ความสามารถที่จะเข้าใจความคิด และความรู้สึก (Psychological Mindedness)

            เด็กชายคนหนึ่งทำงานในกรุงลอนดอนเป็นพนักงานในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ทุกวันเขาต้องตื่นตีห้าเพื่อทำความสะอาดร้านและทำงานหนักเป็นเวลา 14 ชั่วโมงต่อวัน มันเป็นงานที่ทั้งหนักและทั้งน่าเบื่อ ทำให้เขาเกลียดงานนี้อย่างมาก จนกระทั่งวันหนึ่งเขาก็ไม่อยากทำงานนี้อีกต่อไป เขาจึงเขียนจดหมายยืดยาวที่ระบายถึงความทุกข์ของเขา ส่งไปให้กับครูที่เขาคุ้นเคยมานาน ในเนื้อความของจดหมายมีใจความประมาณว่า "เขาเสียใจมาก และไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป"  ครูคนนั้นได้พูดให้กำลังใจ และยกย่องชมเชยเขา ว่าเป็นเด็กฉลาดและเหมาะจะทำงานที่ดีกว่านี้และเสนองานให้ลองทำงานเป็นครูดู

            คำชมเชยที่เปี่ยมล้นด้วยความเมตตานั้นได้เปลี่ยนแปลงอนาคตของเด็กคนนั้นตลอดไป และส่งผลอันยิ่งใหญ่ต่อวงการวรรณกรรม เพราะเมื่อเด็กชายคนนั้นเติบโตขึ้นมาเขาได้เขียนหนังสือที่ขายดีที่สุดเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน และทำเงินได้หลายล้านด้วยปลายปากกาของเขา เขาคนนั้นชื่อ H. G. Wells นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดัง

            ผมยกเนื้อหานี้จากหนังสือ How to Win Friends and Influence ที่เขียนโดย Dale Carnegie มาเพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความสามารถที่จะเข้าใจความคิด และความรู้สึก (Psychological Mindedness) หากครูคนนั้นไม่ได้เข้าใจความรู้สึกของเวลส์ และไม่สามารถเข้าใจว่าเขามีความปรารถนาอะไรกันแน่ โลกของเราก็อาจจะขาดนักเขียนฝีมือขั้นเทพอย่าง H. G. Wells ไป กล่าวคือ การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนคนหนึ่งได้เลย และผมเชื่อว่าครูคนนั้นคงมี Psychological Mindedness อย่างแน่นอน

            ผมรู้จักคำนี้ในบทความสัมภาษณ์ของจิตแพทย์ที่ผมชอบมากที่สุด คือ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จากบทสัมภาษณ์ waymagazine.org  เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ดังเนื้อหาต่อไปนี้

            บรรณาธิการ : "ตอนนี้สังคมโดยรวมมีสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ มีข่าวฆ่าตัวตาย แม่ไม่มีเงินซื้อนมผงให้ลูกจึงฆ่าตัวตาย ในห้วงเวลาเช่นนี้ คุณหมอคิดว่า สังคมควรจะดูแลสุขภาพจิตของกันและกันอย่างไร"

            นายแพทย์ประเสริฐจึงตอบว่า : "เมตตา คำศัพท์จากจิตวิทยามี 2 คำ คำแรกคือ Empathy รับรู้ความทุกข์ของคนอื่น สังคมควรมีความสามารถนี้ให้มาก การรับรู้เท่ากับการแชริ่งในความหมายว่าแบ่งเบา แบ่งเบาความทุกข์ของเพื่อนร่วมสังคม อีกคำหนึ่งคำว่า Psychogical Minded เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของความเป็นแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเป็นจิตแพทย์ นักจิตวิทยา คือมีจิตใจที่อ่อนโยนมากพอจะสัมผัสจิตใจของผู้อื่น เทคโนแครตมักไม่มี Psychological minded เพราะใช้ความรู้ในการทำงานจนเพลิน จนกระทั่งหลงลืมไปว่าตนเองเคยมีหัวใจมาก่อน

            (เทคโนแครต คือ ผู้ที่มีอำนาจจากความเชี่ยวชาญในศาสตร์ใดๆ ซึ่งใช้อำนาจนั้นตัดสินใจต่อปัญหาสาธารณะ แทนที่ผู้ใช้อำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง) 

            นายแพทย์ประเสริฐจได้อธิบายว่า Psychogical Minded คือ "ผู้ที่มีจิตใจที่อ่อนโยนมากพอจะสัมผัสจิตใจของผู้อื่น" โดยสอดคล้องกับความคิดของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นักจิตวิเคราะห์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกคนหนึ่ง โดยเขาให้ความหมายว่า Psychogical Minded คือ "บุคคลที่สามารถเข้าใจปัญหาทางจิตใจ" และ ไมเคิล คาร์สัน (Michael Karson) ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาคลินิกจากมหาวิทยาลัยเดนเวอร์ ได้ให้ความหมาย Psychological Mindedness ว่า "เป็นลักษณะทางบุคลิกภาพทีสามารถตรวจสอบตนเองด้วย ความแม่นยำ สติปัญญา ความอยากรู้อยากเห็น ความเห็นอกเห็นใจ และอารมณ์ขัน" 

