่งที่มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) ผู้ก่อตั้งสาขาจิตวิทยาเชิงบวก อธิบายว่า
"คนที่มองโลกในแง่ดีจะสามารถฟื้นตัวจากความล้มเหลวต่าง ๆ ได้ด้วยการปกป้องภาพลักษณ์ที่เรามองตัวเอง อันที่จริงแล้ว มันคือการยกเอาความดีความชอบจากความสำเร็จเข้าตัว และยอมรับผิดเพียงเล็กน้อยจากความล้มเหลว"
            ยกตัวอย่างเช่น พนักงานขายคนหนึ่ง เป็นคนที่ขายของแย่มาก เขาโทรศัพท์ไปขายของตามบ้านต่าง ๆ และมักจะโดนลูกค้าต่อว่า วางหูใส่ตลอดเวลา แต่เขากลับโทษลูกค้า ว่าเป็นคนที่ไม่มีมารยาท แทนที่จะคิดว่าตนเองเป็นคนขายที่ไม่ได้เรื่อง หรือพนักงานขายประกันที่มองว่าลูกค้าตัดสินใจอย่างไม่ฉลาดที่ไม่ซื้อประกันที่มีคุณภาพจากเขา ผมคิดว่า 2 ตัวอย่างนี้คงชัดเจนจนเห็นภาพตัวละครต่าง ๆ ในชีวิตของผู้อ่านขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้าน เพื่อนนักเรียน พนักงานขายที่รู้จัก พนักงานบริการที่รู้จัก หรือแม้แต่ผู้นำทหารที่ยึดอำนาจมาเป็นนายกแล้วคิดว่าการบริหารประเทศง่ายนิดเดียว ฯลฯ 

            จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้มองโลกในแง่ดีจะเป็นคนชอบเสี่ยง แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ได้กล่าวถึงบุคคลที่มองโลกในแง่ดีว่า "ผู้ที่มองโลกในแง่ดีมีแนวโน้มมากกว่าที่จะแต่งงานใหม่หลังจากหย่าแล้ว และมักจะยอมเสี่ยงซื้อหุ้นบางตัวมากกว่าคนทั่วไป" ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงเรื่องการพนันเพราะคนที่มองโลกในแง่ดีมักจะคาดหวังว่าสิ่งต่าง ๆ จะเป็นแบบที่ตัวเองคิดอยู่แล้ว แต่ถ้าผิดหวังหนะหลอ เขาก็จะคิดว่า"ก็โชคไม่ดีไงหละ!" จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณมักจะพบว่าคนที่มองโลกในแง่ดีจะเป็นคนที่มีความสุข มักจะเข้าสังคมเก่ง และมีบทบาทในการสร้างความแตกต่าง ด้วยความคิดที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเป็นไปได้

            แล้วทำอย่างไรเราถึงจะเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีแบบนี้ได้หละ คำตอบก็คือ "ยากครับ" เพราะว่าการมีทัศนคติการมองโลกในแง่ดีส่วนใหญ่แล้วจะได้รับการถ่ายทอดพันธุกรรม และเป็นหนึ่งในนิสัยที่มีผลต่อความสุข ทำให้พวกเขาอารมณ์ดี ซึ่งเป็นผลจากยีนชื่อว่า FAAH ที่คนมองโลกในแง่ดีมีมากกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป มันไม่เพียงแต่ทำให้มีความสุขและยังระงับความเจ็บปวดได้เล็กน้อยด้วย นอกจากพันธุกรรมแล้วการเลี้ยงดูก็มีส่วนด้วยเช่นเดียวกันแต่ไม่เท่ากับพันธุกรรม  ยกตัวอย่างโรคนางฟ้า (Williams Syndrome) ซึ่งเป็นผลมาจากความบกพร่องทางพันธุกรรมที่ให้ยีนหายไปถึง 30 ยีน 
            เด็กเหล่านี้ต้องประสบกับปัญหาด้านการเรียนรู้หลายด้าน แต่หนึ่งในสภาวะที่คาดไม่ถึงก็คือความสุขที่หยุดไม่อยู่ กล่าวคือ เด็กที่เป็นโรคนางฟ้า จะชอบเข้าสังคม ไว้ใจคนอื่น และสุภาพอ่อนน้อมมาก เด็กเหล่านี้จะรักทุกคนทันทีอย่างเปิดเผย ไม่กลัวคนแปลกหน้า ไม่ระแวงใคร จึงไม่แปลกที่เด็กที่เป็นโรคจะต้องเป็นเหยื่อของคนอื่นอยู่เสมอ

            อย่างไรก็ตามโรคนี้เป็นโรคที่หายาก ตรงกันข้ามคนที่มองโลกในแง่ดีแบบสุด ๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไป ซึ่งยังสอดคล้องกับบุคลิกภาพแบบ I จากแนวคิด DISC ในหนังสือ Surrounded by Idiots โธมัส เอริคสันได้อธิบายถึงบุคลิกภาพแบบ I หรือ Influence (ชอบโน้มน้าม) ว่าเป็นพวกที่ช่างพูด กระตือรือร้น โน้มน้าวเก่ง กล้าแสดงออก มีเสน่ห์ สนใจแต่ตัวเอง ต้องการความสนใจ สร้างแรงบัลดาลใจเก่ง นักสื่อสาร ยืดหยุ่น เปิดกว้าง เข้ากับคนง่าย ซึ่ง แดเนียล คาฮ์นะมัน (Daniel Kahneman) มองว่าการมองโลกแง่ดีเป็นเหมือนกับผู้โชคดี 

