ข้อเสียของการเลี้ยงลูกแบบเข้มงวด (Strict)

        อังเดร อากัสซี (Andre Agassi) เป็นนักกีฬาเทนนิสชายคนแรกที่คว้าแชมป์รายการแกรนด์สแลมครบทั้ง 3 ครั้งทั้ง 4 รายการและเหรียญทองโอลิมปิกในการแข่งขันเทนนิสประเภทเดี่ยว เรียกได้ว่าเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จเลยก็ว่าได้ บุคคลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของอังเดร อากัสซีก็คือพ่อของเขา 

        พ่อของเขาเคยฝันอยากเลี้ยงลูกให้กลายเป็นแชมป์เทนนิส และเมื่อลูกทั้งสามคนแรกทำไม่สำเร็จตามที่เขาต้องการ เขาจึงพุ่งเป้าความกดดันไปที่ลูกคนเล็กซึ่งก็คืออากัสซีนั้นเอง พ่อของเขาบังคับอย่างเข้มงวดให้เขาฝึกอย่างหนักหลายชั่วโมงติดต่อกัน คอยจัดตารางเวลาให้ และห้ามเขาเล่นกีฬาชนิดอื่น สิ่งนี่ทำให้อังเดรเติบโตขึ้นมาพร้อมกับการรับรู้ว่าเขาเป็นความหวังสุดท้ายของครอบครัว 

        อย่างที่ผมอธิบายไว้ข้างต้น อังเดรประสบความสำเร็จสูงมากโดยมีพ่อที่เข้มงวดอยู่เบื้องหลัง ผู้อ่านบางคนอาจจะสงสัยว่า หากการเข้มงวดขนาดนี้สามารถทำให้เด็กเติบโตมาแล้วประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ได้ ทำไมถึงเป็นข้อเสีย ในความจริงแล้วผลจากความเข้มงวดที่อากัสซีได้รับ ส่งผลกระทบต่อตัวเขาอย่างมาก แต่เดี๋ยวผมจะกลับมาอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นกับอังเดรบ้าง 

        มื่อเราถูกกดดันหรือทารุณในวัยเด็ก เราจะเกิดการต่อต้านขึ้นมา แต่หากเราต่อต้านไม่ได้ เราก็จะเก็บประสบการณ์เหล่านั้นลงไปที่จิตใต้สำนึก ซึ่งประสบการณ์เชิงลบในวัยเด็กสามารถทำให้บุคคลมีภาวะเปราะบางต่อสื่งกระตุ้นโรคซึมเศร้าไปตลอดชีวิตอีกด้วย ในหนังสือ Please to Meet Me ที่เขียนโดย บิล ซัลลิแวน (Bill Sullivan) มีเนื้อหาที่อธิบายว่า ในทางวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า ประสบการณ์เชิงลบในวัยเด็กจะไปตั้งโปรแกรมใหม่ให้ยีนที่รับผิดชอบการวางโครงสร้างสมอง ทำให้ไวต่อความเครียด พวกเขาจะไม่สามารถลืมมันได้ เพราะประสบการณ์เชิงลบในวัยเด็กไม่ใช่แค่ฝังลงไปในความรู้สึก แต่มันฝังอยู่ใน DNA ของเด็กและจะทำให้มีแผลเป็นในรหัสของยีน ดังนั้นเด็กที่ได้รับประสบการณ์เชิงลบตั้งแต่วัยเด็ก ก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นมามีความเครียดง่ายกว่าคนทั่วไป อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะซึมเศร้าได้อีกด้วย

        แล้วอากัสซีตัวน้อยจะเติบโตมาเป็นอย่างไรบ้าง เขาเครียดหรือซึมเศร้าบ้างไหม สิ่งที่เกิดขึ้นก็คืออังเดรไม่สามารถต่อต้านพ่อของเขาได้ แต่เขาก็ทำตัวเป็นขบถในรูปแบบอื่นโดยฝ่าฝืนกติกาแบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของกีฬาเทนนิส เขาไว้ผมทรงโมฮอว์กและทรงรากไทร ใส่ต่างหู สวมกางแกงขาสั้นผ้าเดนิมและกางเกงสีชมพูลงแข่งแทนที่จะเป็นสีขามตามธรรมเนียมดั่งเดิม รวมถึงคบหากับนักร้องชื่อบาร์บรา สไตรแซนด์ ซึ่งมีอายุมากกว่าเขา 28 ปี อากัสซีเล่าถึงความหลังเอาไว้ว่า 

"การไม่มีทางเลือกและไม่มีสิทธิเลือกสิ่งที่อยากทำหรือเป็น ทำให้ผมเป็นบ้า การทำตัวเป็นขบถเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมมีสิทธิเลือกทุกวัน มันเป็นการต่อต้านผู้มีอำนาจ เป็นการส่งสารไปถึงพ่อของผม นี้คือวิธีต่อต้านเรื่องที่ผมไม่มีทางเลือกในชีวิต" 