            จากข้อความข้างต้นทั้งหมดผมจึงสรุปว่า Psychological Mindedness คือ "ความสามารถที่จะเข้าใจความคิด ความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น ด้วยสติปัญญา และความเห็นอกเห็นใจ"


            ทุกท่านอาจจะสับสนว่ามันแตกต่างกับ Empathy ที่แปลว่าความเข้าอกเข้าใจอย่างไร ในความคิดของผมซึ่งสอดคล้องกับไมเคิล คาร์สัน (Michael Karson) ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาคลินิก เขาเชื่อว่า Psychological Mindedness เป็นลักษณะบุคลิกภาพ (Personality Trait) คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก ค่อนข้างจะถาวร ในขณะที่ Empathy เป็นการรับรู้ความทุกข์ของคนอื่น 

            อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็น Psychological Mindedness หรือ Empathy ล้วนมีการแสดงออกที่ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ซึ่งผมคิดว่าการจะมีบุคลิกภาพแบบเข้าใจความคิด ความรู้สึกคนอื่นได้นั้น ต้องสามารถที่จะรับรู้ความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น เช่น คนที่กำลังป่วย เขาจะรู้สึกอย่างไร หรือคนที่อกหักเขาจะต้องอ้างว้างมากแค่ไหน และเขากำลังคิดอะไรอยู่ ซึ่งเป็นการที่เราเข้าใจความคิด และความรู้สึกของผู้ที่กำลังประสบกับความทุกข์ แม้จะไม่ได้เข้าใจอย่างแท้จริงก็ตาม เพราะในโลกไม่มีใครเข้าใจซึ่งกันและกันได้

            โดยปกติแล้วเรานำประสบการณ์ของเรามาเปรียบเทียบกับผู้อื่น เพื่อทำความเข้าใจโดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น หากเราเคยอกหักมาก่อนในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน ก็จะเข้าใจเขาได้มากกว่าคนที่ไม่เคยอกหักมาก่อน อย่างไรก็ตามผมไม่อยากให้ผู้อ่านคิดว่าการเข้าใจความคิด หมายถึงความสามารถในการอ่านใจคน แต่ในความจริงแล้วเป็นการพยายามจะทำความเข้าใจ ความคิด ความรู้สึก ของผู้อื่น กล่าวคือจิตนาการโดยใช้ประสบการณ์ของตนเองเป็นตัวอ้างอิงนั้นเอง 

            บุคคลที่ชอบเรียนรู้ เก็บเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตมามาก ย่อมสามารถเข้าใจผู้อื่นได้ดีมากกว่าผู้ที่ไม่ชอบเรียนรู้ และไม่ไส่ใจกับสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตนเอง เพราะการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการใช้สติในการสังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว และคิดไคร่ครวญถึงสิ่งนั้น ตั้งสมมติฐาน โดยไม่พยายามไปตัดสิน หรือพิพากษา แม้ว่ากระบวนการตัดสินใจจะเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับสัญชาตญาณของเราเพื่อการเอาตัวรอดในสมัยยุคก่อน แต่เราไม่จำเป็นต้องเชื่อคำตัดสินใจ เราสามารถใช้สติเพื่อคิดอย่างใคร่ครวญ และไม่ปักใจเชื่อโดยไม่มีหลักฐานสนับสนุนเด็ดขาด

            สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือจิตใจที่ไม่พยายามตัดสิน พิพากษา จะมาพร้อมกับความคิดเชิงบวกและการให้โอกาสผู้อื่น และเมื่อเราสามารถรับรู้ได้ว่าบนโลกใบนี้ผู้ที่ประสบกับความทุกข์ต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ มากมาย "มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เขาต้องมาเจอความทุกข์อย่างที่เขากำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน" เราก็จะกลายเป็นคนที่มีความสามารถในการเข้าใจความคิด และความรู้สึกของผู้อื่นได้ (Psychological Mindedness)
อย่างไรก็ตามการที่เราจะสามารถเข้าใจจิตใจของผู้อื่นได้ เราก็ต้องเข้าใจจิตใจของตนเองด้วย มีสติรู้ตัวว่าขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ มีความสามารถในการคิดไคร่ครวญ รู้จักให้อภัยตนเอง พูดคุยกับตนเอง ตระหนักถึงความคิด และความรู้สึกของตนเอง จึงจะสามารถเข้าใจความคิด และความรู้สึกของผู้อื่นได้
            Psychological Mindedness จึงไม่ใช่ความสามารถที่จะเข้าใจความคิด และความรู้สึกของผู้อื่นอย่างเดียว แต่เป็นความสามารถที่จะเข้าใจความคิด และความรู้สึกของตนเองด้วย ผมจะยกตัวอย่างของครูอีกท่านหนึ่งซึ่งเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กคนหนึ่งไปตลาดกาล 