            แล้วการมองโลกในแง่ดีมีข้อเสียอย่างไรบ้าง ในความจริงแล้วไม่มีอะไรดีและไม่ดีไปเสียหมด แม้แต่เรื่องของมิคกี้ ที่ผมเล่าไว้ตอนต้นเรื่อง เขาก็ประสบกับปัญหาที่ย่ำแย่หลายอย่างแม้จะมองโลกในแงดี ยิ่งไปกว่านั้นการมองโลกในแง่ดีอย่างมากจนจินตนาการว่าทุกสิ่งที่อย่างราบรื่น ซึ่งมันไม่ช่วยอะไร ความจริงก็คือ มันจะเป็นอุปสรรคขัดขวางด้วยซ้ำ โดยการหลอกสมองให้เชื่อว่าเราได้บรรลุเป้าหมายนั้นแล้ว ทำให้พลังงานที่เราจำเป็นต้องใช้ในการขับเคลื่อนและเดินไปตามฝันระเหยหายไป

            ในหนังสือ Emotional Agility ซูซาน เดวิด (Susan David) ได้นำเสนองานวิจัยและนำเสนอประโยชน์ระหว่างการหลอมรวมการมองโลกในแง่บวกกับความเป็นจริง โดยเธออธิบายว่า กลุ่มคนที่บรรลุผลได้ดี ทำได้ด้วยการผสมผสานการมองโลกในแง่บวกกับการมองโลกตามความเป็นจริง แม้ว่ามีความเชื่อว่า "เราสามารถบรรลุเป้าหมายได้" จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่คุณก็จำเป็นต้องให้ความสนใจกับอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นจริงระหว่างทางด้วย สิ่งนี้เรียกว่า การสร้างภาพขัดแย้งในใจ (Mental Contrasing) 

            คนที่ฝึกวิธีการสร้างภาพขัดแย้งใจจะออกกำลังกายได้นานขึ้นสองเท่าในแต่ละสัปดาห์ และกินอาหารจำพวกผักได้มากขึ้น หากเปรียบเทียบกับกลุ่มควบ อีกทั้งการสร้างภาพขัดแย้งในใจยังช่วยให้คนใช้พื้นจากอาการปวดหลังเรื้อรังได้รวดเร็ว มีความพึงพอใจกับชีวิตและความสัมพันธ์มากกว่า มีผลการเรียนดีกว่า และจัดการกับความเครียดในที่ทำงานได้ดีกว่า เพราะการจินตนาการถึงอนาคตและมีปัจจุบันควบคู่ไปด้วย จะช่วยให้เราสามารถเชื่อโยงทั้งสองเรื่องนั้นเข้าด้วยกัน ซึ่งจะสร้างเส้นทางในใจ เล็งเห็นอุปสรรคและแผนการที่จะทำให้เราผ่านพ้นพวกมันไปได้

            การละทิ้งอารมณ์ด้านลบอาจบั่นทอนความสามารถในการคาดคะเนสิ่งกีดขวางบนหนทางสู่เป้าหมาย การมองโลกในแง่ดีมาก ๆ มันก็เหมือนกับการกินอาหารอร่อย เราชอบมันอย่างแน่นอน แต่เรากินมากไปมันก็จะทำให้เราอ้วนมากขึ้น และเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ  อุปสรรคและปัญหาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ 
การปฏิเสธอารมณ์ไม่พึงประสงค์ซึ่งมาพร้อมกับความยากลำบากทำให้เราขาดเครื่องมือทางจิตวิทยาที่จำเป็นต้องใช้ในการเผชิญความท้าทายในชีวิต

            หากผู้อ่านเคยดูอนิเมชั่นของ Pixar เรื่อง Inside Out ก็เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกัน การโอบกอดอารมณ์เศร้าที่ไม่พึงประสงค์ในวันที่เราเจ็บช้ำ เป็นการทำให้เราก้าวข้ามอุปสรรค ความทุกข์ และทำให้ได้รับความสุข ความอบอุ่นตามมาจากคนรอบข้าง ดังนั้นไม่ว่าเราจะเป็นมองโลกในแง่ดีด้วยพันธุกรรม หรือมองโลกในแง่ดีเป็นบางครั้ง การผสมผสานหลอมรวมทัศนคติที่ตรงกันข้ามกัน เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้คน สามารถเรียนรู้ ก้าวข้ามอุปสรรค และสามารถออกแบบชีวิตที่ดีได้ ปีเตอร์ ซิงเกอร์ เป็นผู้สนับสนุนว่าความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่อาจพบได้จากการเติมเต็มเป้าหมายอันคับแคบที่มีตนเองเป็นศูนย์กลาง แต่เกิดจากการรับความท้าทายที่จะทำให้โลกนี้เป็นสถานที่ที่น่าอยู่สำหรับคนอื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

อ้างอิง

David, S. (2016). Emotional Agility: Get Unstuck, Embrace Change, and Thrive in Work and Life. NY: Avery.

Erikson, T. (2019). Surrounded by Idiots: The Four Types of Human Behavior and How to Effectively Communicate with Each in Business (and in Life). NY: St. Martin's Essentials.

Kahneman, D. (2013). Thinking Fast and Slow. NY: Farrar, Straus and Giroux.

Sullivan, Bill. (2019). Pleased to Meet me : Germs, and the Curious Forces That Make Us Who We Are.  DC: National Geographic Society.

ความคิดเห็น