        นอกจากการแสดงออกถึงความขบถ อากัสซียังมีภาวะซึมเศร้า ซึ่งเขาอธิบายว่าภาวะที่เขาเผชิญอยู่เกิดจากการที่เขาเกลียดชังชีวิตที่ถูกพ่อของเขากดดัน  เรื่องราวของเขาสะท้อนให้เห็นว่าเด็กที่เติบโตมาด้วยประสบการณ์เชิงลบจากความกดดัน และความข้มงวด ทำให้ต้องเผชิญกับความทุกข์ ความเครียด และความเศร้าเมื่อเติบโตขึ้นมา คำถามก็คือหากมีความปรารถนาอยากให้ลูกประสบความสำเร็จ หรืออยากลูกเติบโตมาดำเนินเส้นทางอย่างมีความสุข จำเป็นหรือไม่ที่ต้องเข้มงวด 

            โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ (Roger Federer) เป็นนักเทนนิสที่ชนะเลิศรายการแกรนด์สแลมในประเภทชายเดี่ยวมากที่สุดจำนวน 20 สมัย เมื่อสมัยเด็กเขามีแม่เป็นโค้ชที่ไม่ได้สอนอะไรเขาเลย เขาเตะบอลไปกับแม่ตอนหัดเดิน เมื่อโตขึ้นเขาเล่นกีฬาเกือบทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น สกี มวยปล้ำ ว่ายน้ำ สเกตบอร์ด บาสเกตบอล แฮนด์บอล เทนนิส ปิงปอง แบดมินตัน และฟุตบอล แต่สิ่งที่เขาชอบมากที่สุดก็คือกีฬาที่มีลูกบอลเป็นส่วนประกอบ โดยมีเหตุผลเพราะว่าเขาชอบเล่น พ่อแม่ไม่ได้ตั้งความหวังด้านกีฬากับเขาเลย อีกทั้งเหตุผลที่แม่เขาพาเล่นกีฬาหลาย ๆ อย่างเพราะว่าเฟเดอเรอร์เป็นเด็กที่ซนมากเวลาเขาอยู่นิ่ง ๆ จนพ่อแม่เหลือจะทน

            "เวลาตีเทนนิส เขาจะตีลูกด้วยวิธีแปลกประหลาดทุกรูปแบบ แทบจะไม่ตีแบบปกติเลย" เธอเล่า "นั้นมันไม่สนุกเลยนักนิดสำหรับคนเป็นแม่" ซึ่งแทนที่พ่อแม่ของเขาจะผลักดันเขา แต่ทั้งคู่กลับเป็นฝ่ายรั้งแทน เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เฟเดอเรอร์สนใจกีฬาเทนนิสมากขึ้นและเริ่มลงแข่ง แม่ของเขามักจะเดินไปคุยกับเพื่อน ๆ ขณะที่ลูกตัวเองแข่ง ในขณะที่พ่อของเขาไม่ว่าอะไร แต่ตั้งกฎไว้ข้อเดียวว่า "อย่าโกง" ทำให้เขาไม่เคยโกงและเริ่มพัฒนาฝีมือขึ้นทุกวัน จนมีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมาสัมภาษณ์ โดยถามว่าถ้าได้เงินรางวัลเขาจะเอาไปทำอะไร เขาก็ตอบเพียงว่า "ซื้อซีดีเพิ่ม" เท่านั้น

            แม้ว่าฝีมือเขาจะพัฒนาจนครูสอนเทนนิสตัดสินใจเลื่อนขั้นให้เขาไปแข่งกับกลุ่มผู้เล่นที่อายุมากกว่า แต่เขากลับขอย้ายกลับมาเล่นกับเพื่อนเหมือนเดิม เพราะสุดท้ายสิ่งที่สนุกที่สุดของเขาก็คือการได้ขลุกอยู่กับเพื่อนหลังเลิกเรียนเทนนิส คุยกันเรื่องดนตรี มวยปล่ำ หรือฟุตบอลต่างหาก ซึ่งกว่าเขาจะเลิกเล่นกีฬาฟุตบอลได้เพื่อมุ่งมั่นเทนนิสเพียงอย่างเดียว เด็กคนอื่นก็มีคนช่วยฝึกพัฒนาความแข็งแกร่งกันไปนานแล้ว แต่ข้อเสียเปรียบดังกล่าวก็ไม่ได้กระทบต่อเขาเลย 

เขาเติบโตขึ้นมาและประสบความสำเร็จจนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่เก่งที่สุดตลอดกาล อีกทั้งเขายังถือครองสถิติตำแหน่งอันดับหนึ่งของโลกติดต่อยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วย