            เจมส์ เอิร์ล โจนส์ (James Earl Jones) นักแสดงชื่อดังผู้ที่มีชื่อเสียงในการพากษ์เสียงสื่อต่าง ๆ แต่ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดคือเสียง ดาร์ธ เวเดอร์ (Darth Vader) ในภาพยนตร์สตาร์วอร์ เขายังได้รางวัล ออสการ์เกียรติยศในวัย 80 ด้วย  แม้จะมีนักแสดง และผู้ให้เสียงพากษ์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก แต่ผู้อ่านอาจจะแปลกใจ เมื่อครั้งหนึ่งโจนส์เคยมีปมด้อยจาการที่เขาพูดติดอ่าง ทำให้เขาประหม่า อาย ไม่กล้าพูดต่อหน้าคนอื่น จนกระทั่งในตอนที่เขาเรียนระดับมัธยม เขาได้เรียนวิชาภาษาอังกฤษกับเคราซ์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ที่เคยทำงานกับนักกวี และวันหนึ่งเคราซ์ได้ค้นพบว่าโจนส์สามารถเขียนบทกวีได้ ซึ่งโจนส์ไม่เคยบอกใครเพราะอายเพื่อน กลัวโดนเพื่อนล้อ 

            โจนส์เล่าว่า "วันหนึ่งผมเอาบทกลอนที่เขียนให้อาจารย์เคราช์ดู แต่ท่านบอกว่ามันดีเกินกว่าที่จะเป็นผลงานของผม เขาสงสัยว่าผมไปลอกใครมา ท่านให้ผมพิสูจน์ โดยการให้ผมท่องกลอนนี้หน้าชั้นเรียน ผมจึงท่องสดเดี๋ยวนั้นโดยไม่ตะกุกตะกักเลย นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ผมก็เขียนกลอนและพูดมากขึ้น เรื่องนี้มีอิทธิพลกับผมมาก ทำให้ผมมีความมั่นใจมากขึ้น พร้อม ๆ กับเรียนรู้เรื่องการแสดงออกอย่างง่าย ๆ ด้วยการพูดเสียงดัง ๆ"

            "ในวันสุดท้ายที่โรงเรียน เราเรียนกันในสนามหญ้า อาจารย์เคราช์ให้ของขวัญผมเป็นหนังสือชื่อการพึ่งตนเอง (Self-Reliance) เขียนโดยราล์ฟ วัลโด อีเมอร์สัน ซึ่งมันเป็นของขวัญล้ำค่าของผมตลอดมา มันคือสิ่งที่ท่านสอนผมทั้งหมด คือการลงมือทำ ท่านมีอิทธิพลกับผมอย่างมากและอิทธิพลนี้ยังครอบคลุมทุกด้านของชีวิต ท่านเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผมเป็นนักแสดง"

            ผมมองว่าอาจารย์เคราช์คงเห็นศักยภาพในตัวของโจนส์ และเข้าใจความคิด และความรู้สึกของโจนส์ ว่าเขาเป็นคนขี้อายเพราะว่าโจนส์ติดอ่าง จึงพยายามกระตุ้นให้โจนส์แสดงออกมากขึ้นเพื่อสะสมชัยชนะเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งที่ชีวิตของโจนส์ก็ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง 

            Psychological Mindedness สามารถเกิดขึ้นได้จากการพยายามจะแสดงออกซึ่งความเข้าอกเข้าใจต่อกันและกัน (Empathy) พยายามที่จะรับฟัง ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา เท่าที่ตนเองพอจะช่วยเหลือได้ ไม่เพียงแต่ว่าจะต้องเข้าอกเข้าใจผู้อื่น แต่จะต้องตระหนักถึงความคิดอัตโนมัติของตนเอง (ความคิดที่ไม่ผ่านการไตร่ตรอง) เชื่อมโยงความคิด และพฤติกรรมเข้าหากันได้  ผมเชื่อว่าไม่ใช่เพียงแต่หมอ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือครู/อาจารย์ ที่จำเป็นต้องมีความสามารถดังกล่าว แต่คนทุกคนไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็สามารถมีและพัฒนาได้ทั้งนั้น
ผมเชื่อว่าถ้าคนเรามี Psychological Mindedness กันมาก ๆ สังคมคงน่าอยู่ขึ้นมากทีเดียว และจะมีเด็กอีกมากมายที่สามารถเติบโตมีชีวิตอย่างมีความหมาย มีความสุข และประสบความสำเร็จอย่าง James Earl Jones และ H. G. Wells แน่นอน

อ้างอิง 

Carnegie, D. (1998).  How to Win Friends & Influence People. NY: Pocket Books.

Karson, M. (2016). Psychological-Mindedness as a Worldview. https://www.psychologytoday.com/intl/blog/feeling-our-way/201609/psychological-mindedness-worldview

Robinson, K. & Aronica. L. (2009). The Element: How Finding Your Passion Changes Everything. NY: Penguin Books.

WAY magazine. (2020). นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์: 20 คำถามเติมพลังบวก ก่อนจะบวกกัน. https://waymagazine.org/20-question/

คาลอส บุญสุภา. (2564). ประโยชน์ของการมี. Empathy. https://sircr.blogspot.com/2021/04/empathy.html

ความคิดเห็น