            ทั้งสองคนเป็นนักกีฬาเทนนิสที่มีชื่อเสียง แต่เติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูที่ต่างกันแบบสุดขั่ว อากัสซีถูกเลี้ยงดูอย่างเข้มงวดด้วยความกดดัน ในขณะที่เฟเดอเรอร์ถูกเลี้ยงอย่างมีอิสระ เคล็ดลับการประสบความสำเร็จของเขาคืออะไร 

            อดัม แกรนต์ (Adam Grant) ผู้เขียนหนังสือ Originals ได้อธิบายถึงงานวิจัยที่พบว่าในช่วงอายุ 2-10 ขวบว่า เด็กจะถูกพ่อแม่เร่งเร้าให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทุก 6-9 นาที ดังที่มาร์ติน ฮอฟฟ์แมน (Martin Hoffman) นักจิตวิทยาพัฒนาการที่มีชื่อเสียงได้สรุปไว้ว่า "นี่เท่ากับเด็กจะโดนอบรมประมาณ 50 ครั้งต่อวันหรือมากกว่า 15,000 ครั้งต่อปีทีเดียว" อีกทั้งยังมีการศึกษาว่าพ่อแม่ของเด็กทั่วไปวางกฎระเบียบโดยเฉลี่ย 6 ข้อ เช่น ตารางเวลาสำหรับทำการบ้าน และตารางเวลาเข้านอน ในขณะที่พ่อแม่ของเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์อย่างสูงจะวางกฎระเบียบโดยเฉลี่ยน้อยกว่าหนึ่งข้อเท่านั้น

            จากการศึกษาที่กล่าวมาข้างต้น จะแสดงให้เห็นว่าการให้อิสระโดยมีกฎระเบียบเพื่อตีกรอบให้น้อยที่สุด จะทำให้เด็กโตขึ้นมาอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ ในขณะที่พ่อแม่เข้มงวดจะตีกรอบลูกจนเขาไม่สามารถแสดงออกเป็นแบบฉบับเฉพาะตัวเองได้เลย  ผู้อ่านจะเห็นว่าพ่อแม่ของเฟเดอเรอร์ ไม่บังคับไม่ตีกรอบ ปล่อยให้เขาได้เลือกสิ่งที่ตนเองชอบ อยากจะเล่นอะไรก็เล่น อยากจะเล่นวิธีไหนก็ได้ ในขณะที่พ่อของอากัสซี ห้ามเขาเล่นกีฬาอย่างอื่นนอกเหนือจากเทนนิส และคอยจัดตารางการเล่นอย่างเข้มงวด สิ่งนี้จึงทำให้เขาเติบโตขึ้นมามีความเจ็บปวดในจิตใจ ซึ่งทำให้เขาแสดงการต่อต้านในรูปแบบที่เขาสามารถทำได้เมื่อเติบโตขึ้น

            แน่นอนเราพอรู้ว่าฝีมือของอากัสซีเกิดขึ้นจากการฝึกหนักอย่างเข้มงวดตั้งแต่เด็ก แต่ทำไมเฟเดอเรอร์ ที่เล่นกีฬาอื่น ๆ อย่างอิสระถึงประสบความสำเร็จอย่างสูงในกีฬาเทนนิสได้  เขายกความดีให้กับความชอบกีฬาทั้งหลายที่เคยเล่น ไม่ว่าจะเป็น แฮนด์บอล ปิงปอง แบดมินตัน ฟุตบอล ว่ายน้ำ สเกตบอร์ด บาสเกตบอล ฯลฯ ว่ามีส่วนทำให้เขาพัฒนาความสามารถทางร่างกายและตากับมือทำงานประสานกันได้ดีเลิศ กล่าวคือการที่เขามีประสบการณ์เล่นกีฬาหลายชนิดทำให้เขาพัฒนาทักษะที่หลากหลายซึ่งจะหล่อหลอมทักษะเทนนิสให้เป็นเลิศได้ในอนาคต

            เดวิด เอปชไตน์ (David Epstein) ผู้เขียนหนังสือ Range ได้อธิบายว่า ผู้ชนะรางวัลโนเบลมักจะมีงานอดิเรกที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การเต้น เล่นมายากล การแสดง ศิลปะ และอื่น ๆ มากกว่านักวิทยาศาสตร์ทั่วไปถึง 22 เท่า นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังระดับชาติมีโอกาสจะเป็นนักดนตรี ประติมากร จิตรกร ศิลปินภาพพิมพ์ ช่างไม้ ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า นักเป้าแก้ว กวี และนักเขียนทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่งมากกว่า ซานเตียโก รามอน อี กาฆัล เจ้าของรางวัลโนเบล เคยกล่าวไว้ว่า "หากมองจากไกล ๆ อาจดูเหมือนคนเหล่านี้ใช้พลังงานอย่างสะเปะสะปะและฟุ่มเฟือย แต่แท้จริงแล้ว พวกเขากำลังเพ่งสมาธิส่งพลังงานและทำให้พลังนั้นแข็งแกร่งขึ้น" ดังนั้นการที่เฟเดอเรอร์ได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระในการเล่นกีฬาหลายชนิดจึงทำให้เขากลายเป็นสุดยอดนักเทนนิสระดับโลกตลอดกาลได้จนถึงทุกวันนี้

            ผมเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนย่อมอยากให้ลูกมีความสุข การให้เขาได้เติบโตอย่างอิสระ ได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ได้ทดลอง ได้ล้มเหลว ได้ผิดพลาด ได้สมหวัง จึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนควรสนับสนุนให้เกิดขึ้นในชีวิตลูกของตนเอง เราไม่ควรจะเข้มงวดและคุมเข้มการดำเนินชีวิตของลูกตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดประสบการณ์เชิงลบ อย่างไรก็ตามเราสามารถสอนเขาได้โดยการชี้แจงเหตุผล อธิบาย เสนอแนะวิธีบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นไปแล้ว โน้มน้าวใจและให้คำแนะนำ เนื่องจากการชี้แจงเหตุผลสื่อให้เห็นถึงการให้เกียรติลูก โดยบ่งบอกเป็นนัยว่าถ้าลูก ๆ มีความรู้และความเข้าใจมากขึ้น พวกเขาก็คงจะไม่ปฏิบัติตัวในลักษณะที่ไม่เหมาะสมมันคือสัญลักษณ์ของการให้เกียรติผู้ฟัง เป็นการแสดงความเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะสามารถทำความเข้าใจ พัฒนา และปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น 

            การมีอิสระในการรับผิดชอบตัวเองเป็นพื้นฐานสำคัญของการเติบโตอย่างงอกงามตลอดชีวิต มาลาลา ยูซัฟไซ (Malala Yousafzai) ได้ออกมาต่อสู้เพื่อการศึกษาของเด็กผู้หญิงในประเทศปากีสถาน ทำให้กลุ่มตาลีบันส่งมือปืนไปสังหารเธอขณะที่นั่งรถโรงเรียนกลับบ้าน มือสังหารขู่จะฆ่าเด็กผู้หญิงทุกคนบนรถคันนั้น มาลาลาที่ตอนนั้นอายุเพียง 15 ปี ไม่ลังเลที่จะแสดงตัวว่าเธอคือคนที่พวกเขากำลังหาอยู่ มือปืนยิงเธอ 3 นัด นัดหนึ่งโดนที่ศีรษะ ซึ่งในขณะที่เธอหมดสติกำลังอยู่ในช่วงภาวะวิกฤต พ่อของเธอที่เป็นนักเคลื่อนไหว ผู้เป็นแรงบัลดาลใจให้เธอทำในสิ่งที่ถูกต้อง เขาตั้งคำถามกับตนเองว่าเขาทำถูกต้องหรือไม่ที่สนับสนุนเธอให้ดำเนินชีวิตในแบบที่เธอเป็น สิ่งที่ทำให้เขายังเชื่อมั่นต่อไปได้ คือสิ่งที่เธอยอมตายเพื่อปกป้องมัน สุดท้ายด้วยความแกร่งของเธอทำให้เธอฟื้นจากอาการบาดเจ็บ ซึ่งจากการต่อสู้เพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่ของเธอทำให้เธอเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2014 และเป็นผู้รับรางวัลที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมาด้วยวัยเพียง 17 ปี 

ไซอุดดินผู้เป็นพ่ออธิบายถึงสิ่งที่ทำให้มาลาลาเป็นคนที่พิเศษ กล้าหาญ และยืดหยัดได้อย่างสง่างามเช่นนี้ เขากล่าวว่า "อย่าถามเลยว่าผมทำอะไรบ้าง โปรดถามว่าผมไม่ได้ทำอะไรเลย ผมแค่ไม่ได้ตัดปีกของเธอทิ้งไป ทั้งหมดก็แค่นั้นเอง"

สามารถอ่านบทความ แนวทางการเลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นผู้ให้ ได้ในลิ้งนี้

อ้างอิง

David, S. (2016). Emotional Agility: Get Unstuck, Embrace Change, and Thrive in Work and Life. NY: Avery.

Epstein, D. (2019). Range: Why Generalists Triumph in a Specialized World. NY: Riverhead Books.

Grant, A. (2017). Originals: How Non-Conformists Move the World. NY: Penguin.

Sullivan, Bill. (2019). Pleased to Meet me : Germs, and the Curious Forces That Make Us Who We Are.  DC: National Geographic Society.

ความคิดเห็น